ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

        ชีวิตไม่ได้ดำรงคงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แม้จะเกิดมาคนเดียวไปคนเดียวก็ตามทีเถิด แต่ในช่วงระยะเวลาแห่งการเดินทางของชีวิตจากวัยเด็กผ่านวัยหนุ่มสาวเข้าสู่วัยชราและถึงจุดหมายปลายของชีวิตคือมรณะนั้น จะต้องมีห้วงเวลา มีความทรงจำ มีประสบการณ์ที่จะต้องพานพบ มีผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งที่อยากจดจำและอยากลืมเลือน บางคนแม้กาลเวลาจะผ่านไปนานแล้ว แต่ยังอยู่ในความทรงจำที่ไม่เคยเลือนหาย

         ผู้เขียนมีชีวิตในวัยเด็กและวัยหนุ่มเพียงยี่สิบปี จากนั้นชีวิตของคนธรรมดาก็เลือนหาย หรืออาจจะเรียกว่าประวัติชีวิตของการเป็นฆราวาสมีให้จดจำเพียงยี่สิบปี จากนั้นชีวิตก็หายไปจากความเป็นผู้ครองเรือนกลายมาเป็นอนาคาริกคือผู้ไม่มีเรือนยาวนานกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต เกือบสี่สิบปีแล้วเป็นชีวิตที่ไม่มีอะไรให้จดจำ วันเวลาผ่านเลยไปในแต่ละวัน มีชีวิตวันต่อวัน ทำกิจกรรมเหมือนเดิมแทบจะไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง พบหน้าผู้คนหน้าตาเดิมๆเหมือนทุกวัน นอกจากบางครั้งจะเดินออกไปจากความเคยชินไปพบปะผู้คนในดินแดนที่แตกต่างบ้าง แต่ก็ไม่นานนัก จากนั้นวิถีชีวิตก็กลับมาเหมือนเดิมมีชีวิตแบบวันต่อวัน วันนี้อยู่ไม่รู้พรุ่งนี้จะมีลมหายใจอยู่หรือไม่ไม่อาจจะรู้ได้
         วันนี้ตื่นขึ้นมามีความผิดแปลกจากความเตยชิน ซึ่งหากเป็นวันทำงานตามเวลาของราชการจะต้องได้ยินเสียงเพลง เสียงเด็ก เสียงอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย จนบางครั้งอาจจะใช้คำว่าเสียงอึกทึกครึกโครมของการทำงานของครูและนักเรียนจากโรงเรียนที่อยู่ข้างวัด เสียงนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความรำคาญ แต่เป็นเสียงแห่งการเริ่มต้นของวันเวลา ถ้าได้ยินเสียงจากโรงเรียนก็แสดงว่าลมหายใจแห่งชีวิตยังคงเหลืออยู่ ต้องสู้กันต่อไปวันนี้ยังไหวไปต่อได้อีกวัน
         พึ่งมารู้สาเหตุของความเงียบจากข่าวโทรทัศน์เขาบอกว่าวันนี้เป็นวันครู ใครที่มีครูควรจะต้องไปสักการะครูที่เหลืออยู่ จากนั้นก็มีภาพของคนมีชื่อเสียงของประเทศไปไหว้ครู มอบดอกไม้มอบของที่ระลึกให้ครู เพื่อระลึกถึงคุณูปการของครูที่เคยสอนวิชาการต่างๆมาก่อน

        จากภาพข่าวทำให้พยายามนึกถึงครูว่ายังมีใครเหลืออยู่บ้าง ลองย้อนกลับไปสมัยเด็กเรียนชั้นประถมศึกษา ต่างก็ทยอยจากโลกนี้ไปแล้ว ยังเหลืออยู่สองสามท่าน อายุน่าจะเกินแปดสิบปีแล้ว อยู่ต่างจังหวัด คงกลับไปเยี่ยมไม่ทัน
         ครูสมัยชั้นมัธยมตอนต้นก็เป็นโรงเรียนเอกชน โรงเรียนเลิกกิจการไปแล้ว บรรดาครูทั้งหลายก็ไม่รู้จะตามไปหาที่ไหน คงเปลี่ยนอาชีพไปหมดแล้วหรือไม่ก็คงจะจากโลกนี้ไปแล้ว
         ครูสมัยมัธยมศึกษาตอนปลายก็ยังคงเป็นโรงเรียนเอกชน เคยเดินเข้าโรงเรียนเก่าสมัยที่เรียนอยู่ก็ไม่มีใครที่เคยรู้จัก ครูอาจารย์เหล่านั้นก็ไม่มีใครเหลืออยู่แล้ว เจ้าของโรงเรียน ผู้อำนวยการ ครูที่เคยสอนก็อาจจะเลิกอาชีพไปหมดแล้ว ได้พบแต่ครูใหม่ๆที่ไม่เคยรู้จัก
         ชีวิตในเพศฆราวาสหายไปหลายปี ความทรงจำก็พลันลบเลือนไปเกือบหมด ที่จำได้ส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของความผิดพลาดในการใช้ชีวิตมากกว่าเรื่องที่ดี เรื่องเหล่านั้นเป็นบันทึกความทรงจำในโลกส่วนตัว เล่าให้ใครฟังไม่ได้ ขอสงวนไว้เป็นบันทึกความทรงจำส่วนตัว
         ย้อนกลับมาที่เรื่องราวที่พอจะบันทึกเหตุการณ์ได้ ผู้ที่ถือว่าเป็นครูที่สอนวิชานอกแบบจนสามารถทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้อยู่ในเพศบรรพชิตได้ จำได้ดีแม้แต่ชื่อของท่าน “หลวงพี่กุน”เป็นนามสมุติ มีอายุมากกว่าผู้เขียนสองปี อุปสมบทก่อนสองปี เป็นพระรุ่นพี่ต่างวัด หลวงพี่กุนอุปสมบทที่วัดป่ามีวัตรปฏิบัติแบบพระกรรมฐานที่เข้มงวด โดยดำเนินตามแนวคำสอนของหลวงปู่มั่น ผู้ก่อตั้งวัดก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นชื่อเรียกขานว่า “หลวงพ่อบัว” คนละคนกับหลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด ศิษย์หลวงปู่มั่นมีชื่อ “บัว” อยู่สองรูป ทั้งสองรูปสร้างวัดที่จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันมรณะไปแล้วทั้งสองรูป
         หลวงพี่กุน พระภิกษุบ้านเดียวกัน อุปสมบทอยู่วัดใกล้กัน ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอมา เนื่องจากผู้เขียนพออุปสมบทแล้วก็อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติอยู่กับพระอุปัชฌาย์ตลอดพรรษา เรียนนักธรรม ทำวัตร สวดมนต์ ทำกิจต่างๆของสงฆ์ตามสมควร

         เมื่อออกพรรษาเพื่อนพระภิกษุที่จำพรรษาด้วยกันต่างก็ทยอยลาสิกขาไปจนเกือบหมด เหลือพระภิกษุอยู่ในวัดเพียงสี่รูปกับสามเณรอีกสองรูป ช่วงนั้นกำลังวางแผนในการลาสิกขาเหมือนกัน แต่ยังรอเวลาอีกสักพัก ลองดูอีกสักหน่อย ชีวิตก็ไม่ได้ลำบากอะไร ลาสิกขาออกไปก็ต้องไปทำนาทำไร่ มีครอบครัว มองหาอนาคตของชีวิตไม่ค่อยสดใส ประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็นพ่อแม่มีอาชีพทำไร่ ทำนา ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อจะได้เดินทางออกไปยังนาไร่ ทำงานตากแดดตากฝนทั้งวัน ทำงานไม่มีวันหยุด ชีวิตเป็นไปดั่งนี้ ตอนนั้นไม่อยากเป็นจึงอยู่ต่ออีกสักหน่อย ทั้งๆที่หากดำรงอยู่ในสมณเพศชีวิตมิใช่ไม่มีอนาคตแต่ได้ทิ้งอนาคตไปเรียบร้อยแล้ว
         กำลังหาเหตุผลในการอยู่กับเหตุผลในการลาสิกขาซึ่งน้ำหนักพอๆกัน เรียกว่ายังกินกันไม่ลงว่าจะอยู่หรือจะไป แต่น้ำหนักทางฆราวาสวิสัยเริ่มมีแรงโน้มถ่วงมากขึ้นเรื่อยๆ
         วัดในชนบทมีกิจกรรมระหว่างวัดกับบ้านอย่างหนึ่งคือการจำศีลฟังธรรมในวันธรรมสวนะ ชาวบ้านจะมาบูรณะวัดดายหญ้า ซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุด พวกผู้หญิงก็จะมาทำอาหารหรือทำงานเย็บปักถักร้อย ใครมีฝีมือทางไหนก็ช่วยกันทำ บางคนทำสวนดอกไม้ บางคนดายหญ้า บางคนถักหมวดไหมพรมเพื่อถวายพระภิกษุในช่วงฤดูหนาว อดีตนักบวชที่สึกหาลาเพศไปแล้วบางคนมีความชำนาญในการทำอัฏฐบริขารก็มาช่วยตัดเย็บสงบ จีวร หรือบริขารอย่างอื่นถวายพระ เรียกว่าสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆแทบจะไม่ต้องพึ่งพาร้านค้าใดๆเลย
         พระภิกษุสามเณรจึงมีความสัมพันธ์กับชาวบ้าน รู้จักชื่อกันทุกคนรวมทั้งประวัติของแต่ละคนอีกด้วย ใครโสด ใครแต่งงานแล้ว ใครติดต่อคบหากับใครแทบจะไม่เป็นความลับ รู้กันทั้งหมู่บ้าน
         ช่วงเวลาแห่งการทำงานวันหนึ่ง ผู้เขียนกำลังย้อมสงบจีวรด้วยแก่นขนุน ก็มีโยมสตรีสูงอายุเข้ามาหา ชวนสนทนาหลายเรื่อง มีเรื่องหนึ่งที่ยังจำได้ดี บางบทของคำสนทนา “หลวงพี่คิดจะลาสิกขาไหม เจ้าคะ”
         “ก็คิดอยู่บ้าง แต่ไม่รู้จะสึกไปทำอะไร”
         “โยมมีที่นาหลายร้อยไร่ มีไร่อีกหลายร้อยไร่ มีลูกสาวคนเดียว พ่อก็สุขภาพไม่ค่อยดี ตอนนี้ไม่มีใครช่วยทำไร่ ทำนา หลวงพี่สนใจจะออกไปทำนา ทำไร่ไหม เจ้าคะ ยกให้ทำฟรีๆ”
         บัดดลนั้นใบหน้าของลูกสาวโยมสูงวัยคนนั้นก็โผล่มา เคยพบปะพูดคุยอยู่หลายครั้ง เธอเสียงดีสวดสรภัญญะไพเราะ รูปร่างหน้าตาก็พอไปวัดไปวาได้ อายุก็ไล่เลี่ยกัน แต่เธอผิวคล้ำไปหน่อย คงจะทำงานกลางแดดมากไป
         หลังจากวันนั้นคำสนทนากับหญิงสูงวัยคนนั้นกลายเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจมาก น้ำหนักทางลาสิกขาเริ่มมากขึ้น คิดเข้าข้างตัวเองว่าหากลาสิกขาตอนนนี้คงเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่สุด ไม่ต้องไปวิ่งหาอนาคต เพราะอนาคตของการเป็นชาวไร่ ชาวนารออยู่แค่เอื้อมแล้ว เพียงตัดสินใจให้เด็ดขาดชีวิตก็เดินทางสู่อาชีพหลักของบรรพบุรุษแล้ว
         แต่มนุษย์น่าจะมีทางมากกว่านั้น ทำไมชีวิตต้องลำบากในการทำงานขนาดนั้น ทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ อีกอย่างลองอยู่ต่อในเพศสมณะอีกสักปีสองปีก็ไม่น่าจะเสียหายอันใด ช่วงนั้นยังพออดพอทนได้อยู่

         วันหนึ่งหลวงพี่กุนมาที่วัดด้วยภารกิจบางอย่าง เมื่อทักทานสนทนาปราศรัยตามธรรมเนียมพระบ้านเดียวกันแล้ว หลวงพี่ก็เอ่ยถามขึ้นมาว่า “กามราคะเป็นอย่างไรบ้าง ยังอยากลาสิกขาอยู่ไหม”
         เมื่อถามตรงก็ตอบตรงเหมือนกัน “หนักครับหลวงพี่ มันคิดมากปรุงมาก บางคืนนอนไม่หลับเลยครับ ผมไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรเหมือนกัน”
         หลวงพี่กุนบอกว่า “นี่คือเรื่องธรรมดา ต้องผ่านมันไปให้ได้ ผมมีวิธีบรรเทากามราคะ ท่านลองนำไปทำดูก็ได้ วิธีนั้นคือ “อดข้าว” สองสามวัน หากมันยังมารบกวนอดต่อไปอีก ไม่นานก็หมดแรงไปเอง หากยังไม่ได้ผล ไปหาผมที่วัดยังมีอีกหลายวิธี”
         เป็นวิธีที่ง่ายมากแค่ “อด” คำเดียว “อด” ทั้งๆที่มี  ไม่ใช่ “อด” เพราะไม่มี ธรรมชาติของมนุษย์ทุกวันจะต้องมีอาหาร ส่วนมากจะกินจนอิ่มหรือเกินอิ่ม แต่ที่ตั้งใจ “อด” ทั้งๆที่มีให้กินนี่สิ เป็นเรื่องของการฝึกฝน
         วันต่อมาจึงลองทำตามคำแนะนำของหลวงพี่ โดยเริ่มจากฉันน้อยลง วันต่อมาก็ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่ง “งดอาหาร” ทั้งๆที่ก็ยังทำกิจกรรมเหมือนกับพระรูปอื่นทุกรูป
         วันแรกยังพอไหว กามราคะยังคงรบกวนเหมือนท้าทาย เหมือนกับกำลังทำสงครามกับกิเลส ซึ่งคือความเคยชินมานานกว่ายี่สิบปี กินอิ่มนอนหลับทุกวัน วันแรกความหิวไม่เท่าไหร่ยังพออดทนได้ วันที่สองหิวมากต้องเดินไปเดินมาแทบทั้งวัน หากนั่งเมื่อไหร่เสียงท้องร้องเพราะขาดอาหารรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ วันที่สามอาการหน้ามืดตาลายเริ่มมาเยือนกามราคะเบาบางแทบจะไม่ปรากฏให้เห็น เหมือนกับหายไปเฉยๆ แต่ความหิวรุนแรงมากแทบจะไม่อยากเดิน
         สงครามภายในที่กำลังต่อสู้กันเมื่อหลายวันก่อน แต่ละฝ่ายเริ่มอ่อนกำลัง จะลาสิกขาไปทำไม เราไม่ไปเขาก็มีคนอื่นทำอยู่แล้ว จะลำบากไปทำไม ตอนนี้เราได้วิธีบรรเทากามราคะแล้ว หากยังรบกวนอยู่ก็ “อด”ไปเรื่อยๆ ในประวัติศาสตร์มีคนอดอาหารได้นานถึงหนึ่งเดือน ครูบาอาจารย์ท่านก็ถือเรื่องของ “การอดอาหาร”เป็นเรื่องธรรมดา    หากมีกามราคะมารบกวนอีกก็ “อด” อีก
         พระพุทธองค์ทรงแสดงความอดทนของภิกษุไว้ในนาคสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (21/114) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้อดทนอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย สัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้มีปรกติอดทนต่อคำกล่าวอันหยาบคาย ร้ายกาจ ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ต่อทุกขเวทนาเป็นไปทางสรีระ กล้าแข็งเผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะนำชีวิตไปเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุเป็นผู้อดทนอย่างนี้แล”

         ชีวิตของภิกษุต้องมีความอดทนเป็นพื้นฐาน อดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหาย เหลือบ ยุงลิ้น ลมแดด ถ้อยคำหยาบคายของใครบางคน ใครที่อดทนได้ชีวิตก็อยู่อย่างไม่เดือดร้อนได้ ความหิว แม้จะตั้งใจให้เกิด แต่เกิดขึ้นเพราะต้องการฝึกฝน และทำแล้วได้ผลจริงๆ ถึงจะกำจัดกิเลสยังไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็บรรเทากิเลสบางอย่างได้
         ผู้เขียนอยู่ในสมณเพศต่อมาจนถึงปัจจุบันเกือบสี่สิบแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคำสอนของครูกรรมฐาน ที่มีนามสมมุติว่า “หลวงพี่กุน” ผู้เขียนถือว่าท่านเป็นครูสอนกรรมฐานชั้นเยี่ยมท่านหนึ่ง พูดน้อยแต่ปฏิบัติได้จริง ปัจจุบันหลวงพี่กุนยังอยู่ในเพศสมณะอายุเกินหกสิบปีแล้ว เป็นครูบาอาจารย์ของหมู่คณะ
         วันนี้วันครูไม่มีโอกาสได้กลับไปกราบสักการะครูสอนกรรมฐานท่านนั้น ถ้าวันนั้นไม่ได้พบท่าน วันนี้คงกลายเป็นชาวนา ชาวไร่ เป็นพ่อตาของใครบางคนไปแล้ว ขอคาวระครูผู้สอนกรรมฐาน วันนี้ต้องเรียก "หลวงพ่อกุน" ด้วยความเคารพ ตั้งใจจะอดอาหารบูชาครูสักสองวัน.........


 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
16/01/62 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก