คนส่วนมากวิ่งหาความสุข แต่มักจะไม่ค่อยพบ เพราะเมื่อเราวิ่งทันความสุขนั้นก็มักจะวิ่งหนีเราไปเสมอ ครั้นเมื่อเราอยู่เฉยๆไม่ได้แสวงหาเลย ความสุขมักจะเดินมาหาเราเอง บางครั้งความสุขก็ไม่ได้มาจากสิ่งที่ใหญ่โตเสมอไป อาจจะมาจากสิ่งเล็กๆที่ไม่ได้ตั้งใจก็ได้
เย็นวันหนึ่งหลังจากที่กวาดวิหารลานพระเจดีย์เสร็จแล้ว รู้สึกหิวน้ำจึงไปนั่งดื่มน้ำอัดลมที่ร้านค้าภายในวัด ดื่มไปได้ประมาณครึ่งขวด บาบูแขกชาวอินเดียเดินเข้าร้านมานั่งใกล้ๆ จึงยื่นขวดน้ำที่เหลือครึ่งขวดนั้นให้แก ที่จริงยื่นให้โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะไม่คิดว่าแกจะกล้าดื่ม แต่อาบังรีบจับขวดน้ำอัดลมดื่มรวดเดียวหมดขวด แกดื่มอย่างมีความสุข ดื่มไปบ่นอะไรพึมพรำฟังไม่ออก แต่ดูจากสีหน้าท่าทางคงกำลังให้พร
พอเห็นบาบูดื่มน้ำอย่างมีความสุข ความรู้สึกตอนนั้นพลันเกิดปีติขึ้นมาในใจทันใด จึงสั่งมาอีกขวดจากนั้นก็นั่งดูอาบังดื่มน้ำอัดลมอีกขวดอย่างมีความสุข คนจ่ายเงินได้ดื่มเพียงครึ่งขวด แต่อาบังแกได้ดื่มขวดครึ่ง นับเป็นความสุขทางกายของคนที่กำลังหิว แต่คนให้ได้รับความสุขทางใจที่เห็นคนอื่นมีความสุขซึ่งเกิดขึ้นจากสิ่งเล็กๆน้อยเท่านั้นเอง ทุกคนสามารถกระทำได้ตามสถานการณ์เช่นช่วยพาคนแก่ข้ามถนน ให้ทานแก่คนที่กำลังหิวเป็นต้นหรือทำอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้จิตใจเราเป็นสุข ความสุขอยู่รอบๆตัวเรานั่นแหละไม่ได้อยู่ไกลเลย เพียงแต่เราต้องหามันให้พบ
บาบูหรือที่คนนิยมเรียกว่า "อาบัง"เป็นแขกชาวอินเดียอพยพมาอยู่เมืองไทยนานแล้ว ประกอบอาชีพขายมุ้งโดยเดินเก็บเงินค่ามุ้งวันละบาท ใหม่ๆกิจการดำเนินไปด้วยดี อาบังจึงมีเมียคนไทยแต่ไม่มีลูกด้วยกัน แกจะกลับไปเยี่ยมบ้านปีละครั้ง ต่อมากิจการขายมุ้งประสบกับสภาวะขาดทุน เมียที่เคยอยู่ด้วยกันก็หนีแกไป บาบูคิดมากจนเสียสติกลายเป็นบ้า แต่ก็ไม่เป็นอันตรายกับใครๆ บาบูไม่มีเงินกลับประเทศจึงมาอาศัยเป็นคนช่วยงานวัด พอแลกกับอาหารไปวันๆ เวลาที่มีสติดีก็พูดรู้เรื่อง แต่เวลาที่ขาดสติก็จะเที่ยวเดินบ่นไปทั่ววัด พูดภาษาฮินดีที่ไม่มีใครฟังรู้เรื่อง แต่เมื่อพบกับพระภิกษุสามเณรแกจะเอามือแตะที่เท้าแล้วนำมาแตะที่หน้าผาก ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสำหรับคนอินเดีย
หากจะมีคนถามว่าควรให้ทานเวลาใด คำตอบที่ได้คือควรให้ในเวลาที่เขามีความต้องการ เช่นให้อาหารแก่คนที่กำลังหิว อาหารนั้นก็จะมีรสชาติอร่อยและมีประโยชน์ที่สุด อาหารแม้จะดีมีราคาแพงสักปานใดก็ตาม หากเราอิ่มแล้วอาหารนั้นก็ไม่มีประโยชน์ สิ่งใดจะมีประโยชน์หรือไม่นั้นอยู่ที่คนรับ ส่วนผู้ให้ก็ได้ความสุขทางใจเป็นสิ่งตอบแทนในพระพุทธศาสนามีสุขสองอย่างคือสุขทางกายและสุขทางใจ ดังที่ปรากฎใน อังคุตรนิกาย ทุกนิบาต (20/315/74)ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายสุขสองอย่างคือกายิกสุข คือสุขทางกายและเจตสิกสุข คือสุขทางใจ บรรดาสุขสองอย่างนี้ เจตสิกสุข(สุขทางใจ)เป็นเลิศ”
มนุษย์แทบทุกคนต่างก็ต้องการความสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ทว่าเจ้าความสุขนั้นอาจจะมาจากสิ่งเล็กน้อยที่หลายคนมองข้าม บางคนหาความสุขไม่พบทั้งๆความสุขอยู่รอบๆตัวเราแท้ๆ เพราะเรามัวแต่หาความสุขทางกายมากจนเกินไป เลยหลงลืมว่ายังมีความสุขอีกอย่างหนึ่งที่มีค่ามากกว่านั่นคือความสุขทางใจ ซึ่งตามทัศนะของพระพุทธศาสนาสุขทางใจมีค่ายิ่งกว่าความสุขทางกาย คนส่วนหนึ่งพากันคิดแต่อย่างใหญ่ๆ จนลืมคิดถึงสิ่งเล็กน้อยที่บางครั้งอาจให้ความสุขทางใจที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรวยหรือความจน เพราะทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
15/08/53