ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

        เข้าพรรษาผ่านมากึ่งเดือนแล้ว ดูเหมือนว่าเวลาจะหมุนเร็วแทบจะไม่ทันตั้งตัว มัวแต่ทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ตั้งใจไว้ก่อนเข้าพรรษาว่าปีนี้จะพิจารณาความเป็นไปของชีวิต สิ่งไหนที่พอจะวางได้ก็พร้อมที่จะวาง สิ่งไหนที่ทำยังไม่เสร็จหรือเป็นงานต่อเนื่อง ก็จะพยายามทำต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนความ จากนั้นก็น่าจะถึงเวลาในการหยุดพักเสียที เพราะอายุก็เข้าใกล้วัยหกสิบปีเข้ามาทุกที มรณภัยจะมาเยือนเมื่ไหร่ก็ไม่อาจจะหยั่งทราบล่วงหน้าได้

        เพื่อนพ้องน้องพี่หลายคนล้มหายตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ค่อยได้ไปร่วมงานฌาปนกิจพวกเขาเหล่านั้นเลย เพราะมัวแต่ห่วงงาน ซึ่งก็ไม่ใช่งานที่สำคัญอะไร บางวันก็แทบจะไม่ได้ทำอะไร ปล่อยให้ชีวิตหมดไปพร้อมกับวันเวลาที่เปลี่ยนแปลง งานก็คืองาน หากไม่ทำงานก็จะยิ่งโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเศร้าสร้อยมากกว่านี้อีก
        อันที่จริงหากพิจารณาให้ถ่องแท้ตัวเราเองปฏิบัติธรรมทุกวัน แต่ไม่ใช่การปฏิบัติตามแบบแผน อาจจะไม่ได้ลงไหว้พระที่พระอุโบสถพร้อมกับพระภิกษุรูปอื่นๆทุกวัน แต่ก็ยังทำวัตรสวดมนต์เป็นประจำมากบ้างน้อยบ้างตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย
        สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหยุดกระทำคือ “การพิจารณา” ได้มาจากคำสอนของ "อาจารย์ใหญ๋" ก่อนจะคิด พูด ทำอะไรก็มักจะพิจารณาก่อนเสมอ ถูกต้องหรือไม่ สมควรหรือไม่ แม้แต่ก่อนจะข้ามถนนก็มองซ้ายมองขวา ตรวจสอบดูก่อนว่าถนนว่าพอจะข้ามได้หรือไม่ การปฏิบัติธรรมมีอยู่ทุกขณะก้าวย่าง ต้องมองให้รอบด้าน รอบคอบ เพราะชีวิตนี้สั้นนัก หากเผลอสติเมื่อใดอาจจะหมดลมหายใจเมื่อนั้น การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นยาก การดำเนินชีวิตก็ยาก แต่มนุษย์ส่วนมากยังปรารถนาจะเกิดเป็นมนุษย์

        จำได้ว่าสมัยเป็นหนุ่มไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดสันติธรรมสมัยนั้นเคยแนะนำว่า “ท่านเป็นพระที่ชอบคิด คิดมากพิจารณามาก ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาต้องใช้ความคิดเป็นอาวุธ การที่จะทำให้ใจสงบแล้วค่อยพิจารณาคงยากสำหรับจริตนิสัยแบบท่าน ลองหันมาใช้ปัญญาคิดพินิจพิจารณาให้เห็นแจ้ง ให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายดูบ้าง บางทีจิตของท่านอาจจะสงบก็ได้ การปฏิบัติสมาธิพระพุทธเจ้าสอนไว้สองอย่างคือสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา จะใช้อะไรก่อนก็ได้ตามแต่จริตของแต่ละคน สมถะ สงบแล้วค่อยพิจารณา ส่วนวิปัสสนาพิจารณาจนเกิดความสงบ” หลวงพ่อจึงเป็นอาจารย์ใหญ่ผู้สอนวิชาวิปัสสนารูปแรก
        คำแนะนำนี้ผ่านมานานหลายปีแล้ว ลองกระทำตามคำที่หลวงพ่อสอน ปรากฏว่าใช้ได้ผล ไม่ต้องนั่งสมาธินานๆจิตก็สงบได้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็พิจารณาตามความเป็นจริง ก็เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตได้เหมือนกัน สิ่งนี้อาจจะเรียกได้ว่าใช้วิปัสสนานำหน้าสมถะก็ได้
        วัดสันติธรรม เชียงใหม่ สมัยนั้นอยู่ใกล้แหล่งบันเทิง เป็นแหล่งรวมสำหรับคนชอบเที่ยวกลางคืน ช่วงนั้นโรคเอดส์กำลังระบาด มีผู้คนป่วยและล้มตายแทบทุกวัน ป่าช้าข้างวัดเปลวไฟลุกไหม้ทุกวัน หนุ่มสาวที่ทำงานกลางคืนตายเกือบทุกวัน มีงานศพทุกวัน บางคนจำหน้าได้ เพราะเขาใส่บาตรให้ตอนเช้า เราอยู่ได้เพราะอาหารของคนพวกนี้ พวกเขาพึ่งเลิกงานพระก็ออกบิณฑบาต เวลาเดียวกันพอดี พอพวกเขาเสียชีวิตก็มาที่ป่าช้าข้างวัด นิมนต์พระไปทำพิธี ผู้เขียนก็ไปประกอบพิธีศพเกือบทุกวันเหมือนกัน บางวันไปรูปเดียว มีคนมาร่วมงานสองสามคน สัปเหร่อจะเปิดศพให้ดูก่อนเผา บางคนเน่าเปลื่อย แผลพุพอง บางคนผอมแห้งเหลือแต่เนื้อติดกระดูก พวกนี้อายุอยู่ในช่วงประมาณ 15-30 ปี หากไม่ด่วนเสียชีวิตไปก่อนก็ยังมีเวลาอยู่ดูโลกอีกนาน
        ผู้เขียนรับนิมนต์ไปงานเผาแทบทุกวัน ไม่ได้ไปเพื่อทรัพย์สมบัติอะไร เพราะคนพวกนี้แทบจะไม่มีสมบัติอะไรเหลืออยู่แล้ว แต่ไปเพื่อพิจารณา ไปเพื่อทำความเข้าใจกับชีวิต คนพวกนี้จึงเป็น “อาจารย์ใหญ่” ที่สอนวิชาวิปัสสนาให้โดยไม่คิดค่าสอน

        ทุกวันนี้หากจิตใจสับสนวุ่นวายก็มักจะหันมาพิจารณาถึงความเป็นไปของชีวิต คิดถึง “อาจารย์ใหญ่”เหล่านั้น เหมือนได้กลับไปเรียนวิชาวิปัสสนาทุกครั้ง เวลาได้ลาภอย่างหลง เวลาเสื่อมลาภก็อย่าโศก ธรรมดาของโลกเป็นเช่นนี้เอง ควรระวังกาย ประครองใจให้อยู่ในโลกใบนี้ให้ได้
        คำว่า “วิปัสสนา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์ แปลว่าความเห็นแจ้ง การเห็นความจริง ส่วนคำว่า “สมถภาวนา คำนามปุงลิงค์ แปลว่า ความสงบใจ
        ในพระพุทธศาสนาการฝึกอบรมจิตท่าจำแนกไว้สองอย่างคือ (1) สมถภาวนา หมายถึงการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ, การฝึกสมาธิ (2)  วิปัสสนาภาวนา หมายถึงการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง, การเจริญปัญญา ทั้งสองสองอย่างนี้ ในบาลีที่มาท่านเรียกว่า "ภาเวตัพพธรรม" และ "วิชชาภาคิยธรรม" ในคัมภีร์สมัยหลัง บางทีเรียกว่า กรรมฐาน อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งงานเจริญภาวนา, ที่ตั้งแห่งงานทำความเพียรฝึกอบรมจิต, วิธีฝึกอบรมจิต (พจนานุกรมพุทธศาสตร์)
        ในแต่ละวันมีเรื่องมากมายหลายอย่างผ่านเข้ามาในชีวิต จนแทบจะไม่มีเวลามานั่งสมาธิทำใจให้สงบได้ แต่เราสามารถเจริญวิปัสสนาได้ แม้ในขณะทำงาน การเจริญวิปัสสนาโดยทั่วไปสามารถกระทำได้สรุปคือ (1) เจริญวิปัสสนเมื่อพบเหตุการณ์ต่างๆในชีวิต (2)เจริญวิปัสสนาเมื่อจิตสงบแล้วและ (3) เจริญวิปัสสนาพร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก
       อุปกรณ์ในการเจริญวิปัสสนาอยู่กับตัวมนุษย์ทุกคน การพิจารณาใช้องค์ประกอบสี่ประการคือ(1) ใช้ปัญญาเป็นอาวุธ (2)พิจารณาไตรลักษณ์ (3) การปล่อยวาง (4) ไม่ยึดมั่นถือมั่น
        ในพระพุทธศาสนาแสดงอาวุธในการปฏิบัติธรรมไว้สามประการ ดังที่แสดงไว้ในสังคีติสูตร ฑีมนิกายปาฏิวรรค ความว่าอาวุธสามอย่างคือ(1) สุตาวุธ อาวุธคือการฟัง(2) ปวิเวกาวุธ อาวุธคือความสงัด (3) ปัญญาวุธ  อาวุธคือปัญญา (11/228/231)

        ในแต่ละวันเราได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆมากมาย จริงบ้างเท็จบ้าง เรื่องของความสงัดอาจจะหาได้ยากในยุคสมัยนี้ เพราะมีสื่อที่ให้ข่าวสาร บันเทิงมากมาย ตื่นขึ้นมาก็เปิดโทรทัศน์ติดตามข่าวสาร ดูมากๆ ฟังมากแทนจะจะทำให้เกิดความสงบก็มักจะเกิดอาการสับสนวิพากษ์วิจารณ์ไปตามกระแสข่าว เมื่อถึงที่ทำงานก็ยังวิจารณ์เหตุการณ์ต่างๆอีก ความสงบสงัดแทบจะหาไม่ได้ในแต่ละวัน อาวุธคือการฟังจึงไม่ค่อยจะแหลมคม เพราะไปฟังเรื่องที่ไร้สาระมากว่าเรื่องที่มีสาระ
        อาวุธคือความสงัดนั้นดูเหมือนจะหาได้ง่าย เพียงแค่หามุมสงบ ออกจากลุ่มผู้คน หาสถานที่ไม่มีสิ่งใดมารบกวน ก็ได้ความสงัดแล้ว แต่ข้อเท็จไม่ได้ง่ายอย่างนั้น แต่ละคนก็ต้องทำงานที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้คน ยิ่งมากคนยิ่งมากเรื่อง บางวันฟังแต่เรื่องราวของคนอื่น บางครั้งก็เศร้าโศกตามคนอื่นไปด้วย กลับถึงที่พักก็ยังมีโทรทัศน์ที่เสนอเรื่องราวที่ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เป็นเรื่องของคนอื่นที่ทำให้เหมือนกับเป็นเรื่องของเรา ความเงียบสงัดจึงกลายเป้นสิ่งที่หาได้ยาก
        ส่วนปัญญาเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ในพระพุทธศาสนามีสุภาษิตบทหนึ่งที่แสดงว่าปัญญามาจากการเพ่งพิจารณา ดังที่แสดงไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ความว่า  “ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา  ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแลอยู่ในที่ใกล้นิพพาน (25/35/65) ภาษาบาลีใช้คำว่า “นตฺถิ ปญฺญา  อปญฺญสฺส  นตฺถิ ปญฺญา อฌายโต ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญา ส เว นิพฺพานสนฺติเกฯ
        หนังสือพุทธศาสนสุภาษิต แปลความจากคำว่า “นตฺถิ ปญฺญา อฌายโต” ว่า ปัญญาไม่มีแก่ผู้เพ่งพินิจ
        พจนานุกรมบาลีไทย อธิบายคำว่า “ฌาน” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์ แปลว่าการเพ่งจนใจเป็นสมาธิ เพลิง ไฟ
        ส่วนคำว่า “ปัญญา” เป็นคำนามอิตถีลิงค์ แปลว่าความรู้ ความเข้าใจ

        แปลรวมกันง่ายๆว่าความรู้ ความเข้าใจมาจากการเพ่ง ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/228/231) แสดงแหล่งเกิดขึ้นของปัญญาไว้สามประการคือ (1) จินตามยปัญญา   ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด (2) สุตมยปัญญา  ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง (3) ภาวนามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม
        การบำเพ็ญวิปัสสนาในเมื่อประสบกับเหตุการณ์ต่างๆในชีวิต เช่นการสูญเสียญาติพี่น้องผู้เป็นที่รัก การประสบอุบัติเหตุ การที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชองชอบใจทั้งหลายทั้งปวง เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีให้เห็นแทบทุกวัน จนกลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่ค่อยจะได้พิจารณา ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดกับเรา หรือเกิดขึ้นกับตัวเราเอง บางครั้งหากไม่ใช้ปัญญาพิจารณาก็จะเศร้าโศกมากจนเกินความจำเป็น หากใช้ปัญญาพิจารณาตามหลักของไตรลักษณ์คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งเป็นสิ่งสามัญทั่วไปของสิ่งทั้งหลาย อย่างน้อยความโศกก็จะเบาบางลง ชีวิตยังคงดำเนินต่อไป
        ในพระไตรปิฎกแสดงสามัญญลักษณะไว้สามประการ ดังที่แสดงไว้ในอัชฌัตติกอนิจจสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (18/1/1)  ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ  หู ลิ้น กาย ใจ เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในหู ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจมูก ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในลิ้นย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

        ความจริงของสิ่งทั้งย่อมเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์คือ “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา” นำมาพิจารณาตามเหตุการณ์ที่ได้พบเห็น ย่อมทำให้เกิดปัญญาเครื่องพิจารณาตน จากนั้นก็จะนำไปสู่การปล่อยวาง และการไม่ยึดมั่นถือมั่นในที่สุด
        การบำเพ็ญวิปัสสนาโดยการพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและเหตุกาณ์ต่างๆที่มาประสบกับตัวเรา อย่างน้อยก็เป๋นจุดเริ่มต้นแห่งการทำความเข้าใจ เข้าใจชีวิตเป็นเบื้องต้น เมื่อจะต้องมีเหตุการณ์การสูญเสีย การพลัดพราก ก็จะได้พิจารณาตามความเป้นจริงว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ย่อมจะต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา
        วิปัสสนาเบื้องต้นเป็นไปในทำนองนี้ สำหรับผู้ที่ยังจะต้องทำหน้าที่ในการทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไป ก็เพียงแต่ทำความเข้าใจความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ส่วนจะปล่อยวางหรือไม่ยึดมั่นถือมั่นมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
          คนที่ยังไม่ตายทุกคนมีลมหายใจ การพิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นวิธีบำเพ็ญวิปัสสนาอย่างหนึ่ง เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์การสอนใดๆ เพียงแต่มีลมหายใจก็นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเจริญวิปัสสนาแล้ว
        อาจารย์ใหญ่คือหลวงพ่ออดีตเจ้าอาวาสวัดสันติธรรมจากไปนานแล้ว อาจารย์ใหญ่คือพวกหนุ่มสาวชาวชุมชนสันติธรรมเหล่านั้นก็จากไปนานแล้วเหมือนกัน แต่วิชาที่พวกท่านแนะนำและสั่งสอนยังอยู่ในจิตใจของผู้เขียนตลอดมาและจะยังคงอยู่ตลอดไป


 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
25/07/60

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก