ทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ อยากเป็นคนที่มีชื่อเสียง อยากเป็นคนที่ได้รับความเคารพนับถือจากคนอื่น อยากมีทรัพย์สินเงินทอง บ้านต้องหลังใหญ่โต ยิ่งมีเงินมากยิ่งดี เด็กที่เรียนจบมหาวิทยาลัยจะต้อมีงานทำ มีเงินเดือนที่มั่นคง มีรถมีบ้าน มีครอบครัว จากนั้นก็กลายเป็นพ่อเป็นแม่ของลูกอีกหลายคน ส่งพวกเขาให้มีโอกาสได้เรียนในชั้นสูง และเรียนจบออกมาทำงาน มีครอบครัว หากจะอยู่ในสังคมก็ต้องเป็นคนที่สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะอยู่ในสังคมในปัจจุบันได้ จะเรียกว่า ระเบียบแบบแผน กฎกติกาหรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามทีเถิด หากดำเนินชีวิตตามทำนองนี้ เขาก็จะกลายเป็นคนสำคัญไปในที่สุด แต่หากไม่ทำตามกติกานี้ก็ต้องอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง เป็นคนธรรมดาที่มีสถานะแค่คนที่ไม่สำคัญคนหนึ่งเท่านั้น
ชายคนนั้นไม่ได้ทำตามกติกาอันใดของสังคมที่กล่าวมานั้นเลย เขาปลูกกระท่อมหลังเล็กๆ ใกล้ลำธารที่เชิงเขา ปลูกผัก ผลไม้ กั้นน้ำเป็นสระเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ พื้นที่ที่เหลือก็ทำนาปลูกข้าว หลังกระท่อมก็มีครกตำข้าวแบบเก่าที่ต้องใช้เท้าเหยียบ ตำข้าวแบบโบราณ อาหารการกินก็เก็บผักหักฟืนจากสิ่งที่ปลูกไว้นั่นเอง ชีวิตธรรมดาอย่างยิ่ง ไม่มีสมบัติพัสถานที่เป็นของมีค่ามีราคาอันใด ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องของขโมยกับโจร ถึงจะมาปล้นหรือมาขโมยก็คงได้เฉพาะสิ่งของที่ไม่มีราคา เขาเคยบอกว่าสถานะของเขาก็แค่ประชาชนคนธรรมดา ไม่แข่งขันกับคนอื่น ไม่ดิ้นรนจนเกินตัว เป็นคนที่ไม่มีความสำคัญคนหนึ่งเท่านั้น แต่ชาวบ้านมักจะเรียกเขาว่าก็แค่คนบ้าคนหนึ่ง ไม่จำเป็นอย่าไปยุ่งกับเขา
ชายคนที่ไม่สำคัญคนนั้นจะมาที่วัดป่าแห่งหนึ่งในตอนเช้าทุกวัน จัดแจงเรื่องอาหารการฉันถวายพระภิกษุสามเณร จากนั้นก็นำอาหารที่เหลือไปเป็นอาหารต่อไป ใครที่เห็นก็คงนึกว่าเขาสติไม่ค่อยดี ไม่คุยกับใคร ไม่สุงสิงกับใคร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ถามคำตอบคำ ไม่มีใครถามก็ไม่พูด เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นได้
หากจะบอกว่าถูกชะตาหรือมีความบ้าในระดับใกล้เคียงกันก็ไม่รู้ เขาชอบสนทนากับข้าพเจ้ามีเรื่องแปลกๆที่ไม่คิดเหมือนคนธรรมดา วันหนึ่งหลังฉันภัตตาหารเสร็จ ชายชราคนนั้นกำลังวุ่นอยู่กับการให้อาหารสุนัขและแมว ได้ยินแกบ่นกับแมวว่า “เกิดเป็นแมวนี่ก็ดีเหมือนกันนะ ไม่ต้องมีเรื่องคิดมาก หิวก็กิน ง่วงก็นอน ฉันอิจฉาพวกแกจริงๆ”
บังเอิญเดินผ่านจึงบอกว่า “แมวมันดีอย่างไร จึงไปอิจฉาแมวเล่า ลุง”
"ไม่ได้อิจฉาหรอกครับ แค่พยายามทำความเข้าใจความเป็นแมว มันเกิดมามีเสรีภาพ อยากทำอะไรก็ทำ คิดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ต้องมีมารยา ถ้าคนมีเสรีภาพอย่างนี้น่าจะดี”
“ถ้าทุกคนมีเสรีภาพจริง อยากทำอะไรก็ทำ สังคมก็วุ่นวายสิ ในแต่ละวันคงมีปัญหาให้แก้ไม่ไหว”
“แต่ผมว่าที่สังคมมีปัญหาทุกวันนี้เพราะทุกคนถูกจำกัดไม่ให้มีเสรีภาพต่างหากครับ เพราะมีกฎกติกามากเกินไป ทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็ผิด ยิ่งมีกฏข้อห้ามมากเท่าไหร่ คนก็ยิ่งทำผิดมากขึ้น เพราะกฎระเบียบนั่นแหละที่ทำให้คนทำผิด ลองคิดดูสิครับ สุนัข แมว มันก็ไม่มีกฎหมาย ไม่มีกฎระเบียบอันใดมาบังคับให้มันทำหรือไม่ทำ มันก็แค่กัดกันบ้างในบางครั้ง จากนั้นก็อยู่ด้วยกันได้ ไม่เห็นสังคมของสัตว์เหล่านี้มันจะวุ่นวายนะครับ”
ชาวโลกเขาเชื่อกันว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ก็เพราะมนุษย์มีกฏกติการ่วมกันที่เรียกว่ากฏหมาย ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ สังคมโลกจึงอยู่กันได้อย่างสงบสุขมาจนถึงปัจจุบัน
เขายังคงพูดต่อ “ผมว่ามนุษย์คล้ายๆจะเกิดมาพร้อมกับกับมีอิสระเสรีนะครับ ไม่มีเครื่องผูกมัดอันใด ในวันเกิดก็ไม่มีสิ่งใดติดตัวมาเลย วัยเด็กนั่นแหละคือสิ่งที่มีความเป็นมนุษย์มากที่สุด เด็กยังไม่ได้เรียนรู้กฎหมาย หรือระเบียบอันใด แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำความผิดร้านแรง แต่พอโตขึ้นถูกสอนด้วยระบบจากโรงเรียน จากมหาวิทยาลัย ชีวิตเลยวุ่นวายต้องแสวงหา อยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็นเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งก็ไม่ได้มีความจำเป็นอันใด ทำไมมนุษย์ต้องเรียนในกรอบเดียวกัน เป็นอย่างเดียวกัน เป็นมนุษย์ที่แตกต่างกัน แต่อยู่ร่วมกันได้ไม่ดีกว่าหรือครับ ผมก็เคยได้ยินมานะว่าจิตดั้งเดิมเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ หรือท่านว่าอย่างไร”
เมื่อต้องย้อนถามก็คิดถึงคำสอนที่ว่าด้วยจิตตอนหนึ่งในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต (20/50) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺฐนฺติ"
