ความสงสัยใคร่รู้นำมาซึ่งการค้นหา การค้นหาย่อมได้คำตอบ จะเป็นคำตอบสุดท้ายหรือเป็นคำตอบที่เป็นคำถามที่จะต้องค้นหาต่อไปเรื่อยๆ จนไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่ คนที่สงสัยนั่นเองจะเป็นผู้ให้คำตอบ ความรู้ต่างๆส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นมาจากความสงสัย บางคนใช้เครื่องมือ บางคนใช้วิธีจากประสบการณ์ แต่บางคนใช้วิธีที่เรียบง่ายที่สุดคือ “ความเงียบ” ใช้ความเงียบค้นหาความจริง ใช้ความเงียบเพื่อการดำรงอยู่ ใช้ความเงียบเพื่ออยู่กับตัวเองอยู่กับชีวิต
หากเป็นสมัยก่อนเมื่อเกิดความสงสัยอะไรขึ้นมา สิ่งที่ทำได้ในยุคนั้นคือหาคำตอบว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่าง มันจะดำรงอยู่อีกนานเท่าใด เรามีเพียงประสาทสัมผัส ตาดูรูป หูฟังเสียง จมูกสูดกลิ่น ลิ้มลิ้มรส กายสัมผัส และมีใจไว้สำหรับครุ่นคิด มันเกิดขึ้นประสบการณ์ที่ได้พบได้เห็นได้ลิ้มรสได้สัมผัส บางครั้งแค่เกิดความสงสัยว่า มะม่วงบนต้นนั้นจะหวานหรือเปรี้ยว ก็ต้องทำการพิสูจน์โดยหาวิธีสอยมะม่วงจากต้นนั้นลงมาลิ้มชิมดู
วิธีการง่ายๆแบบนี้ได้ผลเสมอ เพราะเรารับรู้ได้ด้วยตนเอง และเก็บไว้เป็นประสบการณ์ต่อไป ถ้ามะม่วงมีรสหวานก็แวะเวียนไปบ่อยๆ รอว่าเมื่อใดที่มะม่วงเริ่มจะเปลี่ยนสี ได้จังหวัดที่เหมาะสม ก็สอยมะม่วงลงมาจัดการเพื่อสัมผัสกับรสหอมหวานของมะม่วงนั้น แต่ถ้ามะม่วงต้นนั้นมีรสเปรี้ยว ก็แค่แหงนหน้ามองแล้วก็จากไป
ถ้าหากสงสัยเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติเช่นทำไมแดดจึงร้อน ทำไมฝนจึงตก ก็จะสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ บางคนแค่ได้เห็นมดแมลงเคลื่อนไหว ก็สามารถคาดเดาได้ว่าฝนจะตกหนักหรือเบา ทุกอย่างต้องเฝ้ากำหนด จดจำ และสังเคราะห์ให้กลายเป็นองค์ความรู้ ที่เมื่อพบกับเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ก็จะคาดเดาและเตรียมการล่วงหน้าได้ แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือตรวจสอบจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งก็คาดการณ์ถูกบ้างผิดบ้าง
แต่สิ่งที่ไม่ค่อยได้ใช้คือการคิดด้วยใจ คิดด้วยความเงียบ การอยู่เฉยๆโดยไม่คิดอะไร ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ทำง่ายที่สุด แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด แค่นั่งหลับตาฟังเสียงลมพัด ฟังเสียงน้ำไหล ฟังเสียงนกร้อง ซึ่งไม่ได้ปรุงแต่งอะไรเลย เป็นเสียงที่ไพเราะเพราะพริ้งที่สุด เป็นเสียงแห่งธรรมชาติ แต่ข้าพเจ้ากลับเคยทำน้อยที่สุด เวลาส่วนใหญ่มักจะหมดไปกับการฟังเสียงที่ผ่านการปรุงแต่งแล้ว เสียงจากวิทยุซึ่งเป็นเสียงคนอื่นที่เขาอยากให้เราได้ยิน เสียงเพลง เสียงละครวิทยุ เสียงโฆษณาสินค้า เสียงการเล่าข่าวต่างๆซึ่งส่วนมากมักจะเป็นเรื่องของคนอื่น เรามักจะรู้เรื่องคนอื่นมากเกินไป แต่เรื่องของเราเองกับรู้น้อยมาก
มีอยู่ครั้งหนึ่งเดินหลงป่าเข้าไปภูเขา ไม่มีวิทยุ ไม่มีอาหาร มีเพียงน้ำดื่มในกระบอกไม้ไผ่ที่ได้มาจากลำธารในระหว่างช่องเขา อยู่คนเดียวในท่ามกลางแห่งภูเขา เดินวนไปเวียนมา ไม่นานก็กลับมาที่เก่า เดินอยู่อย่างนั้นหลายรอบ เมื่อหมดแรงจึงหยุดเดินและนั่งเงียบอยู่กับลมหายใจและคิดว่าหากถึงเวลาที่สิ้นลมหายใจก็พร้อมที่จะจากไป
แต่ทว่าในความเงียบกลับมองเห็นทางออกทั้งๆที่ตาก็ยังหลับ เมื่อถึงทางตันให้ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น หากจะไปต่อก็เดินหน้าต่อไป หากรู้สึกไม่ไหวก็เดินกลับทางเดิม จุดหมายที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่เป้าหมายที่กำลังจะไป แต่อาจจะเป็นเส้นทางที่เคยผ่านมาแล้วก็ได้
ในที่สุดเมื่อไปต่อไม่ได้ก็ย้อนกลับทางเดิมและพบทางออกจากทางที่พึ่งผ่านมานั่นเอง เราแค่หลงทางแต่ไม่ได้เดินผิดทาง ยังมีเส้นทางอีกมากมายที่รอให้เราเดิน
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป หากเกิดความสงสัยอะไรขึ้นมา ก็แค่ใช้โปรแกรมค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ไม่นานก็พบคำตอบ ซึ่งมีมากมายจนบางครั้งแทนที่จะเป็นคำตอบกลับกลายเป็นคำถามใหม่ เป็นความสงสัยใหม่ขึ้นมาอีก ความสงสัยจึงไม่เคยหายไปสักที จนอาจจะกล่าวได้ว่ายิ่งมีการรับรู้มาก ยิ่งมีความสะดวกมากเท่าไหร่ ความสงสัยก็มักจะมากตามไปด้วย
มีคนหลายกลุ่มนำเรื่องของความสงสัยไปเพื่อทำธุรกิจการค้า แทบไม่น่าเชื่อว่า “ความสงสัย” ก็กลายเป็นสินค้าที่ขายได้ บางคนใช้เวลาในการค้นหาข้อมูลในแต่ละวันเป็นเวลานาน ดูเหมือนการรู้มากจะเป็นคนเก่ง แต่คนเก่งบางคนก็ยังฆ่าตัวตาย คนเก่งหลายคนก็ล้มเหลวในการใช้ชีวิต การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเก่ง ก็กลายเป็นความสงสัยประการหนึ่ง
ยุคสมัยนี้ส่งเสริมให้ผู้คนใช้ประสาทสัมผัสคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย มากเกินไป จนลืมนึกไปว่ายังมีอีกประสาทสัมผัสอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ใช้นั่นคือ “ใจ” ที่รับรู้อารมณ์ ปรุงแต่งอารมณ์ และใช้อารมณ์ความรู้สึกจากประสาทสัมผัสทั้งห้าประการนั้น แต่อารมณ์ของใจที่แท้จริงกลับไม่ค่อยได้ใช้
ช่วงนี้โลกมีปัญหา สิ่งที่คนส่วนหนึ่งกระทำคือการติดตามข่าวสารว่าโลกกำลังประสบเคราะห์กรรมอย่างไร มีใครติดเชื้อบ้าง เสียชีวิตไปแล้วกี่คน ซึ่งก็มักจะนำความกังวลย้อนกลับมาที่ตัวเราเองและคนรอบข้าง วันนหึ่งโทรทัศน์เกิดเสียขึ้นมา อินเทอร์เน็ตก็ล่ม ตอนแรกก็วุ่นวายใจว่าจะต้องไปหาซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ จะได้ไม่ตกข่าว แต่ร้านค้าต่างๆก็ปิดกิจการ จึงไม้ดูข่าวเพราะเครื่องมือสื่อสารเสียหาย
มีเวลาอยู่กับตนเอง ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต อยู่กับความเงียบ อยู่กับใจตัวเอง ปิดการรับรู้ข่าวสารชั่วคราว แต่ในความเงียบกลับได้ความสงบ เหมือนกำลังย้อนกลับไปยังอดีต สมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังอยู่กันมาได้ เรียนหนังสือได้ รับรู้เรื่องราวต่างๆได้ ฟังเสียงฟ้าร้อง เสียงลมพัดใบไม้ไหว ฟังเสียงจากลำธาร เสียงจากสกุณา ก็เป็นบทเพลงที่เพลิดเพลินแล้ว ในยุคที่ไม่ค่อยมีอะไรเรากลับมีความสุขมากกว่า
ความเงียบคืออะไร มันอยู่ทีไหน ทำไมเราไม่ค่อยได้เห็นมัน
ความเงียบคือภาวะที่ไม่มีสิ่วรบกวน ความเงียบอยู่รอบๆตัวเรา แต่เราไม่ได้ใส่ใจถึง ความเงียบก็ไม่ได้ปรากฏขึ้น แต่เมื่อใดที่เราอยู่เฉยๆ หยุดความนึกคิด หยุดการงานไว้สักพัก ความเงียบก็จะมาหาเราเอง ความเงียบมักจะแสดงตนในเวลาที่เราไม่ได้สนใจ แต่เมื่อมาแล้วสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ คือสิ่งที่ไม่เห็นและสิ่งที่ไม่มี เมื่อไม่มีก็ไม่ต้องไปกังวลวุ่นวายอะไรอีก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/06/63