ชีวิตเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก จะมีลมหายใจอยู่ในโลกนี้อีกกี่วันก็ไม่รู้ วันนี้ยังอยู่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ส่วนพรุ่งนี้ค่อยว่ากันอีกที มีชีวิตวันต่อวัน วัยหนุ่มเวลาหมดไปกับตำราเรียน พอถึงวัยกลางคนเวลาก็อยู่กับการทำงาน จะมีเวลาว่างจริงๆก็ล่วงเลยเข้าวัยชรา ซึ่งร่างกายเริ่มอ่อนล้า มีใครบางคนเคยบอกว่า “ช่วงที่มีกำลัง มีแรง ก็ไม่ค่อยจะมีเงิน แต่เวลามีเงินก็ไม่ค่อยจะมีแรง” ชีวิตไม่ค่อยจะสมดุลกันสักเท่าใด ทำไมจึงไม่เป็นประเภท “มีทั้งแรงและมีทั้งเงิน” ในช่วงเวลาเดียวกัน ในช่วงที่อายุยังไม่มาก สุขภาพยังพอไปได้อยู่ ยังไม่ได้ป่วยหนักถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ต้องบอกว่ายังพอมีโชคในการดำเนินชีวิตอยู่บ้าง ในขณะที่เพื่อนบางคนได้ล้มหายตายจากไปจากโลกนี้นานแล้ว การมีชีวิตในห้วงวัยที่พละกำลังเริ่มถดถอย รายได้มีน้อยลงแต่รายจ่ายมีมากขึ้น เงินที่เก็บออมไว้ก็เริ่มเหลือน้อยเต็มที ยิ่งในช่วงนี้ภาวะการทางการเงินของโลกต้องเรียกว่าเงินหายาก ครั้นจะหยุดอยู่เฉยๆ พักอยู่กับที่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปตามวันเวลา ก็ไม่ใช่วิสัยของความที่เคยเป็นมาก่อน ชีวิตต้องหยุดบ้างในบางครั้ง และออกเดินทางบ้างในบางเวลา รสชาติของชีวิตของข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ที่การหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่อยู่ที่การเดินทางได้ท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่ยังไม่เคยไป นับเป็นความบันเทิงใจอย่างหนึ่ง มีใครบางคนบอกว่า “การท่องเที่ยวทำให้เยาว์วัย การเดินทางไกลทำให้แก่ช้า” การมีจิตใจที่เยาว์วัย แม้จะอยู่ในร่างของคนชราก็ยังดี
มีสถานที่หลายแห่งที่เคยเดินทางไปแล้วและยังอยากจะเดินทางไปอีก การเดินทางในที่นี่หมายถึงการเดินทางแบบไม่ต้องมีกำหนดการที่ชัดเจนมากนัก ต้องผ่อนปรนได้บ้าง บางครั้งอาจจะเสียเวลาไปบ้างวันหรือสองวันก็ไม่เป็นไร ก็ต้องปรับตัวให้ได้ เพราะพาหนะในการเดินทางมิใช่ของเรา เป็นของใครก็ไม่รู้ “ต้องเย็นให้พอ และต้องรอให้ได้” ในช่วงที่รอก็ต้องหาอะไรทำเพื่อให้เวลาหมดไป อ่านหนังสือบ้าง เดินเล่นบ้าง ถ่ายภาพสถานที่ต่างๆบ้าง ชีวิตแม้จะอยู่ในระเบียบประเพณี ไม่ทำผิดกติกา ไม่ทำผิดกฎหมาย ทำในสิ่งที่พอจะทำได้ แต่ไม่ถึงกับเข้มงวดมากเกินไปจนทำอะไรไม่ได้ การเดินทางประเภทที่จะต้องเป็นไปตามกำหนดเวลาพลาดไม่ได้แม้แต่เสี้ยวนาทีนั้น แทนที่จะเพลิดเพลินกลับกลายเป็นความกังวลแทน
