สถาบันวิจัยญาณสังวร มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร PDCA ในระบบงานวิจัย โดยเชิญบุคลากรจากมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตและวิทยาลัยมาร่วมกันจัดทำแผนกลยุทธ์ นัยว่าเพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคตระยะยาว เมื่อมีแผนก็จะได้ดำเนินตามแผน เหมือนกับมีเป้าหมายที่ชัดเจน จากนั้นก็มุ่งสู่เป้าหมายตามแผนที่กำหนดไว้
ผู้เขียนได้รับเชิญให้เข้ารับการฝึกอบรมด้วยในนามของคณะศาสนาและปรัชญา ร่วมเขียนแผน กำหนดเป้าหมายว่าจะวางอนาคตไว้อย่างไร มีหัวข้อหนึ่งในการบรรยายคือ “การจัดทำแผนกลยุทธ์และการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่ดี” ฟังไปก็คิดไปว่าหากนำวิธีการมาใช้ในการวางแผนชีวิตคงเป็นเรื่องที่ดี
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีนักศึกษาในสาขาวิชาทางด้านปรัชญา ศาสนาลดน้อยลง จากที่เคยถามตัวเองมาก่อนว่าจะเรียนปรัชญาไปทำอะไร เรียนจบแล้วจะไปประกอบอาชีพอะไร ก็หาคำตอบที่ชัดเจนไม่ค่อยได้ ไม่เหมือนกับสาขาวิชาอื่นเช่นศึกษาศาสตร์ เมื่อเรียนจบแล้วยังมีเป้าหมายว่าอย่างน้อยก็ประกอบอาชีพเป็นครู ซึ่งมีสถานศึกษามากมาย มีหลายระดับ เรียนจบแล้วมีเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจน

หรืออย่างสาขาวิชารัฐศาสตร์ก็มีทางเลือกมากมาย สามารถประกอบอาชีพได้หลายอย่าง นักศึกษาส่วนหนึ่งจึงมักจะเลือกเรียนสาขาวิชาที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต เรียกว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจน อาจจะมีบ้างที่ไม่ได้ทำงานตามสาขาวิชาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา
ส่วนสาขาวิชาทางแพทย์ทางวิศวกรรมศาสตร์พวกนั้น มีทางให้เลือกทำงานได้มาก แล้วสาขาวิชาปรัชญาศาสนาจะเรียนไปทำอะไร เรียนไปเพื่อเป็นนักคิด นักเขียน นักวิพากษ์ นักวิจารณ์สังคมหรืออย่างไร แล้วจะกำหนดแผนยุทธศาสตร์อย่างไรให้นักศึกษามาเรียนในสาขาวิชานี้
น่าแปลกใจอยู่อย่างหนึ่งคือสาขาวิชาทางด้านปรัชญาศาสนาในระดับปริญญาเอก มีคนสนใจสมัครเข้ามาเรียนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีอายุมาก หรือเกษียณอายุราชการแล้ว ที่มาเรียนเพราะอยากรู้ ไม่ได้เรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ
ผู้เขียนเรียนจบทางปรัชญาและพุทธศาสน์ศึกษา ตอนเรียนก็ไม่เคยคิดว่าเรียนจบแล้วจะไปประกอบอาชีพอะไร ที่เลือกเรียนมีเพียงเหตุผลข้อเดียวคือเรียนเพราะอยากรู้ ส่วนรู้แล้วจะไปทำอะไรไม่เคยคิดล่วงหน้ามาก่อน แต่เมื่อเรียนจบแล้ว จึงได้ทำหน้าที่สอนหนังสือให้กับสาขาวิชาที่ตนเองได้ศึกษาเล่าเรียนมา ส่วนวิชาครูก็ไปสมัครสอบครูพิเศษมัธยม หรือที่เรียกว่า “ครู พม.” จบแล้วก็มีวุฒิพอจะสอนคนอื่นได้ แต่ข้อเท็จจริงไม่เคยได้เรียนในชั้นเรียนเลย เพียงแต่ซื้อตำรามาอ่าน จากนั้นก็ไปสอบตามที่เขากำหนด และสอบได้จึงมีวุฒิครูพิเศษมัธยมอยู่บ้าง จะเรียกว่ามีแผนอยู่บ้างก็ได้ แต่เป็นแผนที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

การไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลย หากจะว่าไปก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเป็นเหมือนคนไม่มีอนาคต ทำงานโดยไม่มีแผน ซึ่งผิดกับหลักการของการบริหารชีวิตในยุคใหม่ ซึ่งถือว่าชีวิตต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า จะเป็นแผนระยะสั้นหรือระยะยาวก็แล้วแต่จะคิดวางแผนกัน
หากจะจัดทำแผนกลยุทธ์สำหรับชีวิตจะทำอย่างไร ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุใกล้หกสิบปี คงไม่สายเกินไป เพราะหากดูแลรักษาสุขภาพให้ดี มนุษย์ก็สามารถมีอายุยืนยาวได้ถึงหนึ่งร้อยหกสิบปี ในสมัยพุทธกาลมีพระเถระรูปหนึ่งมีอายุยืนยาวร้อยหกสิบปีคือพระพากุละเถระ ส่วนคนที่มีอายุเกินร้อยปีมีหลายท่าน ดังที่แสดงไว้ในอรรถกถามหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 2 ภาค 1 หน้าที่ 77 ความว่า “บรรดาคนมีอายุยืนนั้นนางวิสาขาอุบาสิกา พราหมณ์โปกขรสาติ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์เสละ พราหมณ์พาวริยะ พระอานนทเถระ พระมหากัสสปเถระมีอายุอยู่ได้ 120 ปี พระอนุรุทธเถระอยู่ถึง 150 ปี พระพากุลเถระมีอายุอยู่ได้ 160 ปีท่านผู้นี้มีอายุยืนกว่าทั้งหมด” โปรดสังเกตว่าคนที่อายุยืนที่สุดในครั้งนั้นคือพระพากุลเถระมีอายุ 160 ปี
หนึ่งชีวิตอาจจะมีหลายแผน แต่ละคนคงมีแผนแห่งชีวิตไม่เหมือนกัน ใครจะวางชีวิต ลิขิตอนาคตไว้อย่างไร ก็ต้องเริ่มวางแผนชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว จะศึกษาเล่าเรียนอะไร ก็เลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตนเองมีความถนัดและชอบที่สุด บางคนเรียนตามเพื่อน ทั้งๆที่ตนเองไม่มีความถนัด ไม่มีความชอบเลย แม้จะเรียนจบมาแล้วก็ทำงานในสาขาวิชาที่ตนจบมาไม่ได้ ทำไปแล้วไม่มีความสุข หากเป็นเช่นนี้ชีวิตก็คงไม่มีความสุขเท่าที่ควรจะเป็น

หากอยากเป็นเศรษฐีพระพุทธศาสนาก็มีคำสอนที่ว่าด้วยหัวใจเศรษฐีคือ “รู้จักหา รักษาดี มีกัลยามิตร ดำเนินตามสมควร”
หากอยากจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จก็ต้องดำเนินตามหลักคำสอนที่เรียกว่า “อิทธิบาท” คือคุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จประกอบด้วย ฉันทะ พอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ เอาใจใส่ และวิมังสา ไตร่ตรอง ตรวจสอบ หากดำเนินตามแผนการนี้ ความสำเร็จก็ไม่หนีไปไหน
หากอยากจะมีอายุยืน ก็ต้องดำเนินตามหลักธรรมที่แสดงไว้ในอนายุสสสูตรที่1อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/125/130) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการเป็นเหตุให้อายุยืนคือ (1)บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง (2)รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย (3) บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (4)เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร (5)เป็นผู้ประพฤติเพียงดังพรหม”

ส่วนสาเหตุที่ทำให้อายุสั้นแสดงไว้ในสูตรเดียวกันความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุสั้นคือ(1) บุคคลไม่เป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง (2) ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย (3)บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก (4)เป็นผู้เที่ยวในกาลไม่สมควร (5)ไม่ประพฤติเพียงดังพรหม”
การทำงานที่มีการวางแผน ย่อมทำให้มองเห็นเป้าหมายได้ชัดเจน ส่วนจะไปถึงเป้าหมายได้ตามแผนหรือไม่ก็ต้องมีการดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้
ครั้งหนึ่งตั้งใจว่าจะไปให้ถึงยอดภูเขาฟูจิ ในญี่ปุ่น แต่พอเดินทางไปจริงๆกลับมีอุปสรรคระหว่างทาง เพราะอากาศหนาวเกินไป หิมะตกหนักเกินไป เจ้าหน้าที่ที่ดูแลทางขึ้นภูเขาจึงสั่งระงับการเดินทาง แม้จะไปใกล้เกือบจะถึงเป้าหมายแล้ว แต่ก็ไปไม่ถึง บางครั้งอุปสรรคไม่ได้อยู่ที่ตัวเราเองเสมอไป แต่อาจจะอยู่ที่สภาพแวดล้อมก็ได้

ผู้เขียนแม้จะไม่เคยวางแผนชีวิตไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็มีแผนอยู่ในใจ ที่ไม่อาจจะบอกใครได้ เพราะหากบอกไปใครเขาอาจจะคิดว่าบ้าได้ง่ายๆ ชีวิตที่ผ่านมาครึ่งค่อนชีวิตแล้ว ยังมีเวลาเหลืออยู่อีกไม่มากนัก ตอนนี้เริ่มวางแผนในการที่จะมีชีวิตสักร้อยปี เหลือเวลาที่จะต้อเดินไปตามแผนอีกสักสี่สิบกว่าปี คงไม่มากไม่น้อยเกินไป ค่อยเป็นค่อยไปเดินไปตามวัยและเวลาตามสมควร
ชีวิตที่ดีควรมีการแผนไว้ก่อนล่วงหน้า จากนั้นจึงเดินตามแผนที่กำหนดไว้ ไม่นานก็ต้องไปถึงเป้าหมายได้ ส่วนใครที่ไม่มีแผนในการดำเนินชีวิตเลย ก็ต้องปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปเหมือนที่ไม่มีหางเสือ หรือเรือที่ไม่มีคนพาย จุดหมายอยู่ที่ไหนคงพอคาดเดาได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
10/02/59