ในช่วงที่โรคโควิดกำลังระบาด การเดินทางมีปัญหามาก จะไปไหนมาไหนก็ต้องตรวจสอบว่าเราติดเชื้อหรือไม่ ถ้าติดเชื้อก็ต้องถูกกักตัว แต่พอโควิดเริ่มจางคลาย การเดินทางไปต่างประเทศก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง ในการเดินทางบางครั้งก็อยู่ในห้วงเวลาที่แตกต่างกันจากความเคยชิน บางแห่งเวลาแตกต่างกัน 15 ชั่วโมง สถานที่เคยอยู่มานานหลายสิบปีเป็นเวลากลางคืน อากาศร้อน แต่สถานที่แห่งใหม่เป็นเวลาเช้าที่พึ่งเริ่มต้น อากาศหนาว ความแตกต่างกันของเวลาและอากาศ ทำให้เกิดความสงสัยว่าในอัตภาพร่างกายว่าจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานที่แห่งใหม่ได้หรือไม่
นับตั้งแต่วันที่เดินทางจากรุงเทพมหานครสู่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้ว ยังปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศและเวลาไม่ค่อยได้ เดินทางไปหลายเมืองคือเข้าร่วมประชุมคณะสงฆ์ที่วัดธรรมประทีบ รัฐเมรีแลนด์ วอซิงตัน ดี ซี อากาศไม่แน่นอน บางวันหนาวบางวันร้อน จากนั้นก็ไปร่วมงานสวดถอนสีมาที่รัฐนอร์ท แคโรไรน่า เสร็จงานแล้วนั่งรถไปนิวยอร์ค ร่วมงานสวดถอนสีมาที่วัดนิวยอร์คธัมมาราม พำนักที่นิวยอร์คเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ เดินทางไปยังชายแดนแคนาดา เพื่อชมความมหัศจรรย์และความงามของน้ำตกไนแองการา ย้อนกลับไปร่วมงานฉลองครบรอบ 24 ปี วัดบอสตันวราราม รัฐเวอร์จิเนีย ไปเยี่ยมเพื่อนร่วมสำนักที่วัดป่าไทยถาวรอัลบานี ไปเยี่ยมวัดเดลาแวร์ ผ่านไปทางฝากฝั่งของอเมริกา เวลาผ่านไป 20 วัน
จากนั้นนั่งเครื่องบินไปที่รัฐอลาสก้า ใช้เวลาในการเดินทางพร้อมทั้งช่วงเวลาที่รอเครื่องบิน เปลี่ยนเครื่องที่ชิคาโก เป็นเวลา 13 ชั่วโมง ในที่สุดก็ถึงจุดหมายปลายทางคือวัดอลาสก้าญาณวราราม เมืองแองคอเรจ รัฐอลาสก้า
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีรัฐที่ใหญ่กว่าประเทศไทย 2 รัฐคือรัฐอลาสก้าและรัฐเท็กซัส รัฐอลาสก้า มีพื้นที่ 1,723,337 ตารางกิโลเมตร สถิติปีพุทธศักราช 2563 มีประชากรเพียง 736, 990 คน รัฐเท็กซัส มีพื้นที่ 695,662 มีประชากรเพียง 28.64 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,120 เหตุผลที่มีจำนวนประชากรน้อยเพราะสภาพอากาศที่แปรปรวน หนาวจนติดลบ ทำให้อยู่ลำบาก บางช่วงมีแต่กลางวัน ตะวันไม่เคยตกดิน บางช่วงมีแต่กลางคืนไม่เคยได้เห็นดวงอาทิตย์ นัยว่าในยุคแรกประชากรในรัฐนี้จึงต้องจ้างให้คนมาอยู่อาศัย มีเงินเดือนให้ ประชากรในปัจจุบันคือพวกเอสกิโม และมีชาวเอเชียอพยพเข้ามาอาศัยเช่น มองโลเลีย ม้ง จีน ลาว กัมพูชา ไทย แค่ความคิดว่าจะเดินทางไปทุกรัฐในอเมริกาก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน เฉพาะเมืองแองคอเรจมีชาวเอเชียตั้งรกรากมากที่สุดคือลาวประมาณ 500 ครัวเรือนลองลงมาคือเวียตนามประมาณ 300 ครัวเรือน ชางม้งประมาณ 200 ครัวเรือน ส่วนคนไทยอยู่อันดับสี่มีประชากรไม่เกินหนึ่งร้อยครัวเรือน
วัดในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในรัฐอลาสก้าปัจจุบันมี 3 วัดคือวัดธรรมภาวนา วัดอลาสก้าญาณวราราม และวัดลาวแองคอเรจ ชาวพุทธที่ให้การอุปถัมภ์วัดหลักๆมีสองชาติคือไทย ลาว ส่วนชาวกัมพูชายังไม่มีวัดของชาวกัมพูชาจึงเข้าวัดทั้งสามวัด พื้นที่ใหญ่โต แต่ประชากรน้อย จึงมีพื้นที่ว่างอีกจำนวนมาก อีกอย่างสวัสดิการจากรัฐก็ดีมาก เมื่ออายุเกินหกสิบปีก็มีเงินเดือนให้ หากคิดเป็นเงินไทยก็มากโขอยู่ เจ็บป่วยก็รักษาให้ฟรี มีคนที่นี่จึงไม่มีปัญหาในการแย่งชิงพื้นที่ในการทำมาหากิน
องค์ประกอบแทบทุกอย่างดูเหมือนจะดีหมด แต่ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันคืออากาศ เมืองนี้มีกลางวันยาวนานหกเดือน มีกลางคืนยาวนานหกเดือน วันเดียวอาจจะมีทั้งสามฤดูร้อนอยู่ดีฝนอาจตกลงมาตอนไหนก็ได้ หรือหนาวขึ้นมาเฉยๆ ก็ได้ หากปรับตัวไม่ได้มีหวังเจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่ายๆ
ในวันที่เดินทางไปถึงอากาศร้อนอุณหภูมิประมาณ 13-20 องศาเซ็นเซียส ที่อเมริกาใช้การนับเป็นองศาฟาเรนไฮต์ เป็น 58-68 องศาฟาเรนไฮต์ บ้านนี้เมืองนี้ใช้มาตรการในการนับไม่เหมือนที่คุ้นชิน เช่นที่ดินที่เคยคุ้นเคยคือ ไร่ ก็ใช้เป็นเอเคอร์ กิโลเมตรก็ใช้เป็นไมล์ เมตรก็ใช้เป็นฟุต ต้องพยายามทำความเข้าใจกับมาตรการวัดของอเมริกา
ถามว่าทำไมไม่ใช้มาตรการวัดเหมือนชาวโลกเขา ก็ได้รับคำตอบเบื้องต้นง่ายๆว่า “ทำให้แตกต่างจากอังกฤษ” อเมริกาใช้ชีวิตให้แตกต่างจากอังกฤษมากที่สุด ยิ่งแตกต่างมากเท่าใด ยิ่งเป็นอเมริกันมากเท่านั้น เวลาเติมน้ำก็ใช้คำว่าแกลลอน เวลาขับรถก็ใช้พวงมาลัยซ้าย ขับเลนขวา มีข้อยกเว้นอยู่เหมือนกันรถไปรษณีย์พวงมาลัยขวา ขับเลนขวา ต้องมาคิดเทียบกับความเคยชินใหม่ เอากับเขาสิ อเมริกาชาติที่ยิ่งใหญ่ อเมริกันจงเจริญ
ตอนนี้กำลังเป็นพลเมืองฝึกหัดสำหรับอลาสก้า ยังไม่แน่ใจว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน จะทนกับอากาศที่แปรปรวนได้นานเท่าใด เอานะถึงอย่างไรก็มาแล้ว จากกรุงเทพมหานครที่อากาศร้อนระสู่อลาสก้าที่อากาศหนาวเย็น ก็ต้องพยายามปรับตัวให้ได้ ต้องอยู่ให้ได้ อย่างน้อยก็อยู่จนกว่าวีซ่าจะหมดอายุ ถ้าไม่สู้ก็ไม่รู้ถึงกำลัง ถ้าไม่มีความหวังก็ไม่รู้ถึงความสามารถ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/07/65