เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีพิธีบรรพชาอุปสมบทที่วัดมัชฌันติการาม ซึ่งปกติก็มีให้เห็นแทบทุกวัน แต่ส่วนมากจะเป็นการบวชในช่วงสั้นๆเจ็ดวันบ้างหนึ่งเดือนบ้าง ดังนั้นที่วัดจึงมีการบวชพระแทบทุกวัน จนจำไม่ได้แล้วว่ามีผู้ที่เคยบวชพระและลาสิกขาไปปีละเท่าใด แต่วันนี้เป็นการบวชที่แตกต่างจากวันอื่นๆ เพราะเป็นการบวชที่ไม่ได้กำหนดวันลาสิกขาไว้ก่อน บวชสามเณรหกรูป สามเณรบวชเป็นพระอีกสองรูป และคนบวชเป็นพระอีกหนึ่งรูป วันเสาร์จึงเป็นงานใหญ่มีพิธีบรรพชาอุปสมบทจำนวนเก้ารูป
สามเณรที่บวชในวันนั้นเป็นสามเณรอยู่ก่อนแล้วที่จัดให้บรรพชาใหม่เพราะภาษาพระเรียนกว่า “ญัตติใหม่” คือบวชเพื่อให้มีศีลสามัญญตาเหมือนกัน บางรูปมาจากต่างประเทศ แต่พอมาอยู่ในสำนักเดียวกันจึงต้องบวชเพื่อให้มีอุปัชฌาย์เดียวกันเพื่อให้สะดวกในการปกครอง เมื่อมีข้อปฏิบัติอย่างเดียวกันก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้
พระพุทธศาสนาจะตั้งมั่นในประเทศใดได้นั้นจะต้องมีการสืบต่อศาสนทายาท คือมีการบวชกุลบุตรในประเทศนั้นๆ เพื่อที่จะทำให้อุบาสกอุบาสิกาได้กลายเป็นญาติแห่งพระพุทธศาสนา เมื่อครั้งที่พระโสณะและพระอุตตรเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกในสุวรรณภูมินั้น ได้มีกุลบุตรกุลธิดาชาวสุวรรณภูมิเข้ามาอุปสมบทเป้นจำนวนมาก เมื่อพระโสณะและพระอุตตรเถระนิพพานไปแล้ว พระภิกษุชาวพื้นเมืองก็ได้สืบต่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไป ถ้าไม่มีการบวชศาสนบุคคลก็ต้องหมดไป
องค์ประกอบสำคัญของศาสนานั้นมีห้าประการได้แก่ศาสดา ศาสนธรรม ศาสนสถาน ศาสนพิธี ศาสนบุคคล พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักเผยแผ่ชั้นยอด เพราะทรงสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในท่ามกลางความเจริญของคณาจารย์ เจ้าลัทธิต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่น้อยกว่าหกท่าน ในสมัยนั้น และพระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุน้อยที่สุด แต่ทรงใช้เวลาเพียงเก้าเดือนหลังจากที่ได้ตรัสรู้ สามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ มีองค์ประกอบของศาสนาครบห้าประการคือมีศาสดา ศาสนธรรม ศาสนสถาน ศาสนบุคคล ศาสนพิธี
การที่พระพุทธเจ้าสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างรวดเร็ว ประสบความสำเร็จในช่วงระยะเวลาอันสั้นนั้น จะแสดงให้เห็นได้ว่าพระองค์ทรงประกอบไปด้วยคุณลักษณะของนักบริหารชั้นยอดเยี่ยม และทรงมีพุทธวิธีการเผยแผ่ที่เหมาะสมกับกาลสมัยอย่างยิ่ง จึงทำให้การเผยแผ่ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็วหลักการสำคัญประการหนึ่งคือพระพุทธเจ้าสอนศาสนาที่ใดก็สามารถนำคนในพื้นที่มาบวชได้ และคนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนากับคนในพื้นที่นั้นๆได้อย่างกลมกลืน
พระพุทธองค์ทรงมีคุณสมบัติของผู้สอนอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ความกรุณาที่แสดงออกในทางการอบรมสั่งสอน ย่อมเป็นส่วนประกอบสำคัญให้เกิดคุณลักษณะของผู้สอนอย่างที่เรียกว่า องค์คุณของกัลยาณมิตร ซึ่งมีเจ็ดประการเรียกว่ากัลยาณมิตรธรรม ดังที่ปรากฎในสุขสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต(23/34/33)ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมเจ็ดประการควรเสพควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่ ธรรมเจ็ดประการคือ (1) ภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ (2)เป็นที่เคารพ (3) เป็นผู้ควรสรรเสริญ (4) เป็นผู้ฉลาดพูด (5) เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ (6) พูดถ้อยคำลึกซึ้ง (7) ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมเจ็ดประการนี้แล ควรเสพ ควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่
ภิกษุเป็นที่รักใคร่ พอใจ เป็นที่เคารพ ควรสรรเสริญ ฉลาดพูด อดทนต่อถ้อยคำ พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี ฐานะเหล่านี้มีอยู่ในภิกษุใด ภิกษุนั้นเป็นมิตรแท้ มุ่งอนุเคราะห์แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ผู้ประสงค์จะคบมิตร ควรคบมิตรเช่นนั้น แม้จะถูกขับไล่" หากผู้ใดมีคุณสมบัติดังกล่าวมานี้ แม้จะขับไล่ก็ไม่ควรไป ควรหาโอกาสเข้าใกล้เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนหาความรู้จากท่านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ธรรมที่แสดงไว้นี้เรียกว่ากัลยาณมิตรธรรม หมายถึงองค์คุณของกัลยาณมิตร, คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คือท่านที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ หากแยกอธิบายเป็นข้อๆจะได้ดังนี้
1. ปิโย หมายถึงน่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม
2. ครุ หมายถึงน่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย
3. ภาวนีโย หมายถึงน่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ
4. วตฺตา จ หมายถึงรู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
5. วจนกฺขโม หมายถึงอดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา หมายถึงแถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย หมายถึงไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย
โปรดสังเกตว่าพระพุทธศาสนาถือว่าความสัมพันธ์ของผู้สอนที่มีต่อผู้เรียนนั้น อยู่ในฐานะเป็นกัลยาณมิตรคือเป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำผู้เรียนให้ดำเนินก้าวหน้าไปในมรรคแห่งการฝึกอบรม องค์คุณทั้งเจ็ด นี้ เป็นคุณลักษณะที่ผู้สอน นักเผยแผ่ หรือครูผู้มีความกรุณาโดยทั่วไปจะมีได้ ไม่จำกัดเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น แม้แต่พระเถระรูปอื่นๆที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นครูก็ความเป็นกัลยาณมิตรเพราะมีธรรมทั้งเจ็ดประการอยู่ในใจ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูก็สามารถนำหลักกัลยาณมิตรนี้ไปใช้ได้เหมือนกัน
สามเณรที่บรรพชาและภิกษุที่อุปสมบทในวันนี้ บางรูปยังเป็นนักเรียน บางรูปเป็นครูสอน ความเป็นนักเรียนและความเป็นครูมิได้กำหนดด้วยอายุ แต่กำหนดด้วยภูมิรู้ของแต่ละท่าน วันนี้วัดมัชฌันติการามได้ศาสนบุคคลเพิ่มขึ้นถึงเก้ารูป จึงนับได้ว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาต่อไปอีก ตราบใดที่ยังมีคนบวชศาสนทายาทก็ยังมีการสืบต่อไปได้อีก ในที่สุดก็จะกลายเป็นผู้เป็นธรรมทายาทสมดังกับที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในธรรมทายาทสูตรมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ว่า(13/212/17) ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทของเราเลย เรามีความเอ็นดูในพวกเธออยู่ว่าทำอย่างไรหนอสาวกทั้งหลายของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท จะไม่พึงเป็นอามิสทายาท”
ศาสนทายาทต้องมีการสืบต่อ การเรียนการสอนพระพุทธศาสนาทั้งผู้สอนและผู้เรียนต้องมีความเป็นกัลยาณมิตร ก็จะได้ผลแห่งการอุปสมและบรรพชานั่นคือพระพุทธศาสนาก็มีธรรมทายาทสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ส่วนอุบาสกอถบาสิกาก็ได้ชือ่ว่าเป็นญาติแห่งพระพุทธศาสนา
ส่วนการจะเป็นธรรมทายาทอย่างไรนั้น วันนี้วันพระแรม 8 ค่ำ เดือน 8 โปรดฟังคำอธิบายได้จากธรรมบรรยายโดยพระเดชพระคุณพระเทพดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร
ธรรมทายาทสูตร: โดยพระเทพดิลก วัดบวรนิเวศวิหาร
{mp3}dhammatayatsutra{/mp3}
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/07/53