ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เพื่อมุ่งหวังชัยชนะเหนือคู่แข่ง ในแต่ละวันหากเปิดโทรทัศน์ดู ก็มักจะเห็นการแข่งขันกีฬาหลายประเภท ซึ่งผลที่ออกมาอาจจะเป็นที่คาดเดาได้หรืออยู่นอกเหนือจากการคาดเดาก็ได้เกมกีฬาย่อมมีแพ้บ้าง ชนะบ้างหรือเสมอ ในการดำเนินชีวิตมนุษย์ก็ไม่ได้แตกต่างจากเกมกีฬามากนัก บางครั้งแพ้หมดรูป บางชนะชนะ แต่บางครั้งทั้งๆที่ทุ่มเทจนสุดความสามารถแล้วกลับไมได้อะไรเลย บางทีความสำเร็จอาจจะไม่ใช่ชัยชนะเสมอไป
มีนักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่งเรียนมาจวนจะครบห้าปีแล้ว แต่ยังทำวิทยานิพนธ์ไม่จบ แม้จะพยายามติดต่อเพื่อให้นักศึกษาคนนั้นเขียนวิทยานิพนธ์ให้จบ แต่กลับได้รับคำตอบกลับมาว่า “ผมไม่ได้เรียนเพื่อเอาปริญญาครับ ผมเรียนเอาความรู้” ฟังคำตอบแล้วก็ต้องอึ้ง ตามปกติคนที่เรียนก็มักจะมองที่เป้าหมายคือการเรียนจบตามหลักสูตร แต่นักศึกษาคนนี้กลับบอกว่าขอเพียงแค่ได้เรียนก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
คิดถึงสมัยที่เรียนปริญญาโท ตอนนั้นเกิดอาการเดียวกันกับนักศึกษาคนนี้คือเวลาจะครบห้าปีแล้ว แต่วิทยานิพนธ์ยังไปไม่ถึงไหน คิดอะไรไม่ออก เขียนต่อไม่ได้ ทั้งๆที่ใจก็อยากได้ จึงไปขอพบอาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อท่านอ่านวิทยานิพนธ์จบแล้ว ท่านก็บอกสั้นๆว่า “เพิ่มตรงนี้อีกนิด ตัดตรงนี้อีกหน่อย เอาส่วนเกินไปเพิ่มส่วนที่ลด เดือนหน้ามาพบอีกที”
กลับมาพิจารณาเนื้อหาค่อยๆคิดก็พบว่าเป็นจริงอย่างที่อาจารย์ปรึกษาแนะนำ จากนั้นก็เริ่มหาตำราและลงมือเขียน เขียนทุกวัน วันไหนที่คิดไม่ออกก็อ่านหนังสือ หาทางต่อเติมเสริมแต่งจนงานเสร็จเป็นเล่มและไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาอีกครั้งตามนัดหมาย และได้สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ก่อนหมดอายุนักศึกษาหนึ่งอาทิตย์ เป็นอันว่าสำเร็จตามเป้าหมาย
เนื่องจากเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวตรรกศาสตร์โดยมีแกนหลักอยู่ที่พระพุทธศาสนา จึงเป็นงานที่อยู่ในขอบข่ายของปรัชญาที่มีเนื้อหาจากพระพุทธศาสนา แม้จะเรียนจนจบตามหลักสูตรแต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไร เพียงแต่รู้สึกว่าได้เอาชนะใจของตัวเองแล้ว การเอาชนะความขี้เกียจของตัวเองได้นั่นคือความสำเร็จ ชัยชนะกับความสำเร็จน่าจะแยกจากกัน
คืนวันเสาร์รู้สึกผ่อนคลายสบายจิต เพราะรู้ว่าได้หมดภาระงาน ได้ทำหน้าที่สอนมาจนครบตามกำหนด งานที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของคนอื่นรับช่วงต่อไป กลับถึงที่พักจึงเปิดโทรทัศน์ดูอย่างสบายใจ มีการแข่งขันมวยชิงแชมป์โลก ผลปรากฏว่านักมวยไทยแพ้น็อค แต่ก็ยังเห็นรอยยิ้มหลังการแข่งขัน บ่งบอกเป็นนัยว่าเขาได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว แต่เมื่อยังดีไม่พอจึงต้องเป็นผู้แพ้
ช่วงดึกมีการแข่งขันฟุตบอลหลายคู่ ฟุตบอลเยอรมันเกมส์แข่งขันชนะกันมากเกินไป 3-0 แม้จะมีเวลาเหลืออยู่อีกหลายนาทีก็ไม่อยากดูต่อ หมุนไปอีกช่องเหลือเวลาอยู่อีกยี่สิบนาทีเกมส์ยังเสมอ 0-0 แต่ผ่านไปอีกสักพักทีมหนึ่งเหลือผู้เล่นสิบคน ทีมที่มีผู้เล่นมากกว่าจึงบุกถล่มอย่างหนัก ตอนนั้นจึงหันไปเชียร์ทีมที่มีผู้เล่นน้อยกว่าให้ยันเสมอให้ได้ มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นทีมที่มีผู้เล่นมากว่าเพิ่มกองหน้าลงไปถึงสองคน คงหวังผลชนะเต็มที่ และรูปเกมส์ก็น่าจะออกมาอย่างนั้น
ทีมที่มีผู้เล่นน้อยกว่าเปลี่ยนตัวผู้เล่นบ้างโดยเปลี่ยนกองหลังออกส่งกองหน้าลงมาแทน ในฐานะคนดูที่กำลังเชียร์ก็ต้องบอกว่าผิดหวัง เพราะแทนที่จะเปลี่ยนกองหลังกลับเปลี่ยนกองหน้าทั้งๆที่ผู้เล่นมีน้อยกว่า แค่ยันเสมอได้ก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว
เกมการแข่งขันยังคงดำเนินไปเช่นเดิมภาษาฟุตบอลก็ต้องบอกว่าพับสนามเล่น เพราะเล่นอยู่ฝ่ายเดียว กองหน้าที่ลงมาใหม่ได้ยิงประตูครั้งเดียว แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ สิ้นสุดการแข่งขันทั้งสองทีมเสมอกันไปโดยไม่มีใครยิงประตูได้
การเปลี่ยนผู้เล่นในตำแหน่งกองหน้าลงไปในสถานการณ์ที่เป็นรองของโค็ช กลับเป็นการคิดที่ถูกต้อง เพราะอย่างน้อยก็ยังเป็นตัวขู่ทีมคู่ต่อสู้ไม่ไห้บุกหนักจนเพลินเกินไป
ในเกมแห่งชีวิตหลายครั้งที่คิดว่าน่าจะชนะแต่กลับเป็นฝ่ายแพ้ ในการสอบแข่งขันที่มีผู้เข้าสอบหลายคน แต่มีเพียงคนเดียวที่จะได้รับการคัดเลือก ผู้แพ้ย่อมมีมากกว่าผู้ชนะ แต่บางครั้งชัยชนะอาจจะไม่ใช่ผู้ที่ชนะในสนามการแข่งขันก็ได้
มีเรื่องเล่าว่า ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เม็กซิโก ปี 1968 ตรงกับปีพุทธศักราช 2511 ในการแข่งขันวิ่งมาราธอนทางไกล 40 กิโลเมตร การแข่งขันจบลงไปแล้วมีผู้ชนะเข้าเส้นชัยพร้อมที่จะรับเหรียญรางวัล ซึ่งคงรอเวลาอยู่พอสมควร ในขณะที่ผู้ชนะกำลังจะขึ้นรับเหรียญ แต่ในเส้นทางของการวิ่งกลับมีนักวิ่งชาวเทนชิเนียคนหนึ่งนามว่า จอห์น สตีเฟน อาควารี (John Stephen Akhwari) กำลังวิ่งอยู่ในลู่วิ่ง เขาเป็นคนสุดท้ายที่ยังวิ่งไม่ถึงเส้นชัย เขาได้รับบาดเจ็บที่ขามีเลือดไหลออกมาตามขา แต่เขาก็ยังคงวิ่งหรือจะเรียกว่าเดินเพราะวิ่งได้ช้ามาก พยายามจนเข้าถึงเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายซึ่งไม่มีสิทธิ์ได้รับเหรียญรางวัลใดๆเลย แต่ทว่ากลับได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมทั่วทั้งสนาม เมื่อนักข่าวเข้าไปสัมภาษณ์ว่าทำไมยังคงวิ่งทั้งๆรู้ตัวว่าไม่มีทางชนะ เขาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังจากจบการแข่งขันว่า “ประเทศของผม ไม่ได้ส่งผมมาไกลถึง 5,000 ไมล์ เพื่อที่เพียงให้ผมแค่มาออกสตาร์ท แต่ประเทศของผม ส่งผมมาไกล 5,000 ไมล์เพื่อที่จะให้ผมวิ่งเข้าเส้นชัย”
นักวิ่งคนนี้ทำให้คนทั้งโลกเข้าใจคำว่า “การไม่ยอมแพ้” และ “ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องได้รับชนะ”เสมอไป แม้ว่าเขาจะไม่ได้รับเหรียญใดๆในการแข่งขันเลย แต่ชื่อของเขากลับมีคนรู้จักและจดจำได้มากกว่าผู้ที่ได้รับชัยชนะในการแข่งขันครั้งนั้นเสียอีก
แม้จะชนะคนทั้งโลก แต่ก็ไม่เท่ากับการชนะตนเองคนเดียว ดังที่แสดงไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/18/20) ความว่า "บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพันในสงคราม บุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงคราม ส่วนบุคคลใดพึงชนะตนผู้เดียว บุคคลนั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงสุดในสงคราม ตนแลอันบุคคลชนะแล้วประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ๆ อันบุคคลชนะแล้วจักประเสริฐอะไร
มนุษย์ย่อมต้องมีเป้าหมาย แต่การดำเนินไปสู่เป้าหมายนั้่นมีวิธีการแตกต่างกัน บางคนไปจนถึง บางคนไปไม่ถึง ระหว่างเป้าหมายกับทัศนียภาพในระหว่างการเดินทาง อันไหนสำคัญกว่ากัน บางคนมัวแต่มองตรงที่เป้าหมาย จนลืมชมความงามในช่วงระหว่างการเดินทาง เป้าหมายอาจจะหมายถึงความสำเร็จ แต่ช่วงที่กำลังเดินทางคือความสุข
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
15/03/58