ข่าวที่อินเดียมีคนติดเชื้อโควิดวันละสามแสนคน เสียชีวิตวันละเกือบสี่พันคน ศพถูกเผาและรอการเผาเป็นจำนวนมาก ฟังแล้วน่าใจหาย ชีวิตคนที่ล้มตายลงในแต่ละวันไม่ได้ลดลงเลย มีแนวโน้มแต่จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีนอันเป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคร้ายนี้กลับเงียบ ไม่ค่อยมีข่าวสารว่ามีคนติดเชื้อหรือมีคนเสียชีวิตเลย ประเทศไทยก็ใช่ย่อยมีจำนวนเพิ่มขึ้นแทบทุกวัน การดำเนินชีวิตในปัจจุบันมีความยุ่งยากและมีความเสี่ยงมาก เหมือนกำลังเดินเข้าใกล้ความตายทุกวินาที เหมือนกับว่าความตายเดินมาเคาะประตูบ้านเชิญชวนให้ออกเดินทางประมาณนั้น มีผลทำให้จิตใจสับสนวุ่นวาย อยู่ไม่ค่อยเป็นสุข
สองสามวันก่อนไปพบนักศึกษาที่มาจากบางแค แม้จะใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็ยังหวั่นใจอยู่ว่าน่าจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง นักศึกษาก็กลัวเรา เราก็กลัวนักศึกษา แม้จะรักษาระยะห่างพอสมควร แต่เมื่อกลับมาถึงที่พักรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ มีอาการไอ รีบอาบน้ำชำระกายเปลี่ยนชุดใหม่ อาการก็ยังแปลกๆ กินยาแก้แพ้และยาพาราเซตามอล จากนั้นก็ตั้งใจจะหลับ แต่ทำไมวันนี้อากาศร้อนมาก นอนก็ไม่หลับ คงคิดมากไปเองหรือว่าติดเชื้อแล้วจริงๆ ทำให้จิตใจร้อนรนไปด้วย
อาการแบบนี้น่าจะเรียกว่าโรคหวาดระแวง ที่จริงยังไม่ได้ติดเชื้อ แค่มีอาการแพ้ห้องปรับอากาศเท่านั้น อาการแบบนี้เป็นมานานแล้ว หากวันไหนที่อยู่ในห้องปรับอากาศนานๆ มักจะมีอาการแบบนี้ แต่ถ้าอยู่ในอากาศร้อนๆ เหงื่อออกจะสบายกายหลับได้สนิท โรคนี้น่าจะเรียกว่าโรคคนจน ที่ไม่ชอบห้องแอร์
เปิดโทรทัศน์ดูข่าวก็หนีข่าวเกี่ยวกับโควิดไม่พ้น มันรบกวนจิตใจอยู่ตลอด จะเดินทางไปไหนก็เกรงว่าจะติดเชื้อ โรคนี้มันทำให้โลกปั่นป่วนได้จริงๆ ครั้นจะอยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไรเลย นั่นก็ไม่ใช่วิสัยที่เคยชิน ชีวิตมันต้องทำอะไรสักอย่าง
สมมุติว่าถ้ารู้ตัวว่าจะต้องตายภายในสามวัน สิ่งที่อยากทำมากที่สุดคืออะไร จะนอนอยู่เฉยๆรอความตายอย่างนั้นหรือ หรือว่าจะทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จลุล่วงไป และตายอย่างไม่ต้องกังวล ธรรมชาติของมนุษย์มักจะคิดถึงอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว และมักจะตั้งคำถามว่า “ถ้า.....ไม่ทำอย่างนั้น คงไม่เป็นอย่างนั้น หรือ ถ้า.....ทำอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนั้น” ซึ่งสิ่งที่ทำมักจะไม่ใช่สิ่งที่คิด แต่ก็มักจะคิดถึงสิ่งที่อยากจะทำมากกว่าสิ่งที่เคยทำ แต่เมื่อเหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว น่าจะลืมเรื่องเหล่านั้นไป แต่การลืมเรื่องราวที่มีความฝังใจในอดีตนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุดประการหนึ่ง
ถ้าหากความตายมาปรากฏอยู่ตรงหน้า ข้าพเจ้าเลือกที่จะเผชิญกับมันอย่างเป็นมิตร ตายก็ไม่เป็นไร คิดเสียว่าความตายคือการย้ายที่อยู่ จากร่างหนึ่งไปยังอีกร่างหนึ่ง เราก็ย้ายที่มามากมายหลายแห่งแล้ว จะย้ายอีกสักครั้งจะเป็นไร สิ่งที่ควรจะทำก็ได้ทำไปแล้ว สิ่งที่ยังไม่ได้ทำก็ปล่อยมันไป
พยายามลืมเรื่องราวในอดีต ไม่คิดคำนึงถึงอนาคต จากนั้นก็หันกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับลมหายใจ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้ในมหาราหุโลวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (13/146/116) ความว่า ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดีอยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออกย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขาร
หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออกย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออกย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออกย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออกย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า
ดูกรราหุล อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ครั้งสุดท้าย อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็นอันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้”
ครูบาอาจารย์มีวิธีในการสอนโดยสรุปได้สั้นๆว่า “ให้ใช้คำภาวนา “พุทโธ” หายใจเข้ากำหนดว่า “พุท” หายใจออกกำหนดว่า “โธ” ถ้ากำหนดลมหายใจด้วยการภาวนาอย่างนี้ แม้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกครั้งสุดท้ายจะหมดไป ก็สิ้นไปพร้อมกับคำว่า “พุทโธ” มาจากภาษาบาลีว่า “พุทธ”แปลว่าพระพุทธเจ้า ผู้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอย่างเต็มที่
แม้จะยังไม่ตายก็สามารถใช้ได้เพื่อการพักผ่อน เพื่อการทำงาน มีงานทำก็ทำไป ส่วนใจอยู่กับการกำหนดรู้ ชีวิตก็ไม่ต้องวุ่นวาย จะอยู่หรือตายก็ช่างหัวมัน เพราะเราบังคับไม่ให้ตายไม่ได้ ก็ขอตายอย่างมีสติ
ในพระสูตรนี้พระพุทธเจ้าสอนพระราหุลซึ่งเป็นโอรสคนเดียวให้เจริญอานาปานสติ เพราะเมื่อเจริญแล้วย่อมได้อานิสงส์ ดังข้อความว่า “ดูกรราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่า อานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก “
ในวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (1/178/292) อานาปานสติสมาธิทำให้อยู่เป็นสุข และยังละบาปได้ด้วย ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุอบรมอย่างไร ทำให้มากอย่างไร จึงเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน
ผู้ที่เจริญอานาปานสติยังได้รับอานิสงส์อีกเจ็ดประการ ดังที่แสดงไว้ในผลสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/1316/321) ความว่า“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ พึงหวังได้ผลานิสงส์ 7 ประการ คือ (1) จะได้ชมอรหัตผลในปัจจุบันก่อน (2) ถ้าไม่ได้ชมอรหัตผลในปัจจุบันก่อน จะได้ชมในเวลาใกล้ตาย (3) ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้ชม ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้ชมไซร้ เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี (4) ผู้อุปหัจจปรินิพพายี (5) ผู้อสังขารปรินิพพายี (6) ผู้สสังขารปรินิพพายี (7) ผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล พึงหวังได้ผลานิสงส์ 7 ประการเหล่านี้
โดยสรุปอานิสงส์ของการเจริญอานาปานสติมีสองประการ(19/1313/320)คือ“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ พึงหวังได้ผลสองประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คืออรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีความถือมั่นอยู่ เป็นพระอนาคามี”
อานาปานสติ แปลว่าสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ลมหายใจมีมาพร้อมกับการเกิด เมื่อเกิดก็ได้ลมหายใจมาพร้อมกับส่วนอื่นๆ แต่พอเติบโตขึ้น ก็ต้องไปทำอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับทำมาหากิน เกี่ยวกับดำเนินชีวิต ซึ่งก็มีอะไรให้คิดให้ทำมากมาย แต่ถ้าสมมุติว่ารู้ตัวว่าจะต้องตายแล้ว ลองหันมาอยู่กับลมหายใจ กำหนดรู้ทำจิตใจให้เยือกเย็น ย่อมเป็นสุข เตรียมตัวไว้ก่อนตาย เมื่อความตายเปิดประตูเข้ามาก็ทักทายอย่างเป็นมิตร อยู่ด้วยกันไปด้วยกันอย่างสันติสุข
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/05/64