ในวันเข้าพรรษาพระสงฆ์ในอารามต่างๆต้องอธิษฐานเข้าพรรษา เพื่อที่จะอยู่พักจำพรรษาในที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดสามเดือน ส่วนคฤหัสถ์บางคนก็อธิษฐานว่าจะงดเว้นจากความไม่ดีทั้งหลายมุ่งหน้าทำคุณงามความดี บางคนเลิกเหล้า เลิกสูบบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษา หรืออธิษฐานอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วทำตามสิ่งที่ตนตั้งจิตอธิษฐานไว้ หากทำได้อย่างที่ตั้งใจก็จะกลายเป็นพลังเป็นบารมีของแต่ละคนไป อธิษฐานมีไว้เพื่อทำคุณงามความดี แต่ถ้าตั้งจิตคิดจะแก้แค้นอันนั้นเป็นความอาฆาตพยาบาท
คำว่า “อธิษฐาน” ภาษาบาลีเขียนเป็น "อธิฏฐาน" หมายถึงธรรมเป็นที่มั่น, ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล, ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมอง หมักหมมทับถมตน,บางทีแปลว่าธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ท่านจำแนกอธิษฐานออกเป็นสี่ประการดังที่ปรากฎในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/254/187) ความว่า “อธิฏฐานมีสี่อย่างคือ 1.ปัญญาธิฏฐาน อธิษฐานคือปัญญา 2.สัจจาธิฏฐาน อธิษฐานคือสัจจะ 3. จาคาธิฏฐาน อธิษฐานคือจาคะ 4. อุปสมาธิฏฐาน อธิษฐานคืออุปสมะ
ส่วนในธาตุวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์(14/682/329) กล่าวถึงธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจความว่า “คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจสี่ประการคือมีปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีสัจจะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีจาคะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีอุปสมะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ"
การรักษาการอธิษฐานต้องมีหลัการสำคัญคือไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติ ในอธิษฐานแต่ละอย่างนั้นมีคำอธิบายดังต่อไปนี้
1. ปัญญาธิฏฐาน คือความรู้ชัดได้แก่หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง ข้อนี้ก่อนจะเริ่มตั้งจิตก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้แน่วแน่ก่อนว่าสรรพสิ่งทั้งหลายมีความแปรปรวนไปไม่แน่นอนล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งสามัญลักษณะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามว่า ถ้าหากจะอธิบายอย่างนี้แสดงว่าโต๊ะ เก้าอี้ ก็ต้องมีทุกข์ เพราะโต๊ะ เก้าอี้ก็รวมอยู่ในคำว่าสรรพสิ่งเหมือนกัน แล้วจะอธิบายโดยใช้ปัญญาอย่างไรจึงจะไม่ผิดจากพุทธวจนะ ในบาลีท่านยกคำว่า “สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา แปลว่าสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์" หากยึดถือตามคำบาลีก็ต้องบอกว่าโต๊ะ เก้าอี้ก็ต้องเป็นทุกข์ด้วย เพราะคำว่าทุกข์แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่าทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเสื่อมสภาพเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โต๊ะ เก้าอี้ก็ต้องชำรุดทรุดโทรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นโต๊ะ เก้าอี้ก็ต้องเป็นทุกข์ เพียงแต่ว่าโต๊ะ เก้าอี้ไม่รู้ว่าตนเป็นทุกข์เพราะเป็นสังขารที่ไม่มีใจครอง นี่เป็นเพียงการใช้ปัญญาวิเคราะห์ตามหลักการของพระพุทธศาสนาเบื้องต้นโดยมองจากสภาพตามที่ควรจะเป็น
2. สัจจาธิฏฐาน คือความจริงดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตถสัจจะ สัจจะหมายถึงความจริงความแท้ เรื่องของการรักษาสัจจะต้องยึดมั่นไม่หวั่นไหว ตั้งใจไว้อย่างไรต้องทำอย่างนั้น บางคนตั้งใจจะงดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา แต่พออดได้สักพักมักจะมีสิ่งยั่วยวนใจอาจทำให้ผิดสัจจะทางใจที่ตั้งไว้ หันไปดื่มอีก อาจจะมีข้ออ้างสารพัดเช่นดื่มเพื่อเข้าสังคม ดื่มเพื่อเป็นยาเป็นต้น ดังนั้นการอธิษฐานต้องถือความจริงเป็นใหญ่อย่าหวั่นไหวกับสิ่งยั่วยวนเป็นอันขาด
3. จาคาธิษฐาน คือความสละได้แก่สละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส อธิษฐานข้อนี้ต้องมุ่งเพื่อการสละสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากกาย วาจาและจิตใจให้ได้ เคยสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าก็ลดละเลิก เคยคิดชั่วทำชั่วก็ต้องตั้งใจเลิกให้ได้ สิ่งที่ไม่ดีที่อยู่ในจิตก็ต้องสละออกไปให้ได้ คนส่วนหนึ่งมักจะเข้าใจว่าอธิษฐานคือการตั้งสัจจะและสละออกไปเท่านั้น โดยลืมคิดถึงองค์ประกอบที่สำคัญอีกสองประการ
4. อุปสมาธิษฐาน คือความสงบได้แก่การระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ทำจิตใจให้สงบได้ การอธิษฐานต้องทำด้วยความสงบคือทำแล้วกาย วาจา ใจสงบ ไม่วุ่นวายไม่เที่ยวโพนทนาไปทั่ว บางคนเคยโกรธง่ายก็ต้องหักห้ามความโกรธเอาไว้ให้ได้ ดังที่สุเมธดาบสเมื่อตั้งความปรารถนาตั้งจิตอธิษฐานว่าจะบำเพ็ญบารมีเพื่อมุ่งหวังเป็นพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยมีความโกรธต่อใครๆอีกเลยตลอดสี่อสงไขยแสนกัปดังที่มีปรากฎในลักขณสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(11/149/125)ความว่าพระมหาบุรุษอธิษฐานความเป็นผู้ไม่โกรธไว้ และได้ให้ทานคือผ้าเป็นอันมาก ล้วนแต่มีเนื้อละเอียดและมีสีดี เป็นผู้ดำรงอยู่ในภพก่อนๆ ทรงเสียสละเหมือนฝนตกทั่วแผ่นดิน ครั้นทรงทำกุศลกรรมนั้นแล้ว จุติจากมนุษยโลกเข้าถึงเทวโลก เสวยวิบาก อันเป็นผลกรรมที่ทำไว้ดี มีพระฉวีเปรียบด้วยทอง ดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าสุรเทวดา ย่อมลบล้นอยู่ในเทวโลกถ้าเสด็จครองเรือนยังไม่ประสงค์ที่จะทรงผนวช ก็จะทรงปกครองแผ่นดินใหญ่ ทรงได้เฉพาะซึ่งสัตตรตนะ และความเป็นผู้มีพระฉวีสะอาดละเอียดงามลบล้นประชุมชนในโลกนี้ ถ้าเข้าถึงบรรพชา ก็จะทรงได้ซึ่งผ้าสำหรับทรงครอง เป็นผ้าเครื่องนุ่งห่มอย่างดี และเสวยผลกรรมที่เป็นประโยชน์ดีที่ทรงทำไว้ในภพก่อน ความหมดสิ้นแห่งผลกรรมที่พระองค์ทำแล้วหามีไม่
เรื่องนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับละครช่องเจ็ดสีแต่ประการใด เพียงแต่ชื่ออาจพร้องกันเท่านั้น ใครที่เข้ามาอ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องย่อละครก็ต้องขออภัย อธิษฐานยังจัดเป็นหนึ่งในบารมีสิบที่พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าคือทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา พระสงฆ์อธิษฐานเข้าพรรษาเพื่อที่จะได้อยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งจะได้มีเวลาในการสวดมนต์ภาวนา ศึกษาเล่าเรียน พากเพียรปฏิบัติได้เต็มที่ ส่วนพุทธศาสนิกชนจะอธิษฐานเพื่อลดละเลิกสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายโดยการสละออกไปจากกาย และจิตใจ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นการสร้างอธิษฐานบารมีตามแนวแห่งพระโพธิสัตว์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
28/07/53