ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

         ไม่ได้เปิดจดหมายอิเลคทรอนิคส์หรือที่นิยมเรียกว่าอีเมล์มานานแล้ว มีนักศึกษาท่านหนึ่งแจ้งมาทางโทรศัพท์ว่าจะส่งวิทยานิพนธ์มาให้ตรวจสอบแก้ไขทางอีเมล์ เพราะช่วงนี้ไม่สะดวกในการเดินทางไปพบปะในมหาวิทยาลัยที่มีคำสั่งปิด ห้ามทำการเรียนการสอนในห้องเรียน ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระจายของเชื้อโควิด กิจกรรมที่ยังต้องทำก็ต้องดำเนินการทางออนไลน์ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ช่วงนี้จึงต้องเรียนรู้สื่อให้มากขึ้นเช่นเฟสบุคบ้าง ไลน์บ้าง อีเมล์บ้าง มีไว้เพื่อใช้งานซึ่งก็ใช้ได้จริงสอนผ่านโปรแกรมซูม ส่งงานผ่านทางสื่อ นักศึกษาก็ต้องเรียนรู้สื่อเพื่อการใช้งาน เมื่อเปิดอีเมล์นอกจากจะมีงานนักศึกษาแล้วยังมีอีกหลายเรื่องทั้งโฆษณาขายสินค้า ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว การจองตั๋วเครื่องบิน และมีอีเมล์ฉบับหนึ่งเขียนชื่อเรื่องว่า "Letter from dharamshala" 
         เมืองธัมมศาลา หรืออินเดียมักจะออกเสียงเป็นดารัมสลา เมื่อเปิดจดหมายและอ่านข้อความด้านใน เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ใช้ถ้อยคำง่ายๆที่อ่านได้โดยไม่ต้องเปิดพจนานุกรม ลงท้ายบอกนามคนเขียนว่า “ตังติเช”  
         คำว่า “ตังติเช” เป็นภาษาทิเบต ที่เคยมีเด็กหญิงชาวทิเบตคนหนึ่งแปลให้ฟัง เธอบอกว่าคำว่า “ตังติเช” แปลว่าธารน้ำแข็ง หนูเกิดที่เมืองธัมมศาลาในประเทศอินเดีย เมืองที่มีภูเขาและแม่น้ำใสไหลเย็นที่ละลายมาจากภูเขาหิมาลัย  จึงมีสองสัญชาติคือทิเบตและอินเดีย แม่ตั้งชื่อให้ว่า "ตังติเช" หมายถึงน้ำแข็ง แค่เรียกชื่อก็ออกเสียงยากแล้ว เรียกไปเรียกมาจึงออกเสียงเป็น “ตังเม” และเรียกเด็กหญิงคนนั้นว่า “ตังเม” เรื่อยมา ตอนนั้นเด็กหญิงคนนั้นอายุเพียง 10 ปี เรียนหนังสือพร้อมกันสามภาษาคือภาษาของถิ่นกำเนิดคือทิเบต ภาษาของประเทศที่เธอเกิดคืออินเดีย เรียนภาษาฮินดี และภาษาสากลที่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนได้ทั่วโลกคือ “ภาษาอังกฤษ” 
 
         ภาพในความทรงจำที่ผ่านมานานกว่ายี่สิบปีค่อยๆปรากฏภาพร่างที่เลือนรางและชัดเจนขึ้นในความทรงจำ ที่บางครั้งสิ่งไหนที่ไม่ค่อยได้คิดถึงจะเลือนรางและหลงลืมไป แต่ถ้าค่อยๆคิดทบทวนภาพที่คิดว่าลืมไปแล้วก็ค่อยๆปรากฎขึ้นทีละน้อยและแจ่มชัดขึ้นตามลำดับ
        “ตังติเช” หรือ “ตังเม” ที่เคยเรียกขานเด็กหญิงชาวทิเบตคนนั้น บ้านเช่าเธออยู่ติดกับห้องเช่าของข้าพเจ้า ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆวัดติดกับห้องสมุดใหญ่ของทิเบต มีหนังสือทุกประเภทให้ศึกษาค้นคว้า ตอนเย็นยังใช้เป็นที่เดินสวดมนต์รอบๆห้องสมุดได้อีก ในแต่ละวันจะมีชาวทิเบตถือลูกประคำเดินท่องมนต์บทว่า “โอมมณี ปัทเม ฮูม” หรือหากฟังไปนานๆจะได้ยินเป็น “โอมมณี เปเม ฮุม” นัยว่าใครที่ท่องบ่นสาธยายายมนต์บทนี้คือการระลึกถึงพุทธะ บางทีอาจจะปลุกพุทธะขึ้นในจิตใจได้  แนวคิดของพุทธศาสนาในทิเบตเป็นนิกายวัชรยาน ปัจจุบันมีปฏิบัติอยู่ 4 นิกายคือ
 
     1. นิกายญิงมาปะ (Rnin-ma-pa ) ให้กำเนิดโดยท่านคุรุปัทมะสัมภวะ ภิกษุชาวแค็ซเมียร์ กษัตริย์ตริซอง เด็ทเซ็น ได้อาราธนาไปวางรากฐานพระพุทธศาสนาในทิเบต ระหว่างพุทธศักราช (1308-1363) ท่านได้ตั้งคณะสงฆ์ชาวทิเบตขึ้น มีการแปลพุทธธรรมและบทบัญญัติต่างๆเป็นภาษาทิเบต เมื่อท่านมรณภาพแล้วได้มีคณาจารย์สืบต่อกันเรื่อยมา เป็นพุทธศาสนาแบบตันตระ (Tantra) สวมหมวกแดง เครื่องแต่งกายสีแดง
        2. นิกายการยุดปะ ((Bka-rgyud-pa) ก่อตั้งโดยท่านนาโรปะ ( Naropa พ.ศ.1555-1642 ) ภิกษุชาวอินเดีย นิกายนี้นิยมสีขาวในการประกอบพิธีบางครั้งพระจะห่มผ้าสีขาว กำแพงวัด วิหารล้วนนิยมสีขาว จึงมักนิยมเรียกนิกายนี้ว่า นิกายขาว (White Sect) พระในนิกายนี้ที่โด่งดังมากที่สุดรูปหนึ่งคือท่านมิราเลปะ (Milarepa) ผู้ประพันธ์ A Hundred Thousand Songs) ซึ่งบางตอนของบทเพลงตามนี้ ร. บุญโญรส ได้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในชื่อ ธรรมคีตาของมิลาเรปะ
         3. นิกายศากยะ (Sa-skya-pa) ก่อตั้งโดยท่านอติษะ (Atisa พ.ศ. 1536-1593) ชาวอินเดีย นิกายนี้มีความเชื่อว่าสัจธรรมของพระโพธิสัตว์สามารถจะบรรลุได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาตามลำดับขั้น ต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัดและหมั่นศึกษาพุทธธรรมอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังเน้นที่การประสานงานระหว่างอาจารย์ลูกศิษย์สัจธรรมจนกลายเป็นหนึ่งเดียว
        4. เกลุกปะ (Dge-lugs-pa) ก่อตั้งโดยท่านซองขะปะ (Tson kha-pa พ.ศ. 1890-1962)ภิกษุชาวทิเบต ซึ่งปฏิรูปมาจากคำสอนของท่านอติษะ แห่งนิกายศากยะ เมื่อเริ่มก่อตั้งเรียกว่าคาแดมปะ (Kha-dam-pa) ซึ่งเน้นหนักที่มายาศาสตร์ ท่านซองขะปะนักบุญชาวทิเบตได้ปฏิรูปนิกายนี้เสียใหม่ โดยเน้นที่ความเป็นเลิศทางศีลธรรมและสติปัญญา พระในนิกายนี้นิยมเรียกว่าพระหมวกเหลือง 
 
         องค์ดาไลลามะ เป็นพระสงฆ์ในนิกายเกลุก มีแนวปฏิบัติใกล้เคียงกับนิกายเถรวาทมากที่สุด ครั้งหนึ่งเคยไปนั่งฟังการสาธยายปาฏิโมกข์ ซึ่งมีการชุมนุมลามะจำนวนมาก ฟังไปสักพักก็จับสำเนียงได้ว่า มีส่วนคล้ายกับ “ปาฏิโมกข์” ที่พระสงฆ์เถรวาทใช้สวดกันอยู่ประจำในประเทศไทย แต่ที่นั่นสวดเพียง 150 ข้อ ในขณะที่พระสงฆ์ไทย สวด 227 ข้อ
         ย้อนกลับไปที่เด็กหญิง “ตังเม” เจ้าของจดหมายฉบับนั้น บ้านหลังนั้นมีชาวทิเบตพักอยู่ประจำ 3 คนคือมียายชราคนหนึ่งอายุประมาณ 80 ปี แม่ของเด็กหญิงตังเม และเธอเด็กหญิงสองสัญชาติคนนั้น ยายชราชอบทำบุญตอนเช้าเธอมักจะมาเคาะประตูและนำอาหารมาถวายอยู่ประจำเป็น “โมโม” คล้ายซาลาเปา มีใส้ข้างใน เป็นได้ทั้งของคาวและของหวาน บางวันก็ให้เด็กหญิงตังเมนำโมโมมาให้ ไม่นานก็คุ้นเคยทั้งครอบครัว แม้จะพูดคุยคนละภาษา แต่ก็เข้าใจความหมายกันได้ บางวันมานั่งสนทนาที่หน้าบ้าน หัวเราะกันลั่นบ้าน ผู้คนที่ผ่านไปมาต่างอมยิ้มไปตามๆกัน ภาษามิใช่สิ่งที่กางกั้นสัมพันธภาพของมวลมนุษย์แต่ประการใด 
         ช่วงนั้นชีวิตพลิกผันที่มีอันให้เดินทางไปอินเดีย ตั้งใจจะไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเดลี กรุงเดลี ก็เข้าเรียนเหมือนกันนะในระดับเตรียมปริญญาเอก สาขาวิชาปรัชญา แต่เกิดมีปัญหาบางประการ จึงได้เดินทางขึ้นไปพักที่เมืองธัมมศาลา เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ประหยัดกว่า ค่าเช่าถูกมากเดือนละ 500 รูปี (อัตราแลกเปลี่ยนช่วงนั้น 1000 รูปีเท่ากับ 500 บาท)  ค่าอาหารวันละ 10 รูปี ที่ร้านอาหารข้างวัดนั่นแหละ เขาตั้งราคาไว้สำหรับคนจน “อิ่มละ 10 รูปี” วันหนึ่งฉันครั้งเดียวก็อยู่ได้อย่างสบาย ช่วงนั้นมีเงิน 500 บาท ก็อยู่ในอินเดียได้อย่างไม่ลำบาก 
 
         บางวันหากมีงานที่วัดใหญ่ ก็ไปร่วมงาน นั่งฟังลามะสาธยายมนต์ ไม่นานก็จะมีอาหารให้ฉันฟรี บางครั้งมีถวายด้วยครั้งละ 200-300 รูปี บางวันลามะก็นิมนต์ไปร่วมฉันภัตตาหารด้วย ได้ฟังเรื่องราวของชีวิตชาวทิเบตที่จะต้องทนทุกข์อยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ของตน แต่ก็กลับประเทศไม่ได้ เพราะไม่มีประเทศทิเบตอีกแล้ว ทิเบตได้กลายเป็นมณฑลหนึ่งของจีน เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน แม้จะพยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช แต่ก็เหมือนกับว่าคำตอบอยู่ในสายลมไม่เคยได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สักที
         ช่วงนั้นใกล้จะสิ้นปีอากาศหนาวเย็นมาก บางวันมีหิมะโปรยปราย ลมแรงต้องหลบอยู่ในห้องที่เสี่ยงกับการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีข่าวให้ได้ยินอยู่แทบทุกวัน บางครั้งเสียชีวิตหลายหมื่นคน ตอนเช้าสมัครเรียนภาษาทิเบต ตอนกลางวันก็ถือกล้องเดินเที่ยวถ่ายภาพเล่น ตอนเย็นไปเรียนภาษาอังกฤษ การเรียนที่นี่ไม่มีค่าใช้จ่าย ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดี เพลิดเพลินดีมาก วันไหนว่างก็ไปนั่งสวดมนค์สนทนากับลามะชาวทิเบต ฝึกภาษาอังกฤษ เรียนรู้ภาษาทิเบตไปด้วย ภาคบ่ายหากไม่ได้ไปไหนก็ไปนั่งฟังบรรยายพระพุทธศาสนาแบบทิเบตที่อาคารห้องสมุด มีลามะมาบรรยายให้ฟังทุกวัน บางวันบรรยายเป็นภาษาทิเบตมีล่ามแปลให้ บางวันก็บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ยังชื่นชมลามะเหล่านี้ ช่างเก่งแท้บรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษได้ ผู้ที่ร่วมฟังส่วนมากเป็นชาวต่างชาติมาจากยุโรป อเมริกา บางคนมาศึกษาหาข้อมูลเพื่องานเขียน หรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ จากทั่วโลก หากมีหัวข้องานวิจัยเกี่ยวกับทิเบตก็จะมาที่เมืองนี้ เพราะถือว่าเป็นศูนย์รวมของชาวทิเบต มีองค์ประมุขสูงสุดคือองค์ดาไลลามะประทับอยู่ที่เมืองนี้ อาจจะเรียกได้ว่าพื้นที่บริเวณทั้งภูเขาเป็นดินแดนของชาวทิเบต ส่วนพื้นที่เบื้องล่างยังคงเป็นถิ่นฐานของชาวอินเดีย
 
         ข้อความในจดหมายเขียนว่า “เห็นภาพภันเตทางเฟสบุค ยังจำได้ แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานกว่ายี่สิบปี จึงลองเขียนจดหมายมาถามข่าว แค่อยากเล่าให้ฟัง คุณยายเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว แม่ก็ไปมีสามีใหม่ ย้ายไปอยู่รัฐอื่น ไม่ได้กลับมาเยี่ยมอีกเลย ส่วนเธอก็แต่งงานมีครอบครัว ทำมาหากินโดยการขายของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเมืองธัมมศาลา ประเภทหิน ดินทราย ลูกประคำ ประมาณนั้น พอได้เงินเลี้ยงชีพไปได้ไม่ลำบากมากนัก มีลูกชายคนหนึ่งตอนนี้บวชเป็นลามะน้อยไปแล้ว เมื่อห้าปีก่อนสามีเสียชีวิต ชีวิตเหมือนอยู่ตัวคนเดียว มีเพียงลูกชายที่ก็น่าจะมีชีวิตมีอนาคตตามเส้นทางแห่งธรรมะต่อไป แต่พอโควิดระบาด นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาเมืองธัมมศาลาไม่มีเลย ธุรกิจที่ทำอยู่ก็หายอะไรไม่ได้ ก็ต้องหาอาชีพอื่นทำ หาซื้อผัก ผลไม้จากชาวบ้านมาขายที่ตลาด ได้กำไรนิดหน่อย ก็พอประทังชีวิตไปวันๆ 
         ที่วัดใหญ่นิยมเรียกว่าเมนเทมเปิล (Main temple) มีอาหารให้ทุกคน ฉันมีลูกชายเป็นลามะน้อยอยู่ที่นี้จึงไม่ลำบากมากนัก ลูกอิ่มก็อยากให้แม่อิ่ม  ในแต่ละวันทั้งลามะและชาวบ้านใครไม่มีอะไรจะกินก็ไปที่วัด พอประทังชีวิตไปได้ องค์ดาไลลามะแม้จะไม่ค่อยปรากฏตัวให้ใครเห็น แต่ลามะที่มีหน้าที่ก็ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนพลเมืองเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดนี้ไปให้ได้ 
      เธอเล่าต่อว่า "ช่วงนี้อยู่ที่อินเดียลำบากมาก ไปไหนมาไหนไม่ค่อยสะดวก แต่ละวันมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เปลวไฟที่เผาศพไม่เคยมอดไหม้ ภันเต คงจำได้ว่าที่ริมแม่น้ำที่ไหลผ่านบริเวณซอกเขานั้น ในแต่ละวันมีเปลวเพลิงที่ลุกโซน มีศพรอเผาอีกเป็นจำนวนมาก ชีวิตของผู้คนที่นี่อยู่ใกล้ความตายแค่เสี้ยววินาที ตอนเช้ายังเห็นหน้าพูดคุยกันอยู่ แต่พอตอนเย็นก็ถูกเผามอดไหม้ไปกับเปลวเพลิง ฉันก็อยู่ไปวันๆ ไม่รู้เมื่อไหร่จะติดเชื้อ ไม่รู้เมื่อไหร่จะตาย จะมีชีวิตรอดอย่างไร คิดถึงช่วงชีวิตที่เคยมีความทรงจำดีๆในอดีต ก็ลองเขียนจดหมายมาเล่าให้ฟัง หากภันเตได้รับจดหมายแล้ว จะตอบหรือไม่ตอบก็ไม่เป็นไร แค่คิดถึงอยากเล่าให้ใครสักคนฟัง ก่อนที่เรื่องราวจะถูกลืม”  
 
         มีข่าวที่ประเทศอินเดียมีคนติดเชื้อวันละเป็นแสนคน เสียชีวิตวันละหลายพันคน ถือว่าอาการหนักมากอยู่นะ จะไปไหนมาไหนต้องถูกระแวงสงสัยว่าเรามีเชื้อที่จะนำไปติดต่อคนอื่นหรือไม่ หรือเกรงว่าคนที่เข้าใกล้เรานั้นจะนำเชื้อมาติดเราหรือไม่ โลกทุกวันนี้หากจะบอกอยู่ยากก็ยากเอาการอยู่ ส่วนที่ประเทศไทยก็มีข่าวคนติดเชื้อโควิดวันละหลายพันคน เสียชีวิตวันละหลายสิบคน 
         ภาพในอดีตค่อยๆปรากฏขึ้น เด็กหญิงตังเมตัวเล็กๆ ผอมบาง ชอบมาชวนข้าพเจ้าให้ไปเดินเล่นรอบๆห้องสมุด และสอนให้ท่องบ่นมนต์ภาษาทิเบตคือคำว่า “โอมมณี ปัทเม ฮุม” ไปเรื่อย วันหนึ่งเดินหลายสิบรอบ เดินไปเดินมาจนเหนื่อยก็กลับมาพัก ยายและแม่ของเด็กหญิงตังเม เมื่อรู้ว่าเธอไปกับภันเตชาวไทยรูปนั้นก็ไม่ได้กังวลอันใด ถึงเวลาก็นำเธอมาส่งที่ห้องพักของครอบครัวเธอโดยปลอดภัยทุกครั้ง 
         คิดถึงเธออยู่นะ แต่ภาพที่ปรากฏยังเป็นเด็กหญิงนามว่า “ตังเม” ที่มีคำถามที่ไม่สิ้นสุด แม้ว่าภาษาอังกฤษเธอตอนนั้นจะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น สนทนากันด้วยภาษาอังกฤษผสมทิเบต ถ้าอยู่ต่ออีกสักหน่อยคงพูดภาษาทิเบตได้แล้ว ตั้งแต่กลับมาจากเมืองธัมมศาลาก็ไม่เคยได้เดินทางกลับไปเยือนอีกเลย ภาษาก็เลือนเพื่อนก็หาย มีเพียงเธอคนแรกนี่แหละที่ส่งข่าวมาเล่าเรื่องให้ฟัง เด็กหญิงตังเม ชาวทิเบตคนนั้น ฉันยังคิดถึงเธอ
 
 
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
06/05/64
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก