ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

      

         แม้ว่าฝนจะมีประโยชน์ที่ทำให้มีน้ำและนำมาซึ่งความฉ่ำเย็น แต่ในอีกมุมหนึ่งฝนก็ก่อให้เกิดความเสียแก่สภาพธรรมชาติเหมือนกันบางแห่งน้ำหลากนอง บางแห่งน้ำท่วม บางแห่งเกิดอุทกภัย การสัญจรไปมาลำบาก ในโลกแห่งความเป็นจริง มีไม่มีอะไรที่ดีโดยส่วนเดียว หรือร้ายโดยส่วนเดียว ย่อมมีทั้งดีและร้ายผสมผสานกันไป  เหมือนดั่งชีวิตปุถุชนคนธรรมดาก็ย่อมมีทั้งได้ทั้งเสียผสมปนเปกันไป บางอย่างได้ บางอย่างเสีย เรียกว่าได้อย่างเสียอย่าง ธรรมดาเป็นไปดั่งนี้

          หากจะข้ามแม่น้ำตามธรรมดาทั่วไป มีหลายทางให้เลือก หากน้ำตื้นก็เดินข้ามไปได้ หากน้ำไม่ลึกหรือไม่กว้างมากอาจจะว่ายน้ำข้ามไปได้ แต่หากน้ำทั้งลึกทั้งกว้างก็ต้องนั่งเรือข้ามไป จะเป็นเรือเล็กหรือหรือใหญ่ก็แล้วแต่สถานการณ์ เช่นแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มักจะมีเรือข้ามฟากนำพาผู้โดยสารข้ามไป หากเป็นทะเลก็ต้องเป็นเรือใหญ่ ถ้าเป็นสถานการณ์ที่มีลมฝนก็ต้องคอยระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นเรืออาจจะล่มก่อนที่จะถึงฝั่ง

          ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าแสดงการข้ามโอฆะแก่อาฬวกยักษ์ ดังที่ปรากฎในอาฬวกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/843/315)  สรุปความว่า ครั้งหนึ่งอาฬวกยักษ์ทูลถามว่า “คนข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอ  ข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา  ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร  บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”

          แปลมาจากภาษาบาลีว่า   “สทฺธาย ตรติ โอฆํ         อปฺปมาเทน  อณฺณวํ                 
                                          วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ        ปญฺญฺาย  ปริสุชฺฌตีติ” 
         
          คำว่า “โอฆะ” คำนามปุงลิงค์(เพศชาย) แปลว่า ห้วงน้ำ ฝูง กิเลสที่ท่วมทับหมู่สัตว์ ในพระสูตรนี้มีความหมายบ่งถึง “สภาวะอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ กิเลสดุจน้ำท่วมพาผู้ตกไปให้พินาศ”
            ในพระสูตรนี้ คำว่า “โอฆะ” หมายถึงกิเลสอันเป็นเหมือนห้วงน้ำใหญ่  ต้องอาศัยศรัทธาจึงจะข้ามไปได้
         ศรัทธาเป็นคำนามอิตถีลิงค์(เพศหญิง)แปลว่า ความเชื่อ ความเชื่อมีนัยบ่งถึงทั้งเป็นพืช ทั้งเป็นพละ ทั้งเป็นอินทรีย์ ทั้งเป็นทรัพย์ เป็นต้น  
          ศรัทธาคือพืชต้องปลูก ต้องดูแล ต้องรักษาเหมือนการปลูกพืชก็ต้องคอยให้น้ำใส่ปุ๋ย ป้องกันแมลง พืชนั้นจึงจะเจริญงอกงามให้ดอกออกผลตามที่ต้องการ

          พืชในอรรถกถากสิสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรคเล่ม 1 ภาค 3  หน้าที่ 257  แสดงคำว่า “พีชํ” ไว้ห้าประเภท ได้แก่  พืช  5 อย่าง  คือ  พืชเกิดแต่ราก  พืชเกิดแต่ลำต้น     พืชเกิดแต่ข้อ    พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ 5 ทั้งหมดนั้นนับว่าพืชเกิดแต่เมล็ดทั้งนั้น เพราะงอกได้
          คำว่าศรัทธาเป็นพืช มีคำอธิบายต่อไปว่า “ พืชเป็นมูลกสิกรรมของพราหมณ์   แยกออกเป็นสอง  คือข้างล่างออกราก  ข้างบนออกหน่อฉันใด  ศรัทธาเป็นมูลกสิกรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ข้างล่างมีศีลเป็นราก  ข้างบนมีสมถะและวิปัสสนาเป็นหน่อฉันนั้น   เหมือนอย่างว่า  พืชนั้นรับรสปฐวีธาตุ  อาโปธาตุด้วยราก  ย่อมเติบโตขึ้นเพื่อรับความแก่สุกแห่งธัญญชาติด้วยก้าน   ฉันใด   ศรัทธานี้รับรสคือสมถะและวิปัสสนาด้วยรากคือศีล  เติบโตขึ้นเพื่อรับความแก่กล้าแห่งธัญญชาติคืออริยผล ด้วยก้านคืออริยมรรค ฉันนั้น    อนึ่งพืชนั้นตั้งอยู่ในพื้นด้นที่ดีเจริญงอกงามไพบูลย์ด้วยราก  หน่อ  ใบ  ก้านเง่าและใบอ่อน   ให้เกิดน้ำนมให้สำเร็จเป็นรวงข้าวสาลี   เต็มไปด้วยเมล็ดข้าวสาลีเป็นอันมาก  ฉันใด  ศรัทธานี้ ก็ฉันนั้น  ตั้งมั่นอยู่ในจิตสันดาน  เจริญงอกงามไพบูลด้วยวิสุทธิ   ให้เกิดน้ำนมคือญาณทัสสนวิสุทธิ     ให้สำเร็จเป็นพระอรหัตผล     อันเพียบไปด้วยปฏิสัมภิทาญาณเป็นอเนก ด้วยเหตุนั้น  จึงตรัสว่า  สทฺธา  พีชํ  ศรัทธาเป็นพืช ดังนี้  
พืชโดยทั่วไปข้างล่างออกราก ข้างบนออกหน่อ หากรากมั่นคงก็ทรงตัวต้านลมฝนอยู่ได้ ย่อมแตกหน่อออกดอกเกิดผลตามเผ่าพันธุ์ของพืชนั้น หากรากไม่แข็งแรงพอมีลมแรงก็อาจจะหักโค่นได้โดยง่าย     

          ศรัทธามีศีลเป็นราก มีสมถะและวิปัสสนาเป็นหน่อ    หากรากฐานคือศีลบริบูรณ์ย่อมทำให้เกิดความมั่นคง แม้จะถูกลมแห่งโลกธรรมกระหน่ำก็ไม่หวั่นไหว ย่อมแตกหน่อก่อใบคือสมถะและวิปัสสนา เกิดผลสัมฤทธิ์คืออริยมรรค
          ศรัทธาหากปลูกและประคองรักษาให้หนักแน่น ย่อมจะทำให้ข้ามโอฆะได้
         ในสังคีติสูตร สังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/258/242) แสดงโอฆะไว้สี่ประการคือ (1) กาโมฆะ โอฆะคือกาม   (2) ภโวฆะ    โอฆะคือภพ (3) ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฐิ (4)  อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา

          โอฆะเป็นธรรมที่ควรละ ดังที่แสดงไว้ในทสูตตรสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/403/293) 8วามว่า “ธรรม 4 อย่างที่ควรละเป็นไฉน คือโอฆะ 4 ได้แก่โอฆะคือกาม  โอฆะคือภพ  โอฆะคือทิฐิ  โอฆะคืออวิชชา  ธรรม 4 อย่างเหล่านี้ควรละ ฯ
          กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา เป็นเหมือนห้วงน้ำใหญ่ที่คอยกลืนกินสรรพสัตว์ที่ลุ่มหลงในโอชะอันเกิดแต่กิเลสทั้งสี่ประการ
          กาม หมายถึง ความใคร่ ตัณหา เป็นที่สิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ 
          ภพ  แปลว่า ความเป็น ความเจริญ ความเกิด ภพ
          ทิฏฐิ ความเห็น มีสองประการคือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกเป็นธรรมสำคัญข้อหนึ่งในอริยมรรคมีองค์แปด และมิจฉาทิฏฐิ เป็นกิเลสสำคัญในอกุศลกรรมบทสิบประการ เกิดง่ายแต่ถอนยาก 
          อวิชชา ความไม่รู้ ความเขลา เป็นกิเลสที่ละได้ยากที่สุด

          ในอรรถกถาอาฬวกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 2 หน้าที่ 443    ได้อธิบายบทว่า “สทฺธาย  ตรติ โอฆํ” คนจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธาไว้ว่า “ผู้ใดข้ามโอฆะ 4 อย่างได้  ผู้นั้นย่อมข้ามห้วงสงสารก็ได้   ล่วงพ้นวัฏทุกข์ก็ได้   ย่อมหมดจดจากมลทินคือกิเลสก็ได้ ก็จริง  แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ไม่มีศรัทธาเมื่อไม่เชื่อก็แล่นไปสู่ที่ข้ามโอฆะไม่ได้ ผู้ประมาทแล้วด้วยการปล่อยใจไปในกามคุณ 5 ก็ข้ามห้วงสงสารไม่ได้   เพราะติดอยู่ในกามคุณนั้น   ผู้เกียจคร้านคลุกเคล้าด้วยอกุศลธรรม   ย่อมอยู่เป็นทุกข์ผู้ไม่มีปัญญา  ไม่รู้ทางบริสุทธิ์   ย่อมไม่บริสุทธิ์    เพราะฉะนั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงแสดงข้อความที่เป็นปฏิปักษ์นั้นจึงตรัสคาถานี้  
          เมื่อตรัสคาถานี้อย่างนี้แล้ว  เพราะสัทธินทรีย์เป็นปทัฏฐานแห่งโสดาปัตติยังคะ  ฉะนั้นจึงทรงประกาศโสดาปัตติมรรคอันเป็นเครื่องข้ามโอฆะคือทิฏฐิ  และโสดาบัน

          คำว่า  “สทฺธาย  ตรติ   โอฆํ”  (คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา)  ก็เพราะ พระโสดาบันประกอบด้วยความไม่ประมาท  กล่าวคือการกระทำที่ติดต่อกันด้วยการเจริญกุศลธรรม บำเพ็ญมรรคที่ 2 เว้นมรรคที่จะมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว ย่อมข้ามห้วงสงสารอันเป็นที่ตั้งแห่งภโวฆะที่เหลือยังข้ามไม่ได้ด้วยโสดาปัตติมรรค ฉะนั้นจึงทรงประกาศสกทาคามิมรรคอันเป็นเครื่องข้ามภโวฆะและพระสกทาคามี  ด้วยบทนี้ว่า  “อปฺปมาเทน  อณฺณวํ” บุคคลย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท     
          เพราะพระสกทาคามีบำเพ็ญมรรคที่ 3 ด้วยความเพียร ย่อมล่วงกามทุกข์อันเป็นที่ตั้งแห่งกาโมฆะและกำหนดว่าเป็นกาโมฆะที่ไม่ล่วงแล้ว  ด้วยสกทาคามิมรรค ฉะนั้นจึงทรงประกาศอนาคามิมรรคอันเป็นเครื่องข้ามกาโมฆะและพระอนาคามีด้วยบทนี้ว่า  "วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ"   (บุคคลย่อมล่วงความทุกข์ได้ด้วยความเพียงดังนี้)   แต่เพราะพระอนาคามีบำเพ็ญปัญญาแห่งมรรคที่  4  อันบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์ปราศจากเปือกตมคือกาม ละมลทินอย่างยิ่ง  กล่าวคืออวิชชาที่ยังละไม่ได้ด้วยอนาคามิมรรคฉะนั้น จึงทรงประกาศอรหัตมรรค   และความเป็นพระอรหันต์อันเป็นเครื่องข้ามอวิชชา  ด้วยบทนี้ว่า  "ปญฺญาาย  ปริสุชฺฌติ" (บุคคลย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา) 
           ในที่สุดแห่งคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยธรรมมีพระอรหัตเป็นยอดนี้   ยักษ์ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล  

         การข้ามแม่น้ำธรรมดาทั่วไป หากมีอุปกรณ์เครื่องมือในการข้ามที่เหมาะสม ก็สามารถก้าวข้ามไปได้โดยปลอดภัย แต่หากขาดเครื่องมือหรือไร้กำลังก็ยากที่จะก้าวผ่านไปได้ น่านน้ำธรรมดาก็ข้ามพ้นได้ยากอยู่แล้ว แต่ห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา หากไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม ไม่มีพลังที่เพียงพอก็ยากที่จะผ่านพ้นไปได้ คนส่วนมากจึงยังคงเวียนวนอยู่ในโอฆะเหล่านี้ บางคนต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกหลายร้อยหลายพันชาติ ไม่มีโอกาสจะก้าวพ้นโอฆะไปได้เลย แต่สำหรับผู้มีปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นในแนวทางของการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว ไม่นานก็ต้องก้าวผ่านไปถึงฝั่งจนได้

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
08/06/59

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก