ในบรรดาแคว้นใหญ่ๆทั้งสิบหกแคว้นนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอยู่จำพรรษาในอารามแต่ละแห่งเป็นเวลายาวนานต่างกัน แต่ที่แคว้นโกศลซึ่งมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นกษัตริย์ปกครอง มีเมืองสาวัตถีเป็นเมืองหลวง มีอุบาสกคนสำคัญคืออนาถปิณฑกเศรษฐีอุบาสกคนสำคัญ และมีนางวิสาขามหาอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใสอันมั่นคงในพระรัตนตรัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอยู่จำพรรษาติดต่อกันนานถึง 25 พรรษา สาวัตถีในสมัยพุทธกาลต้องมีอะไรที่น่าสนใจ จนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์อยู่จำพรรษานานกว่าที่อื่น
พระพุทธองค์เสด็จไปเมืองสาวัตถีครั้งแรกเพราะคำนิมนต์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือสุทัตตะชาวเมืองสาวัตถีที่มาค้าขายที่เมืองราชคฤห์ดังข้อความที่แสดงไว้ในวินัยปิฎก จุลวรรค (5/255/69) ความว่า “อนาถบิณฑิกคหบดีสั่งให้ตกแต่งอาหารของเคี้ยว ของฉันอันประณีตในนิเวศน์ของราชคหเศรษฐี โดยล่วงราตรีนั้น แล้วให้กราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่าได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้า นิเวศน์ของราชคหเศรษฐี ครั้นแล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดถวายพร้อมกับ ภิกษุสงฆ์ จึงอนาถบิณฑิกคหบดีอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยอาหารของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือตนเอง จนพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ลดพระหัตถ์จากบาตรห้ามภัตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์พร้อมกับภิกษุสงฆ์จงทรงรับอาราธนาอยู่จำพรรษาในเมืองสาวัตถีของข้าพระพุทธเจ้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรคหบดี พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมยินดีในสุญญาคาร"
อนาถบิณฑิกะคหบดีทูลว่า "ทราบเกล้าแล้ว พระผู้มีพระภาค ทราบเกล้าแล้ว พระสุคต"
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อนาถบิณฑิกคหบดีเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
อนาถบิณฑิกะคหบดีเมื่อเดินทางกลับจากเมืองราชคฤห์จึงได้เริ่มสร้างอารามเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้า แต่เมื่อแสวงหาสถานที่แล้วมีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสร้างอารามคืออารามของเจ้าเชตราชกุมาร มีข้อความพรรณนาไว้ว่า “ครั้นอนาถบิณฑิกคหบดีไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว เที่ยวตรวจดูพระนคร สาวัตถีโดยรอบว่าพระผู้มีพระภาคควรจะประทับอยู่ที่ไหนดีหนอ ซึ่งเป็นสถานที่ ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จากหมู่บ้าน มีคมนาคมสะดวก ชาวบ้านบรรดาที่มีความ ประสงค์ไปมาได้ง่าย กลางวันมีคนน้อย กลางคืน เงียบ มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากกลิ่นไอของคน เป็นสถานควรแก่การประกอบกรรมในที่ลับของมนุษย์ชนสมควรเป็นที่หลีกเร้น อนาถบิณฑิกคหบดีได้เห็นพระอุทยานของเจ้าเชตราชกุมาร
อนาถะคหบดีจึงเข้าเฝ้าเชตราชกุมารกราบทูลว่า “ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงประทานพระอุทยานแก่เกล้ากระหม่อม เพื่อจัดสร้างพระ อาราม พระเจ้าข้า
เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งว่า ท่านคหบดี “อารามเราให้ไม่ได้ แต่ต้องซื้อด้วยลาดทรัพย์เป็นโกฏิ”
อนาถบิณฑิกคหบดี จึงสั่งให้คนเอาเกวียนบรรทุกเงินออกมาเรียงลาดริมจดกัน ณ อาราม
เชตวัน เงินที่ขนออกมาคราวเดียว ยังไม่พอแก่โอกาสหน่อย หนึ่งใกล้ซุ้มประตู จึงอนาถบิณฑิก
คหบดี สั่งคนทั้งหลายว่า พนาย พวกเธอจง ไปขนเงินมาเรียงในโอกาสนี้
ขณะนั้น เจ้าเชตราชกุมารทรงพระรำพึงว่า ที่อันน้อย นี้จักไม่มีเหลือ โดยที่คหบดีนี้บริจาคเงินมากเพียงนั้น จึงเจ้าเชตราชกุมารตรัสกะอนาถบิณฑิกคหบดีว่า “พอแล้ว ท่านคหบดี ท่านอย่าได้ลาดโอกาสนี้เลยท่าน จงให้โอกาสนี้แก่ฉัน ที่ว่างนี้ฉันจักยกให้”
อนาถบิณฑิกคหบดีใคร่ครวญว่า เจ้าเชตราชกุมารนี้ ทรงเรืองพระนาม มีคนรู้จักมาก อันความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ ของคนที่มีคนรู้จักมากเห็นปานนี้ ยิ่งใหญ่นักแล จึงได้ถวายที่ว่างนั้นแก่เจ้าเชตราชกุมาร เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งให้สร้างซุ้มประตูลงในที่ว่างนั้น ส่วนอนาถบิณฑิกคหบดีได้ให้สร้างวิหารหลายหลัง ไว้ในพระเชตวัน สร้างบริเวณสร้างซุ้มประตู สร้างศาลาหอฉัน สร้างโรงไฟ สร้างกัปปิยกุฎี สร้างวัจจกุฎีสร้างที่จงกรม สร้างโรงจงกรม สร้างบ่อน้ำ สร้างศาลาบ่อน้ำ สร้างเรือนไฟ สร้างศาลาเรือนไฟ สร้างสระโบกขรณี สร้างมณฑป”
อนาถบิณฑิกคหบดีใช้ทรัพย์สมบัติวางลาดบนพื้นดินทุกตารางนิ้ว จนเจ้าของต้องขอให้พอ แต่ยังขอชื่อสวนไว้ คนที่สร้างไม่ได้มีนามของตัวเองเลย กลับเป็นชื่อของเจ้าของเดิม อารามแห่งนี้น่าจะมีชื่อว่า “อนาถบิณฑิการาม” แต่กลับตั้งชื่อตามเจ้าของเดิมคือเจ้าเชตราชกุมาร อารามนี้จึงมีนามเรียกขานว่า “เชตวันวิหาร”
เมื่อรับอารามแห่งนั้นแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จกลับมาจำพรรษาที่เวฬุวันเมืองราชคฤห์ตามเดิม จนกระทั่งเสด็จกลับมาจำพรรษาครั้งแรกที่เมืองสาวัตถีในพรรษาที่ 14 ครั้งนั้นได้มอบหมายให้พระสารีบุตรให้การอุปสมบทแก่พระราหุล
ผ่านไปอีกหลายปี จนกระทั่งพรรษาที่ 21-38 จึงเสด็จกลับมาที่เมืองสาวัตถีและอยู่จำพรรษาที่เชตวันยาวนานถึง 19 พรรษา และเสด็จไปจำพรรษาที่บุบผารามอีก 6 พรรษาจากพรรษาที่ 39-44 เป็นอันว่าเมืองสาวัตถีแห่งนี้เปรียบเหมือนที่มั่นแห่งสุดท้ายของการอยู่จำพรรษาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นเมืองสาวัตถีจึงมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่เชตวันวิหารแห่งนี้
ในพรรษาสุดท้ายพระพุทธองค์จึงเสด็จจำพรรษาที่เวฬุวคาม เมืองวเวสาลี และเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
สาวัตถีในปัจจุบันได้รักษาสภาพแห่งเชตวันไว้อย่างดี มีโครงสร้างกุฏิวิหาร ศาลาการเปรียญ แบ่งเป็นสัดส่วน เป็นต้นแบบในการสร้างอารามในพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี อารมแห่งนี้มีรอยเท้าของพระอรหันต์ทั้งหลายที่เดินย่ำไปบนพื้นปฐพี ฝากรอยเท้าเอาไว้ในโลกหล้า ให้สาธุชนคนใจบุญทั้งหลายได้สักการบูชา มีอานันโพธิ์ซึ่งพระอานนท์นำมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มาปลูกไว้ ปัจจุบันแม้จะแก่ชราไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงโดดเด่นเป็นที่ควรสักการะของพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/02/58
หมายเหตุ: ลำดับการจำพรรษาของพระสัมมสัมพุทธเจ้าทั้ง 45 พรรษามีดังต่อไปนี้
พรรษาที่ 1 ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี (แสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์)
พรรษาที่ 2-3-4 พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ (เริ่มแต่โปรดพระเจ้าพิม พิสาร ได้อัครสาวก ฯลฯ เสด็จนครกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ฯลฯ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสกถวายพระเชตวันถ้าถือตามพระวินัยปิฎก พรรษาที่ 3 น่าจะประทับที่พระเชตวัน นครสาวัตถี)
พรรษาที่ 5 กูฏาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี (โปรดพุทธบิดาปรินิพพานที่กรุงกบิลพัสดุ์โปรดพระญาติที่วิวาทเรื่องแม่น้ำโรหิณี มหาปชาบดีผนวช เกิดภิกษุณีสงฆ์)
พรรษาที่ 6 มกุฏบรรพต(ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี)
พรรษาที่ 7 ดาวดึงสเทวโลก (แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา)
พรรษาที่ 8 เภสกฬามิคทายวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ (พบนกุลบิดาและนกุลมารดา)
พรรษาที่ 9 โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี
พรรษาที่ 10 ป่าตำบลปาริไลยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน)
พรรษาที่ 11 หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อนาลายะ
พรรษาที่ 12 เมืองเวรัญชา
พรรษาที่ 13 ปาลิไลยบรรพต
พรรษาที่ 14 พระเชตวัน (พระราหุลอุปสมบทคราวนี้)
พรรษาที่ 15 นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์
พรรษาที่ 16 เมืองอาฬวี (ทรมานอาฬวกยักษ์)
พรรษาที่ 17 พระเวฬุวัน นครราชคฤห์
พรรษาที่ 18-19 จาลิยบรรพต
พรรษาที่ 20 พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ (โปรดมหาโจรองคุลิมาล, พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ)
พรรษาที่ 21–38 พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
พรรษาที่ 39–44 บุพพาราม เมืองสาวัตถี
พรรษาที่ 45 เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี