ครั้งแรกที่มองเห็นทุ่งนาใกล้ๆกับเจดีย์บรมพุทโธ อินโดนีเซียในช่วงที่ตะวันกำลังจะลับขอบฟ้า บัดดลนั้นกลับนึกถึงเพลงๆหนึ่งที่เคยได้ยินมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นหนุ่ม “มองลิบลิ่วแถวทิวพนา ใกล้ย่ำค่ำสนธยาหมู่นกกาก็คืนสู่รัง” ภาพของชาวนาที่เสร็จสิ้นภารกิจในการทำงานตลอดทั้งวันและพากันเดินกลับบ้าน “คุณพ่อเดินหน้า เราพากันเดินกลับบ้าน ท้ายสุดนั้นคือแฟนฉัน เมื่อก่อนนั้นรักปานจะกลืน” นักประพันธ์เพลงนี้ช่างสรรหาถ้อยคำที่ทำให้มองเห็นภาพของชาวนา ที่แม้จะทำงานหนัก แต่พอถึงเวลาคืนกลับสู่เคหสถานกลับมีบรรยายของความสุข เป็นความสุขของชาวไร่ชาวนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่ายและธรรมดาอย่างยิ่ง
ปัจจุบันภาพอย่างนั้นได้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ฝูงวัวควายเลาะเล็มหญ้าตามท้องทุ่งที่เคยชินตาในอดีต กลับเป็นภาพที่หายาก เพราะได้มีเครื่องจักรเข้ามาทำหน้าที่แทน ท้องทุ่งที่เคยมีฝูงควายเป็นเพื่อนก็มีรถไถนามาทดแทน ควายที่เคยไถนาก็ได้กลายเป็นสัตว์อนุรักษ์ไปแล้ว
อาจจะเนื่องเพราะไม่ค่อยได้เดินทางไปยังท้องทุ่งบ่อยนัก จึงไม่ค่อยได้เห็นภาพเก่าๆในอดีตที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำ สิ่งที่พบเห็นในปัจจุบันคือรถยนต์เต็มท้องถนนที่นำพาผู้คนกลับคืนสู่เคหสถาน สภาพที่การจราจรติดขัดจนชินตา อดีตกลับปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมากตามยุคสมัย เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน วิถีชีวิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย สรรพสิ่งล้วนต้องมีความผันแปรไปตามวันเวลา
ผู้เขียนเป็นลูกชาวนาขนานแท้ บรรพบุรุษล้วนประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา แต่ไม่ได้ทำนามานานกว่าสามสิบกว่าปีแล้ว หากไม่เดินออกมาจากวิถีชีวิตนั้น อนาคตก็น่าจะดำเนินรอยตามอาชีพของบรรพบุรุษ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้วางแผนอนาคตหรือเป้าหมายในชีวิตอันใดไว้ แต่ทว่าพ่อก็ได้ส่งให้เรียนหนังสือจนพอมีความรู้อยู่บ้าง จากนั้นก็นำความรู้นั้นมาเป็นฐานในการศึกษาจนสามารถเรียนจบชั้นสูงสุดของระบบการศึกษาในเมืองไทย จากอนาคตที่น่าจะเป็นชาวนาเลยต้องเปลี่ยนมาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยแทน
ชีวิตที่ผ่านมากับชีวิตที่เหลืออยู่จึงเป็นเหมือนการเดินสวนทางกับอดีต เป็นอดีตของลูกชาวนา ปัจจุบันไม่ได้ทำนา แต่ทำงานในห้องสี่เหลี่ยม มีอาชีพสอนหนังสือ ซึ่งก็เป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข เป็นความสุขที่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่เคยศึกษามาให้แก่คนอื่น เป็นความสุขของการเป็นผู้ให้
วันหนึ่งกลางเดือนพฤษภาคม ได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมคณะสงฆ์อินโดนีเซีย ที่เมืองเปอกันบารู เมื่อประชุมเสร็จเจ้าภาพก็พาไปเยี่ยมชมเจดีย์บรมพุทโธ มหาเจดีย์ที่เป็นศาสนสถานของพระพุทธศาสนา อันเป็นการบ่งบอกว่ากาลครั้งหนึ่งในอดีตพระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้มาก่อน แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป ความเชื่อเปลี่ยนไปสิ่งที่เคยยิ่งใหญ่ก็ถูกปรับเปลี่ยนจนผู้คนได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาใหม่ แต่ทว่าอนุสรณ์สถานไม่อาจลบล้างและทำลายได้หมดสิ้น จึงยังคงหลงเหลือไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา
เป็นขบวนเดินทางที่ไม่มีผู้นำทาง ไม่มีวิทยากรบรรยาย จะมีก็เพียงพระภิกษุชาวอินโดนีเซียสองรูปกับพระธรรมทูตไทยอีกสองสามรูปที่คอยจัดตารางการเดินทาง ซึ่งก็ทำงานกันได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร เพราะสถานที่ไม่ได้อยู่ห่างไกลกันมากนัก เช้าไปที่เจดีย์บรมพุทโธ ภาคบ่ายไปที่เจดีย์เมนดุด ตอนเย็นก็กลับมาพักที่สำนักสงฆ์ที่อยู่ใกล้กับเจดีย์นั่นเอง
มีช่วงเวลาหนึ่งที่พระธรรมทูตไทยที่จำพรรษาอยู่ที่อินโดนีเซียมานานเสนอว่า “วันนี้ยังมีเวลาหากใครอยากจะไปชมพระอาทิตย์ตกที่บริเวณเจดีย์ขอเชิญได้ ส่วนใครที่ต้องการพักผ่อนก็จะพาไปส่งที่วัดก่อน”
เมื่อได้ฟังกำหนดการอย่างนั้นทุกคนก็รีบขึ้นรถมุ่งหน้าสู่เจดีย์ทันที ไม่มีใครอยากกลับวัดในตอนนั้นเลย ทางเข้าไปชมพระอาทิตย์ในวันนั้นต้องขออนุญาตโรงแรมซึ่งอยู่ติดกับเจดีย์ ขณะนั้นทางโรงแรมกำลังจัดงานใหญ่นิมนต์พระสงฆ์จากทิเบตมาทำพิธีภายในโรงแรม พระสงฆ์ไทยเลยได้อานิสงส์ผ่านสะดวก
มองดูดวงอาทิตย์ที่สถิตอยู่เหนือองค์เจดีย์ คงต้องรอเวลาอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง ไม่อยากไปนั่งรอ จึงถือกล้องชวนเพื่อนพระภิกษุเดินเล่นไปทางทุ่งนาที่มีทิวไม้บดบังสายตาทำให้มองทัศนียภาพไม่ค่อยชัด แต่พอผ่านเงาไม้ไปก็ได้พบกับบรรยากาศของวิถีชีวิตชาวนา
ทุ่งนาที่ชาวนากำลังปักดำ ข้าวกล้าบางส่วนยังมีสีเขียวอ่อนๆรอวันเวลาที่จะงอกเงยและแตกใบออกรวงในวันข้างหน้า ชาวนาเดินไปตามคันนา เรียงแถวดุ่มเดินไปตามจังหวะชีวิต หลังจากที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน ได้เวลากลับคืนสู่สถานบ้านเรือน ควันไฟยังกรุ่นโรยตัวขึ้นเหนือหลังคาที่บ้าน ใครสักคนกำลังหุงหาอาหารเพื่อรอคนที่ทำงานหนักกลับมาร่วมวงอาหารเย็น
ฉากหลังหมู่บ้านเป็นทิวเขาสูงตระหง่าน ฝูงนกโผผินบินจรร่อนปีก รอเวลาตะวันลับฟ้าจะได้กลับคืนสู่รวงรัง บางตัวลูกน้อยคงกำลังตั้งตารออาหารจากพ่อแม่ เบื้องหน้าบริเวณเชิงเขายังมองเห็นยอดเจดีย์อันเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา มีชีวิตมีความเชื่อ ดำเนินชีวิตไปตามธรรมดาไม่แข่งขัน ไม่วุ่นวาย ดำรงอยู่ตามอัตภาพ เป็นวิถีชีวิตธรรมดาสามัญที่แสนจะเรียบง่ายแต่ทว่ากลับงดงาม
ชีวิตของสรรพสัตว์ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จะเอาอะไรกันนักหนากับชีวิต จะแก่งแย่งแข่งขันกันไปทำไม มีพออยู่พอกินก็น่าจะเพียงพอ ชีวิตชาวนาคงไม่ค่อยมีใครร่ำรวย แต่เป็นชีวิตที่มีความสุข มีข้าวกินมีดินอยู่ มีอู่นอน ไม่สร้างปัญหาให้ใครเดือดร้อน
การทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลง หลายสิ่งก่อกำเนิดขึ้นในขณะที่อีกหลายสิ่งกำลังเสื่อมสลายไป เป็นธรรมดาของโลก แม้หากโลกจะแตกสลายไปในชั่วขณะนี้ ก็ไม่เดือดร้อนใจ พร้อมที่จะอยู่และพร้อมที่จะไปได้ทุกเมื่อ แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็เพียงพอแล้ว ผู้ที่มีชีวิตแล้วพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็ประเสริฐแล้ว ดังที่แสดงไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรค(25/18/30)ความว่า “ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไป มีชีวิตอยู่วันเดียวประเสริฐกว่าบุคคล ผู้ไม่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ”
การเกิดขึ้น ดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาของโลก ใครที่หมั่นพิจารณาย่อมเห็นความจริงแท้ของสรรพสิ่ง ดูแต่เจดีย์บรมพุทโธนั่น ที่เคยเจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยหนึ่ง ผู้คนมีศรัทธายิ่งใหญ่ได้สรรสร้างเจดีย์ไว้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นซากแห่งอดีตที่เหลือไว้แต่ความทรงจำว่ากาลครั้งหนึ่งพระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้
ดวงอาทิตย์กำลังจะโบกมือลาขอบฟ้า ส่องแสงเป็นประกายสะท้อนกับจอดเจดีย์เกิดเป็นเงามะลังมะเลืองเหมือนภาพวาดของจิตกรเอกที่ยังเติมสีไม่เสร็จ เงาของเจดีย์สะท้อนกับแสงอาทิตย์เกิดเป็นเงาดำทะมึนเหมือนโลกกำลังจะถูกกลืนหายไปกับความมืดมิด มองดูเข้าขลังทรงพลังน่าศรัทธา น่าค้นหา แต่พอหันกลับมามองภาพของชาวนาธรรมดาสามัญที่กำลังเดินกลับเรือนนอนกลับดูงดงาม สดใส ไร้มายา เป็นความเรียบง่ายของการดำเนินชีวิต ทุ่งนาผลิตข้าวเป็นพลังหล่อเลี้ยงชีวิต ส่วนเจดีย์ให้จิตวิญญาณ มีชีวิตและจิตวิญญาณ ชีวิตก็ดำเนินต่อไปอย่างมีความสุขแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/05/58