ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเกลียดกลัวความแก่ชราสักปานใดก็ตาม แต่ทว่าในความเป็นจริงหากมีอายุยืนยาวผ่านวันเวลามาได้ก็ต้องแก่ชราไปตามอายุขัย เราหนีแก่ไม่ได้ หนีตายไม่พ้น ทุกคนต้องพานพบ คนแก่บางคนเบื่อหน่ายในชีวิต พอเริ่มแก่ก็เริ่มป่วย จากนั้นไม่นานก็ลาโลก แต่มีคนแก่อีกมากมายที่แม้จะมีอายุมากแต่ก็ยังมีสุขภาพแข็งแรง มีจิตใจที่เบิกบานสำราญใจพร้อมที่จะอยู่สู้ต่อไปในโลกนี้ได้อย่างอาจหาญ คนแก่หรือปัจจุบันมีคำเรียกขานที่ฟังรื่นหูขึ้นว่า “คนสูงอายุ” เริ่มต้นที่อายุหกสิบปีในวัยเกษียณอายุราชการ

           ในงานเกษียณอายุราชการของอาจารย์เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ทางมหาวิทยาลัยจัดงาน “วันวานที่พากเพียร สู่วันเกษียณที่ภาคภูมิ” เพื่อเป็นการเลี้ยงอำลาแก่บุคลากรที่ได้ทุ่มเททำงานให้กับมหาวิทยาลัยมาจนถึงอายุหกสิบปี ก็ต้องเกษียณอายุราชการกลับไปทำหน้าที่ตามที่ตนได้วางแผนเอาไว้
           อาจารย์ท่านหนึ่งเกษียณอายุราชการไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปีนี้ยังมาร่วมงานนัยว่าเพื่อต้อนรับเพื่อนใหม่ที่จะต้องประสบกับสภาวะของความชราเฉกเช่นเดียวกับตน การได้เพื่อนร่วมเดินทางคนใหม่เหมือนกับเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่ากาลเวลาที่ผ่านไปนั้นยาวนานนัก ในขณะที่วันเวลาที่เหลืออยู่เริ่มหดสั้นลงทุกวัน

           มีเวลาว่างจึงชวนอาจารย์ท่านนั้นสนทนาตามประสาคนที่เคยร่วมงานกันมาก่อน “ท่านอาจารย์สบายดีนะ ดูสุขภาพยังแข็งแรง ยังหนุ่มแน่นอยู่เลย”
           เมื่อถูกเอ่ยทักด้วยมธุรสวาจาเช่นนี้ อาจารย์ท่านนั้นก็ยิ้มอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะบอกว่า “แก่ขึ้นอีกปีแล้วครับ เดินเข้าใกล้เชิงตะกอนเข้าไปทุกวัน คงได้เห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกไม่กี่ปี”
           “อาจารย์มีวิธีในการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายอย่างไรในวัยเกษียณ เพราะงานที่เคยทำก็ต้องหยุด เงินที่เคยได้ก็ไม่ได้เหมือนเดิม”
อาจารย์ท่านั้นบอกว่า “ช่วงแรกๆก็ทำใจลำบากเหมือนกันแหละครับ เพราะเคยตื่นแต่เช้ามาทำงานตลอดระยะเวลาหลายปี เป็นความเคยชินที่แก้ไขยาก พอรู้ตัวว่าเราไม่ให้ทำงานแล้ว ก็ยังต้องตื่นแต่เช้าอาบน้ำแต่งตัวเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเส้นทางจากที่ทำงานเป็นสถานที่อื่น เช่นวัดวาอาราม ตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า จนกระทั่งใกล้เวลาเลิกงานก็เดินทางกลับบ้าน มันเคยชินนะครับไม่เคยอยู่บ้านมานาน จะให้อยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไรเลยนี่มันอึดอัดครับ”

           ผมมีคติเตือนใจจดจำมาจากหนังสือ “คิดอย่างไทย” เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระ รักความสุข  มีอยู่เรื่องหนึ่งว่าด้วย “ศิลปะการครองตนของคนสูงวัย” เขียนเป็นคำสั้นๆว่า “ทำจิตใจให้เบิกบาน กินอาหารมีประโยชน์ ความโกรธไม่มี หาวิธีเพิ่มบุญกุศล ครองตนเรียบง่าย ไม่เบื่อหน่ายชีวิต หามิตรสนทนา หาเวลาพักผ่อน สังวรว่าเราชรา    เพิ่มปัญญาทุกวัน” หลวงพี่จะนำไปใช้ก็ได้นะครับ ท่านเองก็คงเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีเหมือนกัน

           จริงอย่างที่อาจารย์ท่านนั้นว่าเราเองก็เริ่มเดินทางเข้าสู่วัยหกสิบปีแล้วเหมือนกัน อีกไม่นานหากอยู่ถึงก็ต้องเป็นคนสูงวัยเหมือนคนอื่นๆ หากไม่ล้มหายตายจากไปเสียก่อน เรื่องของชีวิตประมาทกันไม่ได้ ความตายจะมาถึงเมื่อไหร่เราไม่อาจทราบได้ ใครที่มีอายุถึงหกสิบปีก็ต้องบอกว่าเกิดมาโชคดีแล้ว
           เนื่องจากฟังครั้งเดียวจำได้ไม่หมด จึงขออนุญาตจดบันทึก และขออนุญาตนำเผยแผ่ โดยการอธิบายขยายความเสียเอง
           คำว่า “ทำจิตใจให้เบิกบาน” มนุษย์เรานั้นหากทำจิตใจให้เบิกบานได้ แม้จะมีเรื่องราวต่างๆเข้ามารบกวนจิตใจ แต่หากทำใจยอมรับ ปล่อยวางเสียบ้าง ทำจิตใจให้บันเทิงรื่นเริงใจ ปัญหาทั้งหลายก็สามารถแก้ไขได้ จิตใจที่เบิกบานมักจะทำให้ร่างกายแข็งแรงมีกำลัง
           “กินอาหารมีประโยชน์” อาหารเป็นสิ่งให้กำลัง หากเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ก็จะเป็นการเพิ่มพูนพลังกำลังให้คงอยู่ต่อไปได้ จิตใจสบาย ร่างกายมีกำลัง ชีวิตก็มีความหวัง
           “ความโกรธไม่มี” แม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก แต่ความโกรธลดได้ด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตาหากมองทุกอย่างด้วยเมตตาจิต ก็จะเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น ความโกรธมีรากหวาน แต่ปลายขม พยายามลดละความโกรธให้ลดน้อยลง จิตใจก็เป็นปรกติ ชีวิตก็เป็นไปตามธรรมดา

           “หาวิธีเพิ่มบุญกุศล”  การทำบุญมีหลายแบบให้เลือกทำตามแต่โอกาสและช่องทางของแต่ละคน ในพระพุทธศาสนาแสดงวิธีทำบุญไว้โดยย่อสามประการ ดังที่แสดงไว้ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร อังคุตตรนิกาย อฏฐกนิบาต(23/126/187) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุสามประการนี้ สามประการเป็นไฉน คือบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน  บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา”
           ในอรรถกถาทีฆนิกาย  ปาฏิกวรรค ท่านจำแนกออกเป็นสิบประการคือการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การประพฤติอ่อนน้อมเคารพยำเกรง  การขวนขวาย  การให้ส่วนบุญ การอนุโมทนาส่วนบุญ การแสดงธรรม  และการฟังธรรม และการทำความเห็นให้ตรง   
           หากจะเขียนเป็นภาษาบาลีก็จะเป็น “ทานมัย สีลมัย ภาวนามัย อปจายนมัย เวยยาวัจจมัย ปัตติทานมัย ปัตตานุโมทนามัย ธัมมัสสวนมัย ธัมมเทสนามัย และทิฏฐิชุกรรม” แต่การทำบุญทั้งหมดนั้นสามารถสรุปลงได้ในบุญกิริยาวัตถุสามประการคือความเคารพยำเกรง    และการขวนขวาย(ช่วยทำกิจของผู้อื่น)รวมลงได้ในสีลมัยบุญกิริยาวัตถุ 
           การให้ส่วนบุญ และการอนุโมทนาส่วนบุญ  รวมลงได้ในทานมัยบุญกิริยาวัตถุ 
           การแสดงธรรม  และการฟังธรรม  รวมลงได้ในภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ      
           ส่วนการทำความเห็นให้ตรงรวมลงได้ในบุญกิริยาวัตถุทั้งสามอย่าง
           “ครองตนเรียบง่าย”  ชีวิตหลังเกษียณไม่มีเงินเดือนเหมือนเมื่อครั้งที่ยังทำงาน จะทำอะไรจะใช้จ่ายอะไรต้องคิดให้รอบคอบ ต้องทำชีวิตให้เรียบง่าย ก็อยู่สบายตามสมควรแก่ฐานะ

           “ไม่เบื่อหน่ายชีวิต”  คนสูงวัยส่วนหนึ่งมักจะมีความรู้สึกว่าชีวิตตนไร้ค่า บางคนไม่รู้จะทำอะไร ต้องหางานอดิเรกทำบ้าง เพื่อไม่ให้ชีวิตน่าเบื่อหน่าย บางคนทำงานอดิเรกหลังเกษียณอาจจะร่ำรวยมากกว่าช่วงที่ทำงานเสียอีก ที่สำคัญต้องหาอะไรทำบ้างชีวิตจะไม่ได้น่าเบื่อหน่าย
           “หามิตรสนทนา” คนสูงวัยหากอยู่คนเดียวจะเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ต้องหาเพื่อนพบปะสนทนาบ้าง สมัยก่อนเรามักจะเห็นคนสูงวัยนั่งดื่มน้ำชา เล่นหมากรุก ตามร้านค้าต่างๆ อย่างน้อยก็ได้พบปะสนทนาเป็นการแก้เหงาได้บ้าง แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป มิตรสหายอาจจะไม่ได้อยู่ในร้านค้า แต่อาจจะอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ สนทนาผ่านเฟสบุ๊ค สนุกกกับการเล่นไลน์ ก็เป็นการหามิตรสนทนาได้เหมือนกัน
           “หาเวลาพักผ่อน” มนุษย์เรามีหลายวัย วัยเรียน วัยเพียร วัยพัก วัยพราก  ถึงวันหนึ่งก็ต้องพักผ่อนกันบ้าง ก่อนจะถึงวัยพรากจากโลกนี้ไป ร่างกายมนุษย์ก็เหมือนเครื่องจักร หากทำงานตลอดเวลาโดยไม่มีเวลาพักเลย เครื่องยนต์กลไกก็ชำรุดเสียหายง่าย มนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน ต้องหาเวลาพักผ่อนหย่อนใจทำในสิ่งที่ชอบ ประกอบในสิ่งที่รักบ้าง ชีวิตก็จะไม่อ้างว้างเดียวดาย
           “สังวรว่าเราชรา” อย่าเผลอตัวลืมตนว่าคนวัยเกษียณนั้นคือคนที่มีอายุเกินหกสิบ ภาษาชาวบ้านเรียกว่าคนชรา แม้ว่าร่างกายภายนอกบางคนอาจจะมองดูว่ายังหนุ่มสาว แต่ทว่ามนุษย์เราหนีข้อเท็จจริงไม่พ้น ต้องสังวรว่าเราเป็นคนแก่
           “เพิ่มปัญญาทุกวัน” เรื่องของปัญญามีหลายระดับปัญญาระดับโลกิยะคือปัญญาระดับชาวโลก ก็ต้องศึกษาหาความรู้ คอยติดตามข่าวสารบ้านเมืองบ้างในบางโอกาส ส่วนปัญญาระดับสูงคือปัญญาระดับโลกุตตระ ก็ต้องหาเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมตามสมควร พยายามพอกพูนปัญญาแต่อย่างสร้างปัญหาให้ลูกหลาน

           งานเลี้ยงอำลาผู้เกษียณอายุราชการประจำปีของบุคคลากรมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จบลงแล้ว อาจารย์ท่านนั้นก็กลับไปแล้ว ยังเหลืออยู่แต่ผู้ที่กำลังเดินทางเข้าสู่วัยเกษียณซึ่งมีเวลาเหลืออยู่มากน้อยแตกต่างกันไป ข้อคิดจากอาจารย์ท่านนั้นน่าสนใจ หากใครจะไปใช้ผู้เขียนคงไม่ว่าอะไร กลับจะยินดีที่ได้เผยแผ่ข้อคิดที่มีประโยชน์แก่ผู้สูงวัยทั้งหลาย
           คนสูงวัยหากประพฤติตนตามข้อคิดคือ “ทำจิตใจให้เบิกบาน กินอาหารมีประโยชน์ ความโกรธไม่มีหาวิธีเพิ่มบุญกุศล ครองตนเรียบง่าย ไม่เบื่อหน่ายชีวิต หามิตรสนทนา หาเวลาพักผ่อน สังวรว่าเราชรา    เพิ่มปัญญาทุกวัน” แม้จะทำไม่ได้ครบทุกข้อ แต่ก็จะชะลอเวลาอยู่ในโลกนี้อีกต่อไปได้หลายปี อยู่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีประโยชน์

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
06/10/58

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก