แดดยามเช้าลอดผ่านเงาไม้ แสงสีทองผ่องใสให้ความอบอุ่นประสานกับลมหนาวต้นฤดูที่โชยแผ่วผ่านมาจากขอบฟ้าไกล แม้จะไม่ถึงกับหนาวหนักหน่วง แต่เป็นช่วงที่อากาศกำลังสดชื่น ตื่นขึ้นมารับแสงแห่งอรุณ หลังจากทำภัตตกิจเช้าเสร็จสิ้น อากาศกำลังดี สามเณรน้อยพากันผิงแดดอุ่นพร้อมกับแปลหนังสือภาษาบาลีส่งเสียงดังลั่น แปลคนละเล่ม แปลคนละเรื่อง แทนที่จะทำให้เกิดความรำคาญ กลับรู้สึกเพลิดเพลินอารมณ์อย่างยิ่ง เสียงแห่งพุทธธรรมหากฟังให้ดีจะก่อให้เกิดความสงบในใจ ฟังดีดีก็มีความสุขได้ ฟังให้ดีย่อมได้ความรู้ เพราะสิ่งที่สามเณรกำลังบอกเล่าอยู่นั่น เคยคุ้นเคยมาก่อนนานหลายปีมาแล้ว เหมือนจะเลือนไปบ้าง แต่กลับไม่ลืม เมื่อได้ยินอีกครั้งก็นึกได้
คิดถึงสมัยที่เริ่มเรียนบาลีใหม่ๆ วิถีชีวิตช่วงนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากยุคสมัยนี้มากนัก ตำราเล่มเก่า หนังสือเล่มเดิม หลักสูตรเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยน แม้โลกจะเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น แต่หลักสูตรแผนกนักธรรมและบาลีของคณะสงฆ์ไทยยังคงเป็นเช่นเดิมน่าจะใช้แบบนี้มานานกว่าร้อยปีแล้ว ในขณะที่หลักสูตรในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนมากจะปรับปรุงใหม่ทุก 5 ปี เปลี่ยนรายวิชาใหม่ให้ทันสมัยขึ้น เปลี่ยนวิธีการใหม่ บางอย่างเพิ่มเนื้อหา บางวิชาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่นพระไตรปิฎกก็เปลี่ยนจากการศึกษาเนื้อหา เป็นการวิเคราะห์ถึงเนื้อหาที่พระไตรปิฎกต้องการสื่อสารกับคนในยุคสมัยนั้น พอมาถึงยุคสมัยปัจจุบันก็นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยที่หลักธรรมยังคงเดิน แต่วิธีการปรับเปลี่ยนบ้าง ภาษาก็ทำให้กระชับขึ้น ทำให้คนในยุคสมัยเข้าใจได้ แต่ภาษาดั้งเดิมก็ยังคงอยู่ในลักษณะของภาษาเดิมคือภาษาบาลีนั่นเอง
หลักสูตรสำหรับพระภิกษุสามเณร ทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ยังเป็นหลักสูตรเดิม วิธีการเรียนการสอนแบบเดิม การสอบวัดผลแบบเดิม เคยศึกษาเล่าเรียนมาแบบไหนก็ทำแบบนั้น หลักสูตรเบื้องต้นแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย หลักสูตรเบื้องปลายแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาบาลี มีการเสริมวิชาการแต่งฉันท์เข้ามาในประโยค 8 ซึ่งก็ต้องเรียนรู้กันอย่างจริงจัง เรียนยากสอบผ่านยาก มีเปอร์เซ็นต์ผู้สอบตกมากกว่าผู้สอบได้มานานหลายปี ก็ยังคงใช้วิธีการแบบเดิม ใครสอบได้ถือว่าเก่ง ยิ่งใครที่สามารถสอบผ่านประโยค 9 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของหลักสูตรก็จะได้การยอมรับนับถือในวงการคณะสงฆ์ว่าเป็นนักปราชญ์ เป็นผู้มีความรู้ทางด้านภาษาบาลีและมีความเชี่ยวชาญในวิชาการทางพระพุทธศาสนา
แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับหลักสูตรทางโลก เขาเทียบให้เพียงปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาบาลี เท่านั้น เรียกว่าเรียนแทบตายกว่าจะสอบได้ แต่มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากับหลักสูตรปริญญาตรีที่ใช้เวลาเรียนเพียง 4 ปี หากจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ก็ต้องเรียนวิชาอื่น ๆ เสริมเพิ่มเติมเช่น ระเบียบวิธีวิจัย ภาษาอังกฤษ วิชาเฉพาะสาขาวิชานั้น ๆ กว่าจะจบปริญญาโทหรือปริญญาเอก ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
