เป็นความตั้งใจมานานหลายปีแล้วว่าสถานที่ที่อยากเดินทางไปอีกเมืองหนึ่งในอินเดียคือ “เมืองฤษีเกษ” เพราะเมืองนี้ยังเชื่อมโยงไปถึง “โคมุข” ถิ่นกำเนิดของแม่น้ำคงคา ยังหาเวลาที่เหมาะๆไม่ได้สักที จนกระทั่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อมีโอกาสได้พาพระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานในอินเดียเนปาล เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วมีเวลาว่างอีกหนึ่งเดือน จึงวางแผนการเดินทางไปยังเมืองฤษีเกษ แต่การจะผ่านไปถึงเมืองนี้อย่างน้อยก็ต้องผ่านอีกสองเมืองคือเดห์ราดุนและหริทวาระ ซึ่งอยู่ในรัฐอุตตรขัณฑ์เหมือนกัน
การเดินทางเริ่มจากสนามบินเมืองคยาไปยังสนามบินอินทิราคานธี นครเดลี จากนั้นต่อเครื่องไปยังเมืองเดห์ราดูน เมืองหลวงของรัฐอุตตราขัณฑ์ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแผนที่ประเทศอินเดีย ต้องบอกไว้ก่อนว่าการเดินทางบางครั้งก็ต้องแข่งกับเวลา หากจะเดินทางโดยรถไฟหรือรถยนต์โดยสารก็ต้องแลกกับเวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์ แต่ถ้าเป็นเครื่องบินเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่ต้องแลกกับงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ออกจากคยาไปถึงจุดหมายคือเดห์ราดุนประมาณหกโมงเย็น จากนั้นเช่ารถแท็กซี่ไปต่อที่เมืองหริทวาระ ค่ารถ 1500 รูปี อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 บาทเท่ากับ 2.4 รูปี คิดเป็นเงินไทยก็แค่ 625 บาท เพราะรอรถโดยสารก็ต้องพรุ่งนี้เช้า เสียเวลาไปอีกหนึ่งคืน เนื่องจากจองที่พักไว้ที่หริทวาระ 2 คืน พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันต่อไปค่อยว่ากันอีกที เมืองนี้ตั้งใจมาดูพิธีคงคาอารตี ซึ่งจัดขึ้นตอนเย็นของทุกวันเวลาประมาณ 18.00 น. วันนี้ผ่านไปแล้ว ต้องรออีกวัน ชีวิตบางครั้งก็ต้องรอให้ได้
ตอนกลางวันเที่ยวชมเมืองซึ่งส่วนมากเป็นวัดในศาสนาฮินดู นักบวชก็เป็นประเภท “สาธุ” นุ่งห่มผ้าสีเหลือง หรือส้ม ไว้หนวดเครา ไว้ผมยาว เดินขวักไขว่ไปมาทั่วเมือง ลองแวะไปที่อาศรมของหล่านักบวชเหล่านี้ ส่วนมากจะอยูนอกเมือง อยู่ตามป่า มีอาศรมหลังเล็กๆเหมือนกุฏิพระกระจายกันอยู่ตามริมถนน ตามชายป่า ใช้ชีวิตเหมือนพระภิกษุในพระพุทธศาสนา บางคนนั่งสมาธิ บางกลุ่มนั่งสนทนากันตามใต้ต้นไม้ ตามริมถนน นั่งจิบ “กาลัมจาย” สนทนาอย่างสบายอารมณ์
ลองแวะเข้าไปทักทายสนทนากับพวกเหล่านักบวชเหล่านี้บ้าง ส่วนจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดี สนทนาโต้ตอบกันได้ คำถามทั่วไปคือท่านมาจากไหน มาทำอะไร ไม่ได้เจาะลึกลงถึงแนวการปฏิบัติของแต่ละสำนัก นักบวชประเภทสาธุมีหลายสำนัก มีทั้งไว้ผม ไว้หนวด และโกนผมก็มี ความเข้าใจของพวกเขาส่วนหนึ่งมักจะเข้าใจว่าพุทธศาสนาก็คือสาขาหนึ่งของฮินดู จึงไม่ได้มีความแปลกแยกแต่ประการใด
ตอนเย็นที่ฝั่งแม่น้ำคงคาเมืองหริทวาระมีพิธีคงคาอารตี เป็นพิธีบูชาไฟและอาบน้ำล้างบาปตามพิธีกรรมของชาวฮินดู จะจัดขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา มักจะจัดกันหลายเมืองที่มีแม่น้ำคงคาไหลผ่านเช่นพาราณสี หริทวาระ ฤษีเกษ เป็นต้น ความเชื่อในการอาบน้ำล้างบาปยังคงมีอยู่ในอินเดีย เป็นพิธีที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวฮินดู
พิธีคงคาอารตีจะจัดขึ้นในช่วงตอนเย็นทุกวันเวลาประมาณ 18.00 น. พิธีกรรมเริ่มต้นด้วยเหล่าสาธุจะมาชุมนุมกันที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา สวดมนต์สรรเสริญเทพเจ้า มีฆราวาสมาร่วมพิธีด้วย ใครที่เป็นเจ้าภาพใหญ่จะได้รับสิทธิพิเศษให้ยืนแถวหน้า ถือเครื่องประทีปโคมไฟ ดอกไม้โดยมีนักบวชในศาสนาฮินดูเป็นผู้ประกอบพิธี ผู้คนต่างที่เข้าร่วมงานก็จะรอการสวดสรรเสริญจนเสร็จสิ้นสิ้น นักบวชก็จะเริ่มพิธีบูชาไฟพร้อมๆกันเป็นแถวยาวริมฝั่งแม่น้ำคงคาจึงเต็มไปด้วยเปลวไฟที่ลุกโซนจากมือของเหล่านักบวชจำนวนหลายร้อยรูป และเหล่าผู้คนกล่าวคำสวดสรรเสริญเทพเจ้า แม้จะฟังไม่ออกแต่ก็พอคาดเดาได้ถึงพลังศรัทธาที่ชาวฮินดูมีต่อศาสนาของพวกเขา
พิธีคงอารตีใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง เมื่อเสร็จพิธีคบไฟที่ใช้บูชายังนำมาให้ผู้คนได้สัมผัสและร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อศาสนา ในแต่ละวันมีผู้คนเข้าร่วมงานหลายหมื่นคน มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างถิ่นจำนวนมาก บรรยากาศในแต่ละวันจึงคักคักอย่างยิ่ง
เมืองหริทวาระมีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน ยังมีพิธีกรรมในศาสนาฮินดูที่ยึดเอาแม่น้ำคงคาเป็นหลักในการประกอบพิธีกรรมแทบทุกวันที่เรียกว่า “คงคาอารตี” คือการบูชาไฟริมฝั่งแม่น้ำคงคา ในแต่ละวันจะมีผู้คนหลั่งไหลมาชมพิธีกรรมหลายหมื่นคน รวมทั้งเหล่านักบวชในศาสนาฮินดูก็กลายเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม แม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นสายารแห่งอารยธรรมของชาวฮินดูที่ยังมีพิธีกรรมที่ยังมีลมหายใจสำหรับชาวฮินดู นักบวชฮินดูผู้ประกอบพิธีก็ยังดำรงอยู่ในสังคมแห่งความเชื่อที่ยังคงสืบต่อกันไปอีกนาน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/04/67