สมัยก่อนหากขอบฟ้าเบื้องบุรพทิศเริ่มมีสีเรื่อเรือง สีแสดอ่อนๆจนเริ่มจะแปรเป็นสีทองส่องฟ้า ชาวไร่ชาวนาก็มักจะแบกไถไล่ต้อนวัวควายออกจากคอก เดินทางมุ่งหน้าสู่ท้องไร่ท้องนาเพื่อทำการไถ่ไร่ไถนา ปรับแต่งพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหาร ค่อยๆทำตามสบายไม่ต้องรีบร้อน บางครั้งก็นั่งรอฝน หากฝนยังไม่มาก็จะทำการเพาะปลูกอะไรไม่ได้ ชีวิตของชาวไร่ชาวนาในอดีตจึงมักจะมีคำเรียกขานว่า “รอฟ้ารอฝน” เมื่อไหร่ฝนมา เมื่อนั้นก็เริ่มฤดูกาลเพาะปลูกได้
ปัจจุบันวิถีชีวิตชาวไร่ชาวนาเปลี่ยนไปมาก จากแอกไถและวัวควาย ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นรถไถนาซึ่งสามารถทำงานแทนวัวควายได้แทบทุกอย่าง เช่นไถไร่ไถนาบนพื้นดินที่แห้งผากโดยไม่ต้องรอฝนหลั่งจากฟากฟ้า ดูเหมือนชาวไร่ชาวนาในสมัยปัจจุบันจะมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานง่ายกว่าสมัยก่อน รายได้น่าจะดีกว่าเดิม
พื้นที่บริเวณหุบเขาถูกชาวบ้านแผ้วถางจนโล่งเตียน เพื่อใช้เป็นแหล่งทำมาหากินโดยการปลูก พืชผักผลไม้ ที่ชาวไร่ถิ่นนั้นนิยมปลูกมีหลายชนิดเช่น หากเป็นพืชหลักก็จะเป็นพวกอ้อย มันสำปะหลัง หากเป็นพืชประเภทปลูกชั่วคราวเป็นพืชล้มลุกปลูกหมุนเวียนมีหลายประเภทเช่นหอม กระเทียม ถั่วลิสง มะเขือ พริก มะเขือเทศ ส่วนพืชอีกประเภทหนึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างพืชล้มลุกกับพืชยืนต้น ปลูกครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้หลายครั้งเช่นมะขาม มะละกอ กล้วย เป็นต้น
เมื่อครั้งที่เดินทางไปอินเดียครั้งหนึ่งได้เมล็ดมะขามป้อมติดกระเป๋ามาหลายลูก ไม่ได้มีเจตนาทำผิดกฎแห่งการเดินทางต่างประเทศแต่ประการใด เผลอเก็บมะขามป้อมจากภูเขาคิชฌกูฎ ราชคฤห์ไว้ในกระเป๋าเดินทางแล้วก็ลืม พอกลับถึงเมืองไทยทำการเปิดกระเป๋าจึงได้พบเมล็ดมะขามป้อมซึ่งมีลูกโตมากอยู่สี่ห้าลูก เคยทดลองเพราะพันธุ์ที่วัดในกรุงเทพ แต่ก็เพราะไม่ขึ้น สภาพดินฟ้าอากาศคงไม่เหมาะสำหรับการมะขามป้อมพันธุ์นี้
จึงลองนำไปฝากหลวงตารูปหนึ่งที่มีวัดอยู่บริเวณเชิงเขาให้ลองเพาะพันธุ์ดุบ้าง เผื่อว่าบางทีสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่คล้ายๆกับที่เขาคิชฌกูฏอาจจะทำให้มะขามป้อมแตกหน่อได้บ้าง
กลับไปคราวนี้แวะไปหาหลวงตาท่านบอกว่ามะขามป้อมชุดนั้นกำลังแตกหน่อโตขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าหากนำไปปลูกจะติดต้นหรือไม่ หากมีผลจะมีรสชาติอย่างไร มะขามป้อมลูกใหญ่จากราชคฤห์ พอถึงเมืองไทยจะมีรูปร่างและรสชาติอย่างไร ตอนนี้กำลังรอดูผลงานของหลวงตาที่วัดป่า
พืชพันธุ์บางชนิดสามารถเพาะปลูกได้ในสภาพพื้นที่บางแห่งเท่านั้น หากนำไปในสถานที่อื่นจะเพาะพันธุ์ไม่ติด หรือหากติดรสชาติก็ไม่เหมือนกับถิ่นเก่าที่เคยอยู่ เช่นทุเรียนเมืองนนท์ มักจะมีอยู่เฉพาะที่จังหวัดนนทบุรี มีรสชาติหอมหวาน ราคาลูกละหลายพันบาท ผู้ที่ต้องการก็ต้องสั่งจอง เจ้าของต้องนอนเฝ้า มีของดีราคาแพงก็ต้องคอยดูแลรักษาอย่างดี แต่พอนำไปปลูกที่อื่น แม้จะเป็นทุเรียนพันธุ์เดิม แต่ทว่ารสชาติกลับแตกต่างไป
ในพระพุทธศาสนามีคำสอนถึงการผลของการกระทำย่อมมาจากการกระทำของแต่ละคน ทุกคนมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เหมือนการปลูกพืชเช่นใดก็ย่อมพืชเช่นนั้น ดังที่แสดงไว้ในเวนสาขชาดก ขุททกนิกาย ปัญญจกนิบาต(27/713/166) ความว่า “ “บุคคลทำกรรมใด ย่อมมองเห็นกรรมนั้นในตน ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ยานิ กโรติ ปุริโส ตานิ อตฺตนิ ปสฺสติ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ รุหเต ผลํ ฯ
มะขามป้อมที่ฝากหลวงตาเพาะพันธุ์ไว้ กำลังแตกหน่อ แต่ก็ยังเล็กอยู่ ต้องรอดูอีกสักพักว่าหากนำไปปลูกแล้ว จะมีผลโตเหมือนเผ่าพันธุ์เดิมหรือไม่ และจะมีรสชาติเป็นอย่างไร แม้ว่าบุคคลหรือสรรพสัตว์จะเป็นไปตามกรรมหรือการกระทำ แต่สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการกระทำคือสภาพแวดล้อม
คนบางคนแม้จะมีกรรมพันธุ์ไม่ค่อยดีนัก พ่อแม่อาจจะเคยทำกรรมชั่วมามาก แต่ลูกเติบโตในสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ก็ย่อมปลูกฝังคุณงามความดีอยู่ในจิตใจเพิ่มขึ้นทุกวัน ในอนาคตเขาย่อมจะเป็นไปตามการกระทำของเขาเอง สัตว์ป่าดุร้ายบางชนิดยังสามารถนำมาฝึกฝนให้เชื่องได้ เกิดเป็นมนุษย์ทั้งทีทำไมจะฝึกฝนให้เป็นคนดีไม่ได้
เมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า แสงเรื่อเรืองจับขอบฟ้าทางทิศตะวันออก พระสงฆ์ออกโคจรบิณฑบาต เดินผ่านไร่ของชาวบ้าน พืชผักผลไม้กำลังงาม ชาวบ้านส่วนหนึ่งอยู่ในไร่ คงกำลังเฝ้ารอผลผลิตที่กำลังเติบโต ชีวิตและลมหายใจของพวกเขาผูกพันธุ์อยู่กับผลิตผลที่กลังเจริญงอกงาม
รถไถนาถูกดัดแปลงเป็นรถโดยสารสี่ล้อ กลายเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกผู้คนและบรรทุกผลผลิต ถูกนำมาใช้แทนเกวียนที่ลากด้วยโคและควายในสมัยก่อน ปัจจุบันชาวไร่ชาวนาไม่ต้องรอฟ้ารอฝนอีกแล้ว พร้อมเมื่อไหร่ก็ลงมือทำงาน ปลูกพืชพรรณธัญญาหารตามที่ตนเลือกสรรแล้วได้ทุกเวลา เมื่อน้ำท่ามีพร้อม ดินอุดมสมบูรณ์ดี น่าจะปลูกพืชได้ผลผลิตตามพันธุ์พืชที่ตนเลือกสรรแล้ว หว่านพืชเช่นใดก็ได้ผลเช่นนั้น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
24/04/58