สงสัยมานานว่าการสอนโดยการไม่พูดนั้นจะทำให้คนเกิดศรัทธาเลื่อมใสได้จริงหรือ มีความเป็นจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือแม้ว่าความเป็นมนุย์จะมีเท่ากัน แต่ศักยภาพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพูดเก่ง แต่พอให้ทำกลับทำไม่ได้ บางคนพูดไม่เก่ง แต่พอถึงเวลาลงมือปฏิบัติเขากลับทำได้ดี บางคนมีความรู้ดีมาก แต่พอถึงให้พูดหรือทำ ก็ทำไม่ได้ ถ้าหากมีใครสักคนคิดเก่ง พูดเก่งและทำงานได้เก่ง โลกนี้ก็ไม่ต้องมีคนอื่นก็ได้ ปล่อยให้เขาคนนั้น คิด พูด ทำอยู่คนเดียวก็น่าจะเพียงพอ แต่ทว่าโลกไม่ได้ต้องการคนเก่งคนเดียว แต่ต้องการคนที่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งนักคิดที่มีชื่อเสียงบางคนมักจะไม่ค่อยเขียนบันทึกอะไรไว้เลยเช่นโสเครตีส นักปรัชญาที่ได้รับการยกย่องในยุคสมัยของเขาว่าเขาเป็นคนที่ฉลาดที่สุด แต่เขาเองกลับบอกว่าเขาคือคนที่ไม่รู้อะไรเลย เขามีความรู้อย่างเดียวคือรู้ว่าตัวเองไม่รู้ โสเครตีสจึงไม่เคยเขียนตำราหรือบันทึกอะไรไว้เลย การที่ชาวโลกได้รู้จักชื่อเขาก็เพราะเพลโตซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งได้บันทึกเหตุการณ์ เรื่องราวสิ่งที่เขาพูดไว้ จนบางครั้งก็สงสัยว่าเป็นคำพูดของโสเครตีสจริงๆหรือเพลโตเพียงแค่อาศัยชื่อของโสเครตีสแล้วใส่แนวคิดของตนเองเข้าไปกันแน่
ปรัชญาของโสเครตีสอยู่ที่ความสงสัย อย่าพึ่งเชื่ออะไรง่ายๆจนกว่าจะได้นิยามคามหมายของสิ่งนั้นหรือถ้อยคำนั้นให้ชัดเสียก่อน เพราะบางครั้งอาจจะพูดคำเดียวกัน แต่กำลังเข้าใจคนละความหมาย
ครั้งหนึ่งที่เมืองคยา ประเทศอินเดีย ได้เดินทางไปพบกับฤษีท่านหนึ่ง เพราะได้ยินคำร่ำคือว่า เขาคือนักปราชญ์ ผู้หยั่งรู้ดินฟ้า สามารถทำนายอนาคตได้ล่วงหน้า รู้วาระจิตของคนอื่น ข้าพเจ้าก็มีสิ่งที่อยากรู้หลายอย่างอยากไปพบ อาจจะได้คำตอบที่ทำให้หายสงสัยได้ นั่งรถไปครึ่งวันกว่าที่จะเข้าไปถึงที่อยู่ของฤษีท่านนั้น
ที่พักของท่านฤษีเป็นเพียงเพิงพักเล็กๆหลังหมู่บ้าน ก่อนจะถึงปากถ้ำไม่ไกล ลูกศิษย์ท่านฤษีออกมาต้อนรับบอกว่าท่านฤษีกำลังรอคุรุจีอยู่ ท่านบอกว่าวันนี้จะมีใครสักคนมาพบ พิจารณาดูแล้วท่านน่าจะเป็นคุรุจีท่านนั้น
สภาพนักบวชเร่ร่อน ต่างความเชื่อ ต่างลัทธิ ต่างศาสนา ห่มคลุมด้วยผ้าจีวรเก่าๆ มีย่ามใบเดียว มีกล้องถ่ายภาพหนึ่งอัน บ่งบอกว่าไม่น่าจะใช่นักบวชผู้ปล่อยวางอันใด น่าจะเป็นนักบวชขี้สงสัยรูปหนึ่งเท่านั้น
เมื่อผ่านการทักทายตามธรรมเนียมแล้วก็เริ่มเข้าเรื่องที่อยากรู้ทันที “แนวทางการปฏิบัติของท่านเป็นอย่างไร จะเล่าให้ฟังได้ไหม”
สิ่งที่ได้เห็นมีเพียงรอยยิ้ม ลูกศิษย์บอกว่า “ท่านมหาฤษีถือวัตรไม่พูดมานานกว่าสี่สิบปีแล้ว ท่านรู้แต่ท่านไม่พูด”
“ได้แต่บ่นกับตัวเองว่าวันนี้น่าจะเดินทางมาเสียเวลาเปล่า ก็ไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้เองนี่จะไปโทษใครได้”
"ถ้าอยากรู้อะไรให้ถามผม ผมจะเป็นผู้ตอบแทนท่านเอง"
ฝากถามท่านฤษีด้วยว่า ท่านรู้อะไรบ้าง แนวปฏิบัติของท่านคืออย่างไร และปลายทางของการปฏิบัติคืออะไร”
ลูกศิษย์หันไปพูดกับท่านฤษี ท่านฤษีก็ได้ยิ้มมองหน้า โดยไม่ได้พูดอะไร แต่ก็แสดงถึงความเป็นมิตร คล้ายๆจะบอกว่าทางใครทางมันประมาณนั้น
การไม่พูดจะบอกอะไรใครเขาได้ ก็ต้องปล่อยให้คนอื่นคิดไปเอง ตีความเอาเอง อาจจะผิดหรือถูกก็ได้
มีคำถามมากมายที่ถามไปแต่ไม่มีคำตอบใดๆจากปากท่านฤษีเลย ได้เห็นแต่เพียงรอยยิ้มและดวงตาที่บ่งบอกถึงความเมตตา ในใจก็คิดว่าท่านคงรู้หลายอย่างและคงปล่อยวางเรื่องราวต่างๆหมดแล้ว
ลูกศิษย์อธิบายให้ฟังว่า “ท่านมหาฤษีอยู่ที่นี้มานานมากแล้ว มีวิธีการสอนโดยการทำให้ดู ท่านจะนั่งสมาธิได้ยาวนานมากบางครั้งนั่งนานสามวันสามคืน โดยไม่ได้ขยับลุกไปไหนเลย ส่วนอาหารก็รับประทานเพียงวันละครั้ง นอกจากนั้นก็จะเป็นน้ำดื่มซึ่งเป็นน้ำเปล่าธรรมดา การสอนโดยการไม่พูดทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าท่านมหาฤษีน่าจะบรรลุธรรมแล้ว
บางที่การไม่พูดอะไรเลยก็ทำให้คนคาดเดาและตีความไปได้หลากหลาย วิธีการแบบนี้หากเป็นคนธรรมดาคงอกแตกตายไปนานแล้ว การทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่นและทำอย่างต่อเนื่องตามแนวทางที่ตนได้เลือกแล้ว ก็เป็นการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่จะก่อให้เกิดปัญญาได้อย่างไรนั้น เรื่องนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ หรือว่าการรู้หรือการจะเป็นคนมีปัญญานั้น ไม่จำเป็นต้องศึกษาจากภายนอก แต่ศึกษาจากภายในจิตใจของตนเอง คิดอีกแง่หนึ่งก็ดีเหมือนกัน รู้แต่ไม่สอน ก็ยังดีกว่าสอนแบบไม่รู้ ซึ่งประเด็นหลังนี้เป็นธรรมดาอย่างหนึ่งของสังคมอินเดีย ที่เต็มไปด้วยผู้รู้ ในที่แทบทุกแห่งจะมีแต่คนที่รู้ เช่นการถามทาง จะมีคนแย่งกันบอก แย่งกันชี้ว่าไปทางนี้ ไปทางนั้น พอเดินไปตามทางที่เขาชี้ก็ไปไม่ถึงสักที อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้แต่ชี้
ก่อนจากกันท่านฤษียื่นมือมาขอปากกา เมื่อได้แล้วท่านก็ลงมือเขียนประโยคสั้นๆลงบนเศษกระดาษใบหนึ่ง เป็นภาษาอังกฤษสั้นๆว่า “I only know that I don’t know”แปลเป็นไทยน่าจะตรงตามตัวและง่ายที่สุดว่า “ฉันรู้อย่างเดียวว่าฉันไม่รู้อะไรเลย”
ตอนนั้นคิดถึงนักปรัชญากรีกนามว่าโสเครตีสขึ้นมาในบัดดล ผ่านไปสองพันกว่าปี ถ้อยคำนี้ยังมีคนจดจำได้และนำมาใช้ หรือทั้งสองคนอาจจะคิดตรงกันก็ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
12/09/64