ในสมัยปัจจุบันมีศาสตร์ต่างๆเกิดขึ้นในโลกมากมาย มีโรงเรียน มีมหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาเหล่านั้น เมื่อเรียนจบออกมาแล้วก็ทำงานในสาขาที่ตนเองถนัด บางครั้งเมื่อสนทนากับผู้ที่เรียนมาต่างสาขาจึงฟังกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง บางสาขาออกนอกจักรวาลว่าดาวดวงอื่น การค้นหาดาวดวงใหม่ที่อาจจะมีสิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่ มนุษย์ส่วนหนึ่งพยายามหาทางที่จะอพยพไปอยู่ดาวดวงอื่น แต่ติดตามข่าวสารมานานหลายแล้วก็ยังไม่มีวี่แววจะมีการอพยพมนุษย์ไปอาศัยอยู่ดางดวงอื่นหรือไม่ ส่วนมากที่รับฟังข่าวมักจะเป็นมีมนุษย์ต่างดาวมารุกรานมวลมนุษยชาติ หรือว่าพวกเขาเหล่านั้นได้อพยพถิ่นฐานมาอยู่ยังโลกมนุษย์มานานแล้ว
แม้จะมีศาสตร์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย แต่สำหรับศาสตร์ที่เก่าแก่มีการเรียนการสอนมานานหลายพันปีแล้ว ก็ยังมีคนสนใจเรียน มีการเปิดสอนทั้งระยะสั้นและระยะยาว วิชานั้นเรียกว่า “โยคะ” หมายถึงการฝึกฝนร่างกายและจิตใจให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา บางคนกลั้นลมหายใจได้นานหลายนาที บางคนทำร่างกานให้อ่อน จะฝึกท่าอะไรก็ได้ เคยได้ยินข่าวว่ามีชายคนหนึ่งฝึกยกมือข้างเดียวและรักษาท่าทางไว้อย่างนั้นไม่เคยเอามือลงเลยตลอดระยะเวลา 40 ปี จนกระทั่งมือข้างนั้นใช้การอะไรไม่ได้ เขาทำเพื่ออะไร คำตอบที่พอจะจับใจความได้คือการบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ ความเชื่อความศรัทธาของมนุษย์ก็ยากที่จะอธิบาย
ปัจจุบันที่เมืองฤษีเกษ รัฐอุตตราขัณฑ์ มีโรงเรียนสอนโยคะแทรกอยู่ตามสถานที่ต่างๆมากมาย ใครจะเรียนต้องเสียเงินเรียน มีระดับการเรียนการสอนหลายระดับ จากการสอบถามนักเรียนโยคะท่านหนึ่ง มาจากประเทศกรีซ เขาเล่าให้ฟังว่า “ผมมาที่เมืองฤษีเกษแห่งนี้ทุกปี ติดต่อกันมานาน 7 ปี แล้ว ปีแรกมาอยู่ไม่นานแค่เดินชมเมือง ชมสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจ และได้ลองสมัครเรียนวิชาโยคะ ผมเรียนอยู่ 3 เดือนได้เรียนรู้วิธีนั่งสมาธิ วิธียืน วิธีเดิน วิธีนอน แบบโยคะ ซึ่งผมไม่เคยคิดว่าวิชาอย่างนี้จะมีสอนกัน ก็แค่ยืน เดิน นั่ง นอน ใครๆก็ทำเป็น แต่พอได้เรียนแล้ว จึงรู้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เอาแค่การนั่งอย่างเดียวก็ยากแล้ว นั่งเล่นทำอย่างไร นั่งสมาธิทำอย่างไร การเอาขาขัดกันนานๆยากมาก หากไม่ฝึกฝนคงทำไม่ได้ มนุษย์ต้องฝึกจึงจะสามารถใช้ร่างกาย จิตใจ ลมหายใจให้มีประโยชน์ได้ เรื่องของลมหายใจก็ไม่เคยคิดว่าจะมีวิธีการที่สามารถควบคุมได้ หายใจสั้น หายใจยาว ก็ให้รู้เท่าทัน การควบคุมจิตไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน ไม่ให้คิดสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แค่การกำหนดลมหายใจให้อยู่กับอารมณ์เดียวก็ยากนะครับ จากนั้นผมจึงเริ่มฝึกวิชาโยคะอย่างจริงจัง โดยเดินทางมาที่เมืองฤษีเกษทุกปี เรียนทุกปี ฝึกทุกปี แต่ก็ยังต้องเรียนรู้อีกมาก ผมยังอยากลองใช้ชีวิตแบบโยคีว่าพวกเยาอยู่กันได้อย่างไร แทบจะไม่มีสมบัติอะไรเลย แค่อาศรมหลังเล็กๆหนาวก็อยู่ได้ ร้อนก็อยู่ได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยอะไรเลย ผมติดต่อไว้แล้ว แต่ผมยังต้องทำงานอีกสักพักจะมาใช้ชีวิตแบบโยคีที่เมืองฤษีเกษแห่งนี้ คงอีกไม่นาน”
เมื่อถามว่าทำไมต้องเป็นเมืองนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า “เมืองอื่นไม่ค่อยมีการสอนโยคะ เช่นเมืองหริทวาระก็เป็นการประกอบพิธีมากกว่า เมืองธัมมศาลาเน้นที่พระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ซึ่งมีวิธีการอีกอย่างหนึ่ง ผมพยายามวางภาระในชีวิตให้เหลือน้อยลง สักวันหนึ่งไม่เป็นโยคี ก็อาจจะเป็นภิกษุก็ได้”
โยคะเป็นหนึ่งในปรัชญาอินเดีย 6 สำนักคือ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ มีมางสา และเวทานตะ เป็นปรัชญาฝ่ายอาสติกะ ซึ่งยังมีความเชื่อในคัมภีร์พระเวท สำหรับโยคะในทางปรัชญา การปฏิบัติก็เพื่อการบรรลุโมกษะเข้าถึงพรหมัน ซึ่งมีหลักการสำคัญ 3 ประการคือ (1) กรรมโยคะ การปฏิบัติตบะ โยคะ เช่นการทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ (2) ภักติโยคะ คือการยอมมอบกายถวายชีวิตต่อพระผู้เป็นเจ้า ยอมทำทุกอย่างเพื่อพระองค์ และการบูชาบรวงสรวงสวดมนต์ (3) ชญาณโยคะ คือการบำเพ็ญสมาธิให้เกิดวิเวกญาณเครื่องรู้แจ้งตนเมื่อญาณนี้เกิดขึ้นจะทำให้ใจสะอาดบริสุทธิ์ แล้วจะไม่ต้องเกิดอีก เป็นอันถึงโมกษะ
ในปรัชญาโยคะยังมีคำสอนที่คล้ายกับพระพุทธศาสนาเรียกว่า “มรรค์มีองค์ 8” ส่วนปรัชญาโยคะเรียกว่า “มรรค 8” ประกอบด้วย (1) ยมะ การสำรวมระวัง (2)นิยมะ ได้แก่การฝึกฝนอบรมตนเองให้บริสุทธิ์ทั้งภายนอกและภายใน(3) อาสนะ แก่การควบคุมร่างกายให้อยู่ในอริยาบถที่สะบายและเป็นประโยชน์แก่การเจริญสมาธิ (4)ปราณายามะ ได้แก่การกำหนดและควบคุมลมหายใจเข้าออก (5) ปรัตยาหาระ ได้แก่ การควบคุมประสาทสัมผัสโดยการปิดประตูที่มาของอารมณ์ภายนอกทั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น และกายหรือผิวหนัง (6) ธารณะ ได้แก่การกำหนดจิตให้จดจ่อแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ของสมาธิ หรืออารมณ์ของจิต (7) ชยานะ ได้แก่การที่จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือจุดใดจุดหนึ่ง (8) สมาธิ ได้แก่การที่จิตดื่มด่ำในอารมณ์ของสมาธิอย่างเต็มที่
มหาฤษีปตัญชลี ผู้ก่อตั้งปรัชญาโยคะ ผู้แต่งคัมภีร์โยคะสูตร ได้ให้ความหมายของ “โยคะ”ไว้ว่าหมายถึงความพยายามทางจิตเพื่อให้บรรลุถึงความสมบูรณ์เต็มที่ โดยวิธีควบคุมร่างกายและจิตใจ และโดยวิธีปฏิบัติให้มีวิเวกญาณเกิดขึ้นเพื่อแยกปุรุษะและประกฤตได้อย่างเด็ดขาด (สุนทร ณ รังษี,ปรัชญาอินเดีย:ปรัชญาและลัทธิ,จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย,2530, หน้า 194-198)
