เคยวางแผนชีวิตในบั้นปลายไว้ว่า เมื่อเข้าวัยชราหมดภาระหน้าที่ในการทำงานแล้ว น่าจะไปหาที่จำพรรษาในช่วงสุดของชีวิตในต่างประเทศที่ไหนสักแห่ง อาจจะเป็นที่อินเดีย ที่เนปาลใกล้เทือกเขาหิมาลัย หรือทิเบตอยู่กับลามะ หรือยุโรปสักแห่ง เดินทางไปมาหลายประเทศที่น่าจะพออยู่ได้อย่างไม่ลำบากมากนักน่าจะเป็นที่รัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา ดินแดนที่มีฤดูกาลเดียวคือหนาวเย็นตลอดปี แต่แผนการณ์ทั้งหลายก็ต้องหยุดไว้ชั่วคราวเพราะสถานการณ์โควิดระบาดไปทั่วโลก แค่คิดจะเดินทางไปต่างจังหวัดก็ยุ่งยากแล้ว จะป่วยกล่าวไปไยถึงการเดินทางไกลไปในต่างแดน
อลาสก้าเป็นรัฐหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมื่องที่แต่ความหนาว แม้ในฤดูร้อนอุณหภูมิก็ยังไม่เกิน 10 องศา เมื่องที่มีหิมะปกคลุม ที่ครั้งหนึ่งต้องจ้างคนให้ไปอยู่ ใครที่เกษียณอายุราชการแล้ว หรือยังไม่มีงานทำก็สามารถสมัครไปอยู่ที่เมืองนี้ได้ มีที่พักให้ฟรี มีเงินเดือนให้ด้วย ใครจะไปคาดเดาได้ว่าภายใต้หิมะที่เหน็บหนาวนั้น จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามมหาศาลคือน้ำมันอยู่ใต้ผืนหิมะ และยังมีทองคำแทรกอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ใครที่โชคดีอาจจะขุดพบทองคำอยู่ใต้อาณาเขตนั้น กลายเป็นเศรษฐีขึ้นมาในบัดดล จากเมืองที่ต้องจ้างคนอยู่ กลายเป็นเมืองที่คนอยากไปเสี่ยงโชคเป็นอันดับต้นๆของโลก
ที่รัฐอลาสก้ามีวัดในพระพุทธศาสนาหลายวัด ทั้งวัดไทย วัดลาว วัดกัมพูชา วัดทิเบต วัดจีน อยู่ตามเมืองต่างๆ เฉพาะที่เมืองแองคอเรจที่เป็นเมืองใหญ่ก็มีวัดอย่างน้อยสามวัดแล้ว หนึ่งในสามวัดนั้นเป็นวัดไทยมีเจ้าอาวาสเป็นพระไทย ชื่อวัดคือ “วัดอลาสก้าญาณวราราม” มีประวัติความเป็นมาพอสังเขปดังนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2539 พระเดชพระคุณพระญาณวโรดม (สมเด็จพระญาณวโรดม) เลขาธิการคณะธรรมยุต และกรรมการมหาเถรสมาคม ได้เดินทางไปเป็นประธานการประชุมสามัญประจำปีของคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศสหรัฐอเมริกา วัดพุทธรัตนาราม เมืองเคลเลอร์ รัฐเท็กซัส ได้มาเยี่ยมชาวพุทธรัฐอลาสก้า มีพระอมรโมลี (พระเทพวรคุณ) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ พระครูวิเทศศาสนกิจ (พระนิเทศศาสนคุณ) เจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา รัฐเท็กซัส รองประธานกรรมการคณะสงฆ์ธรรมยุตในสหรัฐอเมริกา และพระคำจันทร์ โชติญาโณ วัดธรรมบูชา เป็นพระอนุจรได้เห็นภูมิประเทศของรัฐอลาสก้า เป็นสถานที่เหมาะแก่การสร้างวัดในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนใกล้ขั้วโลกเหนือ พระนิเทศศาสนคุณ ได้ประชุมญาติโยมแล้วนำเรื่องเข้าปรึกษาคณะกรรมการสงฆ์ธรรมยุตในสหรัฐ อเมริกา มีความเห็นว่าควรจะสร้างวัดขึ้นเพื่อถวายเป็นอนุสรณ์ แด่พระเดชพระคุณพระญาณวโรดม (สมเด็จพระญาณวโรดม) ในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ 80 ปี เมื่อปี พ. ศ. 2540
เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณวโรดม ได้มีเมตตาต่อคณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทุ่มเทเอาใจใส่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศมาโดยตลอด พระนิเทศศาสนคุณ และชาวพุทธเมืองแองโคเรจ รัฐอลาสก้า ได้จัดสรรหาสถานที่ตั้งวัดฯ คณะสงฆ์ธรรมยุตในอเมริกาและพระครูพุทธมนต์ปรีชา (พระวิทูรธรรมมาภรณ์) เจ้าอาวาสวัดแคโรไลนาพุทธจักรวนาราม ได้ส่งพระมหาบุญเนตร ขนฺติพโล (พระครูสาสนกิจวิเทศ) มารักษาการเจ้าอาวาสและได้นิมนต์พระสงฆ์อีก 2 รูป รวมเป็น 3 รูป เข้ามาอยู่จำพรรษา
ตั้งแต่นั้นมาพระครูสาสนกิจวิเทศ(พระมหาบุญเนตร ขนฺติพโล) ก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัด อลาสก้าญาณวราราม เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน วัดนี้จึงมีอายุในการสร้างนับถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2564 เป็นเวลา 24 ปีแล้ว
อากาศที่หนาวเย็นกับการที่จะต้องทนอยู่ให้ได้นั้นไม่ง่ายนัก ถ้าไม่มีจิตใจที่เข้มแข็งจริงๆ คงอยู่ลำบาก ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสไปที่อลาสก้าได้พักพาอาศัยที่วัดอลาสก้าญาณวราราม ได้พูดคุยสนทนากับเจ้าอาวาส ท่านก็เล่าให้ฟังว่า “ก็ไม่ง่ายนัก สำหรับการที่จะต้องอยู่ในสภาพอากาศที่ติดลบเกือบตลอดปี จะมีบางช่วงที่อากาศดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่นานนัก ผมก็คิดถึงเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ที่ท่านเมตตาหาที่สร้างวัดในดินแดนที่เปลี่ยวร้างอย่างนี้ ต้องอยู่ให้ได้”
พระเดชพระคุณสมเด็จพระญาณวโรดมเคยพูดประโยคที่เหล่าลูกศิษย์จดจำได้ดีเสมอมาคือ “สักวันหนึ่งพระอาทิตย์จะขึ้นทางตะวันตก ถ้าหากพุทธศาสนาในประเทศไทยมีอันต้องมลายหายไปจากประเทศ ชาวพุทธก็สามารถศึกษาพระพุทธศาสนาได้จากทางตะวันตก” ใครที่ได้ยินครั้งแรกก็อาจจะคิดไปว่า พระเดชพระคุณระแวงมากเกินไป แต่ถ้าพิจารณาให้ดี มีส่วนแห่งความเป็นไปได้ พุทธศาสนาในประเทศไทยกำลังระส่ำทั้งจากภายในและจากภายนอกคือศาสนาอื่น ที่พยายามแย่งชิงพื้นที่ในการครอบครองประเทศไทย โดยใช้กลวิธีนานาประการทั้งจากด้านกฎหมาย การเมือง เข้ามากดดัน บีบบังคับให้ศาสนิกชนปฏิบัติศาสนกิจไม่ได้ บางพื้นที่ต้องจำใจย้ายออกนอกพื้นที่ เพราะถูกรังแกคุกคามหมายเอาชีวิต อยู่ก็ไม่สบายอาจจะตายได้ทุกเวลา ต้องจำใจย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น
วัดอลาสก้ามีอาคารหลังเดียวใช้เป็นทั้งพระอุโบสถ ทั้งที่พัก ในพื้นที่ประมาณ 0.96 เอเคอร์ มีพระภิกษุอยู่ประจำคือพระครูวิเทศศาสนกิจพร้อมพระภิกษุอีกสองสามรูป ส่วนหนึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่อยู่ทำมาหากินในอลาสก้ามานาน อุปสมบทในวัยชรา ทำหน้าที่ปฏิบัติศาสนกิจรักษาศาสนวัตถุให้ดำเนินต่อไปได้
เคยสนทนากับเจ้าอาวาสวัดอลาสก้าฯ ว่าทำไมไม่ค่อยมีพระมาอยู่จำพรรษา ท่านบอกว่า “ส่วนมากจะมาพักอยู่ไม่นาน เพราะปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศไม่ค่อยได้ บางคนป่วยก็ต้องย้ายไปรักษาตัวที่เมืองอื่นหรือกลับประเทศไทย ที่นี่สิ่งที่จะต้องสู้มาจากสภาพอากาศล้วนๆ บางทีหิมะสูงเกือบท่วมหลังคาต้องคอยกวาดหิมะออกทุกวัน มันเป็นเหมือนเมืองถูกสาบที่น่ารัก เพราะหากไม่มีหิมะสภาพอากาศจะดีมาก อาหารการกินก็หาได้ง่าย แค่เดินไปแม่น้ำ มีเบ็ดคันเดียวก็จับปลาได้พอกินไปหลายวัน ถ้าคนพื้นเมืองยิ่งง่าย แค่เดินไปตามถนน จะขอเงินใครก็ได้ ของ่ายใช้ง่าย คนที่นี่ให้เกียรติชาวพื้นเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีพวกเขาเมืองนี้จึงยังมีการสืบต่อมาอย่างยาวนาน
เมื่อครั้งที่เดินทางไปอลาสก้า ท่านเจ้าอาวาสพาไปเที่ยวชมหลายเมือง นั่งรถไฟสายหวานเย็นไปชมหิมะกำลังละลายที่ซีเวิร์ด ไปชมเมืองแฟร์แบงค์ดินแดนที่เต็มไปด้วยป่าไม้และภูเขา อยู่ใกล้ดินแดนที่มีแสงออร่า ที่มักจะปรากฎให้เห็นเป็นประจำ
ข้าพเจ้าชอบรถไฟขบวนนี้ ไปเรื่อยๆผ่านป่าไม้ ลำธาร ภูเขา ไปช้าๆไม่รีบร้อน เช้าไปเย็นกลับ บางครั้งก็หยุดเฉยๆ เมื่อพบกับนกอินทรีย์ที่โผล่มาให้เห็น หรือิธรรมชาติที่งดงาม หยุดรถเพื่อชมธรรมชาตินี่นะ รถโดยสารแบบนี้ก็มีในโลก ส่วนมากจะได้เห็นแต่ขบวนรถไฟที่วิ่งเร็วที่สุดเช่นที่ญี่ปุ่น รวดเร็วทันใจ ไม่ต้องรอนาน ตรงเวลาเป็นที่สุด หากพลาดไปสักสองสามนาทีก็ต้องออกมาขอโทษผู้โดยสาร มีข่าวให้ได้ยินบ่อยๆ แต่ที่อลาสก้าจากแองคอเรจไปซีเวิร์ด พวกเราเรียกกันเล่นๆตามสภาพที่ปรากฏว่า “รถไฟสายหวานเย็น” วิ่งไปเรื่อยๆ พอพบภาพที่น่าสนใจก็หยุดให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกซะยังงั้น ไม่รีบร้อนอันใด เพราะถึงอย่างไรเมื่อไปถึงปลายทางเที่ยวชมสิ่งที่อาจจะได้พบเห็นเช่นแมวน้ำ ปลาวาฬ ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายกลายเป็นเหมือนน้ำตกขนาดยักษ์ ปลายทางอาจจะไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุด แต่ช่วงขณะที่กำลังเดินทางต่างหากคือเป้าหมายของรถไฟสายนี้
แม้ว่ายังอยากไปอีกหลายที่เช่นนั่งเฮลิคอปเตอร์ชมเมือง นั่งรถไฟสายอื่นๆซึ่งมีอีกหลายสาย แต่เนื่องเวลามีจำกัด ก็ต้องจำใจจากลากลับคืนสู่ภูมิสถานที่จะควรจะอยู่ อลาสก้าจึงเหลือไว้แต่ความทรงจำที่ดี ถ้าลมหายใจยังไม่สิ้น ก็น่าจะมีโอกาสกลับไปเยือนอีกครั้ง อาจจะอยู่นานไปเลยก็ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/05/64
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://cybervanaram.net/2009-12-17-14-43-37-13/605-2011-08-16-03-04-46