หลังวันวาเลนไทน์หนึ่งวัน เปลวไฟในวันแห่งความรักยังไม่จางหาย ก็มีภาพพระสงฆ์จำนวนนับหมื่นรูปชุมนุมที่พุทธมณฑลปรากฏทางสื่อ ในภาพยังมีพระสงฆ์บางรูปกำลังเข้าล็อคคอทหารที่กำลังห้ามปรามไม่ให้พระเดินไปยังเส้นทางนั้น กลายเป็นเรื่องที่สังคมกำลังตั้งคำถามว่าพระสงฆ์กลุ่มนี้กำลังทำอะไรกัน กระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุไปหรือไม่ ทำไมพระสงฆ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของความสงบกลับแสดงออกถึงซึ่งการใช้ความรุนแรงแทน ในขณะที่ทหารซึ่งเป็นนักรบกลับดูเสมือนประหนึ่งว่าอยู่ในความสงบ
ต้องขอสารภาพว่างานนี้ตกข่าว เพราะไม่ได้ติดตามข่าวสารมาก่อน และอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้รับเชิญ ให้เข้าร่วมชุมนุมสกัดแผนล้มคณะสงฆ์ไทย โดยกลุ่มพระภิกษุนัยว่ามาจากทั่วประเทศจำนวนหลายหมื่นรูป ภาพที่ปรากฏออกมาทำให้มองได้หลายมุม
หากเป็นกลุ่มที่กำลังเรียกร้องก็ต้องบอกว่าได้ใจของบรรดากองเชียร์ทั้งหลาย ที่พระสงฆ์ไม่ยอมนิ่งต่ออำนาจของทางบ้านเมือง แม้จะมีกฎหมายห้ามการชุมนุม แต่ก็ยังออกมาชุมนุมกันจนได้ ใครจะทำไม ประมาณนั้น ทหารคงไม่กล้าใช้อาวุธเข้าปราบปรามหรือจับกุมพระภิกษุที่มาชุมนุมโดยสงบ แต่หากเปลี่ยนเป็นชาวบ้ามาชุมนุมก็ไม่แน่อาจจะโดนการจัดการจากทางรัฐบาลอย่างหนัก

ส่วนกลุ่มที่ไม่ต้องการเห็นความวุ่นวายก็คงมองว่า พระภิกษุเหล่านี้ทำเกินกว่าเหตุ อยากได้อะไรก็ใช้กำลังคนหมู่มากมาเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลดำเนินการตามที่ตนเองต้องการ พระควรจะอยู่อย่างสงบ ทำหน้าที่ของตนเองไป พระอย่ามายุ่งกับการเมือง เพราะหากเข้ามายุ่งเมื่อไหร่ การเมืองก็จะกลับไปเล่นท่าน เหมือนกับบางสำนัก ที่เคยมีผู้ประกาศว่าให้การสนับสนุนกลุ่มเรียกร้องร้องกลุ่มหนึ่ง ตอนนี้ก็เริ่มจะถูกการเมืองกลับมาเล่นงานเข้าบ้างแล้ว ข้อเสนอของกลุ่มพระสงฆ์ที่มาร่วมชุมนุมที่พุทธมณฑลในครั้งนี้ ได้ยื่นข้อเรียกร้องห้าข้อคือ
1. ห้ามหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย
2. ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงาม ที่กระทำสืบกันมา คือการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ทางรัฐบาลจะต้องปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม (มส.) ก่อน
3. ขอให้นายกรัฐมนตรี ยึดถือดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคม (มส.) ที่มีการเสนอสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช
4. ขอให้ทางรัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพ เอื้อเฟื้อ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย และ
5. ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ

ข้อที่ 1-2-4 รัฐคงปฏิเสธ เพราะคณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมืองเหมือนคนไทยอื่นๆเหมือนกัน การที่จะให้รัฐยกเว้นไม่ปฏิบัติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งย่อมทำได้ยาก ใครทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาสก็ต้องได้รับโทษเหมือนกัน กฎหมายไม่น่าจะมีข้อยกเว้นสำหรับคนไทยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
สาระสำคัญอยู่ที่ข้อสามและข้อที่ห้า ในข้อสาม คือตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมหาเถรสมาคมได้มีมติเสนอชื่อ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)” วัดปากน้ำ เป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งคณะสงฆ์ไทย แต่รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะมีประเด็นของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอีกหลายเรื่องที่กำลังทำการตรวจสอบเช่น สมเด็จฯ มีรถหรูซึ่งมีผู้สงสัยว่าอาจจะเป็นรถที่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง กฎหมายก็ดำเนินการตรวจสอบกันต่อไป สมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย ถึงกับเคยประกาศว่า วัดปากน้ำและวัดธรรมกายเป็นวัดพี่วัดน้องหรือเสมือนว่าเป็นวัดเดียวกัน
ผู้เขียนได้ฟังครั้งแรกยังตกใจ ครั้งหนึ่งที่วัดพระธรรมกายเคยได้ยินสมเด็จฯ เรียกเจ้าอาวาสวัดธรรมกายว่า “พระเดชพระคุณ” เต็มปากเต็มคำ ได้ยินกันไปทั่ว จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าหากสมเด็จได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช วัดปากน้ำและวัดธรรมกายก็จะมีอำนาจเหนือคณะสงฆ์ไทยไปโดยปริยาย การเป็นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่ไม่สง่างาม เป็นเจ้าอารามที่มีคนเคารพศรัทธาดีกว่า

ปัญหาของวัดพระธรรมกายก็ยังไม่จบยังมีหลายเรื่องที่ทางการกำลังดำเนินคดี คดีที่ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ สมเด็จฯ ในฐานะพระอุปัชฌาย์ก็ไม่ได้ดำเนินการ จนกระทั่งทางราชการบ้านเมืองต้องเข้ามาทำหน้าที่ หากดำเนินการตามพระธรรมวินัยเรื่องก็น่าจะจบลงไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบัน “ธรรมวินัย” จะมีอำนาจน้อยว่า “กฎหมายบ้านเมือง” บางเรื่องแม้จะผิดธรรมวินัย แต่คณะสงฆ์ก็จัดการกันเองไม่ได้ ต้องพึ่งกฎหมายบ้านเมืองและกำลังจากทหาร ตำรวจอยู่ดี
คณะสงฆ์ไม่ได้อยู่ใต้พระธรรมวินัย เพียงอย่างเดียว ต้องมีองค์ประกอบอีกหลายประการเช่นกฎหมายบ้านเมือง ขนบธรรมเนียม ประเพณี ของท้องถิ่นที่พระพุทธศาสนาอยู่ด้วย เช่นการอุปสมบทพระภิกษุ หากถือตามพระธรรมวินัย ภิกษุที่มีพรรษา 10 ก็เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบทกุลบุตรได้แล้ว แต่ปัจจุบันต้องผ่านการอบรม สอบ และได้รับการรับรองจากคณะสงฆ์ก่อน จึงจะเป็นพระอุปัชฌาย์ได้
สมัยพุทธกาลธรรมวินัยอย่างเดียว ก็สามารถปกครองคณะสงฆ์ได้แล้ว แต่ปัจจุบันสถานการเปลี่ยนไป คณะสงฆ์จึงต้องพึ่งอำนาจรัฐ พึ่งกฎหมาย พึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่นนั้นๆด้วย ลำพังองค์กรสงฆ์เพียงอย่างเดียวคงดูแลกันลำบาก

อีกอย่างหากคณะสงฆ์ปกครองกันตามธรรมวินัย ก็ไม่จำเป็นต้องมีมหาเถรสมาคม ไม่ต้องมีสมณศักดิ์ ไม่ต้องตำแหน่งในการปกครอง เจ้าคณะทั้งหลายก็ควรยกเลิกให้หมด เหลือไว้แต่ตำแหน่งที่มีปรากฎในพระไตรปิฎกคือเจ้าอาวาสก็น่าจะเพียงพอแล้ว จากนั้นก็นับถือเคารพกันตามอายุพรรษา ใครที่มีพรรษามากก็ยกให้ท่านเป็นประธานสงฆ์แห่งชาติ อยู่ในฐานะปูชนียบุคคล
การปกครองคณะสงฆ์ก็ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสก็พอแล้ว ซึ่งปัจจุบันอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสก็ครอบคลุมการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ของพระภิกษุสามเณรในแต่ละวัดได้อยู่แล้ว หากเป็นเช่นนี้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้
ส่วนในข้อห้าที่บอกว่าขอให้บรรจุพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ก็คงยากอีก เพราะรัฐบาลต้องฟังเสียงจากหลายฝ่าย ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประชาคนคนไทยไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกันทุกคน ยังมีศาสนาอื่นๆอีกหลายศาสนา การที่รัฐจะระบุให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติก็คงดำเนินการลำบาก สู้ระบุไว้แบบกลางๆน่าจะดีกว่า ดังนั้นข้อเสนอข้อนี้ก็ยากที่จะบรรลุวัตถุประสงค์

ความคิดส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่พระภิกษุเดินทางมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ตนต้องการ เพราะไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องนัก ได้ฟังพระเถระรูปหนึ่งให้สัมภาษณ์ฟังแล้วได้คำตอบดีที่สุดในเหตุการณ์เช่นนี้ ท่านบอกว่า “ก่อนจะออกจากวัดไปร่วมชุมนุม ลองก้มกราบพระพุทธเจ้าและลองถามพระองค์ดูก่อนว่า การไปชุมนุมนั้นควรหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่” พระสงฆ์ที่เดินทางไปร่วมชุมนุมกับพระสงฆ์ที่ยังคิดไม่ออกบอกไม่ได้ว่าควรจะทำอย่างไร คงพอจะได้คำตอบ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/02/59