วันที่ 26 มิถนายน ของทุกปี เป็นวันสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยยึดตามวันเกิดของสุนทรภู่ นักเลงกลอน ครูกลอน กวีเอกแล้วแต่ใครจะเรียก แต่บทกลอนที่ที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ได้กลายเป็นสมบัติของชาติ บทกลอนบางส่วนมักจะมีผู้นำมาอ้างอิงเสมอ จนบางคนแทบจะไม่รู้ว่ากลอนบทนั้นเป็นบทประพันธ์ของใคร คนไทยเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนมาแต่ไหนไม่ทราบ แคนส่วนมากจะเขียนกลอนได้ แม้จะไม่ค่อยไพเราะเพราะพริ้งเหมือนนักกลอนมืออาชีพทั้งหลายก็ตามทีเถิด แต่หากเขียนบ่อยๆ หมั่นฝึกฝนเอาใจใส่ การเขียนกลอนก็เป็นงานอดิเรกที่ทำให้มีความสุขได้
ประวัติสุนทรภู่ ขออนุญาตคัดลอกมาจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ซึ่งมีเนื้อหาสรุปว่า “พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2398) เป็นกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียง ได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการ เรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง
ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้ เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม วันเกิดของสุนทรภู่คือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย มีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป” https://th.wikipedia.org/wiki/
แม้จะไม่ค่อยถนัดในการเขียนกลอน แต่ก็ชอบอ่าน บางตอนเมื่อเกิดความประทับใจก็จะท่องจำเอาไว้ เมื่อมีโอกาสนำไปใช้ บางครั้งบรรยายธรรมอยู่ดีๆเกิดคิดอะไรไม่ออกก็จะยกบทกลอนขึ้นมาอ้างเช่นในตอนที่กล่าวถึงวาจา กล่าวถึงการพูด บทกลอนสุนทรภู่จากนิราศภูเขาทองก็มักแทรกขึ้นมาว่า “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”
เสน่ห์ของกลอนสุนทรภู่ตามทัศนะของผู้เขียน ส่วนหนึ่งอยู่ที่การเชื่อมโยงหลักธรรมเข้ากับสถานที่ที่ตนเองกำลังดำรงอยู่ เช่นอีกตอนหนึ่งในนิราศภูเขาทองว่า
“ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง
ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์ ร่มริโรธรุกขมูลให้พูนผล
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกายฯ
ในกลอนช่วงนี้มีหลายบาง แต่ละบางก็จะนำเอาชื่อบางและความรู้สึกเข้าไปแทรกในงานเขียนนั้น นอกจากนั้นยังมีสัมผัสนอกสัมผัสใน ซึ่งจะต้องหาคำและเสียงให้คล้องจองกัน แค่จะเขียนกลอนให้ครบแปดคำก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งต้องเพิ่มสัมผัสนอกและสัมผัสในเข้าไปอีกก็ยิ่งยาก ยังมีคติสอนใจเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ดังเรื่องพระอภัยมณี ตอนที่พระฤาษีสอนสุดสาครตอนหนึ่งว่า
“แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
ในนิราศพระบาท แค่เห็นต้นตาลก็ยังเขียนเป็นกลอนสอนใจได้ความว่า
“เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น เพราะดั้นด้นอยากลิ้มชิมรสหวาน
ครั้นได้รสสดสาวจากจาวตาล ย่อมซาบซ่านหวานซึ้งตรึงถึงทรวง
ไหนจะยอมให้เจ้าหล่นลงเจ็บอก เพราะอยากวกขึ้นลิ้นชิมของหวง
อันรสตาลหวานละม้ายคล้ายพุ่มพวง พี่เจ็บทรวงช้ำอกเหมือนตกตาล…
ในเพลงยาวถวายโอวาทได้เปรียบเทียบอ้อยตาลกับลมปากว่ามีรสหวานต่างกัน ความว่า
“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
บทกลอนบางตอนยังอธิบายสภาพสถานที่ในสมัยนั้น ซึ่งมีความแตกต่างจากสมัยปัจจุบันมาก เช่นในนิราศภูเขาทอง ได้บรรยายสภาพของภูเขาทองในยุคนั้นว่า
“ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส
ที่พื้นลานฐานบัทม์ถัดบันได คงคงลัยล้อมรอบเป็นขอบคัน
มีเจดีย์วิหารเป็นลานวัด ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน เป็นสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม
ประทักษิณจินตนาพยายาม ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน
เป็นลมทักขิณาวัฏน่าอัศจรรย์ แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก
ทั้งองค์ฐานราญร้าวถึงเก้าแสก เผลอแยกยอดสุดก็หลุดหัก
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้นฯ
พระสุนทรโวหาร(ภู่)เสียชีวิตตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2398 หากนับเวลาถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 160 ปีมาแล้ว แต่ทว่าบทกลอน หนังสือต่างๆที่สุนทรภู่ประพันธ์ที่สุนทรภู่ประพันธ์ไว้ยังมีคนนำมาอ่าน มาอ้างอิง เหมือนดั่งหนึ่งกลอนนั้นพึ่งเกิดขึ้นและผ่านไปในเวลาเพียงไม่กี่ปี ผลงานของสุนทรภู่น่าจะดำรงคงอยู่ในสังคมไทยไปอีกนาน แม้ว่าผู้แต่งจะไม่ได้รับรู้อะไรแล้ว แต่ผลงานนั่นเองจะเป็นเครื่องบอกนามของผู้ประพันธ์ ชีวิตของผู้คนมีเวลาอยู่ในโลกนี้ไม่นาน แต่ผลงานยังปรากฏอยู่ตราบนานเท่านาน
ในวันสุนทรภู่ปีนี้ ในฐานะที่เป็นผู้อยากเขียนกลอนผู้หนึ่ง และกำลังหัดเขียนกลอนแก้เหงา มีเวลาว่างตอนสมองโล่งโปร่ง มีอารมณ์ มีจินตนาการเมื่อใดก็จะพยายามเขียนกลอนเล่นๆ แม้ว่ากลอนนั้นจะไม่ได้ไพเราะเพราะพริ้งอันใดเลย แต่การเขียนกลอนก็นับเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง ขอคารวะครูกลอนสุนทรภู่ หากนับจากปีเกิดจนถึงปัจจุบัน สุนทรภู่มีอายุ 229 ปี แม้ร่างกายจะถูกเผามอดไหม้กลายเป็นเถ้าถ่านไปนานแล้ว แต่ทว่าชื่อเสียงและผลงานยังคงดำรงอยู่ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
26/06/58