ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

           แม้ว่าการทำงานจะคำนึงถึงผลตอบแทนมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ลักษณะงาน เป้าหมายของการทำงานของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน ได้เงินมาแล้วจะใช้จ่ายอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของแผนการในการดำเนินชีวิตของใครของมัน บางคนมีความสุขในขณะที่กำลังทำงาน บางคนคิดถึงค่าตอบแทนที่จะไปสู่ความสุขในวันข้างหน้า บางคนวางแผนการล่วงหน้าว่าหากได้เงินมาแล้วจะทำอย่างไรกับเงินนั้น จะใช้จ่ายอย่างไร จะแบ่งไว้ท่องเที่ยวที่ไหนบ้าง ชีวิตของใครของมัน

          เคยทำงานร่วมกับฝรั่งชาวอเมริกันคนหนึ่ง เขาทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษ กิจวัตรประจำวันในแต่ละวันมีความสม่ำเสมออย่างยิ่ง แทบจะไม่เคยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย สอนหนังสือสอนเสร็จก็กลับที่พัก ได้เวลาสอนก็ทำหน้าที่ตามปรกติ หากจะมีคนชวนให้ออกเดินทางไปเที่ยวไหนสักแห่งเขามักจะปฏิเสธ เขาบอกสั้นๆว่าอยู่ในช่วงทำมาหาเงิน ไม่อยากเสียเวลาไปเที่ยวไหน แต่เขาขอเวลาปีละหนึ่งเดือนออกเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่อยากไป เงินที่ทำงานมาตลอดสิบเอ็ดเดือน แต่นำมาใช้จริงๆเพียงหนึ่งเดือน เขามักจะบอกเสมอว่า “มนุษย์ต้องมีเวลาพัก สำหรับผมแล้วผมเลือกพักแบบยาวๆปีละครั้งก็เพียงพอแล้ว จากนั้นก็กลับมาทำงานอย่างเต็มที่ ไม่อยากเที่ยวแบบจุกจิกเสียเวลา การทำงานกับการท่องเที่ยว ผมแยกออกจากัน”

           ในขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นคนไทยทำงานในที่เดียวกัน สอนหนังสือเหมือนกัน พอถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เขาก็จะออกเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ที่อยากไป มีกล้องบันทึกภาพหนึ่งตัว เที่ยวหาถ่ายภาพความงดงามของสถานที่ที่พานพบ เขามักจะนำภาพถ่ายสถานที่แปลกๆและภาพดอกไม้ใบหญ้าสวยๆมาฝากเสมอ สมัยนั้นยังเป็นกล้องที่ใช้ฟิล์ม มีขั้นตอนในการที่จะได้ดูภาพที่ไม่ค่อยสะดวก ต้องล้าง ต้องอัดกว่าจะได้ภาพสักใบส่วนมากมักจะเก็บไว้ดูคนเดียว หรือแบ่งปันให้เพื่อนๆที่สนิทได้ชื่นชมบ้าง หากเป็นสมัยนี้คงนำเสนอทางสื่อสังคมออนไลน์ให้คนอื่นๆได้สัมผัสกับภาพสวยๆงามที่บางทีก็บุกป่าฝ่าดงไปไกลเพียงเพื่อจะได้ภาพถ่ายเพียงไม่กี่ใบ เขาบอกว่า “ผมไม่แน่ใจว่าพรุ่งนี้จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ดังนั้นในช่วงที่ยังมีลมหายใจอยู่ ผมจึงเลือกทำในสิ่งที่ผมชอบ ความสุขอยู่ที่การเดินทาง ส่วนเป้าหมายเป็นเพียงที่พักเท่านั้น หายเหนื่อยผมก็เริ่มต้นใหม่ สำหรับผมการทำงาน การใช้ชีวิตและการท่องเที่ยวคือสิ่งเดียวกัน”    

           อีกคนหนึ่งแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ทำงานในสถานที่เดียวกัน ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือเหมือนกัน เขาไม่ค่อยได้ออกไปไหน เช้าเดินทางมาทำงาน งานเลิกก็กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว ทำอาหารอยู่กินกันพร้อมหน้าพ่อ แม่ ลูก ซึ่งทุกคนต่างก็ทำงาน ช่วยกันเก็บเงินเพื่อส่งให้ลูกได้เรียนหนังสือในชั้นสูงๆต่อไป ชีวิตครอบครัวผมก็พอมีความสุขตามอัตภาพ แม้เงินเดือนจะไม่มากมายอะไรนัก แต่ก็ใช้จ่ายตามสมควรแก่ฐานะ ในหมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่นั้น ชาวบ้านก็ถือว่าครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่มีฐานะครอบครัวหนึ่ง “สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวนั้นสองสามปีถึงจะได้เดินทางออกท่องเที่ยวที่ไหนไกลๆสักครั้ง ไปกันทั้งครอบครัว ชีวิตผมคือการทำงานเพื่อครอบครัว มิใช่ทำงานเพื่อตัวเอง ส่วนการท่องเที่ยวไม่มีก็ไม่เป็นไร”

           ทั้งสามคนนั้นดำเนินชีวิตตามเส้นทางที่เขาเลือกเองและคิดว่าเป็นเส้นทางที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดกับสภาวะที่เขาดำรงอยู่ การใช้ชีวิตของแต่ละคนเป็นเรื่องเฉพาะตน ไม่อาจจะตัดสินได้ว่าเขาผิดหรือถูก ทางใครก็ทางมัน
           วันหนึ่งปลายเดือนมีนาคมที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งผู้เขียนเดินทางไปร่วมงานการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศที่จะต้องมีโปรแกรมการฝึกอบรมภาคศึกษาดูงานในประเทศอินเดีย เนปาล ช่วงนั้นอากาศอยู่ในช่วงปลายหนาวต้นร้อน ยังไม่ร้อนเกินไปนัก บางท้องที่ยังมีอากาศหนาวด้วยซ้ำ เย็นวันหนึ่งขณะที่ผู้เขียนกำลังถือกล้องเดินเก็บภาพวิถีชีวิตของผู้คนทั้งนักจาริกแสวงบุญ นักท่องเที่ยว พระภิกษุสามเณรที่มาจากหลายนิกาย จากหลายประเทศ ที่บริเวณรอบๆเจดีย์พุทธยา ก็มีคนเดินเข้ามาทักทาย จำได้ในบัดดลนั้นว่าคนหนึ่งคือฝรั่งชาวอเมริกันครูสอนภาษาอังกฤษ อีกคนหนึ่งคือครูสอนภาษาอังกฤษชาวไทย ทั้งสองถือกล้องถ่ายภาพที่พร้อมสำหรับการใช้งาน
           เขาทั้งสองเล่าให้ฟังพอสรุปได้ว่าทั้งสองคนมากันคนละทาง แต่บังเอิญมาพบกันในสถานที่ศักดิ์แห่งนี้ ไม่คิดว่าท่านก็มาด้วย เมื่อบอกสาเหตุที่ทำให้ต้องมาที่นี่ ได้ยินเสียงจากใครคนหนึ่งบ่นเบาๆว่า มาทำงานถึงที่นี่เลยหรือครับ นึกว่ามาท่องเที่ยว

           บทสุดท้ายของการสนทนาฝรั่งคนนั้นบอกว่า “ผมมาท่องเที่ยวพักผ่อนครับ” ส่วนชายคนไทยบอกว่า “ผมมาใช้ชีวิตครับ” ผู้เขียนเองก็ตอบไม่ได้ว่ามาท่องเที่ยว มาทำงาน หรือว่ามาใช้ชีวิตกันแน่ มันแยกกันไม่ออกจริงๆ
           ทั้งสองคนต่างฝ่ายต่างมา ฝรั่งเดินทางคนเดียวท่องเที่ยวไปตามใจปรารถนา แม้จะไปไม่ได้ในสถานที่สำคัญ แต่เขาก็เลือกไปในสถานที่อยากไป ส่วนอีกคนหนึ่งเดินทางไปกับขบวนทัวร์ที่มักจะมีโปรแกรมการเดินทางที่ชัดเจน มีข้อกำหนดด้วยเงื่อนไขของเวลาต้องไปให้ครบทุกที่ที่ระบุไว้ในโปรแกรม บางครั้งบางแห่งก็ต้องเร่งรีบเพื่อให้ทันกับกำหนดของเวลา ได้เห็นหลายที่ แต่มีเวลาที่จำกัด
           แนวคิดของทั้งสองนั้นคงเหมาะสมกับสภาวะของหน้าที่การงานของแต่ละคน ส่วนผู้เขียนก็มีแนวทางของตนเอง มีเวลาทำงานในบางช่วงเวลา มีเวลาในการท่องเที่ยวในบางช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับโอกาสและเงินในกระเป๋า บาวงครั้งมีเวลาแต่ไม่มีเงิน บางครั้งมีเงินแต่ไม่มีเวลา บางครั้งการเดินทางก็ยังเป็นการทำงาน เป้าหมายของเส้นทางอาจจะไม่ใช่สาระสำคัญ การได้ชื่นชมความงามระหว่างการเดินทางเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เป้าหมายในการเดินทางที่ไม่มีที่สิ้นสุด พอไปถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่อีกสถานที่หนึ่ง ธรรมดาเป็นไปอย่างนี้

           การใช้ชีวิตก็เหมือนการเดินทาง บางครั้งไปถึงจุดหมาย แต่บางครั้งหลงทางทำให้ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ แม้ว่าชีวิตควรจะมีจุดหมายว่าจะอยู่เพื่ออะไร จะทำงานเพื่ออะไร จะเดินทางเพื่ออะไร บางทีการมีเป้าหมายมากเกินไป หากไปไม่ถึงจุดหมายก็จะกลายเป็นความทุกข์ หากไม่มีจุดหมายเสียเลยชีวิตก็เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ ย่อมถูกกระแสลมพัดพาไปโดยไร้ทิศทาง ชีวิตควรจะมีจุดหมายไว้บ้าง จุดหมายระยะสั้น จุดหมายระยะยาว จากนั้นก็เดินไปตามสู่จุดหมายตามที่วางเอาไว้ แม้จะไปไม่ถึงก็ไม่เดือดร้อนอะไร บางทีระหว่างทางที่ก้าวไปอาจจะมีอะไรแฝงอยู่ในเส้นทางนั้นก็ได้ มีความสุขระหว่างการเดินทางในทุกขณะจิตชีวิตก็รื่นรมย์
           การเลือกใช้ชีวิตเป็นเรื่องของแต่ละคน การเลือกในการเดินทางก็เป็นเรื่องของแต่ละคน เมื่อพิจารณาตามสมควรแก่สภาวะและสถานะของตนแล้วรู้ว่าการกระทำอันใดที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ก็ควรรีบทำกรรมนั้น หากมัวแต่คิดแล้วไม่ทำ ความคิดใหม่ก็อาจจะได้โอกาสแย่งชินความคิดเดิมไปก็ได้ ดังที่แสดงไว้ในเขมสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/281/73) ความว่า “บุคคลรู้กรรมใดว่าเป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทีเดียว อย่าพยายามเป็นนักปราชญ์เจ้าความคิด ด้วยความคิดอย่างพ่อค้าเกวียน พ่อค้าเกวียนละหนทางสายใหญ่ที่เรียบร้อยสม่ำเสมอเสีย แวะไปสู่ทางที่ขรุขระ เพลาก็หักสะบั้นซบเซาฉันใด บุคคลละทิ้งธรรมหันไปประพฤติตามอธรรม ก็ฉันนั้น เป็นคนเขลาเบาปัญญา ดำเนินไปสู่ทางมฤตยูซบเซาอยู่ เหมือนพ่อค้าเกวียนมีเพลาเกวียนหักแล้วฉะนั้น”

           มนุษย์แต่ละคนย่อมมีสิทธิ์เลือกทางดำเนินชีวิตของตนเองได้ หากคิดพิจารณาแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนแล้ว ก็ไม่ควรลังเล ควรรีบลงมือกระทำในทันใด เพราะหากมัวแต่คิดพยายามเป็นเหมือนนักปราชญ์ทั้งหลาย โอกาสอาจจะหลุดลอยไป บางครั้งโอกาสในชีวิตก็ไม่ได้มีหลายครั้ง พลาดโอกาสแล้ว อาจจะไม่มีโอกาสอย่างนั้นอีกเลยตลอดชีวิต คิดดีแล้วจึงกระทำ เพราะถ้าคิดผิดในชั่วชีวิตนี้ อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำเลยก็ได้ 
      

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
06/07/58

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก