ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

       

         จำไม่ได้ว่านานแค่ไหนแล้ว ที่ไม่ได้ไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ แม้ว่าจะมีสถานที่ทำงานอยู่ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ไม่ไกลนัก เดินทางเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถไปถึงได้แล้ว แต่ทว่ากลับไม่ค่อยมีเวลาไปกราบนมัสการเลย ครั้งสุดท้ายน่าจะเป็นววันนมัสการพระปฐมเจดีย์ที่ทางคณะสงฆ์จัดขึ้น ตอนนั้นเจดีย์พึ่งได้รับการบูรณะไม่นาน แต่ยังอยู่ในช่วงของการจัดงานประจำปี ผู้คนยังพลุกพล่าน มีร้านค้าจำนวนมาก ทำวัตรสวดมนต์กลางเปลวแดดร้อน เสร็จงานก็รีบกลับ

          ปลายเดือนเมษายนมีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาที่นครปฐม งานสัมมนาจัดขึ้นสี่วัน แต่จัดเป็นสองงานคือการเขียนแผนกลยุทธระดับหลักสูตร และการเขียน มคอ.5  และ มคอ.7 ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ สถานที่แห่งเดียวกัน กลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนามีบ้างที่มีชื่อซ้ำซ้อนกันบ้าง คนเดียวมาสองงาน
 

              สถานที่จัดงานอยู่ใกล้ๆองค์พระปฐมเจดีย์ เดินออกจากห้องประชุมก็มองเห็นองค์เจดีย์ได้ชัดเจน พอเลิกจากการสัมมนามีเวลาช่วงเย็นแสงแดดยามเย็นกำลังส่องกระทบสีทองแห่งเจดีย์สว่างไสวเหมือนหนึ่งเจดีย์ทองกำลังลอยเด่นอยู่บนฟากฟ้า เป็นทัศนียภาพที่งดงามอย่างยิ่ง
           องค์พระปฐมเจดีย์ได้ชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หากนับความเก่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเก่าเป็นอันดับที่สามรองจากเจดีย์ชเวดากอง เมียนมาร์ เจดีย์วัดพู ลาว พระปฐมเจดีย์ ประเทศไทย และเจดีย์บรมพุทโธ อินโดนีเซีย สี่ประเทศสี่เจดีย์ ส่วนความสำคัญนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเก่าแก่แต่ประการใด ชเวดากอง และบรมพุทโธ ดูจะได้รับความสนใจจากชาวโลกมากกว่า ส่วนเจดีย์วัดพูนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความสนใจเป็นพิเศษจึงจะได้ไปสัมผัส

 

          คำว่าพระปฐมเจดีย์ มาจากการสันนิษฐานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าน่าจะเป็นเจดีย์ที่เก่ากว่าเจดีย์อื่นๆในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างสมัยทวารวดี

             คำว่า “ปฐม” ในภาษาบาลีแปลว่า “ที่หนึ่ง” หรือ “อันดับแรก” หากจะถือตามนาม “ปฐมเจดีย์” ก็ต้องสันนิษฐานว่า “เจดีย์องค์แรก” แต่จากประวัติเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชได้ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ได้ทรงแสดงสภาพพระปฐมเจดีย์ไว้ว่า “เป็นเพระเจดีย์ใหญ่ยอดปรางค์ตอนหนึ่ง ฐานล่างกลมเป็นรูประฆังตอนหนึ่ง น่าจะทำมาหลายคราว คนทั่วไปเรียกว่า “พระปทม” เพราะเชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาบรรทมที่นี่
           จากหลักฐานนี้จึงต้องแปลความใหม่ จาก “ปฐม” เป็น “ปทม” ความหมายก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย “ปฐม” แปลว่า “ที่หนึ่ง” ส่วน “ปทม” มาจาก “บรรทม” แปลว่า “นอน” จากความเชื่อที่ว่า “พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาบรรทมที่นี่” แต่มาตอนไหน เวลาใด ไม่ปรากฏหลักฐาน ภายหลัง คำว่า “ปทม” ก็มีคนเข้าใจว่า “ปฐม” แทนที่จะเรียกว่า “พระปทมเจดีย” ก็กลายเป็น “พระปฐมเจดีย์”

 

              มีหลักฐานจากเอกสารเก่าที่บันทึกไว้ กล่าวถึงประวัติพระปฐมเจดีย์ว่า “สร้างเมื่อ พ.ศ. 500 ก็มี พ.ศ. 1000 ก็มี พ.ศ. 1185 ก็มี พ.ศ. 1264 ก็มี พ.ศ. 1630 ก็มี ความสูง 40 วา 5 ศอก มีพระแท่นบรรทม ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทม บรรจุพระทันตธาตุคือพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง บรรจุพระบรมธาตุหนึ่งทะนาน มีปรากฎก่อนพบพระพุทธบาท พระพุทธฉายกว่าพันปี” การสันนิษฐานถึงการก่อสร้าง ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ บางคนถึงกลับนำเสนอว่า สร้างเจดีย์ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการที่พระโสณะ พระอุตตระ นำพระพุทธศาสนาเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิครั้งแรก
             สุวรรณภูมิหากไปถามเมียนมาร์ ก็อาจจะจะได้รับการยืนยันว่า “สุวรรณภูมิคือเมืองสะเทิม อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาร์”
             ประวัติและความเป็นมาตลอดจนนามเรียกขาน เสนอไว้เพียงให้เป็นที่สังเกตเท่านั้น ส่วนรายละเอียดต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป ชื่อพระปฐมเจดีย์ เป็นนามเรียกขานที่ผู้คนเข้าใจร่วมกันแล้ว ครั้นจะให้กลับไปเรียก “พระปทมเจดีย์” ก็ดูกระไรอยู่ ชื่อบ้านนามเมืองอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา
              พระปฐมเจดีย์ในปัจจุบันยังคงมีเสน่ห์ที่ผู้คนต่างก็มาสักการะอยู่มิได้ขาด ส่วนปริมาณจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเทศกาล ที่ด้านหน้าพระรุ่งโรจนฤทธิ์ มีไข่สีแดงใส่ถาดวางเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียนถามพระผู้ดูสถานที่และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนว่า “ไข่สีแดงเหล่านี้หมายถึงอะไร”

 

             พระภิกษุรูปนั้นตอบว่า “เครื่องแก้บนครับ หากใครที่มาแก้บนแล้วได้ตามวัตถุประสงค์ ก็จะนำไข่มาถวายพระร่วงฯ บนได้ทุกเรื่องครับ เช่นชื้อขายที่ดิน สอบเข้าทำงาน หายป่วย เป็นต้น มักจะได้ตามที่บนบานศาลกล่าวไว้ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่หากใครมาบนไว้ ผลที่ได้จะออกมาในทางตรงกันข้าม นั่นคือเรื่องทหารครับ เช่นบนว่า “ขออย่าให้ได้เป็นทหาร มักจะจับได้ใบแดงกันทุกคน กลายเป็นทหารเกณฑ์ไปหมด เชื่อกันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว มาพำนักอยู่ที่องค์พระร่วงฯ” ที่ฐานพระร่วงเป็นที่บรรจุพระอังคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระอังคารของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี”
             สายัณหสมัยมาเยือน ขอบฟ้าเบื้องปัจฉิมทิศมีแสงเรื่อเรืองสะท้อนองค์เจดีย์ เหมือนหนึ่งเจดีย์ฉาบทาด้วยทองคำ ที่ลอยเด่นอยู่เหนือฟากฟ้า เมื่อเดินเวียนปทักษิณและกราบนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์แล้ว ก็กลับมายังทางขึ้นเดิม ที่ด้านหน้าองค์พระร่งโรจนฤทธิ์ ว่างเปล่าปราศจากผู้คน จึงเข้าไปกราบลาและตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากองค์พระ ไม่ได้ขอในสิ่งที่เกินความเป็นจริงแต่ประการ ขอหลวงพ่อไว้เพียงสามประการเท่านั้น ใครจะทำตามก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่ประการ “ขอให้อยู่ดี มีเงินใช้ ร่างกายแข็งแรง” ในชีวิตนี้ขอเท่านั้นจริงๆ
 

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
29/04/59

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก