งานศพดูเหมือนจะเป็นงานที่หลีกเลี่ยงได้ยาก อย่างน้อยที่สุดมนุษย์ที่พอจะรู้เดียงสา มีอายุพอที่จะรับรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆของชีวิตน่าจะเคยไปร่วมงานศพบ้าง แม้จะพยายามหลีกเลี่ยงอย่างไร สักวันใดวันหนึ่งก็ต้องมีญาติพี่น้องหรือคนที่เราเคารพ คนที่เรารู้จักคุ้นเคยเสียชีวิต บางคนไปร่วมฟังพระสวดอภิธรรม บางคนไปร่วมพิธีเผาศพ ซึ่งอาจจะมีคำเรียกขานแตกต่างกันไปตามแต่ฐานะของผู้เสียชีวิต แต่ความหมายอย่างเดียวกันนั่นคือไปงานของคนเสียชีวิต ไปงานศพเพื่ออะไร ไปแล้วได้อะไรนั้น คำตอบอาจจะแตกต่างกันไป
วันอัฏฐมีบูชา ตามปรกติตรงกับวันแรมแปดค่ำ เดือนหก ในปีที่มีอธิกมาสเลื่อนออกไปอีกหนึ่งเดือน ปีนี้จึงตรงกับวันแรมแปดค่ำ เดือนเจ็ด ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2558 วันอัฏฐมีบูชาอาจจะมีคนรู้จักน้อยกว่าวันวิสาขบูชา เพราะเป็นคล้ายวันแห่งการสูญเสียบุคคลที่เป็นที่เคารพรักบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อัฏฐมีบูชาจึงเป็นเหมือนวันแห่งความโศกเศร้า ที่จะต้องไปร่วมงานศพของบุคคลอันเป็นเคารพรักยิ่ง
การไปงานศพเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกวันเวลา ชีวิตมนุษย์พร้อมที่จะล้มหายตายจากได้ทุกเวลา ไม่มีใครร้องขอต่อพญามัจจุราชได้ ถึงเวลาก็ต้องทิ้งร่างวางขันธ์ ต้องทอดร่างวางวายเหมือนกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นจากสัจธรรมข้อนี้ไปได้ วันเกิดอาจจะมีญาติพี่น้องเพียงไม่กี่คนที่เฝ้าดูชีวิตที่กำลังก่อกำเนิดเกิดมาในโลกนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีชีวิตเกิดขึ้นในโลก แต่จะมีใครสักกี่คนที่คาดเดาถึงอนาคตของผู้ที่ที่กำลังก่อกำเนิดนั้น เขาจะเป็นคนดีหรือเป็นคนเลวนั้นคาดเดาอนาคตที่แน่นอนไม่ได้ แต่สิ่งที่คาดเดาได้แน่นอนไม่มีทางผิดพลาดเลยคือเขาคนนั้นจะต้องตายอย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง
โลกนี้จึงเหมือนเรือนพักชั่วคราวของคนทุกคน เกิดขึ้น มีชีวิต ดำรงอยู่และจากไป เหมือนคนย้ายบ้าน ช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตจึงเหมือนการเดินทาง ใครจะเดินทางไปทางสายใดนั้น นั่นก็แล้วแต่วิถีแห่งการเลือกสรรของแต่ละคน แม้จะมีระบบการศึกษาตามลำดับขั้นเป็นเหมือนกรอบแห่งชีวิตให้ดำเนินไป แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอาจจะไม่ได้จบการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงแห่งใดเลยก็ได้ มหาเศรษฐีบางคนไม่ได้เรียนจบชั้นปริญญาด้วยซ้ำ แต่มีชื่อเสียงโด่งดังให้ผู้คนจดจำเล่าขานถึงได้อย่างไม่รู้จบ ดั่งเช่นสตีฟ จ็อป เป็นต้น เขาก็ไม่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงแห่งใดเลย แต่ก็สร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นในโลกให้ผู้คนอยากเป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้น แม้เขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่สิ่งที่เขาคิดค้นและสร้างสรรค์ไว้ก็ยังสามารถขายได้ มีผู้คนจำนวนมากพยายามหาเงินมาซื้อหาเพื่อจะได้เป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้น
ในช่วงชีวิตของแต่ละคนน่าจะเคยไปร่วมงานศพของคนที่เคารพ คนรู้จัก คนคุ้นเคยหลายครั้ง อาจจะมีบ้างที่คนที่เสียชีวิตอาจจะไม่ได้เป็นผู้ที่รู้จักมักคุ้นมาก่อน แต่ที่ไปร่วมงานเพราะคนที่ยังมีชีวิตที่เรารู้จักคุ้นเคย ไปเพราะคนที่ยังมีชีวิต ไม่ได้ไปเพราะคนที่เสียชีวิตแล้ว
เคยถามตัวเองว่าไปงานศพแล้วได้อะไร ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนนัก เคยฟังหลวงพ่อแสดงธรรมเทศนาในงานศพหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งแม้จะไม่ได้สนใจฟังนัก แต่คำเทศนาของหลวงพ่อแทงใจดำพอดี หลวงพ่อบอกว่ามางานศพแล้วพอสรุปได้ดังนี้ “ได้ความสามัคคีปรองดอง ได้มองเห็นสัจธรรม ได้กระทำที่พึ่ง ได้นึกถึงพระไตรรัตน์”
ได้ความสามัคคีปรองดอง ญาติพี่น้องอาจจะมีหน้าที่การงานอยู่กันคนละแห่ง ต่างก็ทำงานเพื่อปากท้องของตนเองและครอบครัว บางคนแทบจะไม่มีโอกาสได้อยู่ใกล้กับผู้ที่เสียชีวิตเลย เป็นเพียงญาติที่ไม่ค่อยได้พบกัน แต่เมื่อญาติคนนั้นเสียชีวิตลง ตามธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมก็ต้องกลับมาร่วมงาน เมื่อต่างคนต่างมาจึงมีโอกาสได้พบกัน ทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่ญาติพี่น้องและคนรู้จัก
ได้มองเห็นสัจธรรม อาจเพราะหน้าที่การงานหรือสภาวะแวดล้อมที่พบเห็นอยู่ทุกวัน จึงทำให้หลงลืมการพิจารณาถึงความเป็นจริงของชีวิตที่จะต้องประสบพบเห็นเหมือนกันทุกคน เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ไม่มีใครหนีแก่ไปได้ หนีตายกันไม่พ้น ทุกคนต้องตาย ถึงจะพอรู้สัจธรรมความจริงนี้อยู่บ้าง แต่หากไม่พิจารณาให้แยบคาย ก็จะมองไม่เห็นความจริงแท้ ที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตที่คุ้นเคย บางคนแทบจะลืมไปแล้วว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ค้ำฟ้า แต่เมื่อได้มาร่วมงานศพก็จะได้พบกับสัจธรรมที่ทุกคนจะต้องประสบพบเห็นเหมือนกัน ไม่มีข้อยกเว้น
ได้กระทำที่พึ่ง มีคำสอนเรื่องของการพึ่งตนเองอยู่บทหนึ่งที่ผู้คนมักจะยกขึ้นมาอ้างเสมอคือ “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” เป็นคาถาที่แสดงไว้ในอัตตวรรค ขุทกนิกาย ธรรมบท (25/22/25) ความว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นไรเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้ ภาษาบาลีว่า “อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ โกหิ นาโถ ปโรสิยา ” คนเราอาจจะมีที่พึ่งมากมาย เช่นหากร้อนเกินไปก็อาศัยเครื่องทำความเย็น เครื่องปรับอากาศให้อุณหภูมิพอเหมาะ หากหนาวเกินไปก็พึ่งพาเครื่องทำความร้อน ปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ หรือบางคนมีคนอื่นเป็นที่พึ่ง ที่พร้อมจะให้การช่วยเหลือในยามทุกข์ยาก เลยหลงลืมไปว่าที่พึ่งเหล่านั้นพึ่งได้เพียงแค่บางช่วงเวลาเท่านั้น ส่วนที่พึ่งที่แท้จริงอยู่ที่ตัวเราเอง นั่นคือบุญที่เราทำ กรรมที่เราสร้าง จะเป็นเหมือนเครื่องชี้ทางว่าจะไปสู่ทิศทางใด
ได้นึกถึงพระไตรรัตน์ แม้ว่าประเทศไทยจะมีวัดอยู่แทบจะทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ บางแห่งอาจจะมีหลายวัดมีกำแพงติดกันเลยก็มี หากใครที่ไม่ได้ใส่ใจ ไม่สนใจศึกษาหลักธรรมคำสอน ไม่สนใจในการปฏิบัติ แม้วัดจะมีมากก็ทำอะไรไม่ได้ โอกาสของคนอยู่ที่ความสนใจ หากไม่สนใจศึกษาก็ไม่อาจจะพบกับความจริงได้ พระรัตนตรัย มีความหมายถึงสิ่งประเสริฐสามประการ ในพระพุทธศาสนาหมายถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือหากเป็นศาสนาอื่นก็จะมีคำเรียกขานต่างกัน กำหนดไว้ไม่เหมือนกัน
วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันคล้ายวันถวายเพลิงพระพุทธสรีระ ที่มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา หลังพุทธปรินิพพานได้เจ็ดวัน พระบรมศพของพระบรมศาสดา ได้ยกขึ้นตั้งบนจิตตากาธาร พร้อมที่จะถวายพระเพลิง วันนั้นบริเวณอารามชานเมืองกุสินาราเต็มไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศที่เดินทางมาเพื่อร่วมงาน ในส่วนของกษัตริย์มัลละที่ถือว่าเป็นเจ้าภาพใหญ่ ต้องการจะเป็นผู้ที่ถวายพระเพลิงเป็นคนแรก แต่ก็ทำไม่สำเร็จจุดไฟอย่างไรก็จุดไม่ติด
พระอนุรุทธะซึ่งได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เลิศทางทิพยจักขุหรือผู้มีตาทิพย์ จึงเป็นผู้ให้คำตอบถึงสาเหตุที่จุดไฟไม่ติดว่าเพราะเทวดากำลังรอพระมหากัสสปะที่กำลังเดินทางมา จึงจำเป็นต้องรอต่อไป
พระมหากัสสปะจึงเป็นเหมือนประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อพระมหากัสปะเดินทางมาถึง ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/157/156) บรรยายไว้ว่า “ครั้งนั้นท่านพระมหากัสสปเข้าไปถึงมกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ในเมืองกุสินารา และถึงจิตกาธารของพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วกระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณจิตกาธารสามรอบ แล้วเปิดทางพระบาท ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แม้ภิกษุ 500 รูปเหล่านั้น ก็กระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมอัญชลี กระทำประทักษิณสามรอบแล้วถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า เมื่อท่านพระมหา กัสสปและภิกษุ 500 รูปนั้นถวายบังคมแล้ว จิตกาธารของพระผู้มีพระภาคก็โพลงขึ้นเอง
วันอัฏฐมีบูชา จึงเป็นเหมือนการไปร่วมงานศพ บุคคลที่แม้จะเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ก้ยังต้องจากโลกนี้ไปเหมือนกับทุกคน ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวคาถาในวันปรินิพพาน(10/146/149) ความว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จักต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แต่พระตถาคตผู้เป็นศาสดาเช่นนั้น หาบุคคลจะเปรียบเทียบมิได้ในโลก เป็นพระสัมพุทธเจ้าทรงมีพระกำลัง ยังเสด็จปรินิพพาน”
สรรพสิ่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยงแน่นอน มีเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ดังที่ท้าวสักกเทวราชได้ตรัสคาถาในวันปรินิพพาน(10/147/149) ความว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป ความเข้าไปสงบสังขาร เหล่านั้น เป็นสุข”
ในวันอัฏฐมีบูชา วันแรมแปดค่ำค่ำเดือนวิสาขะ พุทธสรีระได้ถูกยกขึ้นที่จิตการธาร เมื่อไฟลุกโพลงขึ้น ขันธ์ห้าคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และมหาภูตรูปทั้งสี่คือปฐวีธาตุ อโปธาตุ เตโชธาตุและวาโยธาตุ ก็ถูกเปลวไฟเผาไหม้มอดดับไป พระพุทธองค์ปรินิพพานหมดสิ้นอาสวกิเลสแล้ว แต่ทว่าเพราะพระกรุณาคุณที่พระพุทธองค์หวังให้สรรพสัตว์ทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ที่แผดเผาอยู่ภายในจิตใจให้เบาบางและจางหายไป ได้พบกับสันติสุข จึงได้แสดงธรรมบอกทางในการปฏิบัติเพื่อวิมุติหลุดพ้น แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานกว่าสองพันห้าร้อยห้าสิบแปดปีแล้ว แต่พระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ยังเป็นเหมือนสะพานที่พร้อมจะนำพาสรรพสัตว์ก้าวพ้นจากสังสารวัฏฏ์
วันอัฏฐมีบูชา จึงเป็นเหมือนกับการไปร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบรมศาสดา ผู้ชี้ทางสว่างแก่ชาวโลก อีกไม่นานแม้ตัวเราเองก็ต้องมีสภาพไม่ต่างจากคนอื่นต้องทิ้งร่างวางขันธ์ให้เปลวไฟมอดไหม้เหลือแต่เถ้าถ่านต่อไป จะเหลือไว้ก็แต่บุญกรรมที่เราได้สร้างไว้ในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่เท่านั้นที่จะเป็นทางเดินให้เราก้าวไปในภพภูมิตามบุญที่เราทำ และกรรมที่เราสร้าง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
09/06/58