เคยศึกษามาว่าพระพุทธรูปมีอยู่ 80 ปาง แต่วันนี้ต้องขอแก้ไข เพราะจากการค้นคว้าพบข้อมูลใหม่ว่าพระพุทธรูปนั้นมีอยู่ถึง 114 ปาง และยังมีแนวโน้มว่ายังจะมีผู้สร้างพระพุทธรูปขึ้นอีกหลายปาง แต่จะมีสักกี่ปางนั้นคุณลักษณะของพระพุทธรูปยังคงสรุปได้เท่าเดิม เพราะพระพุทธรูปก็สร้างมาจากคุณลักษณะและบุคลิคภาพของพระพุทธเจ้าและพุทธสาวกทั้งหลายนั่นเอง วันนี้ลองอธิบายคุณลักษณะของพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าข้อต่อไปที่ว่า “นอนไม่มาก ปากไม้โป้ง โกงไม่เป็น”
คำว่า“นอนไม่มาก”ถ้าสังเกตุให้ดีพระพุทธรูปมักจะมีสายตาที่ทอดลงต่ำแสดงถึงอาการที่มองโลกด้วยสายตาแห่งความกรุณา ไม่มองไกลไม่มองใกล้แต่มองที่ปัจจุบันธรรม ตามพุทธประวัติพระพุทธเจ้านอนวันหนึ่งไม่มาก พระองค์ทรงมีพุทธจริยาวัตรหรือพุทธกิจประจำวันของพระพุทธองค์เพื่อประโยชน์แห่งความสุขของมหาชน ในวันหนึ่งๆพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจตามลำดับดังนี้
(1)ปุเรภัตตกิจ พุทธกิจภาคเช้าหรือภาคก่อนอาหารเช้า คือหลังจากที่ตื่นจากพระบรรทมแต่เช้ามืด ก็เสด็จออกบิณฑบาต เสวยแล้ว ก็แสดงธรรมให้ประชาชนได้ฟัง
(2)ปัจฉาภัตตกิจ พุทธกิจภาคบ่ายหรือหลังจากการฉันอาหาร แสดงโอวาทแก่พวกพระภิกษุสงฆ์ และแสดงธรรมโปรดประชาชน
(3)ปุริยามกิจ พุทธกิจยามที่ 1 (ของราตรี) หลังจากพุทธกิจภาคกลางวันเสร็จแล้ว พักผ่อนอิริยาบถเล็กน้อยก็ตอบปัญหาบ้างเสวนาธรรมบ้าง แสดงธรรมบ้างกับพวกภิกษุสงฆ์ที่มาเฝ้า
(4)มัชฌิมยามกิจ พุทธกิจในมัชฌิมยาม เมื่อพระสงฆ์แยกย้ายไปทรงใช้เวลาที่สองตอบปัญหาพวกเทพทั้งหลายที่มาเฝ้า
(5)ปัจฉิมยามกิจ พุทธกิจในปัจฉิมยามนี้ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะแรกเสด็จดำเนินจงกรมเพื่อให้พระวรกายได้ผ่อนคลาย ระยะที่ 2 เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงพระบรรทมสีหไสยาสน์อย่างมีพระสติสัมปชัญญะ ระยะที่ 3 ประทับนั่งพิจารณาสอดส่องเลือกสรรว่า ในวันต่อไปมีบุคคลผู้ใดที่ควรเสด็จไปโปรดโดยเฉพาะเป็นพิเศษ เมื่อทรงกำหนดพระทัยไว้แล้ว ก็จะเสด็จไปโปรดในภาคพุทธกิจที่ 1 แนวนัยที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำวันไม่เคยขาดตามระยะเวลาแห่งพุทธกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติ
ทั้งหมดนี้คือพุทธจริยาวัตรที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติมิได้ขาดตลอดพระชนมายุ หากสังเกตุให้ดีจะเห็นว่ามีช่วงเวลาหนึ่งที่ขาดหายไปคือเวลาเที่ยงจนถึงเวลาค่ำ เพราะจะเริ่มอีกครั้งก็เป็นเวลากลางคืนแล้ว มีพระอรรถกถาจารย์หลายท่านให้คำอธิบายว่า อินเดียในแถบทางภาคเหนือเช่นเมืองสาวัตถี เมืองพาราณสี เมืองมคธเมืองพิหาร เป็นต้น อากาศตอนกลางวันจะร้อนมาก ผู้คนจึงพากับหลบเข้าบ้านที่ทำด้วยดินเพื่อกันความร้อน ยิ่งฤดูร้อนที่เมืองกุสินารานั้นยิ่งน่ากลัวเพราะนอกจากอากาศจะร้อนแล้วยังมีลมพัดพาเอาทรายมาด้วย ตอนกลางวันจึงทั้งร้อนเพราะเปลวแดดและฝุ่นทรายที่ปลิวมาตามกระแสลม สิ่งที่ดีที่สุดในภาคบ่ายจึงเป็นเวลาพักผ่อนอยู่ในที่พัก
คำว่า “ปากไม่โป้ง” พระพุทธรูปพูดไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นเพียงวัตถุ แต่เมื่อพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าจึงแสดงออกถึงการเลือกพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าริมฝีปากของพระพุทธรูปจะยิ้มที่มุมปากน้อยๆ เหมือนกับบอกเป็นปริศนาธรรมว่า “ สิ่งทั้งปวงในโลกเราได้รู้หมดแล้ว สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา” พระพุทธรูปจึงแสดงออกด้วยรอยยิ้มอย่างเข้าใจโลก พระพุทธรูปที่แสดงอาการหน้าบึ้งจึงไม่มีให้เห็น
ในสุภาสิตสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต (25/356/312)พระพุทธเจ้าได้แสดงวาจาที่เป็นสุภาษิตความว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลายวาจาอันประกอบด้วยองค์สี่เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ และวิญญูชนไม่พึงติเตียนคือ(1) ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมกล่าวแต่คำที่เป็นสุภาษิต ไม่กล่าวคำที่เป็นทุพภาษิต (2) ย่อมกล่าวคำที่เป็นธรรม ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม (3)ย่อมกล่าวแต่คำอันเป็นที่รัก ไม่กล่าวคำอันไม่เป็นที่รัก(4) ย่อมกล่าวแต่คำสัตย์ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้วจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า“สัตบุรุษทั้งหลาย ได้กล่าวคำอันเป็นสุภาษิตว่าเป็นคำสูงสุดบุคคลพึงกล่าวแต่คำที่เป็นธรรม ไม่พึงกล่าวคำที่ไม่เป็นธรรมข้อนั้นเป็นที่สอง บุคคลพึงกล่าวคำอันเป็นที่รัก ไม่พึงกล่าวคำอันไม่เป็นที่รัก ข้อนั้นเป็นที่สาม บุคคลพึงกล่าวคำสัตย์ไม่พึงกล่าวคำเหลาะแหละ ข้อนั้นเป็นที่สี่
ครั้งนั้นพอพระพุทธเจ้าตรัสคำประพันธคาถาจบลง พระวังคีสะลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วได้กราบทูลว่าข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระธรรมเทศนาย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต พระธรรมเทศนาย่อมแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรวังคีสะ ธรรมเทศนาจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด
ลำดับนั้นท่านพระวังคีสะได้ชมเชยด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรในที่เฉพาะพระพักตร์ว่า “บุคคลพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นเครื่องทำตนให้เดือดร้อน และไม่พึงเบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นเป็นสุภาษิตแท้ บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักอันชนชื่นชม ไม่ถือเอาคำอันลามก กล่าววาจาอันเป็นที่รักของผู้อื่น คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของเก่า สัตบุรุษทั้งหลายตั้งมั่นแล้วในคำสัตย์ที่เป็นอรรถและเป็นธรรม วาจาที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นวาจาเกษม เพื่อบรรลุนิพพาน เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดทุกข์วาจานั้นแลเป็นวาจาสูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย
คำว่า “โกงไม่เป็น” พระพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรงไปตรงมา ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่เข้าข้างใคร แม้ใครคนนั้นจะเป็นคนใกล้ชิดก็ตาม ดังกรณีที่ทรงบัญญัติสิกขาบทเพราะทรงเล็งเห็นผลประโยชน์สิบประการดังที่ปรากฎใน วินัยปิฎก มหาวิภังค์ (1/20/27) ความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์สิบประการคือ(1) เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ (2) เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ (3) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (4) เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก (5) เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน (6) เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต (7) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส (8) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว (9) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม (10) เพื่อถือตามพระวินัย
พระพุทธเจ้าแม้จะบัญญัติวินัยอันเป็นข้อห้ามและธรรมเนียมปฏิบัติของภิกษุทั้งหลายก็มิได้บัญญัติครั้งเดียวทุกข้อแต่บัญญัติที่ละข้อเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจึงประชุมสงฆ์สอบถามข้อเท็จจริง เมื่อทราบแล้วจึงบัญญัติพระวินัยเป็นข้อห้ามเพื่อใช้กับคณะสงฆ์ทั้งหมด ข้อห้ามจึงเป็นสากลไม่ใช่มีไว้เพื่อห้ามใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงโกงหรือหลอกลวงใครไม่เป็น เมื่อนำเอาคุณลักษณะของพระพุทธเจ้ามาสร้างพระพุทธรูปอันเป็นเหมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้าจึงแสดงออกด้วยความเที่ยงตรง พระพุทธรูปไม่พูด ไม่เข้าข้างใคร แต่อยู่กับความจริง
พระพุทธรูปจึงประกอบด้วยองค์คุณทั้งห้าประการคือ “เผาไม่ไหม้ ใกล้ไม่ร้อน นอนไม่มาก ปากไม่โป้ง โกงไม่เป็น” ไหว้พระพุทธรูปแล้วนึกถึงพระมหากรุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเรียกได้ว่าไหว้พระไม่ได้ไหว้เพียงทองคำ แต่ไหว้ด้วยจิตใจที่นึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างนี้ถึงจะมีพระพุทธรูปกี่ปางตาม แต่ทุกปางต่างก็มีคุณสมบัติเฉกเช่นเดียวกันนั่นแล
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/07/53