จิตดั้งเดิมในสมัยที่ยังเป็นเด็กเป็นธรรมชาติผุดผ่อง แต่เมื่อนานเข้าอุปกิเลสที่จรมาทั้งหลายก็ค่อยๆแทรกซึมเข้าเกาะกุมดวงจิตที่ละน้อยเหมือนผ้าที่ถูกย้อมด้วยสี ไม่นานสีเดิมก็เปลี่ยนไปตามสีที่นำมาย้อม จิตเดิมก็เช่นกันธรรมชาติดั้งเดิมเป็นสีขาวบริสุทธิ์ แต่ถูกอุปกิเลสย้อมเข้านานไปก็เปลี่ยนไปตามอำนาจของอุปกิเลสนั้น หากจะให้เป็นจิตบริสุทธิ์เหมือนเดิมก็ต้องขจัดอุปกิเลสซึ่งเหมือนกับน้ำย้อมออกไป หรือป้องกันไม่ให้อุปกิเลสเข้ามาย้อมในจิตใจได้
ความมีกับความไม่มีมันอยู่ที่เราเป็นผู้กำหนดว่าจะให้มีหรือไม่มี เราจะนิยามคำว่า “มี” กับคำว่า “ไม่มี” อย่างไร เมื่อเรานิยามแล้วก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เราเลือกว่าจะมีหรือจะไม่มี ซึ่งทั้งสองอย่างก็เป็นเพียงแค่สมมุติ เราจะมีหรือไม่มีคุณค่าความเป็นมนุษย์ก็ยังคงมีอยู่เท่าเดิม ถึงชายคนนั้นจะไม่มีอย่างคนอื่น เขาก็ยังคงมีความเป็นคนเหมือนคนอื่น เพียงแค่เขาพอใจที่จะเป็นคนไม่สำคัญคนหนึ่งเท่านั้น การที่จะเป็น “คนสำคัญ” กับ “คนที่ไม่สำคัญ” มันอยู่ที่เราเลือกที่จะเป็นหรือไม่เป็นต่างหาก เราทุกคนมีเสรีในการเลือก หากการเลือกนั้นไม่ไปทำความเดือดร้อนให้คนอื่น จะเป็นคนสำคัญหรือคนไม่สำคัญ ก็ไม่เป็นไร แค่พอใจในการเลือกของเราก็พอแล้ว
ในการสนทนาวันนั้นก็ได้เริ่มตั้งคำถามกับตนเองมากมาย “ความมี กับความไม่มี” ดูตามตัวอักษรน่าจะต่างกัน แต่สภาวะของทั้งสองอย่างต้องพิจารณาอีกหลายรอบ มีเรื่องให้คิดก็ดีเหมือนกัน มันเหมือนกันหรือต่างกัน ชายคนนั้นคิดไกลไปถึงการมีเสรีภาพ เสรีภาพในการเลือก การอยู่ การกระทำ เป็นเสรีภาพของมนุษย์ เหมือนเด็กซุกซนคนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ตนเองคิด เขาคิดถึงความมีกับความไม่มี ซึ่งเป็นแนวปรัชญาของลัทธิหนึ่งในยุโรปคือกลุ่มอัตถิภาวนิยม นักปรัชญาคนหนึ่งคือฌอง ปอล ชาร์ตร์ เคยพูดถึง “Being and Nothingness” จะแปลว่า “ความมีกับความไม่มี” ก็น่าจะพอเข้าใจได้ และยังมีแนวคิดของพุทธศาสนานิกายมัธยามิกะ พูดถึง “อัตถิ” กับ “นัตถิ” น่าจะแปลได้ว่า “ความมี กับ ความไม่มี” ส่วนสาระสำคัญคงต้องกลับไปศึกษาให้ละเอียดอีกครั้ง
แนวคิดของคนที่ไม่สำคัญคนนั้นพูดกลับมีแนวโน้มไปคล้ายคลึงกับแนวคิดของนักปรัชญาสำคัญของโลก หรือว่าโลกนี้จะมีที่คิดในลักษณะนี้อีกมากมาย คนเหล่านั้นบางคนเป็นคนสำคัญของโลก แต่ชายคนนี้กลับอยู่ในสถานะของคนไม่สำคัญคนหนึ่งเท่านั้น บางทีความสำคัญกับความไม่สำคัญอาจจะไม่ได้อยู่ที่กฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดเสมอไป คนที่ไม่สำคัญอาจจะคิดเรื่องที่สำคัญก็ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
03/09/64