พระพุทธศาสนาในยุคสมัยปัจจุบัน มีนิกายที่สำคัญอยู่ 3 นิกายคือนิกายมหายาน นิกายเถรวาท และนิกายวัชรยาน หากจะศึกษาพระพุทธศาสนาที่ยังมีผู้ปฏิบัติในปัจจุบันนอกจากเถรวาทที่มีปรากฎในประเทศไทย ศรีลังกา เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว ซึ่งมีจำนวนพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่มาก ยังมีนิกายมหายานที่เผยแผ่อยู่ในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม น่าจะมีพุทธศาสนิกชนมากกว่า 100 ล้านคน นอกจากนั้นยังมีนิกายวัชรยานที่สืบสายมาจากตันตรยานหรือมันตรยานเผยแผ่อยู่ในตอนเหนือของอินเดียและเนปาลบริเวณเทือกเขาหิมาลัย เป็นพระพุทธศาสนาที่ชาวตะวันให้ความสนใจมาก มีชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งเข้ามาอุปสมบทในนิกายวัชรยาน ซึ่งปัจจุบันมีถิ่นฐานสำคัญอยู่ที่อินเดียตอนเหนือ พระภิกษุที่ชาวโลกรู้จักมากที่สุดรูปหนึ่งคือองค์ดาไล ลามะ แห่งทิเบต ผู้นำพระพุทธศาสนาสายวัชรยาน นิกายเกลุกแห่งทิเบต ปัจจุบันวัชยานยังแยกออกเป็นอีกหลายนิกาย
ในอดีตเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ก็มาถึงยุคที่เสื่อมโทรมลงตามลำดับ จนกระทั่งหายสาบสูญไปจากอินเดียถิ่นกำเนิดนานนับ 700 ปี จึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี่เอง พระพุทธศาสนาค่อยๆเสื่อมด้วยสาเหตุหลายประการ ทั้งปัจจัยจากภายในและปัจจัยจากภายนอกคือศาสนาฮินดูเริ่มเรียกศรัทธาจากชาวอินเดียเพื่อให้ย้อนกลับมานับถือฮินดูเหมือนในอดีต เหตุเกิดเมื่อประมาณพุทธศักราช 1000 เมื่อพระพุทธศาสนาแตกแยกเป็นนิกายต่างๆมากมาย ในขณะที่ศาสนาฮินดูกำลังเจริญรุ่งเรือง จึงมีการแต่งคัมภีร์เพื่อที่จะทำให้พระพุทธศาสนาไม่ต่างจากศาสนาฮินดูหรืออีกนัยหนึ่งทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นนิกายหนึ่งของฮินดูไปเลย ฮินดูมีการแต่งเรื่องราวขึ้นมีการนำเอาพระพุทธเจ้าเป็นพระนารายณ์อวตารปางที่ 9 เรียกว่า “พุทธาวตาร” ไม่นานพระพุทธศาสนาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของฮินดู ตามความเข้าใจของชาวฮินดู
ความพยายามทำให้พระพุทธศาสนาไม่ต่างจากฮินดูนั้น มีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์วิษณุปุราณะมีข้อความตอนหนึ่งว่า “พวกอสูรมีประหลาทะ เป็นหัวหน้า ได้ขโมยเครื่องบูชายัญของเทพยดาทั้งหลายไป แต่เหล่าอสูรเก่งกล้ามาก เทพยดาปราบไม่ได้ พระวิษณุเจ้า (พระนารายณ์) จึงทรงนิรมิตบุรุษแห่งมายา (นักหลอกลวง) ขึ้นมา เพื่อให้ไปชักพาเหล่าอสูรออกไปให้พ้นจากทางแห่งพระเวท บุรุษแห่งมายานั้น นุ่งห่มผ้าสีแดง และสอนเหล่าอสูรว่าการห่าสัตว์บูชายัญเป้นบาป ทำให้พวกอสูรเป็นชาวพุทธ และชักพาให้หมู่ชนอื่นๆ ออกนอกศาสนา พากันละทิ้งพระเวท ติเตียนเทพยดาและพราหมณ์ทั้งหลาย สลัดทิ้งสัทธรรมที่เป็นเกราะป้องกันตัว เทพยดาทั้งหลายจึงเข้าโจมตีและฆ่าอสูรเหล่านั้นได้
ในการสงครามระหว่างเทพยดาและเหล่าอสูร เทพยดาได้ปราชัย และมาขอให้องค์พระเจ้า (พระวิษณุคือพระนารายณ์) ทรงเป็นที่พึ่ง องค์พระเป็นเจ้าจึงได้ทรงมาอุบัติเป็นราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ มาทรงเป็นองค์มายาโมหะ (ผู้หลอกลวง) และทรงชักพาให้เหล่าอสูรพากันหลงผิดไปเสียไปนับถือพระพุทธศาสนา และละทิ้งพระเวท แล้วพระองค์ก็ได้ทรงเป็นพระอรหันต์ และทำให้คนอื่นๆ เป็นพระอรหันต์ พวกนอกศาสนาจึงได้เกิดมีขึ้น (idem,288) (อ้างจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ป.อ. ปยุตฺโต), จาริกบุญ จาริกธรรม,พิมพ์ครั้งที่ 55,ธรรมสภา, หน้า 476
ฮินดูเรียกช่วงที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดีย ทำให้ชาวฮินดูไม่มีความเชื่อในระบบวรรณะ และพระเวท ยุคนั้นเรียกว่าฮินดูกลียุค จากนั้นพระวิษณุก็จะอวตารลงมาปราบกลียุคเป็นนารายณ์อวตารปางที่ 10 เรียกว่า “กัลกยาวตาร” เมื่อปราบอสูรหมายถึงผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาให้หันกลับไปเชื่อในระบบวรรณะและคัมภีร์พระเวท ฮินดูเรียกยุคนั้นยุคทองแห่งศาสนาฮินดู
เขาเขียนคัมภีร์เทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่เรียกชาวพุทธว่า “พวกอสูร” ซึ่งในยุคนั้นเริ่มมีความเห็นแปลกไปจากพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม เช่นพระพุทธเจ้าก็มีจำนวนมาก มหายานบางนิกายถึงกับให้พระพุทธเจ้ามีพระชายา ถึงกับมีพระพุทธปฏิมาที่มีพระชายาอยู่ด้วย เรียกปางนี้ “ยับยุม” เจตนาครั้งแรกเพื่อต่อสู้กับศาสนาฮินดูที่มีนิกายตันตระ นักปราชญ์ชาวพุทธก็แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาก็มีตันตระเหมือนกัน จึงเกิดนิกายใหม่ขึ้นในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ตันตรยาน” ในที่สุดพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้แตกต่างจากฮินดู จนกระทั่งมีการบอกกล่าวกันว่า “พุทธศาสนาก็คือนิกายหนึ่งในศาสนาฮินดู”
นักวิชาการชาวพุทธกลุ่มหนึ่งได้นำเอา “ตันตรยาน” ในศาสนาฮินดูเข้ามาใช้ในพระพุทธศาสนา เมื่อตันตรยานได้รับความนิยม คำสอนของตันตระในฮินดูมีหลักการสำคัญอยู่ 5 ข้อเรียกว่าปัญจตัตตวะ (ธาตุทั้ง 5) หรือ ปัญจมกาล (อักษร ม ทั้ง 5) คือ
1.มัตยะ (มทิรา) คือน้ำเมา
2. มางสะ (เนื้อรวมทั้งมัตสยะ ปลา)
3. มนต์ (ธยายให้กําหนัด)
4. มุทรา (ใช้ท่าเย้ายวน)
5.ไมถุน หรือเมถุน (การเสพเมถุน) พิธีทั้ง 5 นี้ กระทํากันในเวลาเที่ยงคืน เรียกว่า “กาลจักร”
เมื่อตันตรยานเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนามีส่วนทำให้พระภิกษุและฆราวาสไม่แตกต่างกัน เพราะสุดท้ายก็นำสู่พิธี “กาลจักร” คือการเสพเมถุน พระพุทธศาสนาบางนิกายจึงสามารถมีครอบครัวได้เช่นในญี่ปุ่น เกาหลี และทิเบต เป็นต้น ในที่สุดพระพุทธศาสนาก็กลายเป็นฮินดูและหายไปจากอินเดียประมาณพุทธศักราช 1600 – 1700 จนถึงพุทธศักราช 2300 พระพุทธศาสนาหายไปจากอินเดียและเนปาลถิ่นกำเนิดประมาณ 700 ปี นานไม่นานก็ลองย้อนถอยหลังกลับไปตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์
เรื่องของการแปรเปลี่ยนของพระพุทธศาสนาจนกลายเป็นลัทธิหนึ่งของฮินดูนั้น ในส่วนของงานวิชาการมีนักบวชฮินดูท่านหนึ่งนามว่า “ศังกราจารย์” เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาได้ศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนาจนเข้าใจถึงหลักการสำคัญ คำสอนสำคัญ ภายหลังเมื่อลาสิกขาก็กลับเข้าไปอยู่ในศาสนาฮินดูตามเดิม และได้ดัดแปลงคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของฮินดู สมัยก่อนฮินดูไม่มีวัด เมื่อศังการาจารย์มีแนวคิดในการเปลี่ยนวัดในพระพุทธศาสนาให้กลายเป็นวัดฮินดู โดยเสนอหลักการไว้ให้ชาวฮินดูไว้ว่า “พระภิกษุในพระพุทธศาสนาส่วนหนึ่งเข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยอื่นๆ มุ่งแต่การศึกษาเล่าเรียน ส่วนการปฏิบัติเริ่มลดน้อยถอยลง เมื่อพระภิกษุต่างมุ่งหน้าสู่ถิ่นที่มีความเจริญ ก็ละทิ้งถิ่นฐานวัดเก่าตามแนวชนบทให้ว่างเปล่า กลายเป็นวัดร้างมากขึ้น เมืองใหญ่เจริญแต่ชนบทเสื่อม ดังนั้นพวกเราจึงควรยึดครองวัดในชนบทก่อนและค่อยๆรุกเข้ามาในเมืองใหญ่” เป็นแผนการแบบเดียวกันกับ “จันทรคุปต์” ที่ค่อยๆยึดครองจากชนบทเข้ามายังเมืองใหญ่ จนได้รับชัยชนะสามารถตั้งราชวงค์ “เมารยะ หรือโมริยะ” มีนครปาฏิลีบุต เป็นเมืองหลวง จันทรคุปต์คือพระบิดาของพระเจ้าพินทุสารซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ดังนั้นจันทรคุปต์ก็คือปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราชผู้กอบกู้พระพุทธศาสนาในยุคต่อมา
ศังกราจารย์เปิดแนวรุกทางด้านการเมือง จนวัดพระพุทธศาสนาในถิ่นชนบทกลายเป็นวัดในฮินดู อีกทางหนึ่งนักวิชาการในศาสนาฮินดูก็ใช้วิธีทางวิชาการเพื่อเปลี่ยนพระพุทธศาสนามาเป็นฮินดู
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือพระพุทธศาสนาไม่ได้หายไป แต่วิถีของการปฏิบัติแบบนักบวชผู้ถือเพศพรหมจรรย์ได้หายไป ถ้าจะบอกว่าถ้าไม่มีพระภิกษุก็ไม่มีพุทธศาสนาก็พูดยาก เมื่อพุทธศาสนากลายเป็นลัทธิหนึ่งในศาสนาฮินดู วัดพุทธกลายเป็นวัดฮินดู เมื่อไม่มีพระภิกษุอยู่ในวัด วัดก็กลายเป็นวัดร้าง ยังนับว่าโชคดีที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างเสาหินจารึกไว้เป็นหลักฐานในสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เมื่อมีการขุดค้นจึงได้มีหลักฐานทางโบราณคดีบอกให้ทราบว่าสถานที่แห่งนั้นเคยเป็นวัดในพระพุทธศาสนา
ในส่วนของตันตรยานได้ปรับเปลี่ยนเป็นมันตรยานและวัชรยาน มีนักบวชผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาเริ่มที่ทิเบต เมื่อทิเบตถูกจีนรุกราน ดาไล ลามะผู้นำทางด้านศาสนาและอาณาจักรก็ได้ลี้ภัยมาอยู่ที่เมืองธัมมศาลาหรือดารัมสาลา อยู่ติดชายแดนปากีสถาน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่เมืองนี้ เรียกร้องเอกราชจากจีนมาเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จ ทิเบตก็กลายเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศจีนในปัจจุบัน
แม้ว่านิกายตันตรยานจะได้ถูกนักวิชาการจำนวนหนึ่งว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินดีย แต่ก็ต้องยอมรับว่าแนวคิดแบบตันตรยาน หรือมันตรยาน หรือวัชรยาน ยังมีผู้สืบต่อมีวัด มีอารามอีกหลายแห่งทั้งที่เมืองเลห์ ลาดักส์ และเมืองธัมมศาลา ในปัจจุบัน หากใครมีความต้องการอยากจะศึกษาพระพุทธศาสนานิกายวัชรยานก็ต้องไปที่ 2 เมืองนี้ เพราะปัจจุบันยังมีวัดในนิกายตันตรยาน ปรากฎอยู่อีกหลายวัด
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/04/67