ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

         แม้ว่าแดดยามบ่ายจะกำลังร้อนระอุ แต่ทว่าภูมิประเทศในภูผา ป่าเขาแห่งนี้ มีมุมที่หลบร้อนใต้ต้นต้นไม้ ใต้เงาไม้ที่แดดส่องผ่านทิวไม้มาไม่มากนัก จึงพอหลบเร้นปลีกตัวนั่งเล่นตามร่มไม้ชายป่าได้อย่างสบาย ทำให้ความร้อนจากแสงแดดพอบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง บางครั้งมีกระแสลมโชยมาแผ่วเบา นกเงียบเสียง คงหลบร้อนพักผ่อนใต้ร่มเงาของป่าเขาลำเนาไพร รอเวลาที่ความร้อนจางหายค่อยออกมาแสวงหาอาหารพอให้ชีวิตดำเนินต่อไป ชีวิตใต้เงาผาและป่าเขาเป็นไปดั่งนี้

         บริเวณโดยรอบเป็นป่าทึบ ด้านหลังติดภูเขา ด้านหน้ามองเห็นไร่นาของชาวบ้านเป็นทุ่งโล่งเพราะชาวบ้านบุกเบิกแผ้วถางป่าเพื่อทำมาหากิน แต่บริเวณใต้เชิงเขายังเป็นป่าทึบ เพราะกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้สร้างวัดเพื่อรักษาป่า แม้ว่าพื้นที่ของวัดจะอยู่ด้านล่าง ใกล้ๆกับไร่ของชาวบ้าน พื้นที่ไม่มากนัก พอได้สร้างศาลาการเปรียญ กุฎีพระสงฆ์อีกสี่ห้าหลัง บริเวณเชิงเขาจึงเป็นสถานที่สำหรับประกอบศาสนพิธี มีศาลาหลังใหญ่ มีกุฎีสำหรับพระสงฆ์ที่อยู่ประจำ
            บริเวณเชิงเขาแม้จะไม่ใช่พื้นที่ของวัด แต่กรมป่าไม้ก็อนุญาตให้พระสงฆ์พักอาศัยอยู่ได้ เนื่องเพราะกุฎีบางหลังสร้างมาก่อนที่ทางการจะเข้ามา ดังนั้นวัดจึงมีสองส่วนคือส่วนที่อนุญาตให้สร้างวัดบริเวณด้านล่างหุบเขา  และส่วนที่อนุญาตให้อยู่ได้อยู่บนเชิงเขา

        ด้านบนมีภูเขาในภูเขามีถ้ำขนาดใหญ่ มีกุฎีอยู่สองสามหลังหลบซ่อนตัวอยู่ในหมู่แมกไม้ พระภิกษุที่ชอบความเงียบสงัดก็มักจะมาพักพาอาศัย บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตามกุฎีเก่าๆเหล่านี้  อากาศเย็นสบาย แม้ว่ากลางวันจะร้อนบ้าง แต่ช่วงกลางคืนอากาศหนาวเย็น เวลาพักผ่อนก็ไม่ต้องใช้พัดลมหรืออุปกรณ์ป้องกันความร้อนใดๆ เปิดหน้าต่าง เปิดประตูรับลม อากาศก็เย็นสบาย ดึกๆมาต้องหาผ้าห่มกันหนาว
         วันนั้นเวลาบ่ายอากาศกำลังร้อนระอุ กำลังนั่งเล่นอยู่ใต้เงาของทิวไม้เพื่ออาศัยร่มเงาของต้นไม้ พอคลายร้อน สายลมเย็นพัดมาแผ่วเบา บัดดลนั้นได้ยินเสียงทักทายจากทางด้านหลังว่า “นมัสการครับท่านอาจารย์ ผมมารบกวนเวลาไหมครับ”
 พูดจบก็ถือวิสาสะนั่งลงข้างๆ และเอ่ยคำสนทนาเหมือนปารภว่า “เย็นสบายดีนะครับ น่าจะเป็นปฏิรูปเทศ เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม”

         จึงถามว่า “หลวงพี่มาจากไหนครับ”
         “ผมจำพรรษาอยู่กรุงเทพครับ ช่วงนี้มาเยี่ยมญาติพี่น้องที่ตำบลนี้แหละครับ”
         “เมื่อกี้ผมได้ยินว่า “ปฏิรูปเทศ” เมื่อเป็นประเทศที่เหมาะสม ทำไมไม่อยู่พรรษาที่วัดป่าบริเวณนี้ครับ”

         พระภิกษุรูปนั้นจึงสาธยายว่า “ท่านอาจารย์ครับ บางที สถานที่บางแห่งก็เหมาะสำหรับคนบางคน ไม่เหมาะสำหรับใครอีกหลายคน ผมเรียนบาลีจบสอบได้เปรียญธรรมเจ็ดประโยค และศึกษาทางโลกจนจบปริญญาเอก ผมก็ต้องเลือกสถานที่ที่ผมจะได้ใช้ความรู้ ความสามารถที่อุตสาห์ศึกษาเล่าเรียนมาแทบตาย  จะให้ผมมาอยู่ในป่าในเขา นั่งคุยกับพวกสัตว์ป่าทั้งหลาย คงลำบานะครับ สถานที่แห่งนี้เหมาะสำหรับพระกรรมฐาน ที่ชอบบำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่า ตามถ้ำ ชอบความสงบสงัด คงไม่เหมาะสำหรับพระมหา ดร. อย่างผมหรอกครับ นานๆมาเยี่ยมและพักอยู่เพียงครู่ยามนะพอได้ แต่จะให้อยู่ประจำนั้น คงลำบาก เพราะสถานที่แบบนี้ไม่ได้เอื้อต่อวิชาการทั้งหลายที่ผมได้เรียนมา แต่ถ้าอยู่ที่กรุงเทพผมก็ยังมีโอกาสได้สอนหนังสือ ได้ถ่ายทอดสิ่งที่ได้ศึกษามาบ้าง ความรู้จะได้ไม่ได้สูญเปล่านะครับ ถ้าผมเลือกอยู่ที่ภูผาป่าเขาแห่งนี้มาแต่ต้น ป่านนี้คงเป็นชาวไร่ชาวนาเหมือนบรรพบุรุษนั่นแหละครับ” ท่านพระมหา ดร. สาธยายอย่างยืดยาวเหมือนกับเป็นคำตอบและคำอธิบายของคำว่า “ปฏิรูปเทศ”

         คำว่า “ปฏิรูปเทสวาส” คำนามเพศชายภาษาบาลี แปลว่า การอยู่ในประเทศอันสมควร การอยู่ในถิ่นที่เจริญ  ส่วนคำว่า “ปฏิรูป” เป็นคำคุณนาม แปลว่าเหมาะ ควร สมควร เหมาะสม หากมาพร้อมกับธรรมอีกสามประการจะเป็นเหมือนจักร มีอุปการะมากนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ดังที่แสดงไว้ในทสุตตรสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(11/400/293) ความว่า “ธรรมสี่อย่างที่มีอุปการะมากคือจักรสี่ได้แก่การอยู่ในประเทศอันสมควร  การคบสัตบุรุษ  การตั้งตนไว้ชอบ  ความเป็นผู้มีบุญกระทำไว้แล้วในปางก่อน ธรรมสี่อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก”
         คำว่า “จักร” มาจากภาษาบาลีว่า “จกฺก” คำนามไม่หญิงไม่ชาย แปลว่าล้อ ล้อรถ วงกลม เสนา พล กองทัพ อำนาจ อาชญา เขตแดน อาวุธรูปกลมมีคมเป็นเปลวโดยรอบ หากใครที่หวังจะก้าวไปข้างหน้าก็ต้องมีจักรหรือล้อหรืออำนาจที่พร้อมจะหมุนไป

         อีกอย่างหนึ่งการอยู่ในประเทศที่สมควร เป็นอุดมมงคลดังที่แสดงไว้ในขุททกนิกาย ขุทปาฐะ(25/6/3) ความว่า “การอยู่ในประเทศอันสมควร ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน การตั้งตนไว้ชอบ นี้เป็นอุดมมงคล”
 ข้อความในพระสูตรสองแห่งนี้มีแปลกกันที่คำว่า “การคบสัตบุรุษ” เท่านั้น ส่วนข้อความอีกสามเรื่องตรงกัน การอยู่ในประเทศอันสมควรจึงเป็นเบื้องต้นที่จะที่ให้มนุษย์ก้าวหน้าหรือถอยหลัง

         ภูมิประเทศ ในภูผา ป่าเขาแห่งนี้คงเหมาะสมกับพระผู้บำเพ็ญวิปัสสนา อย่างที่ท่านพระมหา ดร. ท่านนั้นสาธยายมา หากพระที่ศึกษาเล่าเรียนมามาก ก็ต้องเลือกภูมิประเทศที่ควรจะได้ใช้ความรู้ความสามารถตามสมควร ชีวิตจึงดูเหมือนมีค่า ใช้เวลาให้เป็นคุณ ช่วงที่ยังพอมีแรง มีกำลัง ก็น่าจะหาสถานที่ที่ได้ใช้ความรู้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้าง

         มัวแต่คิดอะไรเพลินๆ หันมาอีกที พระมหา ดร. ท่านนั้นไม่รู้จากไปตั้งแต่เมื่อใด เหลือเพียงเรานั่งตากแดดร้อนที่ลอดผ่านใบไม้เนื่องจากตะวันคล้อยผ่านทิวไม้ไปมากแล้ว คนเราแต่ละคนน่าจะมีภูมิประเทศอันเหมาะสมกับตนเอง เลือกที่จะอยู่ เลือกจะทำตามความสามารถของตนเอง ตัวเราเองจะน่าจะได้เวลาคืนกลับสู่ภูมิประเทศ สถานที่อยู่อันเหมะสมกับตนเองเสียที

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
21/04/58

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก