สำหรับชาวพุทธไทยหากจะเดินทางไปอินเดียเป้าหมายสำคัญที่ควรจะต้องไปคือสังเวชนียสถานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือสถานที่ตรัสรู้ ที่เมืองคยา สถานที่แสดงปฐมเทศนาที่เมืองสารนาถ พาราณสี สถานที่ปรินิพพาน ที่เมืองกุสินารา และหากมีเวลาก็ต้องเดินทางข้ามประเทศไปที่เมืองลุมพินี สถานที่ประสูติที่ประเทศเนปาล นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเมืองที่มีปรากฏในพุทธประวัติคือราชคฤห์ นาลันทา เวสาลี สาวัตถี เมืองเหล่านี้มักจะมีวัดไทยอยู่แทบทุกแห่ง นักเดินทางจาริกแสวงบุญสามารถติดต่อขอพักได้ แต่หากอยากจะเที่ยวอินเดียอีกมิติหนึ่ง คือไม่เน้นสถานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แต่อยากไปชมวิถีชีวิตของอินเดียในอีกลักษณะหนึ่ง ก็มีสถานที่อีกหลายแห่งที่น่าเดินทางไปทัศนศึกษา
ในบรรดาเมืองที่มีการออกแบบวางผังเมืองก่อนที่จะลงมือสร้างเมือง นอกจากเมืองนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียแล้ว อีกเมืองหนึ่งที่วางผังก่อนสร้างเมืองคือเมืองจันทิการ์ เขตสหภาพหรือเขตปกครองพิเศษอีกแห่งหนึ่ง เมืองที่มีคำขวัญประจำเมืองว่า “เมืองสวยงาม หรือ Chandigarh The City Beautiful” อินเดียมีเขตปกครองพิเศษหลายแห่งคืออันดามันและโคบาร์ จันฑีครห์ ดาดราและนครเวลี ดามันและดีอู ลักษทวีป เดลี ปุทุจเจรี จันทิการ์ ลาดักส์
เมืองจันทิการ์ไม่ได้อยู่ในแผนการเดินทางมาแต่ต้น แต่เจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามซึ่งมีชื่อเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดอโศกพุทธวิหาร เมืองจันทิการ์ขอให้เดินทางไปทำภาระกิจบางอย่างที่วัดนี้ จึงได้เพิ่มเข้ามาในแผนการเดินทาง จากฤษีเกษจะไปจันทิการ์นั้นทางที่สะดวกที่สุดน่าจะใช้บริการรถโดยสาร หากเป็นประเภทประจำทางก็ต้องย้อนกลับมาที่เมืองหริทวาระ หรือหากเป็นรถโดยสารไม่ประจำทางก็สารมารถเช่าเหมาราคากันได้เลย ราคาสุดแท้แต่ว่าจะตกลงกันได้ แผนการเดิมคือเดินทางจากฤษีเกษไปที่โคมุข จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังเมืองธัมมศาลา เมื่อตัดเมืองโคมุขออกไปเนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นทาง เนื่องเพราะอากาศหนาวเป็นเหตุ ซึ่งเป็นอุปสรรคไม่สะดวกในการเดินทาง การเดินทางจึงเป็นไปในทำนองไปตามใจฉัน เปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม เมืองไหนสะดวกก็เดินทางไปก่อน รถยนต์ก็ได้ เครื่องบินก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
เมืองจันทิการ์ตั้งอยู่ในรัฐปัญจาป อินเดีย รัฐปัญจาบถูกแบ่งเป็นสองประเทศคืออินเดียและปากีสถาน เมืองจันทิการ์มีคำขวัญประจำเมืองว่า “The City Beautiful” เคยถามผู้รู้ทางด้านภาษาชาวอังกฤษว่า ทำไมไม่ใช้คำว่า “The Beautiful City” ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ท่านบอกว่าใช้ได้ทั้งสองคำ หากดูตามการวางผังเมืองก็ต้องบอกว่าเมืองนี้งดงามจริงๆ มีห้าแยกทั่วเมือง ไม่ต้องใช้ไฟแดง เพราะใช้วิธีการหมุนวนตามห้าแยก ตัวเมืองวางเป็นเขตถึง 60 กว่าเขต แบ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัย เขตเมือง เขตย่านการค้า เขตอุตสาหกรรม เป็นต้น เขตใครเขตมัน แยกกันเป็นเอกเทศ แค่จำแนกห้าแยกของเมืองนี้ก็เวียนหัวแล้ว หากไม่ชำนาญจริงๆ ก็จำเส้นทางไม่ได้แล้วไม่รู้ว่าจะไปทางไหน
วัดอโศกพุทธวิหารอยู่นอกเมืองเรียกว่ากุดาอริเชย์ ติดเชิงเขา เป็นเขตอนุรักษ์ที่รัฐบาลสงวนไว้ บรรยายกาศจึงเป็นแบบวัดป่า ความเป็นมาของวัดอโศกพุทธวิหารนั้น พระครูอาทรธรรมานุสิฐ (บุญเลิศ) เจ้าอาวาสวัดกุสาวดีพุทธวิหาร เมืองกุสินาราในปัจจุบันเคยเล่าให้ฟังว่า “วัดธรรมยุตวัดแรกที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียคือวัดอโศกพุทธวิหาร เมืองจันทิการ์ ประมาณปีพุทธศักราช 2535 ผมเดินทางมาอินเดียได้เดินทางไปพักที่วัดอโศกพุทธวิหารนี่แหละ สมัยนั้นพระมหาเดช กตปุญโญ วัดมัชฌันติการาม กำลังศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยจันทิการ์ และได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวัด โดยมีชาวพุทธตระกูลบารัวได้ซื้อที่ดินบริเวณเชิงเขาเพื่อสร้างวัดพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่ยังหาพระที่เป็นหลักไม่ได้ พระมหาเดชจึงได้รับอาราธนาให้เป็นประธานในการสร้างวัด สมัยนั้นมีศาลาหลังเดียว ใช้ทุกอย่างทั้งที่พัก ที่ประกอบพิธีกรรม พระมหาเดชอยู่ที่จันทิการ์จนกระทั่งเรียนจบระดับปริญญาเอก วัดอโศกพุทธวิหารจึงเริ่มเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ในยุคนั้นมีนักศึกษาไทยทั้งพระภิกษุและฆราวาสพักที่วัดนี้หลายท่าน ส่วนมากเมื่อเรียนจบปริญญาเอกแล้วก็จะกลับประเทศไทย
แต่ในประวัติของสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธ) ได้บันทึกไว้ว่า วัดอโศกพุทธวิหารก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2540 โดยวัดแรกที่ระบุไว้คือวัดกุสาวดีพุทธวิหาร เมืองกุสินารา ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2537 ปัจจุบันวัดธรรมยุตในอินเดียมี 9 วัด เรียงตามลำดับการก่อตั้งดังนี้ (1) วัดกุสาวดี เมืองกุสินารา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2537 (2) วัดอโศกพุทธวิหาร เมืองจันทิการ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2540 (3)วัดป่าพุทธคยา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2542 (4)วัดเนรัญชราวาส เมืองคยา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2547 (5)วัดเมตตาพุทธาราม เมืองคยา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2553 (6) วัดพุทธสิกขาลัย เมืองคยา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2537 (7) วัดไทยป่าฝ้าย เมืองโกตา (8) วัดพุทธชยันตี ไทย อินเดีย เมืองสุลต่านปุร์ (9) วัดไทยแสงธรรม เมืองนาลันทา
ส่วนวัดไทยในส่วนของมหานิกายมีจำนวนมากมีอยู่หลายเมือง หลายรัฐ วัดไทยแห่งแรกในอินเดียคือวัดไทยพุทธคยา สร้างในนามรัฐบาลไทยในช่วงอินเดียฉลองกึ่งพุทธกาลปีพุทธศักราช 2500 ปัจจุบันมีวัดไทยในเมืองที่มีสังเวชนียสถานครบทั้งสี่ตำบลคือสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน นอกจากนั้นยังมีวัดนานาชาติเกิดขึ้นในอินเดียอีกจำนวนมาก หากนักเดินทางมีวัตถุประสงค์เพื่อนมัสการสังเวชนียสถานในอินเดียและเนปาลสามารถพักพาอาศัยในวัดเหล่านั้นได้ ส่วนการติดต่อประสานงานก็ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสของแต่ละคน
วัดอโศกพุทธวิหารเป็นวัดไทยเพียงวัดเดียวในเมืองจันทิการ์ รัฐบาลอินเดียเคยมีนโยบายในการสร้างวัดพุทธศาสนาขึ้น โดยให้ที่ดินส่วนหนึ่งจึงมีวัดเอมเบดการ์ขึ้น แต่ปัจจุบันรัฐบาลเวนคืนที่วัดไปแล้ว จึงเหลือเพียงวัดอโศกพุทธวิหาร อยู่ในการดูแลของสมาคมชาวพุทธแห่งจันทิการ์ มีคณะกรรมการบริหารที่เป็นชาวอินเดียทั้งหมด เมื่อดูตามรายชื่อคณะกรรมการแล้วไม่มีชื่อพระภิกษุปรากฏอยู่เลย
ปัจจุบันได้แบ่งการบริหารออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นวัดในนิกายเถรวาทมีพระภิกษุชาวอินเดียอยู่ประจำ ภายใต้การอุปถัมภ์ของคณะกรรมการบริหาร อีกส่วนหนึ่งเป็นอาคารที่พักสำหรับชาวพุทธมหายาน ส่วนมากจะเดินทางมาจากธัมมศาลา เลยห์ สิกขิม ภูฎาน มีลามะอยู่ประจำ วัดเดียวจึงทั้งเถรวาทและมหายานอยู่ด้วยกัน ใครมีศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนานิกายไหน เข้าวัดเดียวได้ทั้งสองนิกาย
วัดไทยส่วนมากในอินเดียจะอยู่ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการมีทั้งคนอินเดียและคนไทย ถ้าพระภิกษุไทยเป็นประธานกรรมการบริหารก็จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าประธานกรรมการบริหารเป็นชาวอินเดียก็ต้องว่าตามมติของกรรมการ ซึ่งจะนิมนต์พระภิกษุรูปใดมาอยู่จำพรรษาที่วัดก็ได้ ระบบการบริหารก็ต้องประยุกต์ตามกฎกติกาของประเทศนั้นๆ
เมืองจันทิการ์หากดูตามการวางผังเมืองก็ต้องบอกว่าเป็นเมืองที่สวยงามจริงๆ ชาวนี้นี้ส่วนมากจะนับถือศาสนาซิกซ์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอัมริตสา ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ดังนั้นภาพที่ปรากฏให้เห็นจึงเป็นชาวเมืองโผกผ้าหลากสี ตามความเชื่อในศาสนาซิกซ์ หากเดินผ่านย่านตลาดก็ไม่ต้องตกใจหากจะมีคนทักทายเป็นภาษาไทย เพราะพ่อค้าส่วนหนึ่งมีธุรกิจขายเสื้อผ้าอยู่ที่พาหุรัดในเมืองไทย หรือบรรดาลูกหลานอินเดียที่เกิดในเมืองไทยก็มักจะถูกส่งมาศึกษาเล่าเรียนที่เมืองนี้
อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก มีสถานที่ที่น่าสนใจอีกมากมายทั้งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาซึ่งเกิดขึ้นในอินเดีย ยุคแรกเผยแผ่ในอินเดีย และเสื่อมหายไปจากอินเดีย จึงมีแหล่งพุทธสถานจำนวนมากที่น่าสนใจ บางทีก็สามารถเป็นคติเตือนใจชาวพุทธได้ว่า สิ่งที่เคยเจริญก็อาจจะเสื่อมได้ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ศรัทธาความเชื่อในยุคสมัยหนึ่งก็เปลี่ยนไปด้วย มีวัดในศาสนาพุทธหลายแห่งถูกเปลี่ยนเป็นศาสนสถานในศาสนาอื่น ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา เพราะทุกสรรพสิ่งไม่มีความจีรังยั่งยืนเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปได้ทุกขณะและห้วงเวลา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
03/05/67