หากจะถามว่า "ชีวิตคืออะไร" มีคำนิยามมากมายที่เหล่านักปราชญ์ทั้งหลายได้ให้คำจำกัดความไว้ บ้างก็ว่าชีวิตคือการเดินทาง ชีวิตคือการศึกษา ชีวิตคือการชดใช้กรรม ชีวิตเป็นไปตามข้อกำหนดของการการกระทำ หรือแม้แต่ชีวิตคือความทุกข์ แม้จะให้คำนิยามอย่างไร แต่ดูเหมือนว่ายิ่งพยายามอธิบายชีวิตยิ่งมีประเด็นปลีกย่อยออกไปอีกมากมาย เป็นเหมือนเส้นทางวกวนบนภูเขาที่ไม่มีวันสิ้นสุด ผ่านโค้งนี้ก็เข้าอีกโค้ง พอเข้าทางตรงได้ไม่นานก็มีเส้นทางวกวนตามมาอีก เส้นทางของชีวิตบางครั้งราบเรียบ บางครั้งก็สับสน บางครั้งก็วกวน แต่เราก็ต้องทนให้ได้จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ บทต่อไปไกลเกินกว่าจะเข้าถึง
คิดถึงคำถามที่ชายหนุ่มคนนั้นที่เคยถามว่า “ชีวิตของท่านหลังบวชแล้วเป็นไปอย่างไร” กลับถึงที่วัดเหมือนมีชายหนุ่มคนนั้นมานั่งยิ้มรอฟังคำตอบอยู่ “เหนื่อยไหมครับ เอากาแฟสดสักแก้วนะครับ มีชาดีด้วยนะครับ อู่หลงอย่างดีกลิ่นหอมชุ่มคอชื่นใจ ไม่ต้องรีบตอบคำถามผมหรอกครับ” มีงานอื่นก็ทำก่อนก็ได้
หลวงตายิ้มในใจ ช่างรู้ใจดีจริงนะพ่อหนุ่ม เอางั้นก็ได้ ได้กาแฟสดหนึ่งแก้ว และชาร้อนๆแล้ว อารมณ์ดีแจ่มใส สบายใจ คงถึงเวลาที่จะต้องตอบคำถามของชายหนุ่มคนนั้นแล้ว จากนั้นก็ค่อยๆย้อนระลึกถึงอดีตกาลที่ผ่านมานานกว่าสี่สิบปี
อดีตกาลแต่นานมาค่อยๆผุดขึ้นในความทรงจำ หลังจากวันที่แม่ขอร้องว่าขอให้บวชให้แม่ก่อนสักหนึ่งพรรษา ลาสิกขาออกมาแม่จะขอสาวคนที่ลูกรักให้แต่งงานด้วย ถ้าเขารักจริง เวลาเพียงแค่สามเดือนคงรอได้
ชีวิตหลังอุปสมบทในพรรษาแรกนั้น มีประสบกาณ์แปลกใหม่อีกมากมายที่ไม่เคยประสบมาก่อน อุปสมบทได้เพียงเจ็ดวัน พระอุปัชฌาย์ก็มีคำสั่งให้ไปเฝ้ากองฟอนของคนที่รู้จักคนหนึ่ง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์ในคืนนั้นทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในอีกเส้นทาง
อากาศตอนกลางคืนเย็นสบายมีสายลมพัดผ่าน ศพที่กำลังเผา กับพระบวชใหม่อยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ดึกสงัดคืนนั้นนั่งสมาธิได้ดีมาก อารมณ์แห่งการพิจารณามรณสติจากของจริง ลุงสิงห์ที่กำลังถูกไฟเผาคนนี้แหละเมื่อห้าวันก่อนได้มาสอนคาถาบทหนึ่งให้ “ผมจะว่าให้ฟังสามรอบเท่านั้น ใครจำได้ก็ท่องจำไว้ ใครจำไม่ได้ก็แสดงว่าไม่มีวาสนาบารมีในคาถาบทนี้ คาถาใครคาถามัน ห้ามจดบันทึก ห้ามถามกันนะครับ” จากนั้นลุงสิงห์ก็ให้เตรียมดอกธูปเทียนขึ้นและตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธปฏิมา ว่าหากเป็นคาถาที่เคยเรียนมาในชาติปางก่อนขอให้จำได้
จากนั้นก็เริ่มสาธยายให้ฟังหนึ่งรอบ วันนั้นเรียนคาถากันหลายรูป ว่าให้ได้ยินดังๆ คาถายาวประมาณสามบรรทัด หากไม่ไแน่จริง ไม่ตั้งใจจริง คงจำได้ยาก
วันนี้ผมว่าให้ฟังสองรอบพอนะครับ พรุ่งนี้ผมจะมาใหม่ว่าให้ฟังรอบที่สาม แต่ลุงสิงห์ไม่ได้กลับมา และไม่ได้ท่องคาถารอบที่สามให้ใครได้ฟังอีกเลย เพราะแกป่วยกะทันหัน และไม่นานก็เสียชีวิต
คืนนั้นพยายามระลึกถึงคาถาบทนั้น นับเป็นเรื่องแปลกที่บรรดาตัวอักษรทั้งหลายเหมือนเรียงแถวเข้ามาและเริ่มสาธยายไปเรื่อยๆ จนจำขึ้นใจในตัวบทคาถานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิก็จำได้เร็ว
เวลาผ่านไปนานเท่าใดไม่ทราบ นั่งสมาธินานเท่าใด็ไม่ได้กำหนด เพราะไม่มีเวลามากำหนด ไม่มีนาฬิกา เอาฟ้าเป็นเวลา สว่างก็เลิกกัน กลางดึกแม้จะอยู่ข้างกองไฟที่กำลังเผาร่างลุงสิงห์ แต่ก็ยังรู้สึกหนาวเย็น จึงค่อยๆลืมตามเพ่งมองไปที่กองไฟ
บัดดลนั้นร่างของลุงสิงห์ก็เหมือนลุกขึ้นมานั่งมองหน้ากันแบบประจัญหน้า ระยะทางห่างกันเพียงไม่กี่เมตร สิ่งที่คิดได้ในบัดดลนั้นคือ “วิ่งๆๆ” เพราะคิดว่าโดนผีหลอกแน่นอน แต่เพราะนั่งมานานแข้งขาไม่ยอมฟังคำสั่งจึงต้องนั่งประหน้ากับร่างของลุงสิงห์ พลางอธิษฐานในใจว่า คาถานั้นจำได้ขึ้นใจแล้ว ห้วงขณะเวลานั้นบทสวดมนต์ทั้งหลายทั้งปวงที่เคยท่องก็เรียงหน้าเข้ามา บทอิติปิโส … บทพาหุง... และบทสวดมนต์ต่างๆเข้ามาในจิตหมด “ท่อง สาธยายไปเรื่อยๆ” ในที่สุดร่างของลุงสิงห์ก็ค่อยๆเอนตัวลงกลับไปในท่านอนสงบนิ่งเหมือนเดิม
หายใจโล่งอกเพราะนึกว่าคาถาของพระพุทธเจ้าสามารถสะกดแม้แต่ภูตผีได้ ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปรกติค่อยๆลุกจากที่นั่งเดินไปที่กองฟอน ใช้ไม้เชี่ยฟืนให้ลุกโซนจะได้เผาร่างลุงสิง์ให้มอดไหม้ ตอนนั้นอารมณ์กลัวไม่เหลืออยู่แล้ว ได้แต่แผ่เมตตาจิตให้ลุงสิงห์ไปสู่สุคติตามสมควรแก่กรรม
การที่ร่างของลุงสิงห์ลุกขึ้นมานั้นอันที่จริงไม่ใช่ปาฏิหาริย์ใด แต่เป็นเพราะไม้ข่มสองอันที่อยู่บริเวณหน้าอกถูกไฟไหม้ ส่วนไม้อีกสองอันที่อยู่ทางบริเวณขายังไหม้ไม่หมด จึงทำให้ร่างท่อนบนลุกขึ้นมาเพราะเส้นเอ็นได้หดเข้านั่นเอง
หากตอนนั้นขาไม่เป็นตะคริวคงวิ่งหนีไปแล้ว และคงต้องกลัวผีไปตลอดชีวิต เพราะเหตุการณ์ในวันนั้นจึงเลิกกลัวผีมาจนถึงบัดนี้ แม้ผีหรือวิญญาณทั้งหลายจะมีอยู่ก็เป็นเรื่องธรรมดา วิญญาณไม่มารบกวนผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรม
ต้องขอบคุณลุงสิงห์ที่สอนวิชากรรมฐานให้เป็นเบื้องต้น แม้ปัจจุบันคาถาบทนั้นก็ยังสาธยายอยู่เป็นประจำ เป็นคาถาธรรมดานี่แหละ ไม่ได้มีความพิสดารอันใด แต่สาธยายเมื่อใดก็นึกถึงลุงสิงห์ผู้เป็นอาจารย์ทุกที
ออกพรรษาแล้วก็อยู่ต่อจนรับกฐิน จากกฐินก็เป็นงานมหาชาติ พระอุปัชฌาย์ให้เรียนเทศน์มหาชาติและไปเทศน์แทนพระอุปัชฌาย์ในวัดต่างๆ จนชาวบ้านรู้จัก กลายเป็นนักเทศน์รูปหนึ่งในอำเภอ
กลับมาอีกทีจะเข้าพรรษาอีกครั้งแล้ว หญิงสาวคนนั้นก็แวะเข้ามาถามว่า “ตกลงหลวงพี่จะลาสิกขาหรืออยู่ต่อ” ตอนนั้นอารมณ์ความรู้สึกอยู่ต่อไปก็ได้สบายใจดี หรือลาสิกขาก็ได้ เป็นทางเลือกที่ดูเหมือนจะเท่าเทียมกัน อยู่ต่อก็ได้ หรือไปก็ดี สงครามภายในใจสู้รบกันอยู่หลายวัน แต่ไม่มีใครชนะ จึงยังไม่ได้มีความตอบที่ชัดเจน
ก่อนเข้าพรรษาเพียงหนึ่งเดือนพระอุปัชฌาย์ก็บอกว่า “ไปเรียนหนังสือที่วัดในเมืองนะ หลวงพ่อติดต่อกุฏิให้แล้ว ปีหน้าค่อยลาสิกขาก็ได้ ทำความฝันหลวงพ่อให้บรรลุผลหน่อย คืออย่างนี้หลวงพ่อเรียนบาลีมานานหลายปีแต่สอบเป้นพระมหาเปรียญไม่ได้สักที หลวงพ่ออยากมีลูกศิษย์เป็นพระมหาเปรียญสักรูป ก็หวังว่าท่านนี่แหละจะทำสำเร็จ”
ด้วยความเคารพในพระอุปัชฌาย์จึงต้องย้ายวัดเข้าไปเรียนหนังสือในเมือง สัญญาที่ให้ไว้กับหญิงสาวคนนั้นเลยต้องยกเลิก ปีต่อมาเธอก็แต่งงานกับชายหนุ่มคนหนึ่ง เราทั้งสองจากกันด้วยดี เดินคนละเส้นทาง
ต่อมาอีกสามปีก็สามารถสอบเป็นพระมหาเปรียญได้ และมีงานสอนหนังสือตามมา ออกเทศนาอบรมนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ เวลาผ่านไปด้วยการทำงานนี่แหละ วันหนึ่งเพื่อนพระภิกษุจากกรุงเทพมหานครชวนมาเรียนหนังสือที่มหามกุฏราชวิทยาลัย เวลาส่วนหนึ่งหมดไปเพราะการเรียน จึงอยู่ต่อมาเรื่อยๆ ปัจจุบันเรียนจบชั้นสูงสุดของระบบการศึกษาไทยแล้ว และทำงานสอนหนังสือตามสาขาที่ศึกษาเล่าเรียนมานี่แล
ชีวิตเป็นไปอย่างที่เล่ามา ถ้าไม่อยู่ในพระศาสนาชีวิตก็ต้องเป็นไปตามทางสายฆราวาสซึ่งจะต้องทำงานให้มีอยู่มีกิน แต่บังเอิญว่าทางนั้นเราไม่ได้เลือก ชีวิตที่เราได้เลือกแล้วจึงเป็นไปดั่งนี้
ชายหนุ่มคนนั้นคนที่มีอายุยี่สิบปีเมื่อสี่สิบปีก่อนหายไปตอนไหนไม่รู้ ปล่อยให้หลวงตาชราเล่าอดีตของตนจนจบ เหมือนกับกำลังเล่าเรื่องของตนเองให้ตนเองฟัง เพราะชายหนุ่มคนนั้นไม่ได้อยู่ฟังจนจบ เขาคงหายไปตอนหลวงตามีอายุยี่สิบปี....
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
14/08/62