เป้าหมายของการเรียนบาลีคืออะไรก็ยังตอบได้ไม่ชัดเจนนัก เรียนจบแล้วจะไปทำมาหากินอะไร จะเตรียมตัวเพื่อเป็นศาสนทายาท เป็นเจ้าอาวาส พระสังฆาธิการเท่านั้นหรือ หรือว่าหากอยู่ในสมณเพศไม่ได้จะออกไปภายนอกรั้ววัดจู่บ้างเช่นศรีลังกา เมียนมาร์(บางรัฐ) เนปาล(บางพื้นที่) แต่ส่วนมากหากออกนอกประเทศภาษาที่ใช้อันถือว่าเป็นสากลคือภาษาอังกฤษ ในหลักสูตรของคณะสงฆ์ในอดีตมีสอนในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของระบบอุดมศึกษา วิชาไหนที่ไม่จำเป็นก็ตัดออก วิชาภาษาอังกฤษที่เคยเรียนเป็นวิชาเสริมก็ถูกลดให้เหลือน้อยลง กลายเป็นเพียงวิชาพื้นฐานเท่านั้น เรียนพอรู้แต่ใช้งานจริงๆไม่ได้
เรียนบาลีแล้วได้อะไร เป็นคำถามที่ผู้ที่เริ่มเรียนบาลีมักจะถามเสมอ นอกจากรู้ภาษาบาลีแล้ว จะทำอะไรต่อ หากดูวิชาการทางโลกเขามีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน เรียนจบมหาวิทยาลัยก็เข้าทำงานตามสาขาวิชาชีพที่ตนศึกษาเล่าเรียนมา จบสาขาอะไรก็ไปทางนั้น มีบ้างที่ทำงานไม่ตรงตามสาขาวิชา แต่ก็สามารถทำงานได้
เมื่อเรียนจบแผนกภาษาบาลีแล้ว จะไปทำงานในสาขาอาชีพอะไร เพราะมีแผนงานรองรับที่น้อยมาก หรือแทบจะไม่มี สิ่งหนึ่งที่ได้รับผลเมื่อสอบได้เป็นมหาเปรียญนั่นคือการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องที่เชื่อกันว่า “มหาเปรียญ” นั้นคือผู้ใคร่ต่อการศึกษา เป็นผู้มีภูมิรู้ผู้หนึ่ง อย่างน้อยก็สามารถอ่านและแปลภาษาบาลีได้ ภาษาบาลีคือภาษาที่ใช้จารึกคำสอนของพระพุทธศาสนา ผู้รู้ภาษาบาลีคือบันได้ขั้นแรกในการศึกษาคำสอนของพระพุทธศาสนา
มีพุทธภาษิตที่แสดงถึงผู้ใคร่ต่อการศึกษาคือผู้ที่เป็นเลิศผู้หนึ่ง ดังที่แสดงไว้ในคิลานสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/713/205) ความว่า “ดูกรอานนท์ ก็ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี ในเวลาที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่งไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ภิกษุเหล่านั้นจักเป็นผู้เลิศ”
ผู้ที่เรียนภาษาบาลีต้องมีความพยายามเป็นอย่างมาก เพราะปีหนึ่งมีการสอบวัดผลเพียงครั้งเดียว สอบตกเรียนใหม่ สอบได้เรียนต่อ มีบ้างในระดับต้นที่สอบตกวิชาหนึ่งก็สอบใหม่ในวิชาที่สอบตก เมื่อนำผลของการสอบสองครั้งมารรวมกัน หากสอบผ่านก็ถือว่าเป็น็กลับมาเรียนวิชาเดิม หนังสือเล่มเดิม สอบอีกเหมือนเดิม หากใจไม่รักในการศึกษา ไม่เป้นผู้ใคร่ในการศึกษาจริงๆ ก็ต้องเลิกราไปทำอย่างอื่น ต้องสูญเสียเวลาไปโดยไม่ได้อะไร หากจะมองว่าเป็นการคัดเลือกผู้ที่เรียนเก่งไว้ในพระพุทธศาสนาก็พอฟังได้ แล้วผู้ที่สอบตกจะได้อะไร คนเก่งก็ไม่ใช่ จะเป็นคนดีอย่างเดียวเท่านั้นหรือ ชีวิตคนต้องมีอาชีพ ต้องทำมาหากิน หากอยู่ไม่ได้ในพระพุทธศาสนาจะไปทำมาหากินอะไร นอกจากอาชีพเดิมของบรรพบุรุษ
สามเณรหลายรูปถูกแนะนำให้เข้ามาเรียนภาษาบาลี บางท่านเรียนจบเปรียญธรรมก็เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้ บางท่านก็เรียนจบปริญญาเอก ถือว่าเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ตนศึกษาเล่าเรียนมา สามารถกระทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ มีธรรมเป็นที่พึ่งธศาสนาและประเทศชาติได้
ส่วนผู้ที่เรียนแล้วไม่ได้เป็นมหาเปรียญ เมื่อศักยภาพของตนว่าคงไม่ถนัดทางนี้ ก็ไปศึกษาเล่าเรียนทางอื่นได้ เส้นทางในโลกนี้มิได้มีเส้นทางเดียว ยังมีอีกหลายทางให้เลือกเดิน เลือกในสิ่งที่ใช่ ไปในทางที่ชอบ ย่อมvอยู่ที่การเลือกในทางที่เราคิดว่าใช่ ผู้ใคร่ต่อการศึกษาย่อมหาทางเดินชีวิตของตนจนได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
30/11/21