เริ่มเข้าสู่ต้นฤดูฝนมานานพอสมควรแล้ว แต่ฟ้าก็ยังรอฝนมานานเหมือนกัน เพราะฝนไม่ค่อยจะตกต้องตามฤดูกาล หรือหากตกก็มักจะตกในกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ค่อยอยากจะพบฝนเท่าใดนัก วันนี้ฝนตกหนักถึงหนักมาก มาพร้อมกับลมกรรโชกแรง เผลอเดินออกนอกห้องแว็บเดียวกลับเข้ามาน้ำนองพื้น ฝนสาดชัดกระหน่ำอย่างแรง ต้นไม้หักโค่นไปหลายต้น ฝนฟ้าปีนี้น่ากลัวจริงๆ แม้ว่าฝนจะมีคุณประโยชน์ต่ออาชีพเกษตรกร แต่ทว่าผู้ที่มีอาชีพอื่นก็พลอยได้รับผลคือความฉ่ำเย็นไปด้วย ฝนคือความหวังอันยิ่งใหญ่ของชาวนาชาวไร่ ฝนมาหน้าใส ฝนไปหน้าเหี่ยว
ฝนตกอารมณ์ของคนแต่ละอาชีพคงไม่เหมือนกัน ผู้ที่ทำงานบนท้องถนนคงไม่อยากให้ฝนตก เพราะฝนตกทีไรปัญหาที่ตามมาคือรถติด จะไปไหนมาไหนต้องใช้เวลานานกว่าปกติ
แต่สำหรับผู้ที่มีอาชีพชาวไร่ชาวนา คงแสดงอาการดีใจที่ฝนตกลงมาซะที พืชพรรณธัญญาหารจะได้ชูดอกออกผล ให้ผลผลิตตามที่ต้องการ ข้าวรอฝน คนก็รอเวลา เป็นช่วงแห่งวันเวลาที่งดงาม
สมัยเด็กผู้เขียนเป็นลูกชาวนาขนานแท้และดั้งเดิม ที่ต้องพึ่งน้ำฝนจากฟ้า จึงจะได้ทำนาตามฤดูกาล ไม่ได้พึ่งพาอาศัยน้ำจากเขื่อนหรือคลองชลประทาน มีเพียงน้ำจากฟ้าเท่านั้น แต่ในอดีตฝนมักจะมาค่อนข้างจะตรงตามฤดูกาล หลังสงกรานต์ผ่านไปไม่นาน ฝนก็จะตกลงมาแทบทุกปี ปลายเดือนเมษายนจึงเป็นเวลาแห่งการเตรียมพร้อม เตรียมแอก เตรียมไถ เตรียมพันธุ์ข้าว เพื่อจะได้ไถคราดและหว่านข้าวในนาต่อไป
ตามปกติพอขึ้นเดือนพฤษภาคม ฝนก็มักจะตกลงมา สมัยก่อนฝนยังตกต้องตามฤดูกาล แต่หลายปีมานี้ ไม่รู้ว่าฟ้าเปลี่ยนไปหรือว่าใครเปลี่ยนแปลง ฝนฟ้าจึงเอาแน่นอนอะไรไม่ค่อยได้ นึกอยากจะตกตอนไหนก็ตก บางปีฝนไม่ตกจนเกิดภาวะแห้งแล้งไปทั่วอาณาบริเวณ ชาวนาบางคนถึงกับต้องขายไร่ขายนาเปลี่ยนอาชีพไปเลยก็มี
ไม่ได้ทำนามานานกว่าสามสิบปีแล้ว ไร่นาก็ขายหมดแล้ว พ่อที่เป็นครูคนแรกในการสอนวิชาทำนาก็ไม่อยู่แล้ว แม่ก็แก่ชราเต็มที มีหน้าที่เลี้ยงหลานเฝ้าบ้าน เข้าวัดปฏิบัติธรรมไปตามอายุขัย
ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็เคยบอกว่า พระองค์ก็เป็นชาวนา แต่เป็นการทำนาทางธรรม ดังที่มีแสดงไว้ในกสิสูตรสังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/674/209) ความว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ พราหมณคามชื่อว่าเอกนาลา ในทักขิณาคีรีชนบท แคว้นมคธ ก็ในสมัยนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์เทียมไถมีจำนวน 500 ในกาลฤดูหว่านข้าว ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังที่ทำการงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ในเวลาเช้า
ในสมัยนั้นกสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเลี้ยงอาหาร มื้อเช้า พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังที่เลี้ยงอาหารของเขา ครั้นแล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กสิภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับยืนบิณฑบาตอยู่ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระสมณะ ข้าพเจ้าไถและหว่านครั้นไถและหว่านแล้ว ย่อมบริโภค ข้าแต่พระสมณะ แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จงบริโภคเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วก็บริโภค
กสิภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ก็ข้าพเจ้าไม่เห็นแอก ไถ ผาล ประตัก หรือโคทั้งหลายของท่านพระโคดมเลย เมื่อเช่นนี้ท่านพระโคดมยังกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วก็บริโภค
กสิภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่าพระองค์ปฏิญาณว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นการไถของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นชาวนา ข้าพเจ้าถามแล้วขอจงตรัสบอก ไฉน ข้าพระองค์จะรู้การทำนาของพระองค์นั้นได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริ
เป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและประตัก เรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้า (คือวาจาสับปรับ) ด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราเป็น
เครื่องให้แล้วเสร็จงาน ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวังนำไปถึงความเกษมจากโยคะ ไปไม่ถอยหลัง ยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก” เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำนั้นย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
กสิภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เป็นชาวนา ขอจงบริโภคอมฤตผลที่ท่านพระโคดมไถนั้นเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราไม่พึงบริโภคโภชนะ ซึ่งได้เพราะความขับกล่อม ดูกรพราหมณ์ นี่เป็นธรรมของบุคคล ผู้เห็นอรรถและธรรมอยู่ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมรังเกียจโภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูกรพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ ความเป็นไป (อาชีวะ) นี้ก็ยังมีอยู่ แต่ท่านจงบำรุง ซึ่งพระขีณาสพทั้งสิ้น ผู้แสวงหาคุณใหญ่ มีความคะนองระงับแล้วด้วยข้าวน้ำอันอื่น ด้วยว่าการบำรุงนั้นเป็นนาบุญของผู้มุ่งบุญ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว กสิภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นได้ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ในอรรถกถากสิสูตร ได้อธิบาย “สทฺธา พีชํ” (ศรัทธาเป็นพืช)ไว้ตอนหนึ่งว่า “ ศรัทธาทำหน้าที่เหมือนพืช เหมือนอย่างว่าบรรดากุศลธรรมเหล่านั้น วิญญาณนั่นแลทำหน้าที่รู้ฉันใด ศรัทธาก็ทำหน้าที่เหมือนพืช (ต้นเหตุ) ฉันนั้น ก็ศรัทธานั้นเป็นมูลเหตุแห่งกุศลธรรมทั้งปวง เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ ในอรรถกถากสิภารทวาชสูตร ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม 1 ภาค 5 หน้าที่ 246 ความว่า “ศรัทธานั้น เป็นรากเหง้าแห่งกุศลทั้งปวง เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า คน เกิดศรัทธาย่อมเข้าไปหา เมื่อเข้าไปหาย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยหูเงี่ยหูแล้ว ย่อมฟังธรรม ครั้นฟังแล้ว ย่อมทรงธรรม ย่อมใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมทั้งหลายที่ทรงแล้ว เมื่อใคร่ครวญอรรถ ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อการเพ่ง เมื่อมีการทนต่อการเพ่งธรรม ฉันทะย่อมเกิด ผู้เกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้วย่อมตั้งมั่นเป็นผู้มีตนตั้งมั่นแล้ว ย่อมทำให้แจ้ง ซึ่งปรมัตถสัจจะด้วยกาย และย่อมเห็นแทงตลอด ซึ่งปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา”
คำว่า "ตโป" เพราะเผาอกุศลธรรมและกาย คำว่า ตโป นี้เป็นชื่อของอินทริยสังวร ความเพียร ธุดงค์และทุกกรกิริยา แต่ในที่นี้ประสงค์เอาอินทริยสังวร
บทว่า "วุฏฺฐิ" ได้แก่ ฝนหลายอย่าง เป็นต้นว่า น้ำฝน ลมเจือฝน ในที่นี้ประสงค์เอาน้ำฝน เหมือนอย่างว่า ข้าวกล้าของพราหมณ์มีพืชเป็นมูล มีน้ำฝนช่วยอย่างดี ย่อมงอกไม่เหี่ยวแห้ง ย่อมผลิตผล ฉันใดธรรมทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ฉันนั้น มีศรัทธาเป็นมูลมีอินทริยสังวรช่วยอนุเคราะห์ ย่อมงอกงามไม่เหี่ยวแห้ง ย่อมผลิตผล เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ตโป วุฏฺฐิ" (ความเพียรเป็นฝน)
ชาวนาไถนา เพื่อปลูกข้าว อาศัยน้ำฝนเพื่อหล่อเลี้ยงข้าวกล้าให้งอกงาม ส่วนการทำนาทางธรรมต้องปลูกพืชคือศรัทธา ซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยความเพียรเปรียบเหมือนฝนนั่นแล
ศรัทธาท่านจำแนกแสดงไว้ในพลสูตร สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย (23/4/3) ศรัทธาเป็นพละ(กำลัง)อย่างหนึ่งในพละเจ็ดประการคือ ศรัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ
ส่วนในธนสูตร สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย (23/6/5) ศรัทธาเป็นทรัพย์อย่างหนึ่งใรบรรดาทรัพย์เจ็ดประการคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ และได้อธิบาย “ศรัทธา” ไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา”
ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ได้จำแนก “ศรัทธา” เป็น 4 ประเภท ดังนี้ “ศรัทธา 4 ความเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล
1. กัมมสัทธา คือเชื่อกรรม, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่าและเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น
2. วิปากสัทธา คือเชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
3. กัมมัสสกตาสัทธา คือเชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน
4. ตถาคตโพธิสัทธา คือเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง
มีคำอธิบายต่อท้ายว่า “ศรัทธา 4 อย่างนี้ มีมาในบาลีเฉพาะข้อที่ 4 อย่างเดียว (เช่น องฺ.สตฺตก. 23/4/3) ว่าโดยใจความ ศรัทธา 3 ข้อต้น ย่อมรวมลงในข้อที่ 4 ได้ทั้งหมด
อนึ่ง ในข้อ 3 มีข้อธรรมที่มาในบาลีคล้ายกัน คือ กัมมัสสกตาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เช่น อภิ.วิ. 35/822/443”
ศรัทธา ความเชื่อจึงเป็นได้หลายอย่าง เป็นทั้งพืช เป็นทั้งพละ เป็นทั้งทรัพย์ เป็นต้น ในกสิสูตรพระพุทธเจ้าแสดงศรัทธาเป็นพืช จึงต้องปลูกศรัทธา เหมือนหว่านข้าวในนา หากข้าวพันธุ์ไม่ดี แม้ที่นาจะดีผลผลิตก็ได้น้อย แต้หากองค์ประกอบทุกอย่างมีความสมบูรณ์ ข้าวพันธ์ดี ฝนดี ปุ๋ยดี ดูแลดีคอยเต็มน้ำ กำจัดวัชพืช เป็นต้น ย่อมคาดหวังผลในอนาคตได้ การปฏิบัติธรรมก็มีส่วนเทียบเคียงกับการทำนา ปลูกศรัทธาความเชื่อ มีความเพียรคอยหล่อเลี้ยง มีปัญญาคอยกำกับ คุ้มครองกาย วาจา สำรวมระวังในการีบริโภค ใจย่อมหนักแน่นมั่นคง มีสติรักษาตนได้ ย่อมคาดหวังผลในอนาคตได้
หน้าฝนชาวนาเตรียมอุปกรณ์พร้อมในการทำนา เตรียมข้าวกล้าไว้ปลูก ฝนมาชาวนาหน้าตาผ่องใส ส่วนนักปฏิบัติธรรมก็ต้องเตรียมการในการปลูกพืชคือศรัทธาให้พร้อมในการปฏิบัติเหมือนกัน ชาวนาเตรียมข้าวกล้าไว้ทำนา ส่วนชาวธรรมะเตรียมศรัทธาไว้ปฏิบัติธรรม
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/06/59