หากจะนิยามคำว่า “ความสุข” จะนิยามว่าอย่างไร ความสุขคือความสบายกาย สบายใจ อยู่ดี กินดี คนโบราณเคยบอกว่า ได้ทำงานดี นั่งกิน นอนกิน นั่นคือความสุข แต่หากวิเคราะห์ให้ดี คำว่า “นั่งกิน นอนกิน” นั้นเป็นลักษณะของคนป่วย คนไม่สบาย แต่คนที่ทำงานหนักมักจะอยากพักผ่อนคือการได้นั่งกินนอนกิน จึงถือเป็นการพักผ่อนในความฝันที่อยากจะเป็น ส่วนผู้ที่นั่งกินนอนกินจริงๆ คงคิดในอีกมุมหนึ่งว่า หากได้เคลื่อนไหว ได้ออกเดินทางคงจะมีความสุข เพียงแค่คนสองคนที่อยู่ในสถานะต่างกันก็ให้คำนิยามของคำว่าความสุข แตกต่างกันแล้ว ถ้าอย่างนั้นความสุขจริงๆคืออะไร
ต้นเดือนพฤษภาคม มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ใครที่ไม่อยากซ้ำซากจำเจอยู่กับความคุ้นชินแบบเดิมๆ ก็ต้องหาทางเดินทางไปยังสถานที่แห่งใหม่หรือสถานที่ที่คุ้นเคยมาก่อน โดยมีข้ออ้างว่าไปเพื่อพักผ่อน ไปเพื่อท่องเที่ยวหาประสบการณ์ ส่วนผู้ที่แม้จะมีวันหยุดแต่ก็ยังนับเป็นวันทำงานก็ว่ากันไป มนุษย์แต่ละคนย่อมมีทางเลือกสำหรับการมีชีวิตอยู่เสมอ
ถนนหนทางในกรุงเทพมหานครว่างอีกครั้ง เพราะผู้คนส่วนหนึ่งเดินทางออกต่างจังหวัด อีกส่วนหนึ่งคอยากพักผ่อนอยู่กับบ้าน
แม้โลกจะกว้างใหญ่ไพศาล แต่ดูเหมือนว่าบางครั้งก็ไม่มีที่จะให้ไปเหมือนกัน มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปในที่ไกลได้ ประการแรกอยู่ที่ค่าใช้จ่าย ต้องบอกว่าแม้เงินจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตก็ตามทีเถิด แต่เงินก็สามารถซื้อบางสิ่งบางอย่างได้ อำนวยความสะดวกแก่การเดินทางได้
ช่วงวันหยุดยาวอย่างนี้น่าจะหาที่เดินทางไปยังสถานที่ที่อยากไป ไปพักผ่อนเพื่อจะได้มีกำลังกายกำลังใจในการทำงานต่อไป แต่ขอสารภาพว่าไม่มีที่จะให้ไปจริงๆ ไม่รู้จะไปไหน จึงตัดสินใจสะสางงานที่ยังค้างอยู่อีกจำนวนมากให้เสร็จในช่วงวันหยุดยาว
เพื่อนสมัยเรียนหนังสือด้วยกันคนหนึ่งชวนไปงานสวดพระอภิธรรมมารดาของเพื่อนอีกคนที่เคยเรียนห้องเดียวกันมาก่อน เป็นเพื่อนเก่าทั้งคู่ บ้านอยู่แถวบางใหญ่ อยู่ลึกเข้าไปในสวนและทุ่งนา มีลำคลองน้ำใสไหลผ่าน ชาวบ้านบริเวณนั้นส่วนหนึ่งประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกผัก ผลไม้ มีบางส่วนที่ยังทำงานราชการในเมืองใหญ่ แต่ก็ไม่ลำบากในการเดินทาง ถนนเรียบตามริมทุ่ง ไปมาสะดวก อาจจะมีปัญหารถติดบ้างาเมื่อเข้าสู่เมืองใหญ่
งานสวดพระอภิธรรมจัดที่บ้าน ซึ่งก็อยู่กลางทุ่งอีกนั้นแหละ เนื่องจากไม่คุ้นเส้นทางเกรงว่าอาจจะหลงทางได้ง่ายๆ จึงต้องไปก่อนจะเริ่มต้นหลายชั่วโมง ตั้งใจว่าหากไม่ได้อยู่ร่วมฟังการสวดอภิธรรมก็เพียงแต่ทักทายสนทนากับเจ้าภาพ จากนั้นก็ลากลับก่อนก็ได้
แต่ทว่าเมื่อไปถึงงานแล้ว ได้พบปะพูดคุยกับเจ้าภาพและผู้มาร่วมงานแล้ว ก็ต้องปล่อยเลยตามเลยอยู่รอฟังการสวดอภิธรรม งานเริ่มต้นตอนทุ่มครึ่ง
เพื่อนสมัยเรียนท่านนั้น ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่ชอบชีวิตแบบสมถะอยู่ตามธรรมชาติ จึงมีที่พักอยู่ในแวดวงของธรรมชาติ มีต้นไม้ใบหญ้า มีสระน้ำมีพืชผักผลไม้ให้เก็บกินได้ตามฤดูกาล เมื่อถามว่าชีวิตปัจจุบันเป็นอย่างไร
เขาเล่าให้ฟังสรุปว่า “ผมนอนตั้งแต่สามทุ่ม ตื่นตอนตีสามช่วงนั้นอากาศเย็นสบาย ได้กาแฟร้อนๆสักแก้ว จากนั้นก็นั่งทำงานคิดเขียนอะไรไปตามเรื่อง สมองมนุษย์ในช่วงเวลาอย่างนี้มักจะปลอดโปร่ง คิดอะไรก็ไว ใช้อะไรก็สะดวก หากยังง่วงอยู่ก็เดินเล่น รดน้ำต้นไม้ ฟังเสียงนก เสียงกาที่กำลังจะตื่นเพื่ออกมาหาอาหาร เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆนะครับ ไม่ใช่ความสุขยิ่งใหญ่อันใด
ผมหุงหาอาหารเองเพื่อเตรียมอาหารให้แม่ใส่บาตรพระตอนเช้า แม่ผมชอบทำบุญใส่บาตรเป็นประจำ พูดจบก็หันไปที่โรงศพที่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพักนั่นเอง ตอนหลังเมื่อแก่มากขึ้นเดินไม่ไหว ผมก็รับหน้าที่ใส่บาตรแทน จากนั้นก็เดินทางไปทำงาน กลับมาอีกทีก็มืดค่ำแล้ว อาบน้ำอาบท่า กินอาหารและพักผ่อนนอนหลับ ชีวิตเป็นไปในทำนองนี้แหละครับ อยู่สบายๆ ไร้กังวล มีงานก็ทำไป ไม่มีงานก็อยู่เฉยๆ แต่ผมมีงานทำตลอด เขียนหนังสือครับ เขียนตำราฝากไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า วิชาการไม่มีทางตันหรอกครับ วันนี้อาจจะดีที่สุดแล้ว แต่ในอนาคตอาจจะใช้ไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไร
เมื่อถามว่า “มีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข”
อดีตเพื่อนนักศึกษาท่านตอบสั้นๆว่า “ผมก็กำลังหาอยู่เหมือนกันครับ หากพระคุณเจ้ารู้จักวิธีก็บอกผมด้วย ผมว่านิยามของความสุขของแต่ละตนคงไม่เท่ากัน สำหรับผมแล้ว ตื่นแต่เช้า กินข้าวพอประมาณ ทำงานตามกำลัง ออกเดินทางบ้างในบางโอกาส” เพียงเท่านี้ชีวิตก็พอจะมีความสุขตามสมควรแก่อัตภาพแล้วครับ
นิยามของความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกันจริงๆ แม้แต่เทวดาก็ยังนิยามความสุขต่างกัน ดังที่มีแสดงไว้ในนันทนสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/24-25/7) ความว่า ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่งแวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสร อิ่มเอิบ พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ พวกนางอัปสรบำเรออยู่ในสวนนันทวัน ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า เทวดาเหล่าใดไม่เห็นนันทวัน อันเป็นที่อยู่ของหมู่นรเทพ สามสิบผู้มียศ เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักความสุข”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้ย้อนกล่าวกะเทวดานั้นด้วยคาถาว่า ดูกรท่านผู้เขลา ท่านย่อมไม่รู้จักคำของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นสุข”
แม้แต่เทวดาก็นิยามความสุขต่างกัน จะป่วยกล่าวไปไยถึงหมู่มนุษย์เล่า มีหลายเชื้อชาติ มีหลายภาษา มีหลากหลายวัฒนธรรม ก็ย่อมนิยามความหมายของคำว่า “ความสุข” แตกต่างกันไป
การมีวันหยุดหลายวัน ไม่ได้เดินทางไปไหน อยู่สบายๆที่กุฎีที่พักที่ไม่ค่อยจะได้อยู่เท่าใดนัก ช่วงนี้มีเวลาก็ใช้ชีวิตตามที่ควรจะเป็น แม้จะไม่ได้นอนแต่หัวค่ำ แต่ก็พยายามตื่นตอนหกโมงเช้าทุกวัน กิจวัตรประจำวันแทบไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ชีวิตเรียบง่าย กลางวันอ่านหนังสือ หรืออาจจะเขียนบทความบ้าง จากนั้นก็มีเวลาคิดงานอื่นๆ ชีวิตบางครั้งก็ไม่จำเป็นจะต้องทำในสิ่งที่มีสาระทุกอย่าง ทำในสิ่งไร้สาระบ้างก็ได้ มีเวลาว่างอยู่กับปัจจุบันบ้าง
คิดถึงชายชราคนหนึ่งบริเวณทางเข้าไปสู่กูฏาคารศาลา วัดป่ามหาวัน เมืองไพศาลี เขาจะสอนหนังสือให้แก่เด็กนักเรียน โดยใช้สถานที่ใต้ร่มไม้เป็นโรงเรียน นักเรียนก็คือพวกลูกหลานของชาวบ้าน แต่งตัวกันตามสะดวก เรียนกันตามสบาย วันนั้นได้เข้าไปพูดคุยสนทนากับครูคนนั้น เขาบอกว่า “เรียนฟรีครับ ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ผมก็ไม่รับค่าสอน สงสารพวกเด็กๆนะครับ พวกเขาเป็นอนาคตของชาติ หากคนในชาติขาดการศึกษาก็อย่างหวังว่าจะเห็นความเจริญ เพียงแค่เห็นเด็กๆพวกนี้สามารถสนทนาโต้ตอบกับนักท่องเที่ยวเป็นภาษาอังกฤษได้ผมก็พอใจแล้ว รุ่นพี่บางคนสามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐได้ และประกอบอาชีพตามที่ตนได้ศึกษามา การได้เห็นความสำเร็จของลูกศิษย์ ผมก็มีความสุขแล้ว แม้จะเป็นความสุขเล็กๆน้อยก็ตามทีเถิด”
เวลาเย็นแสงอาทิตย์เริ่มจางลง อากาศที่ร้อนตอนกลางวันก็เริ่มมีลมรำเพยพัด ทำให้ความร้อนบรรเทาเบาบางลง ธรรมชาติก็ไม่ได้โหดร้ายเกินไป ในยามที่ร้อนระอุก็ยังมีกระแสลม เสียงเพลงจากเด็กข้างกุฎีแว่วมากับสายลมในยามสายัณห์ “ใจสู้หรือเปล่า ไหวไหมบอกมา โอกาสของผู้กล้า ศรัทธาไม่มีท้อ” เพลงนี้เก่ามากแล้ว แต่เนื้อหาในบทเพลงเป็นเรื่องของคนใจสู้ หากใจสู้ ไกลแคไหน ก็ไปถึง หากใจไม่สู้ แม้จะใกล้ ก็เหมือนไกล” เช่นเดียวกับความสุข หากวิ่งหาก็เหมือนยิ่งห่าง แต่พอไม่แสวงหา ความสุขกลับอยู่ใกล้ๆ เพียงแค่ได้ทำในสิ่งที่รัก ได้พักในยามเหนื่อยล้า ความสุขก็มาเยี่ยมกรายแล้ว
เสียงจักจั่นส่งเสียงร้องหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ที่นี่ก็ไม่ได้เงียบเหงาเกินไป ยังมีเพื่อนร่วมโลกอีกมากมายที่สถิตอยู่ใกล้ๆ เสียงนกร้องเรียกหาฝูงเพื่อชวนกันกลับรวงรัง นกพิราบบางตัวยังจิกกินอาหารที่ข้างกุฎี เจ้าแมวดำยังมาคลอเคลียอยู่ข้างๆ ชีวิตในวันหยุดอยู่กับปัจจุบันกาลก็มีความสุขพอประมาณได้เหมือนกัน ความอยู่ใกล้ๆเรานี่เอง ไม่ต้องแสวงหา ไม่ต้องดิ้นรน เพียงแต่เปิดใจยอมรับสภาพความเป็นจริง ก็มีความสุขเล็กๆน้อยๆตามสมควรแก่อัตภาพแล้ว
การใช้ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบเดินไว บางคนชอบเดินช้า บางคนมองไปข้างหน้าวิ่งหาความสุข แต่บางคนหยุดอยู่กับปัจจุบัน ทำในสิ่งที่ตนชอบ ประกอบในสิ่งที่ตนรักก็ถือว่าเป้นความสุขแล้ว แม้มนุษย์จะแตกต่างกัน แต่ทว่ารสชาติแห่งความสุขคงไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะนิยามคำว่า “ความสุข” ไว้อย่างไร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/05/58