ในเทศกาลวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนได้มาร่วมทำบุญถวายภัตตาหารเช้าแก่พระภิกษุสามเณรที่วัดมัชฌันติการามจำนวนมาก วัดมัชฌันติการามมีกิจกรรมอย่างหนึ่งในเทศกาลวันวิสาบูชาของทุกปีคือการถวายสลากภัตผลไม้ โดยเน้นที่ทุเรียน บางครั้งจึงเรียกสลากภัตรประเภทนี้ว่า “สลากภัตทุเรียน” เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานแล้ว แม้ว่าปัจจุบันชาวบ้านบริเวณรอบๆวัดจะไม่ค้อยได้ทำสวนทุเรียนเหมือนในอดีตแล้วก็ตาม แต่การถวายสลากภัตทุเรียนยังคงดำเนินมาทุกปี
เดินออกจากศาลาการเปรียญ อุบาสกท่านหนึ่งเอ่ยถามขึ้นว่า “หลวงตาครับ การทำบุญถวายสลากภัตทุเรียนจะได้อานิสงส์อะไร”
ตอนนั้นตอบคำถามนั้นสั้นๆว่า “บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้” คิดหาคำตอบที่มากกว่านั้นไม่ออก เนื่องจากในอดีตชาวบ้านในบริเวณนี้ทำสวนผลไม้ ที่ปลูกมากที่สุดคือทุเรียน แม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงมากเหมือนทุเรียนเมืองนนท์ แต่ทว่าพื้นที่ก็คาบเกี่ยวกับจังหวัดนนทบุรี ผู้คนในอดีตจึงนิยมเรียกทุเรียนที่ปลูกไว้ว่าทุเรียนเมืองนนท์เหมือนกัน รสชาติหวานหอม ราคาดี การที่ชาวสวนนำทุเรียนมาถวายพระสงฆ์จึงถือเป็นการถวายทานวัตถุที่หายาก และเชื่อกันต่อมาว่าการถวายทานจากของที่หายากย่อมได้อานิสงส์มากตามไปด้วย
ตอนนั้นมีงานเร่งด่วนอย่างอื่นจึงไม่ได้ตอบคำถามของอุบาสกท่านนั้น เมื่อว่างจากภารกิจจึงกลับมาพิจารณาว่า การทำบุญนั้นในพระไตรปิฎกแสดงไว้อย่างไรบ้าง ก็พอจะได้คำตอบจากคัมภีร์พระไตรปิฎกตามที่จะพอมีเวลาค้นคว้า
การทำบุญในพระพุทธศาสนานั้นมีมากมายหลายแบบ มีให้เลือกกระทำได้ตามแต่ใครจะเลือกทำ การทำบุญมิได้จำเพาะเจาะจงเพียงแค่การบริจาคทานอย่างเดียวเท่านั้น ในบุญกิริยาวัตถุแสดงไว้ถึงสิบประการ นั่นแสดงว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นย่อมมีทางเลือกมากมายในการเลือกกระทำในสิ่งที่ตนถนัด บาคนไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาล ที่พร้อมจะให้บริจาคเพื่อทำบุญเหมือนคนอื่นๆ คนจนคนรวยมีสิทธิเท่าเทียมกันในการทำบุญ ไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียวก็ทำบุญได้
คำว่า “บุญ” ภาษาบาลีแปลได้หลายความหมาย มาจากคำว่า “ปุญญ” คำนามนปุงสกลิงค์คือไม่ได้ระบุว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย เป็นคำกลางๆแปลว่า “ความผ่องแผ้วแห่งดวงจิต ความสะอาด ความสุข ความดี”
เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สรวมใส่มานานย่อมสกปรกเต็มไปด้วยคราบเหงื่อไคลต่างๆ จำเป็นจะต้องซักฟอก ล้างด้วยน้ำเพื่อให้คราบต่างๆหมดไป แม้ว่าเสื้อผ้านั้นจะค่อยๆหมดความใหม่ แต่ก็ได้ความสะอาดที่พร้อมจะใช้งานได้อีก อาคารบ้านเรือนต่างๆหากไม่หมั่นทำความสะอาดก็ย่อมจะรกสกปรกเต็มไปด้วยฝุ่นละอองที่ทับถมลงไป ไม่เหมาะกับการเป็นที่พักอาศัยต่อไป จึงเป็นต้องทำความสะอาดให้มีความพร้อมสำหรับการเป็นที่พักพาอาศัย
สิ่งภายนอกต่างๆเมื่อสกปรกย่อมมองเห็นได้โดยง่าย แต่หากจิตใจของเราสกปรกเต็มไปด้วยฝุ่นละออง หรือสิ่งสกปรกต่างๆ คนอื่นก็ไม่อาจจะมองเห็นได้ เพราะคนใจสะอาดหรือใจสกปรกไม่อาจดูได้จากการแสดงออกได้ บางครั้งสิ่งที่แสดงออกอาจจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาเป็นก็ได้ มนุษย์นั้นมีธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่งคือปากกับใจไม่ค่อยตรงกันปากพูดอย่างแต่จิตใจคิดไปอีกอย่าง การจะตัดสินมนุษย์จากการพูดหรือการกระทำเพียงอย่างเดียวนั้นทำได้ยาก
การทำบุญภาษาบาลีเรียกว่า “ปุญญกิริยา” หรือ “ปุญญกมฺม” หากเป็นเรื่อง เป็นสิ่งของหรือพื้นที่ของการทำบุญก็จะมีคำเรียกโดยรวมว่า “ปุญญกิริยาวัตถุ” ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/228/170) ได้แสดงบุุญญกิริยาวัตถุไว้สามประการคือ (1) ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน (2) สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล(3) ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
ในอรรถกถาสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม 3 ภาค 2 หน้าที่ 312 แสดงบุญกิริยาวัตถุเพิ่มขึ้นอีกเจ็ดประการความว่า “บุญกิริยาวัตถุอย่างอื่นมีอีกเจ็ดอย่างคือบุญญกิริยาวัตถุอันประกอบด้วยความเคารพยำเกรงประกอบด้วยการขวนขวาย (ช่วยทำกิจของผู้อื่น)การให้ส่วนบุญ การอนุโมทนาส่วนบุญ อันสำเร็จด้วยการแสดงธรรม อันสำเร็จด้วยการฟังธรรม บุญกิริยาวัตถุคือ การทำความเห็นให้ตรงดังนี้
บุญกิริยาวัตถุเจ็ดอย่างเหล่านี้พึงทราบว่ารวมเข้าได้กับบุญกิริยาวัตถุสามอย่างข้างต้นนั่นเอง ในที่นี้ความเคารพ ยำเกรง และการขวนขวาย(ช่วยทำกิจของผู้อื่น) รวมลงได้ในสีลมัยบุญกิริยาวัตถุ
การให้ส่วนบุญ และการอนุโมทนาส่วนบุญ รวมลงได้ในทานมัยบุญกิริยาวัตถุ
การแสดงธรรม และการฟังธรรม รวมลงได้ในภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ
การทำความเห็นให้ตรงรวมลงได้ทั้งสามอย่าง
ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต (23/126/245) ก็แสดงบุญกิริยาวัตถุไว้สามประการความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ สามประการนี้คือ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา
ในพระสูตรนี้มีคำอธิบายเกี่ยวกับอานิสงส์ของการทำบุญทั้งสามประการไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไปเขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลพอประมาณ ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์
ผู้ใดปรารถนาจะทำบุญประการใดย่อมสามารถเลือกได้ตามที่ตนเห็นว่าสมควร การให้ทานเป็นเครื่องชำระจิตใจไม่ให้ความตระหนี่เข้าครอบงำ ผู้ใดที่มีจิตใจยินดีในการให้ บุญก็เกิดแก่ผู้นั้น ส่วนผู้ใดที่ต้องการทำความสะอาดอิริยาบถทางกายให้มีความเหมาะสมกับสถานะ เหมาะกับสภาวะ มีความเป็นปรกติทางกายและวาจาก็ให้รักษาศีล เคารพกติการักษามารยาท ย่อมมีกิริยาอาการที่งดงามเหมาะสมกับสภาวะของตน ส่วนผู้ใดที่ต้องการชำระจิตใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ก็ให้เลือกทำบุญที่เรียกว่าภาวนา โดยการเลือกกำหนดสภาวธรรมตามที่เห็นสมควร ทำใจให้สงบ และพิจารณาถึงความเกิด ดับแห่งสภาวะทั้งหลาย จิตใจย่อมได้รับการขัดเกลาตามสมควร
บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ ผู้ใดประพฤติปฏิบัติตนให้พอเหมาะพอควรย่อมได้รับอานิสงส์ตามสมควรแก่การปฏิบัติ มีพระพุทธดำรัสแสดงถึงการให้ย่อมได้บุญไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/127/159) ความว่า บุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้ เวรย่อมไม่ก่อแก่ผู้สำรวมอยู่ คนฉลาดเทียวย่อมละกรรมอันลามก เขาดับแล้วเพราะราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไป”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ททโต ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ สํยมโต เวรํ น วียติ
กุสโล ว ชหาติ ปาปกํ ราคโทสโมหกฺขยา นิพฺพุโตติ ฯ
นอกจากบุญย่อมเจริญแก่ผู้ให้แล้ว ผู้สำรวมระวังย่อมไม่ก่อให้เกิดเวร ส่วนผู้ที่ละกรรมอันอันลามก พยามยามกำจัด ลด ละกิเลสคือราคะ โทสะ โมหะย่อมถึงความดับสงบพบกับสันติสุข
จะทำบุญอย่างไร ทำแล้วได้อะไร บางทีผู้ที่ตั้งคำถามอาจจะไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่กำลังคิดหาวิธีการในการทำบุญที่ตนเองสะดวกที่สุด การทำบุญในพระพุทธศาสนามีหลายทาง มีหลายวิธี ใครถนัดทางไหนก็สามารถเลือกกระทำได้ตามที่ตนเห็นสมควร บางคนแม้ไม่ได้ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองมากมาย เพียงแค่ทำใจให้ยินดีอนุโมทนาส่วนบุญกับทานวัตถุที่ผู้อื่นให้ จิตใจก็เป็นสุขแล้ว ความสุขคือความหมายอย่างหนึ่งของคำว่าบุญ บุญคือความสุข บุญคือความดี ใครที่ทำอะไรแล้วมีความสุข คนนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนแห่งการทำบุญ ส่วนทำบุญแล้วบุญก็ย่อมเจริญแก่ผู้ให้นั่นแล
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/06/58