มนุษย์แม้จะเกิดมาดูเหมือนจะเท่าเทียมกัน ไม่มีอะไรติดตัวมาเหมือนกัน มาตัวเปล่าเหมือนกัน แต่ทำไมเมื่อกาลเวลาผ่านไปบางคนก้าวหน้า ทำอะไรก็สำเร็จได้โดยง่าย มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ไม่อดอยากไม่ขัดสน หรือบางครั้งอาจจะมีโชคลาภโดยไม่คาดคิด แต่บางคนอยู่อย่างลำบากขัดสน ปากกัดตีนถีบ ทำอะไรก็ติดขัดอัตคัตขัดสนไปหมด เรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุญของแต่ละคนในอดีตชาติไม่เท่ากัน การดำเนินชีวิตจึงแตกต่างกัน แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเป็นคนมีบุญบ้าง เรื่องนี้มีคำอธิบายในไว้ในพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีหลักความเชื่อขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งคือเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด มนุษย์เกิดมาหลายชาติ หากทำความดีสร้างบารมีพร้อมสมบูรณ์แล้วก็จะหมดภาระในการเกิดอีกต่อไป แม้แต่พระพุทธเจ้าก็บำเพ็ญบารมียาวนานหลายปี มีระบุไว้ว่านานกว่าสี่อสงขัย คือนานจนลืมนับสี่ครั้ง การบำเพ็ญบารมีที่ชัดเจนที่สุดก็สิบชาติหรือทศชาติ แต่คนธรรมดาอย่างเราเกิดตายมากี่ชาตินั้นไม่อาจตอบได้
การทำบุญในพระพุทธศาสนานั้นมีมากมายหลายวิธี ขึ้นอยู่กับเวลาและโอกาสของแต่ละคนว่าจะเลือกทำอะไรจึงจะทำให้เกิดบุญ พระพุทธศาสนามีคำสอนไว้หลายระดับตั้งระดับชาวบ้านคนธรรมดาสามัญ ข้าราชการ นักบริหาร จนกระทั่งสอนเทวดา อินทร์พรมหยมยักษ์ หรือหากใครมีบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมก็สามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงสุดคือพระอรหันต์ได้ในชาตินี้หรือสั่งสมบ่มบารมีให้บริบูรณ์ในชาติต่อๆไป
คำว่า “บุญ” มาจากภาษาบาลีว่า “ปุญญ” คำนามนปุงสกลิงค์ แปลว่า บุญ ความผ่องแผ้วแห่งดวงจิต ความสะอาด ความสุข ความดี บุญจึงเป็นเรื่องของความดี บุญเป็นชื่อแห่งความสุข ในสาลิเกทารชาดก ขุททกนิกาย ชาดก(27/1878) ได้แสดงเรื่องผู้ต้องการบุญไว้เบื้องต้นว่า มาจากการให้ทาน ดังข้อความว่า “ผู้ต้องการบุญย่อมให้ทาน บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการทำบุญนั้นว่า เป็นขุมทรัพย์ แปลม่จากภาษาบาลีว่า “เตสํ ปุญฺตฺถิโก ทมฺมิ ตํ นิธึ อาหุ ปณฺฑิตา”
คำว่า “ทาน” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์ แปลว่า การให้ การเผื่อแผ่ การแบ่งปัน ความเอื้อเฟื้อ ของบริจาค ความบริสุทธิ์ ภาค ส่วน การตัด น้ำมันช้างตกมัน น้ำมันไหลจากหมวกหูช้าง เมื่อช้างตกมัน แม้จะแปลได้หลายความหมายแต่ที่ผู้คนส่วนมากเข้าใจร่วมกันคือ ทานแปลว่าการให้ จะให้อะไร ให้อย่างไร ให้แก่ใครจึงจะเป็นการให้ทาน
คำตอบคือให้อะไรก็ได้ ให้แก่ใครก็ได้ ให้เวลาไหนก็ได้ แต่เมื่อให้แล้วผลของการให้แตกต่างกัน เช่นให้อาหารแก่นก แมว สุนัข ก็ย่อมได้บุญในระดับหนึ่ง ให้แก่คนขอทานก็มีผลระดับหนึ่ง ให้แก่พระภิกษุสามเณรก็มีผลระดับหนึ่ง ให้แก่พระอรหันต์ก็ย่อมมีผลมากกว่าเป็นต้น แต่การให้ทานนั้นเบื้องต้นย่อมได้อานิสงส์แห่งการให้โดยทั่วไปซึ่งเป็นคุณลักษณะเบื้องต้นของผู้ให้ที่จะได้รับอานิสงส์ของการให้ทานนั้น แสดงไว้ในทานานิสังสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/35) ความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน 5 ประการคือ(1) ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก(2) สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน (3) กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป (4) ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ (5) ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
ในสมัยพุทธกาลผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ยินดีในการให้ทานมีหลายคน ในบรรดาคนเหล่านั้นหากเป็นอุบาสกก็ต้องยกให้อนาถปิณฑกเศรฐี หรือหากเป้นอุบาสิกาก้ต้องยกให้นางวิสาขมหาอุบาสิก
อนาถปิณฑิกเศรฐีหรือชื่อเดิมคือสุทัตตะชาวเมืองสาวัตถี ซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัด โดยใช้ทรัพย์ที่มีอยู่วางทอดบนพื้นดินเพื่อเป็นราคาที่ดินหมดไปหลายโกฏิจนกระทั่งเงินเกือบหมด เจ้าของที่ดินคือเจ้าเชต ถึงกับเลื่อมใสจึงถวายที่ดินส่วนที่เหลือให้อนาถปิณฑิก แต่มีข้อแม้ว่าชื่อวัดที่สร้างจะต้องเป็นชื่อของตน วัดนั้นจึงได้ชื่อตามเจ้าของที่ดินคือ “เจ้าเชต” เป็นวัดเชตวัน แปลว่าอารามของเจ้าเชต ส่วนคนสร้างวัดตัวจริงกลับไม่มีชื่อ สุทัตตะเป็นคนต้องการบุญจริงๆ ไม่มีเงื่อนไขในการทำบุญขอเพียงได้ทำ นั่นเพราะความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั่นเอง เวลาผ่านไปสองพันกว่าปี “วัดเชตวัน” ยังคงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์ เป็นขุมทรัพย์ในพระพุทธศาสนาที่ผู้มีศรัทธาต้องการบุญไปเยือนไม่ขาดสาย
ส่วนนางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน เธอเป็นผู้ให้ทานโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเมื่อไปวัดเป็นผู้ไม่มีมือเปล่า หากไปตอนเช้าก็มีอาหารไปถวายพระภิกษุสามเณร ไปเวลาบ่ายหรือเย็นก็มีน้ำปานะ ไปถวาย เป็นผู้ก่อให้เกิดเรื่องของการทำบุญมากมายเช่นผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น นางวิสาขายังสร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนาคือวัดบุปผาราม
ทั้งสองท่านทำบุญจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แม้จะจากโลกนี้ไปนานแล้ว ผู้คนก็ยังจดจำชื่อได้ ผู้ต้องการย่อมให้ทาน และบุญที่ทำไว้แล้วหากยังไม่ให้ผลในทันทีก็จะเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่ผู้กระทำได้สั่งสมไว้ ทรัพย์เหล่านั้นก็ย่อมจะเป็นของผู้ที่ทำบุญนั้นต่อไปอีกหลายชาติ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
7/12/62