มนุษย์แต่ละคนต่างก็มีวิถีชีวิตของตนเอง มีแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเอง จะยากดีมีจนอย่างไรก็ตามในเมื่อได้ชีวิตของความเป็นมนุษย์แล้วก็ต้องเลือกเส้นทางของตนเองให้ได้ บางคนได้ใช้ชีวิตตามที่ตนเองกำหนด นับว่าโชคดีไป แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่อาจเลือกเส้นทางของตัวเองได้ ก็ต้องอดทนให้ได้กับสิ่งที่ไม่ชอบ แต่ต้องทำ จะทำอย่างไรได้ ชีวิตเป็นสิ่งที่เข้าใจยากอยู่แล้ว เลือกทำในสิ่งที่ตนเองชอบ หรือต้องชอบในสิ่งที่ถูกเลือก
ข้าพเจ้าเลือกทิ้งชีวิตทั้งชีวิตเพื่อที่จะมีชีวิตเป็นคนผู้เดียวเที่ยวไปในสถานที่ที่เงียบสงัดสงบ ตามป่า ถ้ำและภูเขา แต่ทำได้เพียงไม่กี่ปี เพราะมีผู้อยากให้ดำเนินชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบที่ข้าพเจ้าพึ่งทิ้งมานั่นเอง แต่เมื่อผู้มีพระคุณร้องขอก็ต้องตอบสนองพระเดชพระคุณ ช่วงแรกเป็นข้าพเจ้าเลือกเอง ส่วนชีวิตช่วงที่สองมีคนเลือกให้ แต่ข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำ ผลกรรมก็ตกอยู่ที่ตัวผู้ทำ มิใช่อยู่ที่ตัวผู้เลือก
ในเบื้องต้นข้าพเจ้าทำตามเจตจำนงของผู้อื่น แต่พอกระทำไปสักพักสิ่งนั้นก็กลายมาเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตตามวิถีแบบนั้นเป็นเวลายาวนานกว่าสามสิบปี ทำงานเพื่อผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นประสบความสำเร็จ ในขณะที่ตนเองถูกกาลเวลากัดกร่อนไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ต้องเลิกทำ เพราะทำต่อไม่ไหว กายและใจไม่กระตือรือร้นเหมือนเดิม
เมื่อเริ่มตระหนักรู้ว่าชีวิตที่เหลืออยู่นั้นคงอยู่ได้อีกไม่นาน เพราะถูกกาลเวลากัดกร่อนและกลืนกินไปทุกขณะ ชีวิตช่วงสุดเป็นข้าพเจ้าเลือกเอง เลือกที่จะเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไป เท่าที่เงินในกระเป๋าพอจะนำพาไปได้ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาในการใช้ชีวิต ชีวิตไม่อาจย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้เป็นครั้งที่สองดังที่นักปรัชกรีกนามว่าเฮราคลีตุสเคยกล่าวไว้ว่า “One cannot step in the same river twice” น่าจะแปลเป็นไทยได้ในทำนองว่า “ไม่มีใครก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดิมได้สองครั้ง” ความหมายคือ กระแสน้ำที่เราสัมผัสครั้งแรกได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเราสัมผัสครั้งที่สองมันจึงมิใช่น้ำอันเดิม ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แนวคิดนี้ใกล้เคียงกับคำว่า “อนิจจัง” ในพระพุทธศาสนานั่นคือ “สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ไม่อาจอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดเวลา ลักษณะที่เป็นอนิจจะคือ (1)ลักษณะที่ไม่เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ คือเป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ (2) มีแล้วก็ไม่มี เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ (3)เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ” แค่ใกล้เคียงนะ แต่วิธีการในการดำเนินชีวิตแตกต่างกัน ปรัชญาแค่ได้รู้ว่าเรารู้ แต่ศาสนาถ้ารู้แล้วต้องดำเนินตามได้
เฮราคลีตุสเกิดก่อนคริสตศักราช 68 ปี (543-475 B.C.) นั่นหมายถึงเขาเกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ยาวนานถึง 68 ปี เขาเสียชีวิตก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 8 ปี อย่างน้อยเราก็ได้เห็นว่ากระแสแนวคิดทั้งเอเซียและยุโรปคิดตรงกันได้ กรีก ตุรกี อิหร่าน อาฟกานิสถาน อินเดีย น่าจะมีพ่อค้าเดินทางค้าขายสินค้าระหว่างกัน และเมื่อมีการติดต่อสื่อสารกันอารยธรรม ปรัชญา ศาสนาก็เชื่อมต่อถึงกันได้
ชีวิตที่ผ่านไปแล้วเป็นอดีตที่ไม่อาจจะย้อนกลับได้ เหมือนกระแสน้ำสายแรกที่เราเดินลงไป ส่วนชีวิตที่เหลืออยู่ก็คาดเดาอะไรไม่ได้ อาจจะเป็นไปตามที่คาดคะเนหรืออาจจะแปรเปลี่ยนไป เหมือนกระแสน้ำอาจเปลี่ยนทิศทางก็ได้ ส่วนปัจจุบันเมื่อเรายังอยู่ก็สามารถทำในสิ่งที่เราปรารถนาและอยากจะทำได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/10/66