เดือนมิถุนายนมีกำหนดการเดินทางไปร่วมประชุมคณะสงฆ์ธรรมยุตในสหรัฐอเมริกา ที่วัดธัมมประทีป วอซิงตัน ดี ซี รัฐแมรีแลนด์ รู้กำหนดการเพียงคร่าวๆ ยื่นขอหนังสือเดินทางราชการตามสิทธิที่ควรได้รับในฐานะรองประธานฝ่ายวิชาการ สำนักเลขานุการ สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอันใด มหาเถรสมาคมให้สิทธิในการเดินทางได้และกรมการกงสุลฯ ออกหนังสือเดินทางราชการให้ แต่พอยื่นของวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าสหรัฐฯ กลับมีปัญหา สถานกงสุลสหรัฐฯรับเรื่องไว้ แต่ไม่มีกำหนดการในการสัมภาษณ์ หนังสือเดินทางฉบับใหม่จึงใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ในประเทศนี้ในช่วงเวลานี้ จึงต้องใช้แผนสำรองคือหนังสือเดินทางธรรมดาที่เคยขอวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐ ฯ เมื่อคราวประชุมที่เมืองโอลิมเปีย รัฐวอชิงตัน ซึ่งยังมีเวลาเหลืออยู่อีกหลายปี ใช้สิทธิในการจองตั๋วเครื่องบินได้และใช้เดินทางเข้าประเทศอเมริกาได้
แต่กติกาในการเดินทางในช่วงโควิดที่ยังไม่จางหายยังมีอีกหลายอย่างคือ ต้องขอหนังสือเดินทางฉบับโควิด ยื่นขอที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิออกให้ ต้องดูประเทศที่ต้องใช้เอกสารด้วย ในช่วงเดือนมิถุนายนมีประเทศที่ไม่ต้องใช้เอกสารฉบับนี้แล้ว 27 ประเทศ แต่บางประเทศยังคงต้องใช้หนังสือเดินทางโควิดอยู่ ก่อนเดินทางไปประเทศใดต้องตรวจสอบให้ดีว่าเขายังใช้หรือยกเลิกแล้ว
อีกข้อหนึ่งที่เป็นข้อบังคับต้องทำคือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างน้อย 3 เข็ม และต้องเป็นวัคซีนที่เขาให้การรับรองด้วย ก็ต้องตรวจสอบอีกว่ามีประเภทไหนบ้าง และข้อสุดท้ายคือต้องตรวจโควิดก่อนออกเดินทาง 24 ชั่วโมง และต้องมีใบรับรองแพทย์ หากเกินกำหนดเวลาอาจจะไม่มีสิทธิ์ขึ้นเครื่องบิน บริษัทการบินเขาไม่รับผิดชอบด้วย ไม่คืนค่าตั๋วเครื่องบินให้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องดำเนินการเองทั้งหมด นอกจากนั้นก็ต้องคอยติดตามข่าวความเคลื่อนไหววันต่อวันว่าเขามีกติกาอันใดเพิ่มขึ้นหรือลดลง สรุปว่าการเดินทางไปต่างประเทศในยุคโควิดมีขั้นตอนที่ยังไม่สะดวกนัก
เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปนาริตะญี่ปุ่น ต่อเครื่องไปวอชิงตัน ดี. ซี. เวลาในการเดินทางพร้อมทั้งการเปลี่ยนเครื่องยาวนานถึง 22 ชั่วโมง เกือบหนึ่งวัน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคือวัดธัมมประทีป ที่พึ่งเคยมาครั้งแรก ทำให้กระตุ้นตุ่มความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมา เดินทางมาถึงก่อนเวลาประชุมตั้งสามวัน ควรเที่ยวชมบ้านเมืองของรัฐนี้ “วอซิงตัน ดี.ซี.” ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ต้องมีอะไรที่พิเศษบ้าง และก็เป็นความโชคดีที่มีคนอาสานำเที่ยวฟรีตลอดสามวัน พระภิกษุผู้มีอายุรูปหนึ่งก็เริ่มกลายเป็นผู้เยาว์วัยในร่างของคนชราอีกครั้ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
14/07/65