วันมาฆบูชา เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ปีนี้ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม 2558 หน่วยงานทั้งทางราชการและเอกชนได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา วัดในพระพุทธศาสนาทุกวัดต่างก็มีกิจกรรมคือการทำบุญ การปฏิบัติธรรม การเวียนเทียนเพื่อระลึกนึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ อารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พรรษาที่สองที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จจำพรรษาที่เวฬุวนารามแห่งนี้ สำเนียงอินเดียออกเสียงเป็นเวนุวัน
วันเพ็ญเดือนมาฆะ(เดือนสาม) พระจันทร์วันเพ็ญส่องสว่างไปทั่วอาณาบริเวณ เวฬุวนารามได้มีพระภิกษุล้วนแต่เป็นพระอรหันต์จำนวน 1250 รูปมาชุมนุมกัน ต่างรูปต่างมาโดยมิได้มีการนัดหมายกันมาก่อน ทุกรูปล้วนได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรงที่เรียกว่า “เอหิภิขุอุปสัมปทา” วันนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้แสดงโอวาทปาฏิโมกข์อันเป็นการประการอุดมการณ์ หลักการและวิธีการของพระพุทธศาสนาให้แก่บรรดาพระภิกษุทั้งหลาย
ข้อความที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์ เท่าที่ค้นหาโดยสังเขปมีปรากฏในพระไตรปิฎกสองแห่งคือทีฆนิกาย มหาวรรค และขุททกนิกาย ธรรมบท ทั้งสองแห่งมีข้อความเหมือนกัน แต่คำเริ่มต้นไม่เหมือนกัน
ในมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/54/48) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงสวดพระปาติโมกข์ในที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ดังนี้
ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่าพระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
ในมหาปทานสูตรขึ้นต้นวิธีปฏิบัติที่นำไปสู่เป้าหมาย คือความอดทนนำไปสู่ความสำเร็จนั่นคือนิพพาน โดยผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น การต่อสู้กับกิเลสซึ่งอยู่ภายในจิตใจของตนเองนั้นจะต้องอาศัยความอดทนเป็นหลัก
การกำหนดเป้าหมายก็มีส่วนสำคัญ เพราะจะได้รู้ว่าเรากำลังดำเนินไปไหน จุดหมายปลายทางคืออะไร อาจจะกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนามีเป้าหมายสูงสุดคือ “นิพพาน” หากยังไม่มีความอดทนเพียงพอ ก็อาจจะลดเป้าหมายลงมาตามลำดับคือพรหมโลก เทวโลก มนุษยโลก น่าจะพอดำเนินไปได้ อย่างน้อยในการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว หากมีโอกาสได้เกิดอีกก็ไม่ควรจะต่ำกว่ามนุษย์ อาจจะเป็นมนุษย์ที่สูงกว่าปัจจุบัน ส่วนภูมิแห่งอบายหรืออบายภูมิคือนรก เปรต อสูรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ก็ต้องพยายามเว้นให้ได้ อย่าให้ตกต่ำเกินกว่าความเป็นมนุษย์
เป้าหมายแม้จะยังไปไม่ถึง แต่เป้าหมายคือสิ่งที่ควรดำเนินไป ชาตินี้แม้จะยังไปไม่ถึงชาติหน้าหากได้เกิดใหม่ก็ยังดำเนินตามทางสายเก่าได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าเมื่อเริ่มตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีนานกว่าสี่อสงไขย เวียนว่ายตายเกิดในกำเนิดต่างๆมากมาย แต่ในจิตก็ยังไม่ลืมเป้าหมายที่ต้องการจะไปให้ถึง จนกระทั่งมาบรรลุเป้าหมายคือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย
อีกแห่งหนึ่งแสดงโอวาทปาฏิโมกข์มีปรากฏในพุทธวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท(25/24/27) ความว่า “ความไม่ทำบาปทั้งปวง ความบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม ความชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่งท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมกล่าวนิพพานว่าเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ฆ่าสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
การไม่เข้าไปว่าร้ายกัน การไม่เข้าไปฆ่า ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในภัต การนอนการนั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ในพุทธวรรคนี้เริ่มต้นด้วยการแสดงคำสอนสำคัญของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เคยตรัสรู้มาแล้วว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีคำสอนอย่างเดียวกันคือการไม่ทำบาป การทำดี และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จากนั้นจึงแสดงเป้าหมายและวิธีปฏิบัติตน
ส่วนบทสรุปคือวิธีการปฏิบัติตนนั้นแสดงไว้ตรงกัน โดยเริ่มต้นที่ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ซึ่งเป็นธรรมที่เรียกว่า “เมตตา” มีจิตประกอบด้วยเมตตาปรารถนาให้คนอื่นสัตว์อื่นมีความสุข สำรวมระวังกิริยามารยาท กินน้อย นอนน้อย ประกอบความเพียรในการพัฒนาจิต เป็นวิถีชีวิตแห่งสาวกของพุทธะ
เนื่องจากในวันนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระอรหันต์ ซึ่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายแล้ว ธรรมที่แสดงในวันนั้นจึงเป็นหลักธรรมของผู้ประกาศศาสนา ผู้เผยแผ่ศาสนาซึ่งจะต้องยึดหลักการสำคัญไว้ มีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ และมีวิธีการในการดำเนิน อย่างเหมาะสม
อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือ ขันติ ได้แก่ ความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่นผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะเลย เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือพระนิพพาน
หลักการของพระพุทธศาสนา มีสามประการคือ “การไม่ทำบาปโดยประการทั้งปวง การทำความดีและการทำจิตของตนให้ผ่องใส
ส่วนวิธีการในการปฏิบัติตนคือ ไม่ว่าร้าย ไม่เข้าไปฆ่า สำรวมในพระปาติโมกข์ เป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค การนอนการนั่งอันสงัด และการประกอบความเพียรในอธิจิต”
หากจะมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน ก็สามารถปรับเปลี่ยนประยุกต์ให้เหมาะสมกับกาลได้คือ เกิดเป็นมนุษย์ต้องมีเป้าหมายมีอุดมการณ์ว่าการจะทำอะไรต้องมีความอดทนเป็นธรรมประจำใจ มีหลักการในการปฏิบัติ และมีวิธีการที่ดำเนินไปสู่เป้าหมาย
ในสังคมที่วุ่นวาย มีการกล่าวร้ายใส่ความกันแทบทุกวัน พุทธศาสนิกชนต้องฝึกตนให้มีจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง บางอย่างก็ต้องยอมบ้าง บางครั้งก็ต้องทำจิตใจให้สงบเย็นบ้าง บางครั้งก็ต้องรอวันเวลาที่เหมาะสมสรุปเป็นคำง่ายๆว่า “ยอมให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้”จะอยู่ที่ไหน จะทำอะไร ก็อยู่ด้วยจิตใจที่สงบสบาย เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีหลักการสำคัญ และมีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม ก็จะเป็นผู้ไม่หลงทาง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/08/58