ก็ไม่รู้ว่าวิชาโยคะที่สอนกันในปัจจุบันเป็นไปตามคำสอนของมหาฤษีปตัญชลีผู้ให้กำเนิดปรัชญาโยคะหรือไม่ ต้องศึกษาค้นหาข้อมูลและหลักฐานอีกต่อไป ปรัชญาโยคะแม้จะไม่เรียกว่าศาสนา แต่ก็มีหลักการสำคัญอยู่ที่คัมภีร์พระเวท ผู้ปฏิบัติตนนอกจากจะเป็นประโยชน์ในขณะฝึก ยังมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการบรรลุโมกษะ
เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเมืองฤษีเกษคือการมีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน เป็นช่วงที่แม่น้ำไม่กว้างนักไหลอยู่ตลอดทั้งปี จึงมักจะมีนักท่องเที่ยวนิยมนั่งเรืองชมแม่น้ำ บางอย่างถูกดัดแปลงเป็นการผจญภัยล่องเรือไปตามกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เท่าที่ชมดูก็เพลินดีเหมือนกันนะ หรือหากชอบการเดินป่าก็มีให้เลือกหลายเส้นทาง ในแต่ละวันจึงมีนักท่องเที่ยวจากนานาชาติจำนวนมาก เดินขวักไขว่ตามตัวเมือง เดินเล่นริมฝั่งแม่น้ำคงคา ยังมีพิธีคงคาอารตีให้ได้ชมอีกในตอนเย็น
สอบถามคนพื้นเมืองเขาเล่าให้ฟังว่า “เมืองนี้ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะไม่ค่อยมีอะไรที่ทำให้คนหลงมากนัก อาหารก็เป็นมังสวิรัติทั้งเมือง ไม่มีเนื้อสัตว์ เครื่องดื่มประเภทมึนเมาก็ไม่มี หรือหากจะมีก็ซื้อยาก อีกอย่างหากคนพื้นเมืองมีเรื่องกับนักท่องเที่ยว ชาวพื้นเมืองมักจะเป็นคนผิด เมืองนี้สิ่งที่คนท้องถิ่นกลัวที่สุดก็คือการมีเรื่องกับนักท่องเที่ยว ดังนั้นเมืองนี้จึงค่อยข้างจะปลอดภัย หากอยู่ตามกติกาไม่หาเรื่องใครก็ไม่มีปัญหา”
วันหนึ่งเดินเล่นจากสะพานลักษมีไปยังสะพานจานาซึ่งห่างกันประมาณ 4 กิโลเมตร เส้นทางเดินแคบๆเรียบฝั่งแม่น้ำคงคา ให้เฉพาะคนเดิน ไม่สามารถใช้พาหนะอย่างอื่นได้ ที่พอจะใช้ได้คือจรถจักรยาน ข้างทางมีอาศรมของเหล่าโยคีเรียงรายตามป่าละเมาะริมฝั่งแม่น้ำ โยคีก็ฝึกตนตนเองตามศาสตร์แห่งโยคี สามารถเข้าไปทักทายสนทนาปราศรัยได้ หากจะให้โยคีแสดงท่าทางพิเศษก็ต้องจ่ายเงินบ้าง
แม้โลกจะเจริญด้วยเทคโนโลยีจนสามารถไปยังดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ได้แล้วก็ตาม คนกลุ่มหนึ่งพยายามจะไปนอกโลก แต่ก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่พยายามที่จะฝึกฝนตนทางร่างกายและจิตใจให้อยู่ในอำนาจการบังคับบัญชาได้ การอยู่ในโลกใบนี้หากยังมีจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ก็สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ หากต้องการจะไปนอกโลกก็จงศึกษาศาสตร์ใหม่ๆที่มีการเรียนการสอนในระดับต่างๆมากมาย หรือหากต้องการที่จะศึกษาวิชาชีวิตก็แค่ย้อนกลับมาศึกษาที่ตนเอง เริ่มต้นที่ตนเองโดยใช้ร่างกายและจิตใจนี่แหละเป็นโรงเรียน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/04/67