ฝุ่นละอองธุลีในอากาศปกคลุมทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาหลายวันแล้ว มีแนวโน้มว่าหากฝุ่นยังคงมีอยู่อย่างนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งบางคนเริ่มมีอาการแสบตา แสบจมูกหายใจไม่สะดวก ต้องหาอุปกรณ์มาปิดจมูกเพื่อป้องกันฝุ่น หลายหน่วยงานกำลังหาทางแก้ปัญหา ซึ่งอีกไม่นานฝุ่นนี้ก็คงจะจางหายไป หากจะใช้วิธีตามธรรมชาติก็ต้องรอฝนและลม ฝนมาชำระล้างฝุ่น ลมพัดพาฝุ่นล่องลอยไป ก่อนที่ฝุ่นจะหมดไปก็ต้องทนต่อไป
ฝุ่นทำให้คนวิตกกังวล บางคนไม่อยากออกจากบ้าน ไม่อยากออกไปประสบกับสภาพอากาศในลักษณะนี้ อยู่ในเคหสถานน่าจะปลอดภัยกว่า แต่ทว่าผู้คนต้องทำงาน ต้องทำมาหากิน จะอยู่เฉยๆโดยไม่ต้องทำอะไรเลยก็คงอยู่ได้ไม่นาน ธรรมชาติของมนุษย์มักจะอยู่นิ่งๆนานไม่ค่อยได้
ฝุ่นภายนอกมีส่วนทำให้อารมณ์คนหงุดหงิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ ในพระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องของฝุ่นละอองธุลีที่เกิดกับใจ ซึ่งเมื่อเกิดแล้วจะกัดกร่อนจิตให้หวั่นไหว คิดมาก ทำอะไรไม่สะดวก หากฝุ่นจับตัวกันมากขึ้นก็อาจจะมีผลทำให้คนบางคนกระทำอะไรที่ไม่เหมาะสมหรือกลายเป็นบาปได้
คำว่า “ฝุ่น” ภาษาบาลีใช้คำว่า “ธูลี”คำนามเพศหญิง แปลว่า “ธุลี ฝุ่น” สิ่งที่เป็นธุลีหรือฝุ่นในจิตใจของมนุษย์คือ“ราคะ โทสะ โมหะ” ดังข้อความที่ปรากฏในขุททกนิกาย มหานิทเทส (24/380) ความว่า “ราคะเรากล่าวว่าเป็นธุลี มิได้กล่าวละอองว่าเป็นธุลี คำว่า ธุลี เป็นชื่อของราคะ บัณฑิตทั้งหลายนั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี
โทสะเรากล่าวว่าเป็นธุลี มิได้กล่าวละอองว่าเป็นธุลี คำว่า ธุลีเป็นชื่อของโทสะ บัณฑิตทั้งหลายนั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี
โมหะเรากล่าวว่าเป็นธุลี มิได้กล่าวละอองว่าเป็นธุลี คำว่า ธุลี เป็นชื่อของโมหะ บัณฑิตทั้ง หลายนั้นละธุลีนี้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี
โลภะ(ราคะ) โทสะ โมหะ เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลมูลเป็นธรรมฝ่ายที่ทำให้เสื่อม ดังที่แสดงไว้ในทสุตตรสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(10/393) ความว่า “ธรรมสามอย่างที่เป็นไปในส่วนข้างเสื่อมคือ อกุศลมูล 3 ได้แก่อกุศลมูลคือโลภะ อกุศลมูลคือโทสะ อกุศลมูลคือโมหะ ธรรมสามอย่างเหล่านี้เป็นไปในส่วนข้างเสื่อม”
โลภะ แปลว่า ความโลภ ความอยาก ความดิ้นรน ราคะ แปลว่า สี เครื่องย้อม ความกำหนัด ความยินดี (น่าสังเกตุเวลาสอนภิกษุมักจะใช้คำว่า "ราคะ" แต่เวลาสอนฆราวาส จะใช้คำว่า "โลภะ")
โทสะ แปลว่า ความประทุษร้าย ความโกรธ ความขัดเคือง ความเกลียดชัง ความมุ่งร้าย โทษ ความเสียหาย ความผิดพลาด ข้อบกพร่าอง ข้อควรตำหนิ
โมหะ แปลว่า ความหลง
ธุลีทั้งสามประการนี้มีสาเหตุเกิดที่แตกต่างกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำหน้าที่ต่างกัน ให้ผลต่างกัน และมีวิธีแก้ต่างกัน สำหรับเหตุเกิดขึ้นของธุลีทั้งสามนั้น มีแสดงไว้ในติตถิยสูตร อังคุตตรนิกาย ติกกนิบาต (20/508) ความว่า “สุภนิมิต” คือ ความกำหนดหมายว่างาม เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคายถึงสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง
“ปฏิฆนิมิต” คือ ความกำหนดหมายว่ากระทบกระทั่ง เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายถึงปฏิฆนิมิตโทสะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง
“อโยนิโสมนสิการ” เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง
เมื่อธุลีทั้งสามประกาเกิดขึ้นแล้วย่อมให้ผลต่างกันคือ “ราคะมีโทษน้อยคลายช้า โทสะมีโทษมากคลายเร็ว โมหะมีโทษมากคลายช้า”
การกำจัดกิเลสหรือธุลีในจิตนั้นมีลักษณะแตกต่างกัน ราคะละได้ด้วย “การกำหนดอสภุภนิมิต” โทสะ ละได้ด้วย “เมตตาเจโตวิมุติ” ส่วน โมหะ ละได้ด้วย “โยนิโสมนสิการ” ดังข้อความในติตถิสูตรความว่า “อสุภนิมิต” คือ ความกำหนดหมายว่าไม่งาม เมื่อบุคคลทำไว้ในใจโดยแยบคายถึงอสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ราคะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้
“เมตตาเจโตวิมุติ” เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยแยบคายถึงเมตตาเจโตวิมุติโทสะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ผู้มีอายุทั้งหลายข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โทสะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้
“โยนิโสมนสิการ” เมื่อบุคคลนั้นทำไว้ในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ ผู้มีอายุทั้งหลายข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้โมหะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้”
กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงปกคลุมด้วย “ฝุ่น” ไปอีกหลายวัน แต่คาดว่าอีกไม่นาน “ฝุ่น ละออง ธุลี” คงหายไปในเวลาอีกไม่นาน เพราะวันนี้ก็เริ่มมีฝนและลมพัดมาบ้างแล้ว แต่ทว่า “ฝุ่น ละออง ธุลี”ที่เกิดขึ้น มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ หากไม่ได้รับการบรรเทา แก้ไข ให้ถูกวิธี อาจจะจะก็ให้เกิดโทษหรือความเสียหายแก่ชีวิตทั้งชีวิตและมีผลยาวนานข้ามภพข้ามชาติไปอีกนานแสนนาน วันนี้ชาตินี้แม้จะยังละธุลีคือ “ราะคะ โทสะ โมหะ” ไม่ได้ แต่อย่างน้อยเพียงแค่บรรเทาให้เบาบางลงได้บ้าง ชีวิตก็อยู่อย่างสันติสุขแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/01/62