เจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามป่วยหรืออาพาธนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคในถุงน้ำดีจะต้องทำการผ่าตัดสิ่งที่เกินออกโดยด่วน ทางคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาวัดมัชฌันติการามจึงจัดพิธีเจริญพุทธมนต์บทโพชฌงคปริตร ให้กำลังใจเจ้าอาวาสขึ้นที่พระอุโบสถ โดยทำการเจริญพุทธมนต์เพื่อให้อาพาธได้บรรเทาเบาบางลงหรือให้หายขาดจากการอาพาธ ถ้าหากจะยึดตามความเชื่อในโลกยุคปัจจุบันการเจริญพุทธมนต์ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอันใดกับการทำให้ความป่วยไข้หายไป การรักษาของแพทย์ที่ถูกต้องและเหมาะสมต่างหากที่จะทำให้โรคภัยต่างๆหายขาดไปได้
ในยุคหลายปีมานี้ได้เกิดคำถามตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความทันสมัยว่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายจริงหรือ เพราะโรคภัยบางอย่างแม้จะมีความเจริญ มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีตัวยาที่เชื่อกันว่ารักษาโรคให้หายได้ แต่ก็ยังมีคนป่วย ยังมีคนตายด้วยโรคบางอย่างที่แพทย์ยังรักษาไม่ได้ ในอดีตบรรพบุรุษปู่ย่าตายายแม้จะไม่มีการแพทย์ที่ทันสมัย ท่านเหล่านั้นก็ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาได้ ใช้วิธีการรักษาตามแต่สถานการณ์ ใช้ยาสมุนไพรบ้าง ใช้วิธีที่ดูเหมือนจะล้าหลัง แต่โรคบางอย่างหายขาดได้จริง
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงคนไข้ไว้โดยสรุปสามประเภท ดังที่แสดงไว้ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต (20/461) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนไข้ 3 จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลกคือ(1) คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตามย่อมไม่หายจากอาพาธนั้นได้เลย (2) คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้เภสัชที่สบายหรือไม่ได้ก็ตาม ได้อุปัฏฐากที่สมควรหรือไม่ได้ก็ตามย่อมหายจากอาพาธนั้นได้ (3) คนไข้บางคนในโลกนี้ ได้โภชนะที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้เภสัชที่สบายจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย ได้อุปัฏฐากที่สมควรจึงหายจากอาพาธนั้น เมื่อไม่ได้ย่อมไม่หาย” กล่าวโดยสรุปคือป่วยแล้วรักษาไม่หาย รักษาหรือไม่รักษาก็หายได้เอง ต้องรักษาถูกวิธีจึงจะหาย
ในสมัยพุทธกาลมีหลักฐานเกี่ยวกับหายจากการป่วยหรืออาพาธของพระเถระ โดยได้ฟังการสาธยายโพชฌงคปริตร มีข้อความปรากฏในพระไตรปิฎก พอสรุปได้ดังนี้
1.พระมหากัสสปหายอาพาธด้วยโพชฌงค์ 7 ดังที่แสดงไว้ในคิลานสูตรที่ 1 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/415-419) ความว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปอาพาธไม่สบาย เป็นไข้หนัก อยู่ที่ปิปผลิคูหา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหากัสสปว่า ดูกรกัสสป เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบขึ้นไม่ปรากฏแลหรือ?
ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ยังไม่คลายไป ความกำเริบขึ้นย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ
พระผู้มีพระภาคจึงได้แสดงโพชฌงค์ความว่า “ดูกรกัสสป โพชฌงค์ 7 เหล่านี้ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ 7 เป็นไฉน ดูกรกัสสป สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์.... อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกรกัสสป โพชฌงค์ 7 เหล่านี้แล เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
พระมหากัสสปกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค โพชฌงค์ดีนัก ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ดีนัก พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหากัสสปปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ท่านพระมหากัสสปหายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้น อันท่านพระมหากัสสปละได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.
2. พระมหาโมคคัลลานะหายอาพาธด้วยโพชฌงค์ 7 ดังข้อความที่ปรากฎในคิลานสูตรที่ 2 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/420-421) ความว่า “ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะอาพาธ ไม่สบาย เป็นไข้หนักอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกรโมคคัลลานะ เธอพออดพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้แลหรือทุกขเวทนาคลายลงไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบขึ้นไม่ปรากฏแลหรือ
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์ย่อมกำเริบหนัก ยังไม่คลายลง ความกำเริบย่อมปรากฏความทุเลาไม่ปรากฏ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรโมคคัลลานะ โพชฌงค์ 7 เหล่านี้ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ท่านพระโมคคัลลานะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค โพชฌงค์ดีนัก ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ดีนัก พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ท่านพระมหาโมคคัลลานะหายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้นอันท่านพระมหาโมคคัลลานะละได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
3.พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงหายประชวรด้วยโพชโฌงค์ 7 ดังที่แสดงไว้ในคิลานสูตรที่ 3 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/425-428) ความว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถานใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงประชวร ไม่สบาย เป็นไข้หนัก
ครั้งนั้น ท่านพระมหาจุนทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระจุนทะว่าดูกรจุนทะ โพชฌงค์จงแจ่มแจ้งกะเธอ
พระจุนทะ “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพชฌงค์ 7 เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรจุนทะ โพชฌงค์ดีนัก ดูกรจุนทะ โพชฌงค์ดีนัก ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย พระผู้มีพระภาคทรงหายจากประชวรนั้นและอาพาธนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงละแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ความหมายของและองค์แห่งโพชฌงค์
โพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ ถ้าเป็น “สัมโพชฌงค์” ก็จะหมายถึงองค์แห่งการตรัสรู้พร้อม หมายถึง ธรรมที่สนับสนุนให้ถึงการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ ดังนั้น ผู้ใดสามารถทำให้โพชฌงค์ 7 เกิดพร้อมขึ้นในตนก็ย่อมตรัสรู้ตามพระอริยเจ้าทั้งหลายได้ โพชฌงค์ท่านแสดงไว้ 7 ประการ ดังที่ปรากฏในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/327) ได้แก่
1.สติสัมโพชฌงค์ คือองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความระลึกได้
2. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือการสอดส่องธรรม
3. วิริยสัมโพชฌงค์ คือองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความเพียร
4. ปีติสัมโพชฌงค์ คือองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความอิ่มใจ
5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความสงบ
6. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความตั้งใจมั่น
7. อุเปกขาสัมโพชฌงค์ คือองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือ ความวางเฉย
ผู้ที่เจริญโพชฌงค์ถึงความเป็นใหญ่ในธรรมทั้งหลาย ดังที่แสดงไว้ในโพชฌังคสังยุต หิมวันตสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/355) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกนาคอาศัยขุนเขาชื่อหิมวันต์ มีกายเติบโต มีกำลังครั้นกายเติบโต มีกำลังที่ขุนเขานั้นแล้ว ย่อมลงสู่บึงน้อย ครั้นลงสู่บึงน้อยแล้ว ย่อมลงสู่บึงใหญ่ ครั้นลงสู่บึงใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำน้อย ครั้นลงสู่แม่น้ำน้อยแล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำใหญ่ครั้นลงสู่แม่น้ำใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่มหาสมุทรสาคร นาคพวกนั้น ย่อมถึงความโตใหญ่ทางกายในมหาสมุทรสาครนั้น แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญโพชฌงค์ 7 กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญโพชฌงค์ 7 กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 อย่างไร จึงถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปในการสละ ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... วิริยสัมโพชฌงค์ ... ปีติสัมโพชฌงค์ ...ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... สมาธิสัมโพชฌงค์ ... อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญโพชฌงค์ 7 กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 อย่างนี้แล จึงถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลา
การเจริญโพชฌงค์อาศัยกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ
เบื้องต้นของการเจริญโพชฌงค์คือการมีกัลยาณมิตร อาศัยกัลยาณมิตรเจริญโพชฌงค์ 7 ดังที่แสดงไว้ในสุริยูปมสูตรที่ 1 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/411-412) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อนคือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งโพชฌงค์ 7 แก่ภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ 7 จักกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญโพชฌงค์ 7 ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญโพชฌงค์ 7 ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 อย่างนี้แล
เบื้องแรกแห่งโพชฌงค์จะเกิดขึ้นก็คือโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการเป็นเบื้องแรกแห่งโพชฌงค์ ดังที่แสดงไว้ใน สุริยูปมสูตรที่ 2 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/413-414) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งโพชฌงค์ 7 แก่ภิกษุ คือ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ 7 จักกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญโพชฌงค์ 7 ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเจริญโพชฌงค์ 7 ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 อย่างนี้แล
อาหารของโพชฌงค์
ร่างกายจะดำรงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยอาหาร โพชฌงค์ก็มีอาหารของธรรมแต่ละอย่างเหมือนกัน ดังที่แสดงไว้ในกายสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/364-372) ดังต่อไปนี้ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหารไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ 7 ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหารไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
อาหารของสัมโพชฌงค์ทั้ง 7 ข้อเน้นไปที่ “โยนิโสมนสิการ” คือการพิจารณาโดยแยบคาย ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์.
อาหารของธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศลที่มีโทษ และไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นฝ่ายดำและฝ่ายขาว มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์.
อาหารของวิริยสัมโพชฌงค์ ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้วิยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความริเริ่ม ความพยายาม ความบากบั่นมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านี้ นี้เป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์
อาหารของปีติสัมโพชฌงค์ ดังข้อความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์
อาหารของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ดังข้อความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสงบกาย ความสงบจิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในความสงบนั้น นี้เป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์
อาหารของสมาธิสัมโพชฌงค์ ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธินิมิต อัพยัคคนิมิต มีอยู่การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์
อาหารของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งหมายถึงนิมิตแห่งจิตที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านอุเบกขาสัม โพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหารไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ 7 เหล่านี้ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
บทสวดโพชฌงคปริตร พระภิกษุนิยมนำไปใช้ในงานมงคล เมื่อมีการเจริญพุทธมนต์ในงานที่เป็นมงคลต่างๆ ก็มักจะสวดเจ็ดตำนานหรือสิบสองตำนาน หนึ่งในนั้นคือ “โพชฌงคปริตร” พุทธมนต์แต่ละบทมีที่มา มีลักษณะของการใช้แตกต่างกันทั้งเป็นไปเพื่อการปฏิบัติ เพื่อป้องกันภัย เพื่อให้เกิดความเมตตา เพื่อให้อภัย เพื่อป้องกันเหตุเภทภัย เป็นต้น
โพชฌงคปริตร เป็นมนต์เพื่อระงับ เพื่อบรรเทาการเจ็บป่วย เพราะเหตุเกิด มีที่มามีประวัติ มีหลักฐานบันทึกไว้ในพระไตรปิฏก ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์ขั้นปฐมภูมิในพระพุทธศาสนา ในวันที่เจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามกำลังป่วยหรืออาพาธด้วยโรคอย่างหนึ่ง คณะสงฆ์และคณะอุบาสกอุบาสิกาไปเยี่ยมทั้งหมดไม่ได้ จึงจัดพิธีเจริญพุทธมนต์เพื่อเป็นการให้กำลังใจคนป่วย เมื่อมีกำลังใจก็จะเข้มแข็ง จิตใจหนักแน่น โรคภัยอาจจะบรรเทาเบาบางไปบ้าง
ในขณะที่แพทย์กำลังรักษาด้วยวิธีการที่ทันสมัย ด้วยการผ่าตัดสิ่งที่เกินมาออกไป ใช้ยาที่ทันสมัยรักษาพยาบาลไปตามที่แพทย์วินิจฉัย การเจริญพุทธมนต์แม้จะไม่ใช่การรักษาโดยตรง อย่างน้อยการมีสติกำหนดรู้เท่าทัน มีธัมมวิจัยคัดสรรเลือกเฟ้นด้วยปัญญา มีวิริยะการเพียรพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไป มีปีติความเอิบอิ่มใจไร้อามิส มีปัสสัทธิคือกายจิตสงบไม่หวั่นไหว มีสมาธิใจตั้งมั่นอารมณ์นิ่ง มีอุเบกขาจิตดิ่งสู่ความวางเฉย ก็อาจจะส่งผลให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บไปได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/06/63
บทสวดโพชฌงคปริตร
โพชฌังโค สะติสังขาโต |
ธัมมานัง วิจะโย ตะถา |
วิริยัมปีติปัสสัทธิ |
โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร |
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา |
สัตเต เต สัพพะทัสสินา |
มุนินา สัมมะทักขาตา |
ภาวิตา พะหุลีกะตา |
สังวัตตันติ อะภิญญาย |
นิพพานายะ จะ โพธิยา |
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
|
โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
|
เอกัสมิง สะมะเย นาโถ |
โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง |
คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา |
โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ |
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา |
โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ |
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
|
โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
|
เอกะทา ธัมมะราชาปิ |
เคลัญเญนาภิปีฬิโต |
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญว |
ภะณาเปตวานะ สาทะรัง |
สัมโมทิตวา จะ อาพาธา |
ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส |
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ |
โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ |
ปะหีนา เต จะ อาพาธา |
ติณณันนัมปิ มะเหสินัง |
มัคคาหะตะกิเลสา ว |
ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง ฯ |
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ |
โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ |
คำแปลโพชฌงคปริตร
โพชฌงค์ 7 ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์เหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ ฯ
ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นไข้ ได้รับความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌงคธรรม โรคก็หายได้ในบัดดล ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ ฯ
ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชา (พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก รับสั่งให้พระจุนทะเถระ กล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ ฯ
ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง 3 องค์นั้น หายแล้วไม่กลับเป็นอีก ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ ฯ