ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปราชญ์ทางด้านพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อาจจะมีหลายท่าน มีทั้งพระภิกษุ และฆราวาส ในส่วนของฆราวาสหากจะให้เอ่ยนามผู้ที่มีความชำนาญในด้านพระไตรปิฎกแล้วชื่อของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ มักจะถูกนำมาอ้างอิงเสมอ ในบรรดาเอกสารตำราทางวิชาการที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่อ่านง่าย เข้าใจง่ายเล่มหนึ่งที่มักจะมีผู้กล่าวอ้างถึงคือพระไตรปิฎกสำหรับประชาชน เป็นหนังสือขนาดใหญ่ที่สรุปย่อหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาไว้ในหนังสือเล่มเดียว
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2460 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 สิริอายุรวม 83 ปี หากยังมีชีวิตอยู่จนถึงปีนี้ก็จะมีอายุ 101 ปี เพื่อเป็นการระลึกคุณูปการที่อาจารย์สุชีพได้ทำไว้ต่อวงการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาจึงมีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสำหรับประชาชนขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึง 100 ปีชาตกาลของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ความทรงจำเกี่ยวกับอาจารย์สุชีพนั้น สำหรับผู้เขียนแล้วในความทรงจำที่พึ่งผ่านมาประมาณ 30 ปีแล้ว เนื่องเพราะเคยเรียนวิชาพระไตรปิฎกศึกษากับท่านอาจารย์ถึงสามปี อีกปีหนึ่งเรียนกับ พันเอกสุข เจริญรัตน์ ช่วงปีพุทธศักราช 2531-2534 สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาชั้นปริญญาตรีศาสนศาสตรบัณฑิตสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา จังหวัดนครปฐม
อาจารย์สุชีพเป็นฆราวาสที่สอนพระไตรปิฎกให้กับพระภิกษุที่เป็นนักศึกษา สมัยนั้นสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยรับนักศึกษาเฉพาะที่เป็นพระภิกษุสามเณรเท่านั้น ยังไม่มีนักศึกษาฆราวาสเข้าเรียนเหมือนในปัจจุบัน
อาจารย์สุชีพเดินเข้าห้องเรียน มีพระไตรปิฎกเล่มหนึ่งถือติดมือมาด้วย ส่วนมากจะเป็นฉบับภาษาบาลี นอกจากนั้นก็มีชอล์คที่ใช้สำหรับเขียนกระดานดำ เมื่อเข้ามาก็จะยกมือไหว้พระนักศึกษาเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เริ่มต้นบรรยายในเนื้อหาวิชาโดยนำเอาสาระสำคัญจากพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งขึ้นมาอ้าง อธิบายถึงที่มา ต้นเหตุแห่งการเกิดพระสูตร บริบทของสถานที่ เนื้อหาสาระสำคัญของพระสูตร ที่มาของพระสูตรเป็นพระสูตรประเภทใด ใครเป็นคนถาม หรือมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ต้องแสงดพระสูตรนั้น หรือว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงเอง
ในขณะที่บรรยายจะนั่งนิ่งๆ และหากจะมีการเขียนบนกระดานดำก็จะเดินไปเขียนจากนั้นก็กลับมานั่งบรรยายต่อไป เสียงบรรยายก็ราบเรียบ ไม่มีเสียงหัวเราะ ทั้งห้องเงียบกริบเหมือนอยู่ในป่า แต่พระนักศึกษาไม่มีใครหลับในชั่วโมงนี้เลย เพราะเนื้อหาที่อาจารย์บรรยายนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง พระนักศึกษาจึงจดบันทึกประเด็นสำคัญ และประเด็นปัญหาที่สงสัย จะได้สอบถามหลังการบรรยาย
เคยมีผู้ถามว่าทำไมอาจารย์ไม่ยืนสอนหนังสือ อาจารย์ตอบง่ายๆว่า “เนื่องจากพระนักศึกษามีศีล มีคุณธรรมสูงกว่าอาจารย์ที่เป็นฆราวาส นี่ไม่ใช่การสอนแต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ บางเรื่องผมก็ไม่รู้ บางเรื่องก็เข้าไม่ถึง พระนักศึกษาอาจจะมีความรู้มากกว่าอาจารย์ ผมก็ต้องการศึกษาในสิ่งที่ไม่รู้ไปด้วย”
ก่อนจะหมดชั่วโมงเรียนประมาณ 30 นาที อาจารย์ก็จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ถามปัญหาต่างๆที่บรรยายไปแล้วหรือปัญหาอื่นๆที่สงสัย
ผู้เขียนเคยยกปัญหาถามท่านอาจารย์หลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นเรื่องของเทวดาที่มาถามปัญหากับพระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งเทวดาได้ถามปัญหากับพระพุทธเจ้าดังข้อความที่ปรากฎในอัจเจนติสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ 15 ข้อ 9 หน้า 30 ความว่า “กาลทั้งหลายย่อมล่วงเลยไป ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไปชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายที่นำสุขมาให้” พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบเทวดาว่า “กาลทั้งหลายย่อมล่วงเลยไป ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไปชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด” แปลมาจากภาษาบาลีคือ
"อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย
วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ
เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน
โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโขติ ฯ
อัจเจนติสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค(15/9/3)
แสดงว่าเทวดารู้จักการทำบุญ แต่ยังต้องแสวงสิ่งอื่นด้วย ทำไมเทวดาไม่รู้จักสันติ เทวดายังต้องสะสมอยู่อีกหรือ แสดงว่าเทวดาก็ยังต้องแย่งชิงกัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น”เนื่องจากเปิดตำรามาก่อนจึงสามารถหลักฐานมาอ้างอิงได้
อาจารย์สุชีพยิ้มที่มุมปากแสดงออกถึงความเมตตา และเริ่มตอบคำถามว่า “เทวดาก็มีส่วนหนึ่งที่เหมือนมนุษย์ ยังมีโลก โกรธ หลง ยังละกิเลสไม่ได้ แต่ที่ทำให้ได้อุบัติเป็นเทวดาเพราะมีคุณธรรมข้อหนึ่งเหมือนกันเรียกว่า “เทวธรรม” คือ “หิริและโอตตัปปะ” มาจากเทวธรรมชาดก ขุททกนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 ข้อ 6 หน้า 3 ฉบับภาษาบาลี มีเนื้อความว่า
“หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา
สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเรติ”
เทวธรรมชาดก ขุททกนิกาย (27/6/3)
แปลเป็นภาษาไทยความว่า “สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันขาว ท่านเรียกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก”
เหล่าเทพและเทวดาอย่างน้อยก็ต้องมีคุณธรรมสำคัญสองประการนี้คือ “หิริ คือความละอาย และโอตตัปะ คือเกรงกลัวต่อบาป” ส่วนการปฏิบัติเพื่อมุ่งสันตินั้น อาจจะมีเพียงเทวดาบางเหล่าเท่านั้นที่รู้ เทวดาที่ไม่รู้ก็มี อีกอย่างหนึ่ง คำว่า “เทวดา” มาจากธาตุในภาษาบาลีคือ “ทิว” ธาตุ แปลว่า เป็นไปในความเล่น แปลงอิ เป็นเอ จึงกลายเป็น “เทว” ในภาษาไทยกลายเป็น “เทพ” เทว หรือเทพ มีความหมายหลายอย่างเช่นเทพเจ้า เทวดา พระยม ความจาย สมมุติเทพ พระราชา ฟ้า ท้องฟ้า ฝน เมฆฝน”
ก่อนจบคำอธิบายอาจารย์สุชีพยิ้มก่อนจะหันมาบอกว่า “ท่านมหาอ้างพระไตรปิฎกฉบับไหน จึงกลายเป็นเล่มที่ 15 ข้อ 9 หน้า 30 ฉบับของผมคือภาษาบาลีเป็นเล่มที่ 15 ข้อ 9 แต่หน้า 3 ชั่วโมงหน้ามาตรวจสอบกันอีกที จากนั้นก็ยกมือไหว้นักศึกษาและเดินออกจากห้องไป
การเรียนในรายวิชาพระไตรปิฎกจบแล้ว เพื่อนักศึกษาหันหน้ามามองเหมือนกำลังจะตั้งคำถามเพื่อหาข้อเท็จจริงว่าตกลงหน้าไหนกันแน่ ผู้เขียนได้แต่ยิ้มแห้งๆก่อนจะบอกเพื่อว่า “ผมเจตนาอ้างหน้าผิดไปอย่างนั้นเองแหละครับ ที่จริงถูกต้องตามที่อาจารย์สุชีพพูดถึงนั่นแหละ”
เคยได้ยินนักศึกษาถามอาจารย์สุชีพว่า “อาจารย์อ่านพระไตรปิฎกกี่รอบ” อาจารย์ตอบว่า “อย่านับเป็นรอบเลย อ่านไปเรื่อยๆค้นคว้าไปเรื่อยๆ ไม่ได้เรียงลำดับ สงสัยหัวข้อธรรมข้อไหนก็เปิดอ่านได้ทันที ผมอ่านไปขีดเส้นใต้สีแดงบ้าง น้ำเงินบ้างเต็มไปหมด เพื่อทบทวนความจำ บางอย่างก็คัดลอกไว้ หนังสือพระไตรปิฎกผมซื้อไว้เป็นสมบัติส่วนตัว จึงขีดเขียนข้อความสำคัญไว้ทุกเล่มที่เคยอ่าน”
ช่วงที่อาจารย์สอนที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระไตรปิฎกสำหรับประชาชนยังไม่ได้พิมพ์รวมเล่ม แต่แยกพิมพ์เป็นบางส่วน
ปีนี้หากอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพยังมีชีวิตอยู่คงมีอายุ 101 ปี ในโอกาสนี้ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ “พระไตรปิฏกฉบับสำหรับประชาชน ฉบับวาระ 100 ปีชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุ ภาพ” เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาสำหรับประชาชนผู้ที่มีความต้องการศึกษาพระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกมีจำนวนรวมกันถึง 45 เล่ม การที่จะอ่านให้จบนั้นต้องใช้เวลาและความเพียรพยายามมากแต่หากต้องการศึกษาเฉพาะสาระสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตพระไตรปิฏกฉบับสำหรับประชาชนเป็นหนังสือที่ควรอ่าน
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม ได้สร้างอาคารหอประชุมสุชีพ ปุญญานุภาพ ไว้เป็นที่ระลึกถึงคุณูปการของบุรพาจารย์ และยังมีรูปหล่อสัมฤทธิ์อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพไว้ที่อาคารแห่งนี้ด้วย
วันที่ 26 ธันวาคม 2561-12 มกราคม 2562 มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระไตรปิฎกสำหรับประชาชน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
27/12/61