เข้าอบรมในโครงการการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อของบประมาณสนับสนุนสภาวิจัยแห่งชาติ โดยสถาบันวิจัยญาณสังวร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพในการจัดโครงการ มีผู้สนใจที่จะยื่นเสนอหัวข้อโครงการวิจัยจำนวนมาก มาจากหลายจังหวัดจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยที่มีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยตั้งอยู่ เนื่องจากผู้ที่ต้องการจะเสนองานจะต้องเข้าอบรมฟังคำวิเคราะห์และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยก่อน จึงจะมีสิทธิ์ยื่นเรื่องต่อสภาวิจัยแห่งชาติได้
อันที่จริงในสถานะของงานที่ทำอยู่ประจำ ส่วนหนึ่งต้องอ่านงานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งจะต้องเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อประกอบการศึกษา อ่านมามากและช่วยนักศึกษาจบไปแล้วจำนวนมาก แต่วิทยานิพนธ์กับงานวิจัยที่จะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาตินั้นมีขอบข่ายและวิธีการต่างกัน จะต้องเป็นเรื่องที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของการวิจัยแห่งชาติซึ่งแต่ละปีมียุทธศาสตร์และมุ่งเป้าต่างกัน
ในส่วนของสถาบันวิจัยญาณสังวรมีจุดมุ่งเน้นการวิจัยหลักอยู่ที่การนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในการแก้ปัญหาสังคม งานวิจัยจึงอยู่ในสาขาทางสังคมศาสตร์ ปรัชญา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของแนวคิดและสังคม ไม่เหมือนกับสาขาอื่นๆเช่นวิทยาศาสตร์ แพทย์ เกษตร งานวิจัยในสาขาเหล่านั้นมักจะเป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อจะนำผลการวิจัยไปใช้ในเชิงของการพาณิชย์
นั่งฟังการบรรยาย การวิเคราะห์ การแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยมาสองวัน รู้สึกมึนงง แม้จะได้หัวข้อแล้ว แต่บริบท และองค์ประกอบอื่นๆก็ต้องคิดค้นและปรับปรุงแก้ไขกันอีกหลายรอบ งานนี้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป
เดินออกจากห้องประชุมพบกับอาจารย์ท่านหนึ่งอายุน่าจะเกินหกสิบปีแล้ว ปัจจุบันมีสถานะเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายในสาขาวิชาทางด้านรัฐศาสตร์ จึงเอ่ยทักทายตามธรรมเนียม “ท่านอาจารย์ดูไม่แก่เลยนะ เหมือนกับว่าอายุจะหยุดอยู่แค่ห้าสิบปี”
อาจารย์ท่านนั้นหันมายิ้มก่อนจะบอกว่า “จริงหรือครับ นึกว่าผมคิดไปเอง ผมได้หยุดอายุไว้ที่ห้าสิบปีมาเกือบยี่สิบปีแล้วครับ”
เมื่อเห็นคนทักทำหน้าสงสัย เขาจึงถามว่า “หลวงพี่เชื่อในเรื่องของความเป็นอมตะไหมครับ หลวงพี่อยากมีชีวิตอมตะไหมครับ”
“อมตะที่ว่าคืออะไร”
พอได้จังหวะอาจารย์ท่านนั้นจึงเสนอแนวคิดว่า “ในทัศนะของผมคำว่า “อมตะ” หมายถึงการไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เหมือนมีอายุหยุดอยู่กับที่ เช่นสมมุติว่าปัจจุบันผมมีอายุ 25 ปี กำลังอยู่ในวัยหนุ่มร่างกายแข็งแรง สุขภาพดีเยี่ยม ไม่เจ็บป่วย ผมอยากให้อายุผมหยุดอยู่ตรง 25 อย่างนี้ตลอดไป อาจจะมีอายุนานถึงหนึ่งหมื่นปี เหมือนกับภาพยนตร์จีนตอนที่อำมาตย์เข้าเฝ้าพระราชานะครับ ขอให้พระองค์มีอายุยืนหมื่นปี”
“แม้จะเป็นเพียงถ้อยคำที่สวยหรู แต่ทำให้ผู้ฟังพอใจ อันที่จริงคงไม่มีใครมีอายุยืนหมื่นปีจริงๆหรอกครับ แค่ร้อยปีก็ถือว่าเก่งแล้วครับ”
แล้วทำไมอาจารย์จึงอยากจะมีอายุยืนเป็นอมตะเล่า ความเป็นอมตะมันดีอย่างไร
“ดีสิครับ ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์คือไม่อยากเจ็บ ไม่อยากแก่ และไม่อยากตาย หากใครมีวิธีที่จะทำให้อายุยืนเพิ่มขึ้น หรือมีอายุเป็นอมตะย่อมเป็นที่น่าสนใจ”
จึงบอกว่า “สมมุตินะถ้าคนเรามีอายุยืนจริงๆเอาเฉพาะเรื่องอายุอย่างเดียวนะ จะอยู่อย่างไร จะดำเนินชีวิตอย่างไร จะทำงานไปตลอดชาติอย่างนั้นหรือ หากเจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หายขึ้นมาจะทำอย่างไร จะมิต้องทนทุกข์อยู่กับความทุกข์ทรมานไปตลอดชาติหรือ อีกอย่างหนึ่งความเป็นอมตะหากเกิดขึ้นตอนช่วงอายุร้อยปีมิต้องทนทรมานกับความร่วงโรยของสังขารหรือ จะไปไหนมาไหนคงลำบาก ลูกหลานเขาคงไม่อมตะด้วย ต้องล้มหายตายจากไปตามเวลาอันสมควร ถึงตอนนั้นใครจะคอยดูแล อาตมาว่าชีวิตเป็นไปตามธรรมดานะดีแล้ว จะได้ไม่ประมาทเร่งทำคุณงามความดี ยิ่งคิดให้ใกล้เข้ามาหน่อยว่าชีวิตของเราอาจจะตายได้ทุกเวลานาที เวลาที่มีอยู่ก็ยิ่งจะต้องรีบใช้อย่างคุ้มค่า วันนี้ยังสบายหายใจอยู่ แต่ไม่รู้พรุ่งนี้จะมีไหม อาจล้มหาย ตายจากพรากกันไป ชีวิตไม่จีรังและยั่งยืน”
อันที่จริงผมก็ไม่ได้คิดถึงความเป็นอมตะขนาดนั้นหรอกครับ เพียงแต่ต้องการชะลอความแก่ออกไปอีกสักพัก ยืดอายุให้ถึงหนึ่งร้อยปีโดยที่ยังมีสุขภาพ พอที่จะทำงานได้ ส่วนหนึ่งที่พอจะหาได้คือยาอายุวัฒนะครับ ผมดื่มมานานกว่าสามสิบปีแล้ว ไม่เคยป่วยหนักถึงกับเข้าโรงพยาบาล หากจะป่วยก็เป็นเพียง ปวดหัวเป็นไข้ธรรมดา นอนพักผ่อนเดี๋ยวเดียวก็หาย จากนั้นจึงรินน้ำร้อนที่มีสีเหมือนน้ำชาให้หนึ่งแก้ว หลวงพี่ของชิมดูนะครับ เป็นยาบำรุงร่างกาย ไม่เป็นอันตรายใดๆ ผมปรุงเอง
เมื่อลองชิมดูรสชาติออกขมหน่อยหนึ่ง จึงถามว่าปรุงจากอะไร
มีหลายอย่างครับ หากหลวงพี่สนใจผมจะส่งมาให้
อาตมาสนใจในการรักษาสุขภาพ มิใช่สนใจในเรื่องของความเป็นอมตะ เพราะเชื่อในคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทยวธมฺมิโน” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา” จะไปฝืนสัจธรรมข้อนี้ไปทำไมกัน มีอายุอยู่ถึงไหนก็ถึงนั้น ช่วงเวลาที่ยังมีลมหายใจต่างหากที่สำคัญที่สุด
สิ่งที่มนุษย์มีความปรารถนาอยากได้ น่าใคร่ น่าพอใจ แต่สำเร็จได้ยากมีแสดงไว้ในอิฎฐสูตร อังคุตรนิกาย ปัญจกบาต(22/43/42) ความว่า “ธรรมห้าประการนี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก คืออายุ วรรณะ สุขะ ยศ สวรรค์”
ความมีอายุยืนคือสิ่งหนึ่งในความปรารถนาของมนุษย์ จากนั้นจึงคิดถึงวรรณะผิพรรณ ความสุข ยศถาบรรดาศักดิ์ และการอุบัติในสวรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตั้งความปรารถนาได้แต่สำเร็จได้ยาก ทั้งห้าประการนี้จึงเป็นจุดอ่อนของมนุษย์ จึงมักจะมีคนเสนอขายยาอายุวัฒนะ ยาที่ทำให้ผิวพรรณดี โดยโฆษณาประชาสัมพันธ์จนบางคนหลงเชื่อชื้อยานั้นในราคาที่แพงมาก
ความสุขยศและสวรรค์มนุษย์ทุกคนก็อยากได้ บางคนไม่อยากทำ จึงมีบางคนเสนอขายยศหรือแม้แต่สวรรค์โดยใช้เงินซื้อได้ ซึ่งผิดจากหลักความจริง สิ่งเหล่านี้หากจะเกิดขึ้นจริง ก็ต้องมาจากการกระทำของเราเอง มิใช่ได้มาจากการซื้อขาย
อาจารย์ท่านนั้นอยู่ร่วมการสัมมนาการเขียนโครงร่างการวิจัยจนจบหลักสูตร วันแรกดูสดใส ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสดี คำนวณอายุไม่ออกบอกไม่ได้ว่ามีอายุเท่าไหร่กันแน่ เพราะดูยังไม่แก่ชราเลย พูดคุยสนทนาด้วยอารมณ์ผ่องใส เสียงหัวเราะดังหนึ่งคนในวัยหนุ่ม แต่พอวันที่สามผ่านไปหลังจากที่คร่ำเคร่งกับการเขียนโครงร่างงานวิจัยเมื่อจบหลักสูตร มองดูหน้าอาจารย์ท่านนั้นเริ่มมีรอยเหี่ยวย่น เดินเหินไม่คล่องแคล่วเหมือนวันแรก เสียงพูดคุยก็สั่นพร่า เหมือนคนแก่อายุแปดสิบปี ไม่ต่างจากหลวงพี่ที่อาจารย์ท่านนั้นเรียกขานเท่าใดนัก ความชราเริ่มมาเยือนเหมือนกัน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
28/08/58