การเดินทางไปอินเดียในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมืองที่ตั้งใจที่จะต้องไปเยือนอีกเมืองหนึ่งคือเมืองธัมมศาลา เมืองที่เป็นประทับขององค์ดาไล ลามะ ผู้นำพระพุทธศาสนาแห่งทิเบต เมืองที่เคยเดินทางไปครั้งหนึ่งผ่านมานานกว่ายี่สิบปีแล้ว อยากย้อนกลับไปดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน เมืองที่มีอากาศหนาวตลอดทั้งปี เมืองที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เมืองที่มีนักบวชที่เรียกว่า “ลามะ” จำนวนมาก เมืองที่มีนักท่องเที่ยวผู้สนใจด้านพระพุทธศาสนาเดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาวัชยาน เดินทางมามิขาดสาย ดังนั้นตามถนนหนทาง จึงมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั้งฝรั่ง เกาหลี ญี่ปุ่น ผสมผสานกับชาวพื้นเมืองที่แทบจะแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร เมืองธัมมศาลา อยู่ในรัฐหิมาจัลประเทศ ประเทศสาธารณรัฐอินเดีย
ร้านค้าหลากหลายประเภทเปิดเรียงรายตามถนน มีสินค้าหลากหลายประเภทวางเรียงรายตามทางเดินส่วนมากจะเป็นสินค้าประเภทของที่ระลึกเช่นเสื้อผ้า ลูกประคำ กำไล หมวก ผ้า เป็นต้น ราคาจับต้องได้ ไม่แพงมากนัก ลูกประคำราคาตั้งแต่ 20 รูปีไปจนถึง 1000 รูปี หากอยากได้สินค้าดีราคาแพงก็ต้องแวะเข้าไปที่ห้างสรรพสินค้า แค่ลูกประคำก็ราคาเพิ่มขึ้น อาจจะมีมูลค่าหลายหมื่นรูปี ซึ่งก็จำแนกไม่ค่อยออกว่าอะไรคือของจริงอะไรคือของเลียนแบบ แล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล อาจจะพอเรียกได้ว่า ตาดีได้ ตาร้ายเสียซื้อแล้ว หากพบเพื่อนสักคนก็อย่าถามราคา เพราะแม้จะซื้อร้านเดียวกัน แต่ราคาอาจแตกต่างกันหลายร้อยรูปีก็ได้
สถานที่สำคัญที่ควรจะต้องไปชมเมื่อมาถึงเมืองนี้แห่งแรกที่วัดนัมกยัล (Namgyal Monastery) หรือชาวเมืองเรียกว่า เมนเทมเปิล เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองธัมมศาลา เป็นที่ประทับขององค์ดาไล ลามะ ในแต่ละวันจะมีผู้คนจำนวนมากที่เดินทางมาเยี่ยมชมวัด วัตถุประสงค์สำคัญที่สุดคือการได้เข้าพบองค์ดาไล ลามะ ที่จะออกมาพบปะผู้คน ต้องเข้าแถวยาวเหยียด และรอเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ค่อยๆขยับไปทีละคน จนกระทั่งหมด บางคนรอตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงวันจึงมีโอกาสได้เข้าพบ บางคนก็แตกแถวออกมารอวันต่อไป
บ้านเรือนผู้คนแทรกอยู่ตามหุบเขา และยังมีโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ที่พักอีกจำนวนมาก สนราคาก็แล้วแต่ใครจะเลือกใช้บริการ ราคาตั้งแต่ 400 บาทไปจนถึงหลายหมื่นบาท ที่เมืองจะจ่ายเป็นเงินบาทไทย หรือดอลลาร์ก็ย่อมได้ แต่ถ้าหากจะให้ดีควรจ่ายเป็นเงินรูปีดีที่สุด เพราะเป็นมาตรฐานของประเทศนี้อยู่แล้ว หรือหากจะเลือกพักที่วัดไทยก็สามารถทำได้ แต่ต้องติดต่อผ่านกรรมการวัดที่เมืองไทย เดินไปขอพักดื้อๆ ยากหน่อย ที่เมืองนี้มีวัดไทยคือ “วัดไทยธัมมศาลา” อยู่ระหว่างวัดใหญ่กับตัวเมืองธัมมศาลา สามารถเดินตามถนนได้ ไม่ไกลมาก หรือจะใช้บริการรถแท็กซี่ก็ได้
เมืองธัมมศาลาเป็นที่ทำการรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต มีที่ทำการรัฐบาล มีพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงวัฒนธรรม ภาษา ประวัติความเป็นมาของชนชาติทิเบต ขบวนการเรียกร้องเอกราชจากจีน เมืองนี้จึงเป็นเหมือนการจำลองประเทศทิเบตที่มีแหล่งพำนักที่อินเดียสาเหตุหนึ่งที่อินเดียกับจีนไม่ค่อยลงรอยกัน ส่วนหนึ่งคงมีสาเหตุมาจากอินเดียให้ที่พักพิงกับชาวทิเบต ในขณะที่จีนได้กำหนดให้ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน เรื่องการเมืองคงยากที่จะหาที่สิ้นสุดได้
แต่ในเรื่องของศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ต้องบอกว่าเมืองธัมมศาลาน่าจะมีความมั่นคงที่สุด พระพุทธศาสนาในทิเบตเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 โดยพระศานตรักขิต ซึ่งเป็นภิกษุชาวอินเดียที่นำพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ทิเบตเป็นครั้งแรก ต่อมาคุรุปัทมะสัมภวะได้สถาปนาพุทธศาสนาในทิเบต และแพร่หลายถึงพุทธศตวรรษที่ 20 ก็เสื่อมลง
ปัทมะสัมภวะ เป็นฆารวาสมุนี หรือมหาสิทธา ไม่ได้เป็นพระภิกษุ ท่านคุรุปัทมสัมภวะ ได้รับอาราธนาจาก "พระศานตรักษิต" ซึ่งเป็นเพื่อนกันให้เข้าไปเผยแพร่พระศาสนาในดินแดนทิเบต เนื่องจากการเผยแพร่ศาสนาของท่านศานตรักษิตไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะในทิเบตสมัยนั้นได้มีลัทธิความเชื่อดั้งเดิมที่เข้มแข็งอยู่ก่อนแล้ว นั่นก็คือลัทธิบอน (ลัทธิบูชาผี) พระศานตรักขิต ทำงานไม่สะดวก จึงได้เชิญปัทมะสัมภวะ ไปช่วยอีกแรงหนึ่ง ผลปรากฏว่าได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง ดังนั้นในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในทิเบตจึงได้ปรากฎชื่อ “ปัทมสัมภวะ” ว่าเป็นผู้สถาปนาพระพุทธศาสนาในทิเบต ต่อมาพระพุทธศาสนาในทิเบตก็ได้แยกเป็นนิกายต่างๆ มีนิกายที่สำคัญ 4 นิกายคือ
1. นิกายนยิงมา หรือ นิกายยิงมะ (Nyingma School) เมื่อท่านคุรุปัทมสมภพได้เข้าสู่ทิเบต ก็ได้ปราบพวกศาสนาผีในท้องถิ่นจนราบคาบ แล้วเอาพวกผีที่ประชาชนในท้องถิ่นบูชาอยู่ มาทำเป็นธรรมบาลผู้พิทักษ์รักษาในพระพุทธศาสนา (การกลืนศาสนาของผู้มาใหม่ ) ด้วยเหตุนี้ชาวทิเบตจึงหันมา เคารพนับถือพระพุทธศาสนา อีกทั้งชาวทิเบตยังเคารพท่านคุรุปัทมสมภพเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากท่านคุรุปัทมสมภพเป็นฆารวาสมุนีไม่ใช่พระภิกษุ ท่านจึงไม่สามารถทำการอุปสมบท ให้กุลบุตรชาวทิเบตได้ ดังนั้นท่านจึงได้ไปนิมนต์ท่านศานตรักขิตกลับมาอุปสมบทให้กุลบุตรชาวทิเบตเป็นครั้งแรก
นยิงมาปะ (คำว่าปะหมายถึงนิกาย)เป็นนิกายแรกที่เผยแผ่มาจากอินเดีย โดยถือว่ากำเนิดจากท่านคุรุ ปัทมสมภวะ ได้มีพัฒนาการครั้งใหญ่ๆ 3 ครั้ง คือ การเริ่มต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่ม ต้นพุทธศาสนาของทิเบตด้วย และเป็นนิกายเดียวที่มีอยู่ในช่วงนั้น คือศตวรรษที่ 8-11 คำว่า "ญิงมา" ซึ่งแปลว่า “โบราณ” สัญลักษณ์ของนิกายคือใส่หมวกสีแดงชาวทิเบตเลื่อมใสศรัทธา ท่านคุรุปัทมภพมากเชื่อว่าท่านเป็นผู้ทรงพลานุภาพอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือขจัดอุปสรรค ต่างๆได้จนหมดสิ้น
นยิงมาปะได้เน้นในด้านพุทธตันตระคำว่าตันตระนั้นแปลว่า “เชือกหรือเส้นด้ายใหญ่” หรือความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดคำสอนจากอาจารย์ไปสู่ศิษย์ โดยไม่มีการขาดตอนโดยผ่านพิธีมนตราภิเษก และเป็นการถ่ายทอดคำสอนปากเปล่าจากอาจารย์สู่ศิษย์
2. นิกายกาคะยุ (Kagyu School) หรือการ์จูปะหรือคัจยู มีพระนโรปะชาวอินเดียเป็นผู้เริ่มก่อตั้งนิกาย นักบวชที่มีชื่อเสียงคือ “มิลาเรปะ” ผู้รจนา “A Hundred thousand song of Melarepa” มีผู้แปลเป็นไทยว่า “แสนโศลกของมิลาเรปะ” เนื้อหาคล้ายเป็นบันทึกของโยคีที่อาศัยอยู่รำพังในถ้ำ ในป่า ต้องเผชิญกับภูตผี ปีศาจ และภยันตรายต่างๆ ลามะที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบันท่านหนึ่งคือ “องค์เกียวลา กรรมาปะ องค์ที่ 17” เป็นผู้นำสูงสุดของนิกายนี้
3. นิกายศากยะ (Sakya School) นิกายศากยะ (Sakya School) สืบต้นต่อมาจากพระอติศะ นักปราชญ์ชาวอินเดีย มีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 นิกายสักยะ เป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาในทิเบต รากฐานของคำสอนมาจากวิรูปะ โยคีชาวอินเดียผ่านทาง คายธร ดรอกมี สักยะเยเช ลูกศิษย์ของสักยะเยเชคือ คอน คอลจ็อก เจลโป ได้สร้างวัดชื่อวัดศากยะ จึงกลายมาเป็นชื่อของนิกายศากยะในปัจจุบัน
นิกายสักยะเคยมีบทบาทปกครองทิเบตอยู่ราว 100 ปี เนื่องจากสักยะบัณฑิตได้ไปเผยแพร่พุทธศาสนาที่มองโกเลียจนเป็นที่เลื่อมใสของโกดันข่าน ต่อมา พักปะ หลานชายของสักยะบัณฑิตประดิษฐ์อักษรพัก-ปะเพื่อใช้เขียนภาษามองโกเลีย กุบไลข่านพอใจผลงานของพักปะจึงแต่งตั้งให้พักปะมีอำนาจปกครองทิเบต 3 แคว้น ถือว่าพักปะเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ทิเบตที่มีอำนาจทั้งทางศาสนาและการเมือง คำสอนที่ถือเป็นแก่นของนิกายคือ “ลัมเดร” มรรควิถีและผล
ปรัชญาทางมรรควิถีของนิกายนี้ถือว่าไม่สามารถแยกสังสารวัฏและพระนิพพานออกจากกันได้ เพราะจิตมีรากฐานอยู่ทั้ง 2 อย่าง ผู้ฝึกฝนจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ทั้ง 2 สภาวะ การปฏิบัติที่เป็นหลักของนิกายนี้คือ เหวัชระ จักรสัมภวะ ตันตระและมารกกาล
4. นิกายเกลุก (Geluk School) ตั้งขึ้นโดยลามะชาวทิเบตชื่อว่า “สองขะปะ” หรือ “ซงขปะ” นิกายนี้เป็นนิกายที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประเทศทิเบต นับเป็นนิกายที่เจริญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ องค์ดาไล ลามะ ทุกองค์จะสังกัดในนิกายนี้ทั้งสิ้น (ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ทิเบต)
ในแต่ละนิกายก็มีผู้นำนิกาย มีชื่อเรียกต่างกันเช่น “ปันเชนลามะ” “กรรมาปะ” ในส่วนขององค์ดาไล ลามะ องค์ปัจจุบันสังกัดนิกาย “เกลุก” หรือ “เกลุกปะ” เป็นนิกายที่สำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน มีคนรู้จักมากที่สุด ส่วนนิกายอื่นๆก็ยังมีปรากฏในรัฐต่างๆในอินเดียเช่นเลห์ ลาดักส์ สิกขิม หรือในภูฏาน และในเขตภูเขาหิมาลัย ก็มีลามะจำนวนมาก สุดแท้แต่ว่านิกายไหนจะได้รับอิทธิพลสูงสุดมากกว่ากัน
เมื่อทักทายกับลามะก็แยกไม่ออกว่าท่านสังกัดนิกายไหน เพราะการแต่งกายจะออกมาในรูปแบบเดียวกัน ไม่ได้บ่งบอกความแตกต่าง ลามะเหล่านี้ล้วนมีท่าทีเป็นมิตร มักจะทักทายปราศรัย สนทนาพูดคุยกับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นกันเอง พระสงฆ์ไทยก็เป็นที่รู้จักในหมู่ลามะเพราะมีพระสงฆ์ไทยไปจำพรรษาที่วัดไหยทุกปี หรือยังมีคนไทยอีกหลายคนที่บวชเป็นลามะอยู่ในวัดทิเบต ถ้าท่านไม่เอ่ยปากทักทายเป็นภาษาไทยก่อนก็จะแยกไม่ออกว่าเป็นชนชาติไหน
พระพุทธศาสนานิกายวัชรยานที่ชาวทิเบตถือปฏิบัตินั้น ได้พัฒนาปรับปรุงมาจากนิกายมหายาน จนกลายเป็นรูปแบบ เป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ชาวทิเบตศรัทธา ชาวทิเบตมีศูนย์ความศรัทธาอยู่ที่องค์ดาไล ลามะ ผู้นำสูงสุดทางด้านศาสนจักรของทิเบต ปัจจุบันมีที่ประทับอยู่ที่เมืองธัมมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
25/04/67