แม้จะเดินทางไปอินเดีย-เนปาลมาหลายครั้งแล้ว แต่ทว่าเหมือนโชคชะตาบังคับ ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทัศนศึกษาแต่ประการใด แต่หากมีคนเชิญก็มักจะเผลอรับปากเขาทุกที แม้ว่าสถานที่แห่งนั้นจะผ่านมาผ่านไปมาหลายรอบแล้วก็ตามที อินเดียเป็นประเทศที่ที่มีเสน่ห์ มีสิ่งที่น่าค้นหา มีคำถามเกิดขึ้นเสมอในการเดินทาง แม้ว่าบางครั้งจะเป็นคำถามเดิมๆ เช่นทำไมพระพุทธเจ้าจึงประสูติที่เนปาล (สมัยก่อนรวมเรียกว่าชมพูทวีป) ทำไมตรัสรู้ที่อินเดีย ทำไมจึงประกาศพระพุทธศาสนาเริ่มต้นที่อินเดีย ทำไมอินเดียจึงมีนักบวชมากมายหลายลัทธิ ทำไมเมืองพารณสีจึงยังรักษาวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมไว้ได้นานกว่าสี่พันปี แต่ทำไมพระพุทธศาสนาจึงหายไปจากอินเดียนานกว่า 700 ปี ทำไมและทำอีกหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
การเดินทางในแต่ละครั้ง แม้ว่าจะยังคงไปสถานที่เดิมๆคือสังเวชนียสถานสี่ตำบลคือลุมพินี พุทธคยา สารนาถ กุสินารา เป็นต้น ไปดูสถานที่เก่าๆที่พึ่งผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน แต่เมื่อไปเยือนสถานที่เหล่านั้นแล้วก็มักจะมีคำถามใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ หรือว่าบางครั้งก็เป็นคำถามเก่าๆที่ยังไม่พบคำตอบที่ถูกใจ
การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นจากสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) มีกำหนดการฝึกอบรมพระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 21/2558 มีการฝึกภาคศึกษาดูงานและนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย-เนปาล ในช่วงระหว่างวันที่ 21-29 มีนาคม 2558 ทางสำนักฝึกอบรมได้แต่งตั้งให้ร่วมเป็นกรรมการฝึกอบรมทั้งภาควิชาการและภาคศึกษาดูงาน จึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
ในส่วนของภาควิชาการได้รับมอบหมายให้บรรยายในรายวิชา “การประชาสัมพันธ์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา” บรรยายจบไปแล้ว แต่ภาคศึกษาดูงานพึ่งเริ่มต้น เมื่อได้รับมอบหมายก็ต้องทำหน้าที่ให้สมกับ “หน้า” ที่ได้รับมอบหมายมา มีคนบอกว่า มนุษย์มีสามหน้าคือ “หน้านอก หน้าในและหน้าที่”
หน้านอกบอกความงาม หน้าในบอกความดี และหน้าที่บอกความสามารถ ในส่วนตัวแล้วหน้านอกคงบอกอะไรไม่ได้เกิดมาไม่ได้มีรูปร่างน่าดูน่าชมนัก อ้วนๆเตี้ยๆ แถมผมบนศีรษะยังเหลือน้อยเต็มที คงนำหน้านี้ไปอวดใครเขาไม่ได้ หน้าในพอมีคุณงามความดีอยู่บ้าง บวชมานานหลายปี สร้างขันติบารมีไว้พอสมควร พออดได้ ทนได้ในทุกสถานการณ์ ส่วนหน้าที่มีหลายอย่างมีทั้งหน้าที่ประจำและหน้าที่จรมา หน้าที่ประจำก็พยายามทำหน้าที่เต็มความสามารถ แม้จะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ยังถือว่ายังพอมีดีอยู่บ้าง ส่วนหน้าที่พิเศษก็ต้องทำตามสมควร มนุษย์แต่ละคนหนี “หน้าทั้งสามประการ” นี้ไม่พ้น ก็ต้องทำตามสมควร
อินเดียมีอะไรดีทำไมจึงต้องเดินทางไปบ่อยๆ ไม่รู้สึกเบื่อหรืออย่างไร หากตอบตามความรู้สึก ก็ต้องบอกว่ามีอยู่บ้าง เพราะไปมาบ่อยแล้ว อยากไปในสถานที่ที่ยังไม่เคยไปมากกว่า แต่ชีวิตมนุษย์บางครั้งก็เลือกไม่ค่อยได้
เสน่ห์ของอินเดียส่วนหนึ่งโดยเฉพาะที่สังเวชนียสถานอยู่ที่ “การเดินช้า” ในที่นี้มีความหมายอย่างนั้นจริงคือวัฒนธรรมที่ผู้คนไม่เร่งรีบ อยู่กันตามประสาพอมีพอกิน หากสังเกตให้ดีที่ทุ่งนาตามทเมืองต่าง ยังมีผู้คนปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา ในช่วงฤดูหนาวตื่นเช้านั่งผิงไฟรับไออุ่นจากพระอัคนี หุงหาอาหารแบ่งปันกันกินไปตามมีตามเกิด อาหารแต่ละมื้อก็ไม่ได้พิเศษพิสดารอันใด มีจาปะตีคนละสองสามแผ่นกับเครื่องเคียงที่ทำจากมันเทศหรืออาลูตามภาษาท้องถิ่น ซอยหัวหอม พริกสด แตงสดเป็นอาหารประกอบ เสร็จแล้วก็ไปทำงานตามทุ่งนาป่าเขา กลับมาตอนเย็นก็เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาบ้าง ได้มีชีวิตอยู่ใกล้เทพเจ้าแทบจะทุกพื้นที่ ต้นไม้ก็มีเทพเจ้า พืชผักก็มีเทพเจ้าหรือไม่ก็เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้า
หากมองตามมุมของนักสิ่งแวดล้อมนี่คือการอนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์ต้นไม้ ไม่มีใครกล้าตัดต้นไม้เพราะมีเทพเจ้าอาศัยอยู่ ต้นไม้ก็มีโอกาสเจริญงอกงาม ให้ดอก ออกผลได้ คนก็ได้อาศัยร่มเงาของต้นไม้ อาศัยผลไม้เป็นอาหารต่อไปได้
สัตว์ต่างๆก็เป็นเทพเจ้า เช่นลิงก็ถือว่าเป็น “หนุมาน” เทพเจ้าองค์หนึ่งที่มีคนเคารพนับถือมาก แม้แต่ “วัว” ก็เป็นพาหนะของเทพเจ้า ใครจะทำอันตรายไม่ได้ ดังนั้นตามท้องถนนจึงเห็นวัวเดินเล่นอย่างสบายใจ ไม่มีใครไปทำร้ายวัวเลย หรืออาจจะมีบ้างที่บางคนนับถือศาสนาอื่นอาจจะมีความเชื่อแตกต่างกัน แต่โดยองค์รวม “วัว” ยังได้รับสิทธิพิเศษให้เดินเล่นตามถนน เหมือนกับรถยนต์ทั่วไป อินเดียจึงเป็นเมืองที่รถต้องหลีกวัว
ในเรื่องของวัฒนธรรมความเชื่อ ในสมัยพุทธกาลมีเจ้าลัทธิอยู่มากมาย มีบันทึกไว้ถึง 62 ลัทธิ ที่เรียกว่าทิฏฐิ 62 ประการ ปัจจุบันคงมีมากกว่านั้น เพราะในเมืองสำคัญที่เคยมีประวัติมายายนานเช่นเมืองพาราณสี ในแต่ละวันก็จะมีนักบวชจากลัทธิต่างๆมาบำเพ็ญตนที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคามากมาย ที่เมืองฤษีเกษ หรือตามภูเขาต่างๆหากได้เดินทางไปก็มักจะพบนักบวชประเภทต่างๆเดินทางจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ บางครั้งไม่รู้ว่าเขามีความเชื่ออย่างไรกันแน่ หรือกำลังจะสร้างเทพเจ้าองค์ใหม่ๆ ขึ้นมา อินเดียจึงเป็นเหมือนเมืองแห่งนักบวชพระฤาษี
ปัจจุบันโลกเจริญก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่เรามักจะได้ยินอยู่แทบทุกวันว่านั่นคือการพัฒนา ซึ่งมักจะมาพร้อมกับปัญหาอีกมากมาย มีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆเกิดขึ้นจนแทบจะคิดค้นยารักษาไม่ทัน มีขยะจากอุปกรณ์เครื่องใช้ของเทคโนโลยีล้นเมืองจนแทบจะหาทางกำจัดไม่ทัน ชีวิตมนุษย์ส่วนก็ต้องเร่งรีบให้เร็วขึ้นเพื่อจะได้ตามทันกับสิ่งที่เรียกว่าความเจริญ
แต่ก็ทำให้เกิดคำถามว่า โลกกำลังพัฒนาจริงหรือ โลกกำลังเจริญจริงหรือ เมื่อใดที่เราจะตามทันความเจริญเสียที มนุษย์มีเวลาอยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด มีเวลาเพียงร้อยปี หรือหากเกินร้อยปีไปก็คงทำอะไรไม่ได้แล้ว สิ่งที่ควรจะทำบางคนก็ยังไม่ได้ทำ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้บทหนึ่งในทำนองว่า มนุษย์มักถือเอาสิ่งที่ไร้สาระว่าเป็นสาระ ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ดังที่ปรากฏในยมกวรรค ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/11/14) ความว่า “ชนเหล่าใดมีความรู้ในธรรมอันหาสาระมิได้ว่าเป็นสาระและมีปกติเห็นในธรรมอันเป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้นมีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่บรรลุธรรมอันเป็นสาระ
ชนเหล่าใดรู้ธรรมอันเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และรู้ธรรมอันหาสาระมิได้โดยความเป็นธรรมอันหาสาระมิได้ ชนเหล่านั้นมีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมบรรลุธรรมอันเป็นสาระ”
การเดินทางไปอินเดียครั้งนี้กำลังจะหนีจากชีวิตที่รีบเร่ง ทำงานแข่งกับเวลา ไปสู่วีถีชีวิตที่ช้าลง บางทีในความช้าอาจจะเห็นสิ่งที่เป็นสาระแฝงอยู่ในการเดินทางก็ได้ การทำงานเร็วอาจจะทำให้ได้เงินที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่การไปช้าๆไปอย่างใจเย็นอาจจะได้เห็นชีวิต เข้าใจชีวิตที่บางครั้งเงินก็ซื้อไม่ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/03/58
หมายเหตุ: เว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนาราม เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดีย-เนปาล ร่วมกับพระภิกษุผู้เข้ารับการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธรรมยุต) รุ่นที่ 21/2558 ในช่วงวันที่ 18-29 มีนาคม 2558