การเดินทางไปอินเดียต้นปี 2558 ในครั้งนี้นอกจากการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานและการประชุมสัมมนาทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยพารณสีหรือชื่อเต็มว่า “Banaras Hindu University” และประชุมสัมมนานำเสนอผลงานทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยเดลี หรือชื่อเต็มว่า “University of Delhi” คณะผู้ดำเนินการตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกศิลปะและการถ่ายภาพ นั่นแสดงว่าการเดินทางครั้งนี้ต้องมีภาพกิจกรรมทุกแห่งที่เดินทางไปเพื่อนำมาใช้ประกอบหนังสือที่วางแผนไว้ก่อนออกเดินทางว่าจะต้องได้หนังสือรวมบทความของคณาจารย์เจ้าหน้าที่และนักศึกษาผู้ร่วมเดินทางอย่างน้อยหนึ่งเล่ม
ตามปกติในการเดินทางก็จะถ่ายภาพตามใจฉันคืออยากถ่ายภาพอะไรก็ถ่าย ไม่ได้มุ่งหวังว่าภาพจะสวยหรือไม่สวย เป็นการถ่ายภาพเพื่อการพักผ่อน แต่ทว่าการเดินทางไปอินเดียครั้งนี้มีโจทย์ก่อนออกเดินทางว่าจะต้องถ่ายภาพกิจกรรมของคณะผู้ร่วมเดินทางจึงเป็นการถ่ายภาพอย่างเป็นทางการ กล้องและเลนส์ที่ถือในมือจึงต้องเตรียมพร้อม เป็นเลนส์ประเภทอเนกประสงค์ถ่ายภาพได้ทุกสถานการณ์ ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา โดยเฉพาะการถ่ายภาพหมู่นั้นพลาดไม่ได้
สนามบินเมืองกัลกัตตาหรือสำเนียงอินเดียเขียนเป็นโกลกัลต้า มีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า “Netaji Subhash Chandra Bose International Airport” ด้านหน้าสนามบินมีอนุสาวรีย์ของ Netaji Subhash Chandra Bose ซึ่งวิทยากรบอกว่าเป็นที่มาของชื่อสนามบิน บางคนเข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์ของเนห์รู แต่เมื่ออ่านจากคำจารึกใต้ภาพแล้วมิใช่เนห์รูตามที่บางคนเข้าใจ
สนามบินแห่งนี้มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่มาก สร้างแทนสนามบินเก่าที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆที่เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานได้ ที่จริงยังมีสนามบินที่อยู่ใกล้พุทธคยาที่สุดอีกสองแห่งคือสนามบินเมืองคยา และสนามบินเมืองพาราณสี แต่มักจะมีปัญหาเรื่องตารางการบิน จะบินเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น อีกอย่างราคาก็แพงมาก สู้เดินทางไปที่สนามบินเมืองกัลกัตต้า จากนั้นจึงนั่งรถยนต์ต่อไปยังเมืองคยาใช้เวลาประมาณ 8-10 ชั่วโมง
กัลกัตต้าในปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามากนักเป็นเพียงทางผ่านไปยังสังเวชนียสถานอื่นๆ แต่ในอดีตดินแดนแถบนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นแคว้นใหญ่สิบหกแคว้น พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบความเป็นใหญ่ในอาณาจักรเหล่านั้น ไม่ถึงเสี้ยวที่สิบหกแห่งการรักษาอุโบสถ ดังที่แสดงไว้ในวิตถตสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต(23/132/257) ความว่า “อุโบสถประกอบด้วยองค์ 8 ประการ บุคคลเข้าอยู่แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก เพียงไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพระราชาเสวยราชย์ดำรงอิสรภาพและอธิปไตยในชนบทใหญ่ๆ 16 รัฐ มีรัตนะ 7 ประการมากมาย เหล่านี้ คือ อังคะ มคธะกาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจดีย์ วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะอัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ การเสวยราชดำรงอิสรภาพและอธิปไตยของพระราชานั้น ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะราชสมบัติมนุษย์เป็นเหมือนของคนกำพร้าเมื่อเทียบสุขอันเป็นทิพย์
แคว้นอังคะมีเมืองหลวงชื่อจัมปา อังคะกับมคธอยู่ติดกัน จึงมักจะนิยมเรียกชื่อว่าชาวอังคะและมคธ เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆได้แสดงปาฏิหาริย์แก่ชฎิล ก็มีชาวอังคะและมคธจำนวนมากมาเพื่อชุมนุมกันในพิธีบูชายัญของอุรุเวลากัสสปะเพราะเลื่อมใสศรัทธาต่อชฎิลและบางคนเดินทางมาเพี่อดูการแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า ดังข้อความที่แสดงไว้ในวินัยปิฎก มหาวารวรรค (4/43/51) ความว่า “ก็โดยสมัยนั้นแล ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้เตรียมการบูชายัญเป็นการใหญ่ และประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นถือของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมาก บ่ายหน้ามุ่งไปหา
ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ดำริว่า บัดนี้ เราได้เตรียมการบูชายัญเป็นการใหญ่ และประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้น ได้นำของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากบ่ายหน้ามุ่งมาหา ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ในหมู่มหาชน ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเราจักเสื่อม โอ ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะจึงจะไม่มาฉัน
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของชฎิลอุรุเวลกัสสปด้วยพระทัยแล้ว เสด็จไปอุตตรกุรุทวีป ทรงนำบิณฑบาตมาจากอุตตรกุรุทวีปนั้น แล้วเสวยที่ริมสระอโนดาต ประทับกลางวันอยู่ ณ ที่นั้นแหละ ครั้นล่วงราตรีนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่าถึงเวลาแล้วมหาสมณะภัตตาหารเสร็จแล้ว เพราะเหตุไรหนอ วานนี้ท่านจึงไม่มา เป็นความจริงพวกข้าพเจ้าระลึกถึงท่านว่า เพราะเหตุไรหนอ พระมหาสมณะจึงไม่มาแต่ส่วนแห่งขาทนียาหาร ข้าพเจ้าได้จัดไว้เพื่อท่าน
แม้จะเห็นปาฏิหาริย์เช่นนี้แล้วก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ ดังที่แสดงไว้ว่า “ทีนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปได้ดำริว่าพระมหาสมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากแท้ จึงได้ทราบความคิดนึกแม้ด้วยใจได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”
คนที่มีอำนาจมีบริวารมาก มีคนศรัทธาเลื่อมใสมากอย่างอุรุเวลากัสสปะย่อมไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ นั่นเพราะมีทิฏฐิมีมานะมากนั่นเอง แต่หากสามารถเอาชนะใจของคนเช่นนั้นได้ ก็ได้พลังศรัทธาของมวลมหาชนมาด้วย เมื่อเอาชนะหัวหน้าได้ บริวารก็จะตามมา
พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาแสดงธรรมที่อาปณะ แคว้นอังคะว่าด้วยศรัทธา ดังที่ปรากฎในสัทธาสูตร สังยุตตนิการ มหาวารวรรค (19/1010-1011/297) ความว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคะชื่ออาปณะ ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้วตรัสว่า ดูกรสารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต
พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใด มีศรัทธามั่นเลื่อมใสยิ่ง ในพระตถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคตหรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
กัลกัตต้าในปัจจุบันมีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะที่เป็นเมืองท่า ในแต่ละวันจึงมีรถขนส่งสินค้าจากรัฐต่างๆเดินทางมายังเมืองนี้ และยังมีนักจาริกแสวงบุญจากประเทศต่างเดินทางมาที่นี่เพื่อจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองคยา ยังมีขบวนแห่เทพเจ้าอีกหลายองค์ที่ดำเนินไปบนท้องถนน จึงมีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดบ้าง บางวันรถติดยาวหลายกิโลเมตร
การเดินทางมาที่อินเดียในครั้งนี้ ทำใจไว้ก่อนออกเดินทางแล้วว่าแม้จะมีปัญหาอะไรก็จะยอมรับแต่โดยดีเพราะในใจมุ่งตรงต่อสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในอดีต เดินทางมาเพื่อสักการะสังเวชนียสถานด้วยจิตที่เลื่อมใส ด้วยใจที่ศรัทธา จึงมีคาถาในการเดินทางท่องไว้ประจำใจอยู่เสมอว่า “ยอมให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้” ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ใจเย็นเมื่อมีปัญหา และรอเวลาเมื่อพบอุปสรรค แม้จะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอะไรเกิดขึ้น จิตใจก็สบาย กายก็สงบ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/02/58