เคยได้ยินหลายคนตั้งคำถามว่าจะปฏิบัติธรรมไปทำไม ถ้าหากจะปฏิบัติแล้วจะปฏิบัติอย่างไร มีวิธีการในการปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติธรรมแล้วจะได้อะไร แม้จะตอบคำถามไปหลายสิบครั้ง แต่ก็ยังมีคนตั้งคำถามให้ได้ยินเสมอ บางคนถุงขันที่บอกว่า ผมไม่มีนับถือศาสนาได้ไหม ผมไม่มีศาสนาจะทำให้ตกนรกหรือไม่ บางทีคนที่ประกาศต่อใครว่าข้าพเจ้าไม่มีศาสนา อาจจะเป็นคนที่ปฏิบัติตามแนวคำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่งก็ได้ แต่เนื่องเพราะการให้คำนิยามของการดำเนินชีวิตของตนทำให้มีความสุขได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติธรรม ชีวิตก็ดำเนินต่อไปได้ มีความรู้ มีวิชาสามารถประกอบสัมมาอาชีพได้ แต่ถ้าอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นจะลองปฏิบัติธรรมดูบ้างก็ไม่เสียหายอันใด
ในพระพุทธศาสนามีพุทธภาษิตอยู่บทหนึ่งในคาถาธรรมบท โลกวรรค (25/23/32) ความว่า ผู้ประพฤติธรย่อมอยู่เป็นสุข แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ธมฺมจารี สุขํ เสติ” และยังมีประโยชน์ต่อท้ายอีกว่า “ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แสดงว่าการปฏิบัติมีผลสำหรับชีวิตจริง ทั้งชีวิตในโลกนี้และชีวิตในโลกหน้า
ก่อนอื่นต้องนิยามความหมายของคำว่า “ธรรม”หรือ “ธัมมะ” ว่าหมายถึงอะไร คำนี้มาจากภาษาบาลีว่า “ธมฺม” หมายถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า,สภาวะ,ธรรมชาติ,ความจริง,ปรมัตถธรรม,บุญ,ความดี,ความยุติธรรม,ปรากฎการณ์,ธรรมารมณ์,อารมณ์ทางใจ,เจตสิก
นอกจากนั้นธรรมะยังมีความหมายที่หมายรวมเอาแทบทุกสิ่งไว้ตั้งแต่สิ่งที่เห็นและไม่เห็นใจนึกถึงรูปธรรมและนามธรรม ธรรมะยังหมายถึงหน้าที่ของตนต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ
ธรรมะหมายถึงสิ่งหรือสภาพที่ทรงตัวเองไว้ เคยเป็นอยู่อย่างไรก็คงเป็นอยู่อย่างนั้น การทรงตัวเองไว้ได้นี่แหละเรียกว่าธรรมะ ธรรมะจึงมีความหมายหลากหลายประการ
พระธรรมมีคุณอันลึกซึ้งท่านแสดงพระธรรมคุณคือคุณในพระธรรมคุณ 6 ประการ ดังที่ทรงแสดงไว้ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/95/67) และในอังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต (22/281/318) ความว่า (1)พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว (2)อันบุคคลพึงเห็นเอง (3)ไม่ประกอบด้วยกาล (4)ควรเรียกให้มาดู (5)ควรน้อมเข้ามาในตน (6)อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน
ส่วนอานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมนั้นท่านแสดงไว้สรุปได้ดังนี้ "ผู้ประพฤติธรรมย่อมสุขกายสุขใจ นำเวรภัยออกจากตน เป็นคนไม่ตกต่ำ ส่องทางนำให้พ้นทุกข์"
แม้ว่าบางคนจะประกาศว่าไม่มีศาสนา แต่ถ้าหากเขาเข้าใจสภาวะธรรมชาติ เข้าใจความจริง ทำความดีคือทำบุญ ตั้งอยู่ในความยุติธรรม เข้าคนนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม จะอยู่ที่ไหนก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ในส่วนของจิตใจเมื่อเข้าใจในสภาวะของธรรมชาติก็ย่อมปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ไม่ฝืนธรรมชาติ ไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ก็ย่อมไม่มีใครที่คิดจะมาทำร้าย ชีวิตก็ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องคอยกังวลว่าใครจะมาทำอันราย ไม่ก่อเวรสร้างภัยกับใครๆ ดำเนินชีวิตตามสมควรแก่ฐานะ ชีวิตก็มีความสุข
เขาจะประกาศตนว่ามีศาสนาหรือไม่ก็ตาม หากเขาปฏิบัติธรรมก็ย่อมจะได้รับความสุขตามสมควร ธรรมเป็นของสากล หากใครปฏิบัติตามก็ย่อมจะได้รับผลจากการปฏิบัตินั้น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
21/08/22