ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           แม้ว่าวันแม่อย่างเป็นทางการจะผ่านไปหลายวันแล้ว แต่ทว่ากิจกรรมที่กระทำเพื่อแม่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง วันอาทิตย์ที่ผ่านมาต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่ามีประชาชนร่วมกันทำกิจกรรมเนื่องในวันแม่โดยการปั่นจักรยานเพื่อแม่ จักรยานและเสื้อสีฟ้ากลายเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่กระทำความดีเพื่อแม่ นอกจากแม่ของประเทศแล้ว ยังมีนัยยะอันแสดงถึงแม่ของแต่ละคน ดังนั้นการปั่นจักรยานเพื่อแม่จึงมีนัยยะถึงแม่ทั้งสองสถานะคือแม่ของชาติและแม่ของแต่ละคน

           เนื่องจากไม่อยู่ในสถานะที่จะปั่นจักรยานเพื่อแม่ได้ จึงได้แต่แสดงความชื่นชมต่อผู้ที่ได้ออกมาแสดงพลังในการทำกิจกรรมเพื่อแม่ในครั้งนี้ ดูจากข่าวทางโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดมาให้ชมอย่างต่อเนื่อง เป็นงานที่ดูแล้วสบายใจ เพราะขณะที่ดูก็นึกถึงแม่ไปด้วย แม่ที่แก่ชราแล้ว  แม่ที่ทำหน้าที่ของแม่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
           ในพระพุทธศาสนามีสุภาษิตบทหนึ่งในหนังสือพุทธศาสนสุภาษิตนักธรรมชั้นโทแสดงไว้ว่า
        
                      “อาทิ  สีลํ  ปติฏฺฐา  จ     กลฺยาณานญฺจ  มาตุกํ     
 
                               ปมุขํ  สพฺพธมฺมานํ         ตสฺมา  สีลํ  วิโสธเย ฯ
           แปลว่า “ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย เป็นประมุขของธรรมทั้งปวง  เพราะฉะนั้น  ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์”

           ในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง(2514)สีลวเถรคาถา  ขุททกนิกาย เถรคาถา (26/378/352)  แปลไว้อีกอย่างหนึ่งว่า “ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้บริสุทธิ์”
           ถ้อยคำที่แปลต่างกันคือคำว่า “มาตุกํ” ซึ่งแปลไว้สองอย่างคือมารดาและบ่อเกิด ในพจนานุกรมบาลีไทย ได้ให้ความหมายของคำว่า “มาตุ” ไว้ว่า “มาตุ” คำนามอิตถีลิงค์ แปลว่า มารดา หากจะดูตามนี้ คำว่า มาตุ แปลได้ว่ามารดา ส่วน “มาตุก” เป็นคำคุณนาม ก็มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “มาตุ” อันเป็นธาตุดั้งเดิม
           การถ่ายทอดภาษาจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทยนั้น บางครั้งตัวอักษรเดียวกัน แต่การแปลไม่ตรงกัน อย่างในคาถานี้ มีไม่ตรงกันหลายแห่งเช่น “มาตุกํ” มารดา บ่อเกิด  “ปมุขํ” ประมุข  ประธาน  “อาทิ สีลํ ปติฏฐา จ” ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น (แปลอาทิ เป็นวิเสสนะของ ปติฏฐา) ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง (อาทิ และปติฏฐา แปลแยกกันคนละความหมาย)  ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสองความหมาย  เพราะไม่ทำให้ความหมายเดิมผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากนัก ยังคงรักษาเนื้อความแห่งภาษาบาลีดั้งเดิมไว้ได้
           จึงนับเป็นคุณประโยชน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาเถรวาทที่ยังใช้ภาษาบาลีในการบันทึกหลักคำสอนไว้ เพราะหากไม่มีภาษาบาลีดั้งเดิมไว้ให้ตรวจสอบ ก็อาจจะมีนักแปลบางคนแปลความไปตามความชอบใจของตนเอง มีภาษาบาลีไว้เพื่อรักษาความหมายดั้งเดิมไว้ ใครจะแปลพิสดารอย่างไรก็ตามทีเถิด แต่ก็ยังมีภาษาเดิมไว้ให้ตรวจสอบได้

           ที่มาของคาถานี้เป็นคาถาของพระสีลวเถระ ในอรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม 1 ภาค 3 ตอน 3 หน้าที่ 425  ความว่า  “พระเถระแม้นี้ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อนสั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดเป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสารในกรุงราชคฤห์ ได้เป็นผู้มีพระนามว่า "สีลวะ"   ครั้นเธอเจริญวัยแล้ว   พระเจ้าอชาตศัตรูประสงค์จะฆ่าเธอจึงยกขึ้นสู่ช้างตัวซับมันดุร้าย แม้พยายามอยู่ด้วยอุบายต่างๆก็ไม่สามารถจะให้ตายได้  เพราะท่านเกิดในปัจฉิมภพไม่มีอันตรายต่อชีวิตในระหว่างยังไม่บรรลุพระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นความเป็นไปของเธอ จึงตรัสสั่งพระมหาโมคคัลลานเถระว่า  เธอจงนำสีลวกุมารมา พระเถระได้นำเธอมาพร้อมด้วยช้างด้วยกำลังแห่งฤทธิ์
           กุมารลงจากช้างถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม  อันสมควรแก่อัธยาศัยของเธอ   เธอฟังธรรมแล้วได้ศรัทธา    บรรพชาบำเพ็ญวิปัสสนากรรมไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต  อยู่ในโกศลรัฐ   
           พระเจ้าอชาตศัตรูทรงสั่งบังคับบุรุษทั้งหลายว่า พวกท่านจงฆ่า ราชบุรุษเหล่านั้นไปยังสำนักของพระเถระยืนอยู่แล้ว    ฟังธรรมกถาที่พระเถระแสดงเกิดความสังเวชมีจิตเลื่อมใสบวชแล้ว  พระเถระได้แสดงธรรมแก่บรรพชิตเหล่านั้นด้วยคาถาเหล่านี้ความว่า
           “ท่านทั้งหลายพึงศึกษาศีลในศาสนานี้    ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้ว   สั่งสมดีแล้ว  ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้   นักปราชญ์เมื่อปรารถนาความสุข 3 ประการคือความสรรเสริญ  การได้ความปลื้มใจ    ความบันเทิงในสวรรค์ เมื่อละไปแล้วพึงรักษาศีลด้วยว่าผู้มีศีล มีความสำรวม  ย่อมได้มิตรมาก ส่วนผู้ทุศีลประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร

           นรชนผู้ทุศีล   ย่อมได้รับการติเตียนและการเสียชื่อเสียง  ส่วนผู้มีศีล   ย่อมได้รับการสรรเสริญและชื่อเสียงทุกเมื่อ   
           ศีลเป็นเบื้องต้น  เป็นที่ตั้ง  เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลายและเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง  เพราะฉะนั้น  พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ 
           มีคำอธิบายในอรรถกถาที่น่าสนใจว่า “บทว่า  อาทิ”  แปลว่า เป็นมูล จริงอยู่ศีลเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่าเพราะเหตุนั้นแล ภิกษุเธอจงชำระศีลอันเป็นเบื้องต้นเท่านั้น ให้หมดจดในกุศลธรรม ก็อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม   ก็ศีลที่บริสุทธิ์ด้วยดีเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม
  บทว่า"ปติฏฺฐา" ได้แก่ตั้งมั่น จริงอยู่ศีลเป็นที่ตั้งแห่งอุตริมนุสธรรมทั้งหมด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่าตั้งอยู่ในศีลเป็นต้น                                                               
             บทว่า "กลฺยาณญฺจ  มาตุกํ" ความว่า เป็นบ่อเกิด  คือให้กำเนิดแห่งกัลยาณธรรม  มีสมถะและวิปัสสนาเป็นต้น
          บทว่า "ปมุขํ  สพฺพธมฺมานํ"  ได้แก่เป็นประมุข  คือเป็นประธาน อธิบายว่า เป็นทวารแห่งความเป็นไปแห่งธรรมอันหาโทษมิได้ทั้งหมดมีปราโมทย์เป็นต้น

           หนังสือพุทธศาสนสาภาษิตที่แปลคำว่า “กลฺยาณญฺจ มาตุกํ”  ว่า “เป็นมารดาแห่งคุณความดี”  ส่วนพระไตรปิฎกแปลว่า “เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย” แม้ว่าจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ทว่าความหมายก็สื่อถึงสิ่งเดียวกัน มิใช่ความผิดของพระอรรถกถาแต่ประการใด บางครั้งก็ต้องพึ่งพาพระอรรถกถาจารย์ในการให้ความหมาย
           ศีลเป็นบ่อเกิดหรือเป็นมารดาของความดีทั้งหลาย สื่อความหมายได้ชัดเจน เพราะหากคนมีศีลเป็นที่ตั้ง เป็นพื้นฐานแล้ว ก็สามารถปลุกสร้างความดีทั้งหลายให้เกิดขึ้นในจิตใจได้ ศีลคือความปรกติทางกาย ทางวาจา เมื่อกายวาจามีความเป็นปรกติ มีสติคุณความดีทั้งหลายก็สามารถเกิดขึ้นได้  เหมือนดั่งมารดาที่ย่อมมีความเมตตาต่อบุตรธิดาเป็นที่ตั้ง ย่อมมุ่งหวังให้ลูกทั้งหลายเจริญเติบโตขึ้นเป็นคนดีในสังคม มารดาเป็นที่พึ่ง เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดของลูก เปรียบประดุจดังศีลก็เป็นที่พึ่ง เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดของความดีทั้งหลายนั่นแล

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
17/08/58

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก