สิ่งที่ผู้คนใฝ่หา สิ่งที่ผู้คนปรารถนามากที่สุดน่าจะเป็นความสุข ที่ศึกษาเล่าเรียน อดทนทำงานหาเงินก็เพื่อจะนำเงินไปซื้อหาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อที่จะได้อยู่อย่างมีความสุข ถ้าอากาศร้อนก็ติดแอร์ ถ้าอากาศหนาวก็หาเสื้อผ้ากมากันหนาว ผู้คนทั้งหลายจึงเกลียดกลัวความทุกข์ แต่อยากได้ความสุข ปรารถนาหาความสุข แต่บางคนยิ่งแสวงหาความสุขกลับเหมือนจะวิ่งหนี บางครั้งอยู่เฉยๆปล่อยวางสิ่งทั้งหลายลง ความสุขก็บมาหาเราเอง บางทีสิ่งที่เรากำลังหาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าความสุขที่แท้จริงก็ได้ โลกนี้ย่อมมีทั้งทุกข์และสุขผสมผสานกันอยู่ อยู่ที่เราจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร อยู่กับทุกข์หรืออยู่กับสุข
ความสุขคืออะไรแล้วแต่ใครจะให้คำนิยาม ในภาษาบาลี ได้ให้คำนิยามของความสุขมาจากภาษาบาลีว่า “สุข” เป็นคำคุณนามแปลว่าแห้ง ถ้าเป็นคำนามแปลว่าความสุข ในสุขวรรค ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/25) ก็ได้แสดงเรื่องความสุขไว้ตอนหนึ่งว่า “สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี” แปลมาจากภาษาบาลีว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ”
สมัยก่อนเรื่องความสงบคงหาไม่ยาก มีป่าไม้ ภูเขา ลำธาร หมู่บ้านผู้คนก็ยังมีน้อย เมืองใหญ่ๆก็อยู่ห่างไกลกัน การติดต่อสื่อสารก็มีเลือกไม่มาก ใช้เกวียน ใช้รถม้า หรือใช้วิธีการเดินด้วยเท้า ต้องใช้เวลาหลายวันหรืออาจจะหลายเดือน
แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเจริญมาก มีเครื่องบินเป็นพาหนะ ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถไปถึงกันได้แล้ว สมัยเด็กแค่บอกว่าจะมากรุงเทพก็ยากแล้ว ต้องใช้เวลาทั้งวันและคืน เป็นโลกใหม่ที่ไม่เคยคิดว่าจะมีอยู่ในโลกนี้ด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้แค่มีเงินก็สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศได้ไม่ยาก อาจจะมีขั้นตอนบ้างเรื่องของวีซ่า เรื่องของหนังสือเดินทาง ซึ่งก็ใช้เวลาในการดำเนินการไม่นาน แต่ช่วงโควิดระบาดต้องเว้นระยะห่าง ต้องงดการเดินทาง ซึ่งก็ต้องว่ากันไป แต่คงอีกไม่นานคนก็จะออกเดินทางไปในที่ที่อยากไปเหมือนเดิม หวังว่าจะเป้นอย่างนั้นในเวลาอีกไม่นาน
การเลือกในการดำรงอยู่เป็นเรื่องของแต่ละคน บางคนอาจจะอยู่กับสิ่งบันเทิงเริงใจต่างๆ ดูหนังฟังเพลง ซึ่งเมื่อเอาเข้าจริงๆแล้วจะดูได้นานสักเท่าใด หรือบางคนอาจจะหางานพิเศษทำบ้าง แต่ไม่นานก็คงเบื่อ ครั้นจะไปทำงานประจำก็ยุ่งยากกับการป้องกันและเฝ้าระวัง การที่รัฐบาลออกนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ถ้าไม่นานนักก็พอรับไหว แต่ถ้านานเกินไปมีหวังได้อดตายกันถ้วนหน้า
มีพุทธภาษิตอยูบทหนึ่งในสุขวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่าด้วยความหิว ท่านบอกว่า “ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา” แปลว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง” มนุษย์หากจะอยู่อย่างมีความสุขก็ต้องมีพออยู่พอกิน ไม่ปล่อยให้หิวมากนัก เพราะถ้าเมื่อใดที่ความหิวเกิดขึ้นก็ยากจะอดทน คนต้องอิ่มก่อนจึงจะคิดอย่างอื่นได้
ความสงบเป็นสุขได้อย่างไรนั้น อยู่ที่ใครจะเข้าใจตามระดับที่ตนประสบ แม้แต่เทวดาก็ยังให้ความหมายของความสุขในชีวิตไว้ที่ “การทำบุญ” ดังข้อความในอุปเนยยสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/7) ความว่า “เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายที่นำความสุขมาให้”
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เห็นด้วยกับเทวดาส่วนหนึ่ง แต่มีความเห็นขัดแย้งในเรื่องของความสุข พระพุทธเจ้านิยามความสุขว่า “ให้ละอามิสแล้วมุงสันติ” ดังข้อความว่า “ชีวิตคืออายุมีประมาณน้อย ถูกต้อนเข้าไปเรื่อย เมื่อบุคคลถูกชราต้อนเข้าไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ป้องกัน บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสียมุ่งสันติเถิด”
คำว่า “สันติ” ในคาถานี้ ในอรรถกถาอธิบายว่า “บทว่า สนฺติเปกฺโข” อธิบายว่า มุ่งอยู่ ต้องการอยู่ ปรารถนาอยู่ซึ่งสันติอันยั่งยืน กล่าวคือพระนิพพาน
จริงอยู่เรื่องของความตายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของสัตว์โลก แต่แทบทุกคนก็ยังไม่อยากตาย ยังอยากอยู่ในโลกนี้ให้นานที่สุด เพราะไม่มั่นใจว่าหากตายไปแล้วจะไปไหน จะได้เกิดอีกหรือไม่ สู้ใช้ชีวิตในขณะที่ยังพอมีลมหายใจ ในขณะที่ยังพอมีอันจะกิน ขอใช้ชีวิตให้มีความสุขกับทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ เทวดาจึงเสนอให้ทำบุญให้มากไว้ เผื่อบางทีถ้าสิ้นใจไปอาจจะได้ไปอยู่กับเทวดา
แต่พระพุทธเจ้ามองไกลกว่านั้น การเกิดเป็นเทวดาก็ต้องเสวยกับทุกข์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่รู้อีกนานเท่าใด การเกิดก็เป็นภัย สังขารก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีการเกิด ถ้าไม่มีการตายก็สงบสันติเป็นสุขแบบที่ไม่ต้องอิงอาศัยอามิสอีกต่อไป
คนธรรมดาสามัญที่ยังต้องเผชิญกับสภาวะของโลกที่ไม่แน่นอน ครั้นจะดิ้นรนไขว่คว้าก็ลำบาก ถ้าจะเชื่อเทวดาก็ต้องทำบุญ แต่ถ้าจะเชื่อพระพุทธเจ้าก็ต้องละอามิสเสีย อยู่กับความสงบ อยู่กับสันติ เพราะท่านยืนยันว่า สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/06/63