ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

     เรื่องของชื่อบ้านนามเมืองของแต่ละแห่งย่อมมีที่มา คนโบราณมักจะตั้งซื่อตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ถ้าอยู่ใกล้น้ำก็จะตั้งชื่อว่านำหน้าว่า “หนอง” เช่น บ้านหนองนาคำ บ้านหนองบัวบาน บ้านหนองบัวแดง บ้านหนองน้ำเค็ม เป็นต้น ถ้าตั้งอยู่อยู่ในที่สูงก็มักจะตั้งชื่อนำหน้าว่า  “โคก” เช่นบ้านโคกก่อง บ้านโคกขาม บ้านโคกอีหม่น เป็นต้น แต่บ้านนี้มีที่มาที่แปลกไปเนื่องจากว่าชาวบ้านเมื่อย้ายถิ่นฐานบ้านช่องมาที่นี่เนื่องจากราคาที่ดินช่วงนั้นราคาถูกมาก เพราะสภาพแวดล้อมแห้งแล้ง ที่ดินทำมาหากินอะไรไม่ค่อยได้ ปลูกข้าวก็ไม่ค่อยงาม ทำไร่อ้อย ไร้มันก็ไม่ค่อยมีคุณภาพ ชาวบ้านมีอาชีพเก่าคือทำการจักสาน จึงไม่ค่อยให้ความสนใจกับการทำเกษตรมากนัก ทำแค่พอกิน ปลูกพืชผักสวนครัว พอยู่ได้ จะแห้งแล้งอย่างไร ก็ไม่ค่อยมีผลกระทบกับอาชีพหลัก หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งชื่อไว้อย่างน่าฟังว่า “บ้านทรัพย์เจริญ” มาจากพื้นเพเดิมที่ชาวบ้านค่อนข้างจะยากจน ที่ดินแห้งแล้งปลูกอะไรไม่ค่อยได้ผล ชาวบ้านมีแต่จนลง หาเงินลำบาก จึงตั้งชื่อเป็นมงคลนามไว้เผื่อว่าบางทีอาจจะมีทรัพย์สินเงินทองร่ำรวยมหาศาล ประมาณนั้น


     ปัญหาเบื้องต้นของการทำการเกษตรโดยทั่วไปมักจะประสบปัญหาอย่างน้อยสี่ประการคือเรื่องของที่ดินทำกินที่คนทำไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จะถูกไล่ที่เมื่อใดไม่รู้ ปัญหาเรื่องของราคาสินค้าตกต่ำ ปีไหนมีผลผลิตมากราคามักจะสวนทางกับผลผลิตเสมอ เช่นชาวบ้านปลูกอ้อยจำนวนมาก ราคาก็จะถูกมาก ช่าวบ้านตามราคาสินค้าในแต่ละปีไม่ค่อยทัน คนทำไม่ได้กำหนดราคาแตาพ่อค้าที่ไม่ได้ทำเป็นผู้กำหนดราคา  ปัญหาเรื่องของที่ดินเสื่อมโทรม ถ้าปลูกพืชประเภทเดียวกันนานหลายปีเข้า ที่ดินก็เสื่อม ชาวบ้านส่วนหนึ่งแก้ปัญหาด้วยการใส่สารเคมีเพื่อฟื้นฟูดิน ก็ยิ่งส่งผลต่อในระยะยาว มันดีเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ระยะยาวเสื่อมเหมือนเดิม และปัญหาสุดท้ายคือการขาดนวัตกรรมใหม่ๆในการเพิ่มผลผลิต ทำไร่ ทำนามาอย่างไรก็ชอบที่จะใช้วิธีการอย่างเดิม พอมีการเปลี่ยนแปลงจากการทำแค่พออยู่พอกิน เป็นทำเพื่อการค้า ก็ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ชาวบ้านธรรมดาวิ่งตามเทคโนโลยีไม่ค่อยทัน

     บ้านทรัพย์เจริญที่ชาวบ้านไม่มีความเจริญด้วยทรัพย์ตามชื่อบ้าน ยังคงทำอาชีพทางการเกษตรและอาชีพการจักสานควบคู่กันไป การเกษตรแค่พออยู่พอกิน แต่การจักสานเป็นเรื่องของการทำธุรกิจการค้า ผลิตเพื่อส่งขายในจังหวัดต่างๆ แต่ก็ยังคงมีพื้นที่จำกัดอยู่ในประเทศ
     ชายคนนั้นสมมุตินามเรียกขานว่า “ขุน” ขุนเป็นชายหนุ่มมาจากถิ่นอื่น ได้พบรักกับสาวชาวบ้าน ภรรยาถนัดในการจักสาน แต่ขุนไม่เคยเรียนรู้เรื่องนี้มาก่อน แม้จะพยายามหลายครั้งแล้ว ผลงานที่ออกมาก็ยังไม่ค่อยดีนัก อาชีพทางการเกษตรก็ไม่เคยได้เรียนรู้ เพราะขุนมีพื้นเพเดิมเป็นคนกรุงเทพ แต่บังเอิญพบรักกับสาวชาวบ้าน จึงย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านของภรรยา การจักสานก็ทำไม่เป็นการเกษตรก็ไม่ถนัด ครั้นจะอยู่เฉยๆก็อายชาวบ้าน เดี๋ยวเขาจะกล่าวหาว่าอาศัยภรรยากิน  อยู่ว่างๆเขาคิดหางานทำแก้เหงา โดยปลูกมะม่วง มะพร้าว และผลไม้อื่นๆอีกหลายอย่างไว้รอบๆบ้านซึ่งมีอาณาเขตประมาณสามไร่
     ที่สวนในบริเวณบ้านมีต้นมะม่วงหลายต้น ต้นขนุน ต้นมะยม หลายต้น วันหนึ่งเขาสังเกตเห็นอาหารที่เหลือนำมาเททิ้งที่ใต้ต้นมะม่วง มีมดแดงจำนวนมากมาจากไหนไม่ทราบ พากันมากินเศษอาหาร โดยเฉพาะปลาแห้งมดแดงจะชอบเป็นพิเศษ เขาจึงลองนำปลาแห้งมาไว้ที่บนต้นมะม่วง มดแดงก็พากันมากิน ไม่นานก็เริ่มทำรัง เขานำปลาแห้งไปไว้ที่ต้นมะม่วงทุกต้น เมื่อมดแดงมากินปลาก็ทำรังบนต้นมะม่วง ภรรยาบอกว่า “จะไปให้อาหารมันทำไม มดมันกัดเจ็บ” แต่ขุนก็ได้แต่ยิ้ม เหมือนกำลังมีความคิดอะไรบางอย่าง “เอานะเลี้ยงไว้ดูเล่นๆก็ได้ เอาไว้กินไข่มดแดง”

     ผ่านไปหลายเดือนมดแดงก็เริ่มออกไข่ พอนำมาทำอาหารก็มีรสชาติอร่อยดี ชาวบ้านอื่นๆมาขอเขาก็ให้ แต่พอนานเข้าก็ไม่พอแจก ขุนจึงตั้งราคาขายไว้ ใครอยากกินไข่มดแดงก็ต้องสั่งจองล่วงหน้า พอไข่มดแดงโตได้ที่ก็มาเอาไป ปรากฏว่ารายได้ดี วันหนึ่งขายได้หลายบาท นำรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้เป็นอย่างดี ขายได้มากกว่าอาชีพจักสานของครอบครัวเสียอีก
     ขุนพัฒนาวิธีการเลี้ยงมดแดงออกไปอีกโดยการนำเชือกหรือสายไฟที่ทิ้งแล้วมาโยงระหว่างต้นมะม่วง เพื่อให้มดแดงเดินไปยังอีกต้นอื่นๆได้สะดวก  สวนหลังบ้านเลยกลายเป็นที่อยู่ของมดแดงที่ต่างก็ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยที่ต้นมะม่วงในสวนของขุน ทำรังบ้านต้นมะม่วงและออกไข่ กลายเป็นแหล่งผลิตไข่มดแดงที่ขายได้ราคาดี
     ต่อมาชาวบ้านทรัพย์เจริญหลายครอบครัวก็หันมาปลูกมะม่วงและเลี้ยงมดแดงกันมากขึ้น การแข่งขันเริ่มสูงขึ้น ขุนก็ได้กลายเป็นปราชญ์ชาวบ้านให้คำแนะนำการเลี้ยงมดแดงแก่ชาวบ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง
    คนธรรมดาถ้าทำงานถ้าขยันให้ทำเหมาะเจาะย่อมหาทรัพย์ได้ ดังภาษิตที่แสดงไว้ในอาฬวกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/845/316) ความว่า “ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ” แปลว่า “บุคคลผู้ทำการเหมาะเจาะไม่ทอดธุระขยันหมั่นเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้” เหมาะเจาะ เหมาะสม สมควร บางครั้งก็ต้องคิดเอง หาวิธีเอาเองว่าเราเหมาะที่จะทำอะไร ทำอย่างไร ตั้งใจจริง ไม่ทิ้งงาน เพียรพยายาม ก็หาทรัพย์ได้

     การได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองต้องลงมือกระทำการงานที่เหมาะเจาะ ไม่ใช่ได้มาเพราะคอยโชควาสนา รอเทวดาอุดหนุน แต่ต้องได้มาด้วยการลงทุนลงแรง เงินที่ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานจะมีคุณค่า การที่จะใช้จ่ายอะไรก็ต้องคิดถึงความคุ้มค่า เงินที่ได้มาง่ายปรกติก็มักจะใช้จ่ายง่ายตามไปด้วย ส่วนเงินที่หามาได้โดยยากก็ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
     ขุนคนธรรมดาที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำการเกษตรมาก่อน แต่จากการศึกษาค้นคว้า ดูสภาพแวดล้อม และทดลองลงมือกระทำ ผลที่ได้ทำให้เขากลายเป็นผู้มีรายได้ที่เกิดจากสิ่งที่คนอื่นมองข้าม เขากลายเป็นปราชญ์ผู้ชำนาญเรื่องมดแดงแห่งหมู่บ้านทรัพย์เจริญในเวลาต่อมา เป็นปราชญ์ที่ไม่เคยเรียน ไม่เคยมีความรู้มาก่อน แต่เกิดจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของมดแดง จนสามารถเลี้ยงมดแดงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ได้ดีพอสมควร

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
30/03/64

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก